วิโอลา เฟลทเชอร์ (Viola Fletcher) มีอายุ 7 ขวบเมื่อเธอประสบกับเหตุการณ์รุนแรงสยองขวัญเกี่ยวกับการรังคัดรังแกทางเชื้อชาติจนถึงขั้นสังหารหมู่หลายสิบชีวิต ซึ่งถือกันว่าร้ายกาจที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เฟลทเชอร์ อายุ 107 ปี เดินทางสู่เมืองหลวงของประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิตเพื่อให้การเป็นพยานเกี่ยวกับ ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ (Tulsa Race Massacre) ขึ้นแถลงต่อหน้าสมาชิกคณะอนุกรรมการกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องหาความยุติธรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ยอมรับอย่างเป็นทางการถึงการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ของประเทศ ก่อนวันครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์ 31 พฤษภาคม นี้
เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนนี้ ปี 1921 กลุ่มคนผิวขาวที่กำลังโกรธแค้นบ้าคลั่งเนื่องจากข่าวลือเรื่องคนดำวัยรุ่นทำอนาจารหญิงสาวผิวขาว ออกอาละวาดก่อความวุ่นวาย เข้าโจมตีบ้านเรือนในเขตกรีนวูด เมืองทัลซา โอคลาโฮมา ตลอดเวลาประมาณ 18 ชั่วโมง คร่าชีวิตคนผิวดำไปนับร้อยราย ทำให้ย่านการค้าและบ้านเรือนของคนผิวดำฐานะมั่งคั่งซึ่งเฟลทเชอร์เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้อยู่อาศัยถูกทำลายกลายเป็นเถ้าถ่าน
“ฉันยังคงมองเห็นชายผิวดำถูกยิง ร่างสีดำหลายร่างนอนอยู่ที่ถนน ฉันยังได้กลิ่นควันไฟ และเห็นเพลิงลุกไหม้” เฟลทเชอร์แถลงให้การ “ฉันยังคงเห็นร้านรวงของคนดำถูกเผาผลาญ ฉันยังคงได้ยินเสียงเครื่องบินบินวนอยู่เหนือศีรษะ ฉันได้ยินเสียงกรีดร้อง ฉันต้องใช้ชีวิตตลอดมาด้วยจิตใจระลึกถึงการสังหารหมู่ทุกวัน ประเทศของเราอาจลืมเลือนเรื่องนี้ไปเสียแล้ว แต่ฉันไม่เคยลืมได้เลย”
การจลาจลทางชาติพันธุ์ที่เมืองทัลซา ปี 1921 หรือที่เรียกว่า ‘การสังหารหมู่ทัลซา’ ทำให้ย่านกรีนวูดที่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของคนผิวดำที่รู้จักกันในนาม ‘วอลล์สตรีทดำ’ (Black Wall Street) ต้องพินาศย่อยยับกลายเป็นกองซากกรุ่นควัน เมื่อถูกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลผิวขาวเข้าปล้นสังหารและเผาผลาญชุมชน
รายงานเหตุการณ์ยุคเก่าระบุว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิต 36 ราย แต่ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 300 ราย ตามรายงานของสมาคมประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทัลซา ภาพถ่ายในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นร่างของคนดำนอนเกะกะอยู่เกลื่อนถนน
พยานในเหตุการณ์เรียกร้องความยุติธรรม
“ฉันอายุ 107 ปีและยังไม่เคยเห็นความยุติธรรม ฉันภาวนาว่าสักวันหนึ่งฉันจะได้รับสักที ฉันได้รับพรให้ได้มีชีวิตยืนยาว … และได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดของประเทศนี้ ฉันคิดถึงความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำในประเทศนี้ทุกวัน” เฟลทเชอร์แถลง
