รัฐบาลตั้งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคนเข้าประเทศ
ทิม พิธา พบข้อมูลปี 2545-ปัจจุบัน ต่างชาติซื้อที่ดินแค่ 8 คน
3 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้สดถามถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทย ให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินในไทย 1 ไร่ แลกกับการนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท
“มีความจำเป็นหรือมีเหตุผลที่หนักหนาสาหัสอะไร ถึงกับต้องมีกฎกระทรวงดังกล่าว รัฐบาลสมัยก่อนเคยทำก็จริง แต่มีเหตุจำเป็นต้องทำ เช่น ปี 2542 รัฐบาลขณะนั้นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ IMF เพราะเราไปกู้เงินเขามา ท่านประธานสภาน่าจะทราบดี แต่ก็ทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบที่สุด แล้วตอนนี้จำเป็นอะไรครับ หรือว่าเศรษฐกิจไทยแย่มากแล้ว จนต้องพึ่งเงินต่างชาติ”
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตอบว่า “ไม่ได้แก้กฎกระทรวงนะครับ แต่ออกกฎกระทรวงใหม่เลย” มาตรการดังกล่าวเป็นการทำงานเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาหลังโควิด ประเทศไทยต้องการดึงดูดผู้มีความมั่งคั่งและความสามารถให้มาลงทุน เริ่มต้นด้วยการใช้ long-term residency (LTR) มาเป็นแรงจูงใจ ซึ่งเป็นที่มาของการอนุญาตให้ชาวต่างชาติมีที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้
“ไม่ได้ซื้อขายที่ดินได้ทันที แต่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ซื้อ เช่น จะต้องลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนใน trust ภาคอสังหาริมทรัพย์
“ไม่ได้มีเจตนาขายชาติ ไม่มีใครอยากทำเช่นนั้นหรอกครับ” รมว.มหาดไทยยืนยัน
“ร่างกฎกระทรวงยังอยู่ในขั้นตอนส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณา หากประชาชนกังวลก็สามารถปรับให้เข้มงวดขึ้นได้ เช่น เพิ่มการลงทุนเป็น 100 ล้านก็ได้ หรือเพิ่มระยะเวลาการลงทุนเพิ่มจาก 3 ปี เป็น 5 ปี แต่จะต้องส่งกลับมาให้ ครม. พิจารณา ผมเองก็เป็นหนึ่งใน ครม. ในกรณีที่ประชาชนกังวลจริงๆ มัน (ร่างกฎกระทรวง) อาจถูกปัดตกก็ได้ เราไม่ถือว่าเป็นการเสียหน้าอะไร”
สุทินตอบกลับว่า “ผมคิดว่าไม่มีใครคิดขายชาติหรอก แต่จะด้วยเหตุบังเอิญ ด้วยภูมิปัญญาที่มีไม่ถึงหรือคาดการณ์ผิดพลาดก็ตาม แล้วเราจะมาเสียใจในภายหลังว่าเผลอขายชาติไปแล้ว”
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีเดียวกัน แต่นายกฯ มอบหมายให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
คำถามข้อแรกของพิธาคือ เป้าหมายที่ชัดเจนของการแก้กฎกระทรวงคืออะไร เนื่องจากรัฐบาลเคยระบุอย่างชัดแจ้งว่า เป้าหมายคือการดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษี 2.7 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมที่ดินระบุว่า ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน มีชาวต่างชาติใช้สิทธิ์ซื้อที่ดินแลกการลงทุนทั้งสิ้นเพียง 8 คน ถือว่าห่างจากเป้าหมาย 1 ล้านคนมาก
“ผมยังดูไม่ออกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของนโยบายนี้คืออะไรกันแน่ ถ้าเป้าหมายยังเหมือนเดิม แต่วิธีการไม่ได้ต่างจากเดิม แล้วจะทำอย่างไรให้เป้าหมายเพิ่มจาก 8 คน เป็น 1 ล้านคนได้”
รองนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ว่า “เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย และมีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว จึงได้มีการกำหนดบุคคล 4 ประเภท เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามา ก็จะเกิดการพัฒนากิจกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ ฉะนั้น นี่คือส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อทำให้ชาวต่างชาติที่เราคัดแล้วผ่านเงื่อนไขต่างๆ เข้ามาลงทุนและอยู่อาศัย
