การปฏิวัติครั้งสะเทือนโลกโดยพลพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงจักรวรรดิรัสเซียไปตลอดกาลได้ผ่านมาแล้วหนึ่งศตวรรษ บัดนี้ประเทศกลับมาตกอยู่ในสภาพอึดอัดกับความคิดขัดแย้งว่าจะเฉลิมฉลองเชิดชูเหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่กำเนิดของสหภาพโซเวียตอันเกรียงไกรอย่างไร ในเมื่อ ‘สหภาพ’ ล่มสลายไปแล้ว และพลังของศาสนจักรออร์โธดอกซ์มีท่าทีจะขยับกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา หรือว่าผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นไปพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียยุคใหม่
ก่อนปี 1917 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นต่อเนื่องกันหลายอย่าง จนกระทั่ง ซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nikolai Alexandrovich Romanov หรือ Nikolai II) สละบัลลังก์ในเดือนมีนาคม แล้ว วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Ilyich Ulyanov หรือ Lenin) นำพรรคบอลเชวิคเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศได้สำเร็จเมื่อ 25 ตุลาคม 1917 (ตามปฏิทินจูเลียนที่ใช้กันอยู่ในรัสเซียยุคนั้น ซึ่งตรงกับ 7 พฤศจิกายน ตามปฏิทินปัจจุบัน)
หลังจากนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างผู้คนชาวรัสเซียต่างอุดมการณ์อุบัติขึ้นทันที นำไปสู่การสถาปนาสหภาพสังคมนิยมโซเวียตแห่งรัสเซีย (Union of Soviet Socialist Republics: USSR) ซึ่งก่อร่างขึ้นจากเศษซากปรักหักพังของจักรวรรดิรัสเซียแต่ดั้งเดิม
มาบัดนี้ เมื่อเวลาผ่านไปได้ 100 ปี รัฐบาลรัสเซียกลับต้องมาประสบกับความยากลำบากใจว่าจะจัดการอย่างไรกับความทรงจำการปฏิวัติพลิกแผ่นดินเมื่อครั้งอดีต โดยมีฉากอันเป็นตำนานเหตุการณ์ประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ผสมกับพฤติกรรมการปกครองด้วยกำปั้นเหล็กในยุคของสหภาพโซเวียต ประกอบเป็นหัวข้ออภิปรายถกเถียงกันมาตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้
ขณะที่รัฐบาลรัสเซียใช้ความพยายามอยู่มากเพื่อหนุนเนื่องให้เกิดความรู้สึกด้านบวกต่อคณะผู้ปกครองตลอดยุคโซเวียต ซึ่งล่มสลายไปแล้วเมื่อปี 1991 รัฐก็ยังได้แสดงความปรารถนาให้เห็นได้ชัดว่าต้องการจะเสริมส่งพลังและอิทธิพลของศาสนจักรออร์โธดอกซ์ด้วย ซึ่งทั้งสองแนวทางน่าจะเป็นสิ่งขัดแย้งตรงกันข้าม
การกล่าวยกย่องสรรเสริญวีรกรรมของเลนินผู้มีบทบาทนำแห่งการปฏิวัติของมวลชนกรรมาชีพ จะเริ่มยุ่งยากสับสนขึ้น เมื่อลงสู่รายละเอียดสักเล็กน้อยก็จะปรากฏความคิดเห็นของเขาวิพากษ์อำนาจของศาสนจักรและบรรดานักบวช ว่าเป็นผู้นำแห่งการกดขี่ข่มเหงรายสำคัญที่ได้กระทำต่อพลเมืองชนชั้นแรงงานผู้ด้อยสถานะ
นับจากปลายปีที่แล้วถึงกลางปีนี้ รัฐบาลรัสเซียยังไม่ได้ออกกำหนดแผนการชัดเจนเพื่อจัดงานรำลึกถึงการปฏิวัติบอลเชวิคของเลนินอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) สั่งให้เจ้าหน้าที่จัดงานทางสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 1917 แล้วคณะบริหารแห่งเครมลินก็แทบไม่ให้รายละเอียดใดๆ ว่าจะเน้นบทบาทโดดเด่นของเลนินลักษณะไหน ในการบรรยายบอกเล่าเรื่องที่จะ ‘เฉลิมฉลอง’ เพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติครั้งสำคัญนี้เลย
ตลอดหลายปี ปูตินเองได้ให้ความเห็นเป็นการวิพากษ์เลนินหลายครั้ง เขาอ้างว่า การยืนหยัดต่ออุดมการณ์ของเลนินและความปรารถนาของลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อแพร่ขยายไปทั่วโลกได้นำมาซึ่ง “ความพินาศของสหภาพโซเวียต” ในที่สุด
ตลอดยุคโซเวียต รัฐจัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบการปฏิวัติ 7 พฤศจิกายน เป็นงานใหญ่ระดับมโหฬารทุกปี (หรือ 25 ตุลาคม ตามปฏิทิน Julian ที่ใช้ในปี 1917) เป็นวันหยุดพักผ่อน ในงานมีขบวนพาเหรดของทหารและการแสดงแสนยานุภาพกลางจัตุรัสแดงของกรุงมอสโคว์
ในยุคใหม่ระหว่างสิบกว่าปีที่ผ่านมา งานฉลองการปฏิวัติบอลเชวิคของรัสเซียได้ลดขนาดลงกว่าที่เคยปรากฏอย่างมากมาย
รัฐบาลเครมลินได้มอบหมายให้คณะกรรมการการเมืองและพวกนักบวชผู้ที่ไม่เคยแสดงความโน้มเอียงแนวทางคอมมิวนิสต์หรือราชาธิปไตย ร่วมกันวางแผนจัดงาน ‘เฉลิมฉลอง’ ปีนี้ ในทำนองไม่ค่อยกระตือรือร้นและขาดไร้ ‘จิตวิญญาณปฏิวัติ’ อย่างมาก