เฟลทเชอร์เป็นผู้มีอายุมากที่สุดในบรรดาผู้รอดชีวิต 3 คนจากการสังหารหมู่ที่เดินทางมาแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา กับฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ น้องชายของเธอ ฮิวจ์ แวน เอลลิส (Hughes Van Ellis) และ เลสซี แรนเดิล (Lessie Benningfield Randle) ปรากฏตัวต่อหน้าคณะอนุกรรมการ ทั้งสองตั้งข้อสังเกตว่าชุมชนไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ และกล่าวว่าผู้รอดชีวิตยังคงมองเห็นผลกระทบของการสังหารหมู่อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
แวน เอลลิส อธิบายถึงความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายครั้งของผู้รอดชีวิตรวมทั้งพวกลูกหลานในการขอความยุติธรรมผ่านกระบวนการศาล “คุณคิดว่าเมื่อของของคุณถูกขโมยไป คุณจะต้องไปที่ศาลเพื่อหาทางเอาคืน” เขากล่าว “แต่นั่นไม่ใช่กรณีของเรา”
“เราถูกทำให้รู้สึกว่าการต่อสู้ของเราไม่คู่ควรกับความยุติธรรม สำหรับเรามันมีน้อยกว่าของคนผิวขาว เสมือนเราไม่ใช่คนอเมริกันโดยสมบูรณ์” แวน เอลลิส พูดให้การ เขาเป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏตัวขณะสวมหมวกทหาร
“เราเห็นมาแล้วว่าในสหรัฐอเมริกาคนทุกคนไม่ได้เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย เราได้เห็นแล้วว่าเมื่อคนผิวดำส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรม ก็จะไม่มีใครสนใจ”
เลสซี แรนเดิล ซึ่งให้การเป็นพยานเช่นกันกล่าวว่า ทุกวันนี้เธอยังคงรู้สึกถึงผลกระทบของการสังหารหมู่ในทัลซา “โอกาสของฉันถูกพรากไปจากฉัน และชุมชนคนดำในทัลซายังคงสับสนอยู่จนทุกวันนี้ พวกเขาไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่ มันว่างเปล่า มันกลายเป็นสลัม” แรนเดิลซึ่งตอนนี้อายุ 106 ปีกล่าว
แรนเดิลกล่าวว่าเธอไม่เพียงรอดชีวิตจากการสังหารหมู่ แต่ตอนนี้เธอยังอยู่กับชีวิตที่เต็มด้วย “100 ปีแห่งความทรงจำอันเจ็บปวด”
“ด้วยพระคุณของพระเจ้าฉันยังคงอยู่ที่นี่ ฉันรอดมาได้เพื่อบอกเล่าเรื่องนี้” เธอกล่าว “หวังว่าตอนนี้พวกคุณทุกคนจะฟังเรา ในขณะที่เรายังมีตัวเป็นๆ อยู่แบบนี้”
ชนวนเหตุการณ์เสมือนน้ำผึ้งหยดเดียว
ในหลายท้องถิ่นของอเมริกาตลอดหลายปีหลังสงครามโลกครั้งแรก ได้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการฟื้นคืนชีพของกลุ่มนิยมผิวขาวสุดโต่ง คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan) ที่ได้สลายตัวไปแล้วหลายปีหลังจากยุคปฏิรูปหลังสงครามกลางเมือง เกิดเหตุการณ์ประชาทัณฑ์คนดำขึ้นหลายครั้ง และการกระทำย่ำยีผู้คนต่างผิวต่างเชื้อชาติแบบอื่นด้วยความรุนแรง ตลอดจนความพยายามของชาวแอฟริกันอเมริกันที่จะป้องกันการโจมตีชุมชนของพวกตน
ภายในปี 1921 ด้วยเงินจากแหล่งน้ำมัน ทัลซาได้กลายเป็นเมืองที่เติบโตและเจริญรุ่งเรือง มีประชากรมากกว่า 100,000 คน แต่อัตราการเกิดอาชญากรรมมีอยู่สูง และการตัดสิน ‘ความยุติธรรม’ มาจากศาลเตี้ยโดยกลุ่มคนร้ายกาจบางพวกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ทัลซายังเป็นเมืองที่ใช้นโยบายแบ่งแยกผิว (segregation) อย่างมากนั่นคือ ชาวผิวดำ 10,000 คนในเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตที่เรียกว่ากรีนวูด (Greenwood District) ซึ่งประกอบด้วยย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งบางครั้งได้ชื่อเรียกว่า ‘Black Wall Street’