“เราตั้งเป้า 1 ล้านคน ถ้าเขาใช้เงินต่อเดือนประมาณ 1 แสนบาทต่อคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของคน 40 ล้านคนที่สร้างรายได้ในประเทศ เป้าหมาย 1 ล้านคนกับเรื่องที่ดินไม่เกี่ยวกัน มันคือทางเลือกเฉยๆ เขาจะเช่าบ้านก็ได้ เช่าคอนโดก็ได้”
พิธาถามถึงผลกระทบที่เกิดจากนโยบายดังกล่าว อาทิ การฟอกเงิน การซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรต่อ หรือการซื้อที่ดินเพื่อสร้างอพาร์ตเมนต์แล้วปล่อยให้คนไทยเช่า
“ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติทำให้ราคาบ้านและที่ดินสูงขึ้น 19% ในปี 2014 ตัวเลขสะท้อนว่า จำนวนชาวต่างชาติ 1% ที่ซื้อบ้านในอังกฤษ ทำให้ราคาบ้านหรือที่ดินเพิ่มขึ้น 20% หมายความว่าถ้าอังกฤษไม่มีนโยบายนี้ ราคาบ้านจะถูกลง 20%”
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ตอบคำถามว่า “เราคาดเดาไม่ได้หรอกครับว่า เขาจะเข้ามาอยู่อาศัยแบบใด เราเพียงต้องการอำนวยความสะดวกให้เขามาอยู่ประเทศไทยในระยะยาว ถ้าเขามา 1 ล้านคน คนเหล่านี้จะช่วยใช้จ่ายในประเทศไทยคร่าวๆ 100,000-1,000,000 บาทต่อเดือน ประเทศไทยก็จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ส่วนเขาจะมาอยู่แบบไหน จะมีที่ดิน เช่าโรงแรม หรือเช่าคอนโดมิเนียม ก็ต้องทำตามกติกาที่กำหนด
“ส่วนผลกระทบที่กังวล เช่น การฟอกเงิน เรามีการคัดคุณสมบัติ ติดตามพฤติกรรม ถ้าขัดต่อกติกาหรือกฎหมาย ยังไงก็ผิด อยากให้มั่นใจว่าเราพิจารณาอย่างรอบคอบ”
พิธาตั้งข้อสังเกตจากคำตอบดังกล่าวว่า “ถ้าท่านบอกว่าเป้าหมายคาดเดาไม่ได้ เช่นนั้นที่ท่านโพสต์ในเว็บไทยคู่ฟ้าหรือที่ออกข่าวมา มันก็เชื่อไม่ได้สิครับ” พร้อมถามต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างไร เพราะสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของคนไทย คือ คนจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีที่ดินทำกิน ขณะที่คนที่รวยที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองที่ดินมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งตัวเลขจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังเปิดเผยว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คนรายได้น้อยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 28 เปอร์เซ็นต์
ด้านรองนายกรัฐมนตรีตอบกลับว่า “ย้ำอีกทีนะครับ เราตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน ส่วนเขาจะมาอยู่แบบไหน เดาใจเขาไม่ได้ ท่านจะประเมินว่าจะมาซื้อ 1 ล้านไร่ไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วการพักอาศัยในวิธีการอื่นๆ มันก็มี ส่วน 1 ล้านไร่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และปรับจากส่วนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ได้มากมายอะไรเลย”
“กรุณาเปรียบเทียบประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ว่า ประเทศเราเป็นเมืองน่าอาศัยมากน้อยขนาดไหน และจงภูมิใจในประเทศของเรา”
สภาเห็นด้วย 324 ต่อ 0 ให้พ่วงคำถามประชามติในการเลือกตั้ง
‘เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ’
สืบเนื่องจากวันที่ 15 กันยายน 2565 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) กำหนด
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้แถลงหลักการและเหตุผลต่อการเสนอญัตติดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร มีกระบวนการรับรองโดยอาศัยการทำประชามติที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล มีเนื้อหาหลายส่วนที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย อาทิ มีการขยายอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รวมถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัดกุมน้อยกว่าในอดีต
“ประชาชนจึงแสดงออกถึงการเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสมาชิกรัฐสภาทุกกลุ่ม ดังจะเห็นได้ว่า ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภารับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ
“แต่ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 ซึ่งหากรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องสอบถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือก็คือทำประชามติก่อนนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าที่ผ่านมาทำไมถึงยังไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนได้ ถ้ายังไม่มีการจัดทำประชามติ”
ญัติดังกล่าว ได้เสนอให้สภามีมติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ่วงคำถามในบัตรเลือกตั้งเพื่อทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่ทั้งฉบับ เพื่อสอบถามประชาชนว่า เห็นด้วยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านกลไกของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบ คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการทำประชามติทันที
จากญัตติดังกล่าว มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วย 215+2 =217 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ทว่าขณะที่ลงมติองค์ประชุมไม่ครบ จึงทำให้ ส.ส. หลายรายตั้งข้อกังวลว่า หากปล่อยผ่านไปสู่ชั้นวุฒิสภา จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่า ส.ส. เห็นชอบขณะองค์ประชุมไม่ครบ และจะทำให้สิ่งที่ทำมาสูญเปล่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เสนอว่าให้ลงมติอีกครั้งในการประชุมผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 สมัยที่ 2 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 (วันนี้)
ต่อมาเวลา 13.17 น. ของวันนี้ มีผู้แสดงตนช่วงตรวจสอบองค์ประชุมทั้งสิ้น 284 คน ครบองค์ประชุม โดยผลการลงมติ มีผู้เห็นด้วย 323+1 = 324 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าวเพื่อส่งเป็นข้อเสนอแนะไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องส่งไปให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง
ชลน่าน ศรีแก้ว ชี้ประเด็น แม้น้ำท่วมอ่วมค่อนประเทศ
แต่ ส.ส. ไม่อาจลงพื้นที่ช่วยเหลือ เพราะเข้าข่ายหาเสียง
ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศต้องประสบปัญหาอุทกภัยจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก
“ปี 2565 ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เผยว่า มีน้ำท่วมเกิดขึ้นใน 59 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 450,633 ครัวเรือน 322 อำเภอ 1,625 ตำบล และ 9,913 หมู่บ้าน สถานการณ์ตอนนี้ ยังเหลือน้ำท่วมขังอีก 29 จังหวัด
“เราควรร่วมพิจารณาทั้งสถานการณ์และสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนสมาชิกหลายคนมักบอกว่า เพราะฝนตกเยอะ พายุเข้า น้ำก็ต้องท่วม ผมไม่เถียงครับ แต่ถ้าจะพูดอย่างนั้น ผมว่าเสียเวลาของสภา ผมหวังว่าสภาแห่งนี้จะร่วมกันระดมสมองเอาบทเรียนจากพื้นที่ของตนมาพูดคุยกัน
“ปัญหาน้ำท่วมจะยังอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยไปเช่นนี้อีกหรือ จะอยู่ไปสักกี่ปี จะมีกลไกจัดการอย่างไรให้พี่น้องประชาชนอยู่กับน้ำได้ ไม่ให้เกิดความทุกข์ และเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ไม่ใช่บอกว่า น้ำท่วมก็ไปเลี้ยงปลา นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหานะครับ”
ชลน่านยังกล่าวถึงระบบเตือนภัยน้ำท่วมที่ยังมีความล่าช้า พร้อมฝากไปยัง ครม. และรัฐบาลให้แก้ไขระบบเตือนภัยที่ทันท่วงทีขึ้นมา เพื่อลดความสูญเสียของประชาชนให้น้อยที่สุด
