เรื่องราวรถติดในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ที่ทำสถิติยาวเหยียดถึง 180 กิโลเมตร ถูกพูดถึงและแชร์ต่อเป็นวงกว้าง แต่รู้ไหมว่า มีอีกอย่างน้อยๆ 10 เมืองในโลก ที่รถติดไม่แพ้กัน สำนักข่าวบีบีซีรวบรวมมานำเสนอ
1.กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งจะมีผลต่อรถ 5 ล้านคันปัจจุบันในกรุงเทพฯ บนท้องถนนที่รองรับได้แค่ 2 ล้านคัน
2.จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ในจาการ์ตา มีคำเรียกรถติดโดยเฉพาะ ว่า “macet” ทางเลือกหนึ่งของคนเมืองหลวงคือ Ojek หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่บริการทั้งดี เร็ว และเลาะลัดไปได้ทุกเส้นทาง คนป่วยที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล(ด้วยอาการที่ไม่หนักมาก) เรียกใช้บริการเป็นประจำ เพราะบริการสาธารณะอย่างอื่นไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะ รถเมล์
3.ไนโรบี ประเทศเคนยา
หลังจากอังกฤษให้เอกราชแล้ว สิ่งหนึ่งที่เจ้าอาณานิคมทิ้งไว้ให้ไนโรบีคือ คือ “วงเวียน” จำนวนมาก
แม้ว่าถนนที่กำลังมุ่งไปจะโล่ง แต่เพราะวงเวียนตรงหน้าและรถที่กำลังวนอยู่ ทำให้เราจำเป็นต้องจอดรอ เป็นอย่างนี้ทุกวงเวียน ทำให้ระยะทางเพียงแค่ 1 กิโลเมตรคนไนไรบีบอกว่าเดินยังเร็วกว่าขับรถ และจะยิ่งสาหัสเมื่อถึงวันศุกร์ ถ้าฝนตกด้วยแล้วล่ะก็ ชาวไนโรบีบอกว่าให้นอนรอในรถได้เลย
4.มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
เพราะบริการขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพ หลายคนเลือกใช้รถยนตร์ส่วนตัว และทุกๆ 1 อาทิตย์จะต้องมีรถชนอย่างน้อย 1 คันต่อถนน 1 สาย
ขนาดมีกฎว่า ถ้าเลขทะเบียนรถยนต์ลงท้ายด้วย 1 หรือ 2 คันนั้นห้ามใช้ในวันจันทร์ และถ้าใครลงท้ายด้วยเลข 3 หรือ 4 ห้ามขับในวันอังคาร แต่พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ กฎดังกล่าวได้รับการผ่อนปรน รถทุกคันสามารถใช้ถนนได้ นั่นล่ะ…รถติดของจริง
5.มุมไบ ประเทศอินเดีย
ชาวมุมไบบอกว่า นักขับในเซาเปาโลที่ติดยาว 180 กิโลเมตร ยังโชคดีกว่ารถติด 5 กิโลเมตรในมุมไบ เพราะรถทุกคันขับด้วยอัตราและลีลาความเร็วอย่างรถพยาบาล ยังไม่นับฝูงวัว ลูกม้า และขอทาน ที่คอยมาวนเวียนอยู่รอบๆ เช่นเดียวกัน คนที่นี่ชอบบีบแตรเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเห็นว่ามีอีกหลายร้อยคันติดยาวเหยียดอยู่ข้างหน้าก็ตาม
6.กัมปาลา ประเทศอูกันด้า
ที่นี่รถติดทุกเช้าและเย็น โดยเฉพาะเวลาฝนตก เนื่องจากจากสภาพถนนที่เลวร้ายและระบบการระบายน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ นักขับมอเตอร์ไซค์เองก็จะทำทุกวิถีทางที่จะผ่านถนนเส้นนั้นไปได้ ดังนั้นแม้รถจะติดแค่ระยะทางสั้นๆ แต่สามารถทำให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นจลาจลย่อยๆ ขึ้นมาได้ 7.เลนซิงตัน รัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา
7.เลกซิงตัน รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองนี้ มีการออกแบบผังเมืองก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเข้ามา รถจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองจึงไม่สมดุลต่อสภาพท้องถนนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับความเจริญสภาพปัจจุบัน ถนนเส้นรอบนอกเมืองจะแน่นขนัดทุกเช้าและเย็น ความลำบากก็คือ ถนนตลอดสาย ไม่มีต้นไม้สักต้นคอยบังแดด และโดยเฉพาะช่วงที่มีบาสเก็ตบอลแมตช์สำคัญในสนามใหญ่ใจกลางเมือง เมื่อนั้นคนก็จะใช้ถนนอย่างไร้กฎ
8.ออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
คนที่นี่นิยมใช้รถส่วนตัว เพราะรักความสะดวกสบาย รถเมล์จึงว่างถึงว่างมาก ว่ากันว่า อนาคตอันใกล้ของออสติน ก็คือ เซาเปาโลนั่นแหละ
9.กรุงโซล ประืเทศเกาหลีใต้
คนขับรถในกรุงโซล มีไม่น้อยไม่เคารพกฏจราจร มักขับฝ่าไฟแดงเสมอ หรือถ้าจอดติดสี่แยกอยู่ แม้จะมีคันหน้าแค่ 2-3 คัน ไฟเขียวแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะเขยื้อนไปไหนได้ ยังคงติดอยู่อย่างนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกแยก และบังเอิญว่าในกรุงโซลก็มีแยกเยอะมากเสียด้วย
สุดสัปดาห์ ความเร็วโดยเฉลี่ยที่ชาวโซลใช้คือ 15-20 เมตรต่อ1ชั่วโมง และถ้าจะกลับเข้าโซลในบ่ายวันอาทิตย์อาจใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง จากปกติที่เคยใช้เวลาเพียง 40 นาที
10.ดากา ประเทศบังคลาเทศ
ว่ากันว่า ดากาเป็นเมืองที่คนอยู่หนาแน่นมากที่สุดในโลก
ยิ่งไปกว่านั้นเมืองนี้ขาดระบบการเดินทางขนส่งที่ดี ทางด่วนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชากร 15 ล้านก็ไม่มี คนที่นี่นิยมใช้บริการถลาก ซึ่งกินเวลาถึง 2-3 ชั่วโมงในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนั้น บรรยากาศยังตลบไปด้วยฝุ่น ความร้อน และเสียงจอแจวุ่นวาย กฎจราจรไม่สามารถใช้บังคับอะไรได้
ที่มา : www.bbc.co.uk