เมื่อ 30 พฤษภาคม 1921 วัยรุ่นผิวดำ ดิค โรว์แลนด์ (Dick Rowland) ได้เข้าไปในลิฟต์ที่อาคาร Drexel ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานบนถนน เซาธ์ เมนสตรีท ในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น ซาราห์ เพจ (Sarah Page) สาวพนักงานประจำลิฟต์ผิวขาวก็ส่งเสียงกรีดร้องออกมา โรว์แลนด์รีบเผ่นหนีออกจากที่เกิดเหตุ ตำรวจถูกเรียกตัวมา แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นก็สามารถจับกุมตัวโรว์แลนด์ไว้ได้
ความรุนแรงก่อตัวและแพร่ขยาย
เมื่อถึงตอนนั้นข่าวลือว่าเกิดอะไรขึ้นบนลิฟต์อาคารนั้นแพร่สะพัดไปทั่วชุมชนคนผิวขาวของเมือง เรื่องราวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Tulsa Tribune ที่ออกตอนบ่ายวันนั้นรายงานว่าตำรวจได้จับกุมโรว์แลนด์ ด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศนางสาวเพจ
เมื่อถึงตอนเย็นกลุ่มคนผิวขาวที่กำลังโกรธแค้นหัวเสียเข้ามารวมตัวกันภายนอกอาคารศาล แล้วเรียกร้องให้นายอำเภอส่งมอบตัวโรว์แลนด์ นายอำเภอวิลลาร์ด แมคคัลล็อก บอกปฏิเสธ แล้วเจ้าหน้าที่ของเขาจึงปิดกั้นชั้นบนสุดของอาคารไว้เพื่อปกป้องวัยรุ่นผิวดำ
ประมาณสามทุ่ม กลุ่มชายผิวดำติดอาวุธประมาณ 25 คนรวมทั้งทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายคนรุดไปที่ศาลเพื่อแจ้งว่าจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการปกป้องโรว์แลนด์ หลังจากที่นายอำเภอบอกปฏิเสธพวกเขาไป ฝูงชนคนขาวบางกลุ่มก็พยายามบุกเข้าไปในคลังอาวุธของหน่วยทหารพิทักษ์ชาติ (National Guard) ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะที่ข่าวลือยังคงแพร่สะพัดว่าจะมีการรุมประชาทัณฑ์ กลุ่มชายผิวดำติดอาวุธราว 75 คนจึงกลับไปที่อาคารศาลหลังสี่ทุ่ม แล้วพบว่าพบมีกลุ่มชายผิวขาวอยู่ราว 1,500 คน ซึ่งบางคนถืออาวุธด้วย
หลังจากมีเสียงปืนดังขึ้นและเกิดความโกลาหล กลุ่มชายผิวดำที่มีจำนวนน้อยกว่าก็ถอยกลับไปที่กรีนวูด
ตลอดหลายชั่วโมงถัดมากลุ่มชาวทัลซาผิวขาวซึ่งบางคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของเมืองและได้รับมอบอาวุธ ก็ได้ก่อเหตุรุนแรงในแบบสยดสยองต่อคนผิวดำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง รวมถึงการยิงชายคนหนึ่งที่ไม่มีอาวุธในโรงภาพยนตร์
ความเชื่อข่าวลืออย่างผิดๆ ที่ว่าการจลาจลครั้งใหญ่ในหมู่ชาวทัลซาผิวดำกำลังดำเนินอยู่ รวมถึงการเสริมกำลังของคนดำจากเมืองใกล้เคียงและเมืองที่มีประชากรชาวแอฟริกันอเมริกันจำนวนมาก ส่งผลทำให้เกิดความบ้าคลั่งที่ขยายตัวยิ่งขึ้น
เมื่อถึงตอนรุ่งสาง 1 มิถุนายน ประชาชนผิวขาวหลายพันคนพากันหลั่งไหลเข้าสู่เขตกรีนวูด แล้วช่วยกันปล้นสะดม วางเพลิงเผาบ้านเรือนและธุรกิจร้านค้าในพื้นที่รวม 35 ช่วงตึกของเมือง นักผจญเพลิงที่พยายามช่วยดับไฟครานั้น ต่อมาในภายหลังให้การว่าผู้ก่อจลาจลได้ข่มขู่พวกเขาด้วยปืนและบังคับให้ล่าถอยออกไป