“น้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นช่วง 180 วัน ก่อนหมดวาระสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) อ้างข้อกฎหมาย ประกาศและระเบียบของ กกต. ว่า ต้องถือเสมือนเข้าสู่วาระหาเสียงเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรอย่างเราจึงยื่นมือหรือเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแทบไม่ได้เลย ได้แต่มองและยิ้มให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“ขณะที่ผู้แทนราษฎรถูกมัดมือมัดเท้า แต่หน่วยงานราชการและคณะรัฐมนตรีสามารถใช้งบประมาณของรัฐ ของหลวงที่มาจากภาษีไปดำเนินการ อ้างว่าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อน แล้วเอาโอกาสนั้นไปแสวงหาคะแนนนิยมให้ว่าที่ผู้สมัครหรือผู้แสดงเจตจำนงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เข้าไปช่วยแจกข้าวแจกของได้ แต่อ้างว่านี่หน่วยงานรัฐทำ”
ชลน่านยังวิจารณ์มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้ประสบภัยน้ำท่วมของรัฐบาลว่า ไม่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านเลย “สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ใครน้ำท่วมขังเขาให้บ้านละ 5,000 บาท แต่ขณะนี้ เขาบอกว่า ถ้าบ้านไม่พังทั้งหลัง ไม่เสียหายทั้งหลัง ส้วมที่ปลูกไว้นอกบ้านจะพังทลายไปหมดเลย แต่ก็ไม่เข้าข่ายช่วยเหลือเพราะเสียหายเพียงบางส่วน เรื่องการชดเชยพื้นที่การเกษตรเอง ก็ไม่เห็นว่าชาวบ้านเขาจะได้รับการชดเชย พี่น้องที่เดือดร้อนเขาสอบถามมาตลอดว่า ไร่ละ 1,000 บาท เมื่อไหร่จะได้รับ”
“จะหาเสียงไม่ว่าครับ แต่ขอให้พี่น้องประชาชนได้รับการช่วยเหลือเยียวยา สมเหตุสมผล สมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น” ชลน่านทิ้งท้าย
สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอในทำนองเดียวกันว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากต้องทำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเฉพาะในภาคอีสาน อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และยโสธร
“หลายฝ่ายมักจะโทษพายุฝน ผมเชื่อว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด การบริหารจัดการเป็นเรื่องใหญ่ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแจ้งเหตุอย่างที่ผู้นำฝ่ายค้านพูดก็เป็นเรื่องใหญ่ ขนของกันไม่ทันครับ
“ปี 2565 พายุก็หนักแล้ว ก็ยังมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาว เขื่อนหัวนา ส่วนเขื่อนปากมูลนั้นปล่อยน้ำช้าเพราะการประสานงานและการตัดสินใจล่าช้า จนทำให้น้ำเอ่อล้นจังหวัดอุบลราชธานี
“เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา การพยากรณ์พายุและฝน ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7-15 วัน แต่ทำไมเขื่อนทั้งหลายจึงไม่รีบปล่อยน้ำให้พร่องลงไป กลับกักเก็บน้ำไว้จนรับไม่ไหว ก็ปล่อยออกมาท่วมชาวบ้าน”
“ผมเห็นด้วยกับท่านผู้นำฝ่ายค้านว่า อยากจะเรียกร้องให้หาทางผ่อนคลายให้ ส.ส. มีโอกาสไปดูแลพี่น้องประชาชน เพราะเขาเดือดร้อน ไม่รู้จะพึ่งพาใคร ก็ต้องพึ่งพาผู้แทนราษฎร”
รังสิมันต์ โรม ตั้งคำถามต่อสภาจากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
“ตกลงตำรวจกับอาชญากรต่างกันอย่างไร”
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างการกราดยิงที่ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการกราดยิงที่โคราช ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่เป็นธรรมในระบบของทัพ นั่นคือ มีการ ‘หักหัวคิว’ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอดรนทนไม่ได้ เกิดอาการคลุ้มคลั่ง เอาคืนจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรม
และภายในปีนี้ ก็มีการกราดยิงในค่ายทหารแห่งหนึ่ง แม้ผู้เสียชีวิตจะน้อย แต่สะท้อนให้เห็นว่า “ภายในระบบราชการของเรา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร กำลังอยู่ในจุดวิกฤต ซึ่งสร้างความสูญเสียไม่ใช่กับแค่พี่น้องทหารตำรวจ แต่รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย”
รังสิมันต์ โรม มองว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ ปืน ยาเสพติด โครงสร้างภายในองค์กรที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาทางแก้ไขร่วมกันอย่างเร่งด่วน
“ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลแบบที่พลเอกประวิตรกล่าวหาว่า ‘จะให้ทำอย่างไรได้ ก็คนมันติดยา’ ไม่ใช่อย่างที่พลเอกประยุทธ์หรือพลเอกอนุพงษ์ได้บอกว่า ปัญหานี้มาจากจิตใจที่ไม่ปกติของผู้ก่อเหตุเพียงอย่างเดียว”
รังสิมันต์เห็นว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศต่อสังคม เมื่อปี 2562 ว่า ระบบ ‘ตั๋ว’ จะหมดไป แต่ทุกวันนี้เรายังเห็นข่าวอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยตำรวจหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น ตำรวจขโมยปืนจากโรงพักไปขายนับร้อยกระบอก ตำรวจหน่วยสวาททะเลาะวิวาท แล้วยิงคู่กรณีตายนอกเวลาราชการ ตำรวจพัทยาเข้าตรวจค้นผับแห่งหนึ่งแต่กลับตรวจฉี่ใครไม่ได้เลย โดยอ้างว่ากำลังพลไม่พอ ซ้ำยังมีคลิปหลุดว่า เจ้าของผับจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่ผู้บังคับบัญชาไปแล้ว หรือเรื่องการบริจาคเงิน 3 ล้านบาท ให้พรรครัฐบาลพรรคหนึ่ง แม้ไม่เกี่ยวกับตำรวจโดยตรง แต่กลับไม่มีการติดตามขยายผลเลย ตลอดจนล่าสุดมีข่าวออกมาว่า ตำรวจขายข้อมูลให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์
“ตำรวจควรเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่วันนี้ท่านได้ใช้ปืนของท่านรังแกหรือข่มเหงราษฎรไปแล้ว ตกลงตำรวจกับอาชญากรต่างกันอย่างไร ถ้าไม่ต่าง ตัวอย่างทั้งหมดที่ผมยกมาคือเครื่องยืนยันว่า องค์กรตำรวจมีปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล”
“ผมอภิปรายข้อมูลในสภาแห่งนี้หลายครั้งว่า ปัญหาเรื่อง ‘ตั๋ว’ เป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีระบบตั๋ว มันต้องซื้อ เมื่อมันต้องซื้อ ราคามันก็แพง เพราะจะให้ทุกคนซื้อไม่ได้ เงินเดือนปกติไม่มีทางพอ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือ คุณต้องไปหาอาชีพอย่างอื่นทำด้วย อาชีพสุจริตเป็นไปไม่ได้ครับ มันจึงเข้าไปพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายหรือ ‘เทาๆ’ จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงมีบ่อนเต็มบ้านเต็มเมือง จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงมีผับที่เปิดเกินเวลาได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยาเสพติดถึงราคาถูก
“การทลายระบบตั๋วคือกระดุมเม็ดแรกในการแก้ปัญหาของการกราดยิงและการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ ในเมื่อภายในระบบราชการยังไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีทางที่ตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ เพราะตัวเขาเองยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย
รังสิมันต์ยังฝากถึงนายกฯ ซึ่งมีอำนาจดูแลตำรวจโดยตรงว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยควรมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ ตั้งแต่ค่าน้ำหมึก น้ำมัน อาวุธปืน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งล้วนเป็นภาระและต้นทุนที่เจ้าหน้าที่ต้องแบกรับเอง หากเขาซื่อสัตย์ก็จะใช้เงินเดือนตัวเองจ่าย แต่รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า จะมีกี่คนที่พร้อมแบกรับภาระไปตลอดโดยไม่หันไปหาธุรกิจสีเทาเสียก่อน ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิการได้แล้ว
ในกรณีของอาวุธปืน รังสิมันต์ โรม เน้นความจำเป็นว่า สังคมไทยต้องถกเถียงพูดคุยกันโดยด่วนว่า ต้องการสังคมที่ทุกบ้านมีปืน หรือต้องการสังคมที่ทุกบ้านไม่มีปืน กล่าวคือ เมื่อคนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพึ่งพาไม่ค่อยได้ และเห็นปืนเถื่อนเกลื่อนเมืองแล้ว พวกเขาก็ต้องการครอบครองปืนไว้เองเพื่อป้องกันตนเองบ้าง ดังนั้น ปัญหาปืนเถื่อนจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะ “ถ้าปืนเถื่อนหายไป คนจำนวนมากจะรู้สึกว่า แล้วจะมีปืนไปทำไม”
“ถ้ารัฐบาลนี้ต้องการจัดการปัญหาอาชญากรรม การปฏิรูปตำรวจและทลายระบบตั๋ว คือทางที่ท่านต้อมุ่งไป ไม่สามารถหลีกหนีได้” รังสิมันต์ทิ้งท้าย