องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International: AI) ได้รวบรวมหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมที่สนับสนุนประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) ที่ถูกโค่นลงจากอำนาจตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม จนล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 88 คนจากการประท้วงและความรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอีก 3 นาย และมีผู้บาดเจ็บประมาณ 1,500 คน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 56 ผู้สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างน้อย 51 คนได้ถูกสังหาร ระหว่างการปะทะกันที่ด้านนอกศูนย์บัญชาการทหาร Republican Guard
ฮัสซีบา ฮัดจ์ ซาราว (Hassiba Hadj Sahraoui) รองผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ขององค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยถึงการปะทะกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้ว่ากองทัพอ้างว่าฝ่ายผู้ประท้วงเป็นผู้โจมตีก่อน และที่ผ่านมายังไม่มีผู้หญิงและเด็กได้รับบาดเจ็บ แต่จากข้อมูลที่องค์การนิรโทษกรรมสากลรวบรวมได้กลับให้ภาพที่ต่างออกไป แม้ว่าผู้ประท้วงบางคนจะใช้ความรุนแรง แต่การตอบโต้ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ดูเหมือนจะรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ที่กำลังชุมนุมประท้วงอย่างสงบ
กองทัพบกและกระทรวงมหาดไทยอียิปต์ออกมาแถลงว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจากผู้ประท้วงได้พยายามบุกเข้ามาในศูนย์บัญชาการทหาร Republican Guard และประกาศว่า การโจมตีของผู้ประท้วงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายความมั่นคงอีก 2 นายถูกสังหาร
อย่างไรก็ตาม จากปากคำของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์กลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ขององค์การนิรโทษกรรมสากลได้ไปยังห้องเก็บศพ โรงพยาบาล และบริเวณพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงในกรุงไคโรและอเล็กซานเดรีย เพื่อรับฟังปากคำจากผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บและญาติของเหยื่อจากความรุนแรง ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งจงใจปฏิบัติการขั้นรุนแรง ผู้ประท้วงหลายคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บถูกยิงเข้าที่ศีรษะและส่วนบนของลำตัวด้วยกระสุนลูกปรายและกระสุนจริง
“ทางการอียิปต์ต้องยุติการใช้กำลังของทหารและตำรวจที่เกินกว่าเหตุเช่นนี้ แม้ว่าผู้ประท้วงบางคนจะใช้ความรุนแรง แต่กองทัพก็ต้องรับมือด้วยความเหมาะสม โดยไม่มีการสังหารหรือทำให้ผู้ประท้วงที่ไม่ได้มุ่งหมายชีวิตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือบุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ทั้งยังต้องประกันให้มีการสอบสวนในลักษณะที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียงตามความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อประกันว่า จะไม่มีการปกปิดความผิดของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างมิชอบ”
“ทางการอียิปต์ยังต้องประกันว่าจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพและจัดทำรายงานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการสอบสวนและประกันการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา”
องค์การนิรโทษกรรมสากลกังวลว่า การนองเลือดจะรุนแรงยิ่งขึ้น หลังได้รับการตอกย้ำจากแถลงการณ์ของผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งประกาศจะประท้วงต่อไปจนกว่าจะมีการคืนอำนาจให้กับอดีตประธานาธิบดี และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุน ‘ลุกขึ้นสู้’ และ ‘ต่อต้าน’ แม้จะเกิดเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง
“ในขณะที่นักการเมืองถกเถียงกันว่าใครเป็นผู้เริ่มก่อความรุนแรง เป็นที่ชัดเจนว่าหากไม่มีการแทรกแซงและให้คำสั่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เราคงได้เห็นสูตรสำเร็จที่นำไปสู่หายนะ”
ผู้หญิงคนหนึ่งวัย 40 ปีเศษ ซึ่งได้รับบาดเจ็บเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นทันทีหลังจากเธอทำละหมาดเสร็จบริเวณเต็นท์ผู้ชุมนุมสำหรับผู้หญิงและเด็ก
“ฉันเห็นผู้ชายวิ่งกรูกันเข้ามา จากนั้นก็เริ่มมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่พวกเรา ฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะพาเด็กๆ ไปที่ไหนดี จะกลับไปที่เต็นท์ก็ไม่ได้เพราะจะหายใจไม่ออก และไม่รู้ว่าจะวิ่งหนีไปที่ไหน เพราะมีแต่เสียงปืน…มีการระดมยิงปืนและแก๊สน้ำตาใส่จากทุกทิศทาง…ตรงหน้ามีผู้ชายนอนจมกองเลือดอยู่หลายคน ฉันได้แต่นั่งอยู่กับที่ใต้ต้นไม้เพื่อสวดภาวนา…ฉันคิดว่ามันคงจบลงแบบนี้” เธอกล่าว แต่สุดท้ายเธอสามารถหลบหนีออกมาทางซอยด้านหลังได้
องค์การนิรโทษกรรมสากลได้สัมภาษณ์ผู้หญิงอีกหลายคน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากกระสุนลูกปรายบริเวณส่วนบนของลำตัว รวมทั้งด้านหลัง และเด็กคนหนึ่งซึ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงไคโร โดยเด็กคนนี้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ใบหน้า และขา
การเสียชีวิตเมื่อวานนี้เป็นผลมาจากการระดมยิงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เปิดฉากยิงจนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตสี่คนระหว่างการประท้วงที่หน้าศูนย์บัญชาการทหาร Republican Guard
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังพบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาที่เกิดเหตุช้าเกินไป หรือไม่ได้มาที่เกิดเหตุเลย ในระหว่างการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านมอร์ซีในไคโรและอเล็กซานเดรียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแปดคนจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ซึ่งยืดเยื้อประมาณห้าชั่วโมงที่บริเวณจัตุรัสแตห์รีและในย่านอัล-มาเนียลในกรุงไคโรเมื่อวันศุกร์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ที่อเล็กซานเดรีย เมื่อวันศุกร์ มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 17 คนในย่านซีดี กาเบอร์ เจ้าหน้าที่มาถึงในที่เกิดเหตุเมื่อประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว โมฮัมเหม็ด บาเดอร์ อัล-ดิน (Mohamed Badr al-Din) ชาวบ้านบริเวณนั้นได้ถูกผู้สนับสนุนนายมอร์ซีแทงและโยนศพลงจากหลังคา
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์คนหนึ่งบอกว่า เขาหนีออกมาได้ทันก่อนที่โมฮัมเหม็ด บาเดอร์ อัล-ดิน จะถูกโยนลงจากหลังคา “มีผู้ชายไว้หนวดเคราตัวใหญ่ถือมีดขนาดใหญ่และธงสีดำวิ่งไล่ตามออกมา…จากนั้นเขาก็เริ่มซ้อมผม และชูธงขึ้นประกาศว่า ‘พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่’ ผมหลบหนีเขามาได้และกระโดดลงไปในท่อระบายอากาศซึ่งอยู่ตรงกลางของหลังคาตึก” เขากล่าวกับองค์การนิรโทษกรรมสากล
ชาวบ้านในบริเวณนั้นบอกว่าพยายามโทรไปแจ้งตำรวจให้มาระงับเหตุ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
“เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองชีวิต อย่างไรก็ตาม แทนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดเพิ่มเติมมากขึ้น แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุและเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน ผู้ที่ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างรุนแรงต้องถูกนำตัวมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายไหนก็ตาม” ฮัสซีบา ฮัดจ์ ซาราวกล่าว
**************************
(ที่มา : AMNESTY INTERNATIONAL)