ตามการประมาณการขององค์การกาชาดในเวลาต่อมา บ้านเรือน 1,256 หลังถูกเผาผลาญ อีก 215 หลังถูกปล้นชิงทรัพย์สิน แต่ไม่ได้ถูกจุดไฟเผา ที่ทำการหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ โรงเรียน ห้องสมุด โรงพยาบาล โบสถ์ โรงแรม ร้านค้า และธุรกิจอื่นอีกมากมายที่คนผิวดำเป็นเจ้าของถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากไฟไหม้
เมื่อถึงเวลาที่กองกำลังพิทักษ์ชาติเคลื่อนตัวมาถึง และผู้ว่าการ เจ.บี.เอ. โรเบิร์ตสัน (J.B.A. Robertson) ประกาศกฎอัยการศึกก่อนเที่ยงไม่นาน การจลาจลก็สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าหน่วยทหารจะเข้าช่วยดับไฟ แต่พวกเขาก็ยังลากตัวชาวทัลซาผิวดำไปจำคุกไว้หลายคน เมื่อถึง 2 มิถุนายน มีคนดำ 6,000 คนตกอยู่ภายใต้การกักกันโดยมีการคุ้มครองด้วยอาวุธที่บริเวณงานแสดงสินค้าท้องถิ่น
ภายหลังเหตุการณ์
ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ ทุกข้อกล่าวหาที่มีต่อวัยรุ่นผิวดำ ดิค โรว์แลนด์ ก็ถูกถอดถอนออกไปทั้งหมด ตำรวจสรุปว่า โรว์แลนด์น่าจะได้สะดุดหน้าคะมำหรือบังเอิญไปเหยียบเท้าสาวพนักงานลิฟต์ผิวขาวเพียงเท่านั้น เขาถูกคุมขังไว้อย่างปลอดภัยในตะรางของตำรวจระหว่างเกิดการจลาจลไปทั่วเมือง โรว์แลนด์เดินทางออกจากทัลซาในเช้าวันรุ่งขึ้นทันที และไม่เคยมีรายงานว่าเขากลับมาที่นั่นอีก
สำนักงานสถิติที่สำคัญของโอคลาโฮมาได้บันทึกอย่างเป็นทางการไว้ว่ามีผู้เสียชีวิต 36 ราย การตรวจสอบเหตุการณ์ของคณะกรรมาธิการของมลรัฐในปี 2001 ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 36 ราย ในจำนวนนั้น 26 รายเป็นคนดำ และ 10 รายเป็นคนขาว อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ประเมินไว้ว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 300 ราย
แม้จะมีการประมาณการอย่างต่ำเอาไว้ แต่ว่า ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในการจลาจลที่มีความเสียหายร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้เป็นรองเพียงการจลาจลเกณฑ์ทหารที่เมืองนิวยอร์ค เมื่อปี 1863 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 119 ราย
ตลอดหลายสิบปี ขณะที่ชาวทัลซาผิวดำมุ่งทำงานเพื่อก่อสร้างบ้านเรือนและรื้อฟื้นธุรกิจที่พังพินาศ หลักคิดในเรื่องการแบ่งแยกสีผิวของชาวชุมชนเมืองก็ยิ่งเพิ่มทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น และสาขาของกลุ่ม KKK ที่ตั้งขึ้นใหม่ในมลรัฐโอคลาโฮมาก็เติบโตต่อมาอย่างแข็งแกร่ง
ความพยายามปกปิดข่าวสารเหตุการณ์
ตลอดเวลาหลายทศวรรษไม่เคยมีพิธีสาธารณะเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตหรือความพยายามอย่างใดที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 1921 ที่ทัลซา แต่กลับมีความพยายามชัดเจนโดยเจตนาที่จะปกปิดสิ่งเหล่านี้
สำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งเมืองทัลซา Tulsa Tribune ได้ขจัดทิ้งเรื่องราวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ วันที่ 31 พฤษภาคม ของตน ซึ่งได้จุดประกายความโกลาหลและก่อการจลาจลออกจากปึกหนังสือที่ถูกรวมเล่มไว้ และนักวิชาการยังค้นพบภายหลังอีกว่า คลังเก็บเอกสารของตำรวจกับกองกำลังอาสาสมัครติดอาวุธของรัฐที่น่าจะมีเอกสารสำคัญเกี่ยวเกี่ยวกับการจลาจล เอกสารทั้งหลายก็หายสาบสูญไปหมดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ จึงแทบไม่ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนหรือแม้กระทั่งหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเลยไม่ว่าในที่แห่งใด
นักวิชาการเริ่มเจาะลึกถึงเรื่องราวของการจลาจลเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 หลังจากครบรอบ 50 ปี เมื่อปี 1996 และในวันครบรอบ 75 ปีของการจลาจล มีการจัดพิธีทางศาสนาที่ คริสตจักรแบบติสต์ เมาท์ ไซออน (Mount Zion Baptist Church) ซึ่งครั้งหนึ่งผู้ก่อการจลาจลได้วางเพลิงเผาผลาญจนหมดสิ้น และมีพิธีวางพวงมาลารำลึกไว้ที่ด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งกรีนวูด
การพยายามรื้อฟื้นความทรงจำในยุคใหม่
ในปีต่อมาหลังจากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลอย่างเป็นทางการเพื่อตรวจสอบ ‘การจลาจลทางชาติพันธุ์ทัลซา’ ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ก็เริ่มสอดส่องตรวจสอบเรื่องราวที่ผ่านมา รวมถึงร่างของเหยื่อจำนวนมากที่ถูกฝังอยู่ในหลุมศพซึ่งปราศจากป้ายแสดงข้อมูล
ปี 2001 รายงานของ ‘คณะกรรมการการจลาจลทางชาติพันธุ์’ (Race Riot Commission) สรุปว่ายอดผู้เสียชีวิตมีอยู่ระหว่าง 100 ถึง 300 ราย และอีกมากกว่า 8,000 คนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหลังจากช่วง 18 ชั่วโมงอันโหดร้ายในปี 1921 นั้น
ร่างกฎหมายของวุฒิสภาแห่งรัฐโอคลาโฮมาที่กำหนดให้โรงเรียนมัธยมในมลรัฐโอคลาโฮมาทุกแห่งต้องมีการสอนเกี่ยวกับ ‘การจลาจลทางชาติพันธุ์ทัลซา’ ไม่ผ่านการลงมติในปี 2012 โดยฝ่ายผู้คัดค้านอ้างว่าโรงเรียนทั้งหลายได้สอนนักเรียนเกี่ยวกับการจลาจลครั้งนั้นแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการของมลรัฐเคยแถลงว่าได้กำหนดให้มีหัวข้อนี้ไว้ในวิชาประวัติศาสตร์โอคลาโฮมานับตั้งแต่ปี 2000 และในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 และเหตุการณ์ดังกล่าวได้รวบรวมไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์รัฐโอคลาโฮมา นับตั้งแต่ปี 2009
เดือนพฤศจิกายน 2018 ‘คณะกรรมการเหตุการณ์จลาจลทางชาติพันธุ์ ปี 1921’ ได้รับการเปลี่ยนชื่อทางการ เป็น ‘คณะกรรมการเหตุการณ์สังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ ปี 1921’
“แม้ว่ายังมีบทสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับเหตุผลและผลกระทบของคำว่า ‘การจลาจล’ กับ ‘การสังหารหมู่’ จะมีความสำคัญ และทั้งสองคำยังได้รับการสนับสนุนอยู่ด้วยกัน” เควิน แมทธิวส์ (Kevin Matthews) วุฒิสมาชิกแห่งรัฐโอคลาโฮมากล่าว “แต่ความรู้สึกและการตีความของผู้ที่ประสบกับความหายนะนี้ ตลอดจนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ปัจจุบัน กับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เราเปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะกรรมการเหตุการณ์สังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ ปี 1921’ ได้ ซึ่งน่าจะเหมาะสมมากยิ่งขึ้น”
อ้างอิง
- www.npr.org
- www.independent.co.uk/news/world
- www.washingtonpost.com/history
- www.theguardian.com/us-news
- www.edition.cnn.com/2021
- www.history.com/topics