คณะกรรมการแถลงว่าเป้าหมายสำคัญของงานนี้คือการ “ดึงบทเรียนจากประวัติศาสตร์” เพื่อมุ่ง “เสริมสร้างความสามัคคี” และเรียนรู้ถึง “วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ”
เซอร์เก นาริชกิน (Sergei Naryshkin) ผู้เป็นทั้งนายกสมาคมประวัติศาสตร์รัสเซียและผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการชุดหนึ่งว่า “การปฏิวัตินำมาซึ่ง การหลั่งเลือด ความตาย การทำลายล้าง และความพินาศ โดยตลอด”
นาริชกินบอกว่า ชาวรัสเซีย “รู้คุณค่าที่แท้จริงของความมั่นคง” และเขากล่าวว่ามั่นใจได้ว่าแนวคิดการปฏิวัติ “จะต้องไม่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ”
จนกระทั่งเวลากระชั้นชิดเข้ามาทุกขณะ แต่ก็ยังไม่เคยมีการแถลงชัดเจนว่าแผนการจัดงานเพื่อรำลึกวันครบรอบปฏิวัติประกอบด้วยรายละเอียดอย่างใดบ้าง
แต่บทเรียนจากเหตุการณ์เท่าที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าทางการเครมลินพยายามป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระตุ้นใดๆ เพื่อกระทบกระเทือนสถานะเดิมทางการเมือง เช่น การเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกไม่กี่เดือนจะถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะลงสมัครอีกครั้งหนึ่ง
นับตั้งแต่ปี 2000 ปูตินได้เสริมสร้างอำนาจของตนขึ้นเสมือนเป็น ‘เสาหลักแห่งเสถียรภาพ’ และคุณค่าดั้งเดิม หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างทศวรรษ 1990 โดยมุ่งหวังที่จะแสดงตัวตนเสมือนเป็นศูนย์รวมของพลเมืองหลายกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ของประเทศ
“ผู้นำระดับสูงของประเทศเราได้แสดงให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่าจำเป็นที่จะต้องปรองดองผู้คนแห่งอุดมการณ์ ‘แดง’ และ ‘ขาว’ เข้าด้วยกัน” นักประวัติศาสตร์ วลาดิสลาฟ อัคไซโอนอฟ (Vladislav Aksyonov) กล่าว เขาน่าจะหมายถึงพวกคอมมิวนิสต์กับคนของฝ่ายจักรวรรดิที่ได้เคยสู้รบในสงครามกลางเมือง
“การจะทำเช่นนั้นให้ได้ เราจำเป็นต้องจัดการกับประเด็นอันน่าปวดร้าว แต่เราสามารถพูดได้ว่า การประนีประนอมที่สมบูรณ์ยังไม่เกิดขึ้นเลย และไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้” เขากล่าวเสริม
รัสเซียเคยเป็นจักรวรรดิมหาอำนาจก่อนก่อการจลาจลคอมมิวนิสต์ แล้วต้องมาผจญกับช่วงเวลาลำบากแสนเข็ญในการดิ้นรนต่อสู้กับประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องศาสนจักรที่เคยเป็นมือไม้ของจักรวรรดิเก่า และวัตถุที่ระลึกถึงยุคปฏิวัติและวีรกรรมของสหภาพโซเวียต
ซาร์นิโคลัสที่ 2 กับครอบครัวซึ่งถูกสังหารโหดไปโดยพวกบอลเชวิค ต่อมาเมื่อปี 2000 ซาร์นิโคลัสได้รับการยกย่องและสถาปนาให้รับสถานะนักบุญโดยศาสนจักรออร์โธดอกซ์แห่งรัสเซีย
ในช่วงเกือบ 26 ปีนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บทบาทของศาสนจักรออร์โธดอกซ์ที่เคยถูกจำกัดและข่มเหงรังควาญได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ศาสนจักรได้กลายเป็นเอกลักษณ์แห่งการกำหนดตัวตนของรัสเซียที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากเครมลิน
ประธานาธิบดีปูติน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง KGB แห่งสหภาพโซเวียตที่ปฏิเสธพระเจ้า บัดนี้ได้ผ่านเข้ารับศีลแห่งศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์เรียบร้อยแล้ว ผู้นำรัสเซียมักปรากฏในรายการโทรทัศน์แห่งชาติขณะเข้าร่วมพิธีทางศาสนาบ่อยครั้ง และมักแถลงให้ความสำคัญกับนักบวชผู้นำของศาสนจักร
ประมุขของศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย สังฆราชคิริลแห่งมอสโคว์ (Patriarch Kirill of Moscow) เป็นบุคคลทางศาสนาที่ได้รับนับถือโดยชนชั้นสูงทั่วไปของประเทศ
รัสเซียเป็นประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแบบรัฐฆราวาสซึ่งใช้กับสังคมศาสนิกและชาติพันธุ์หลากหลาย แต่ในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกกฎหมายและแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติลงโทษ ‘การดูหมิ่นศาสนาและอิสรภาพ’
กรณีอื้อฉาวที่สุดคือเรื่องที่สมาชิกนักสตรีนิยมแห่งวงดนตรีพังค์ Pussy Riot ต้องรับโทษจำคุกสองปี หลังจากบุกเข้าไปในวิหารใหญ่กรุงมอสโคว์ในปี 2012 เพื่อร้องเพลงประณามปูติน
ไม่นานนี้ บล็อกเกอร์ของผู้ไม่เชื่อในพระเจ้ารายหนึ่งได้ถูกตั้งข้อหาอาญา ‘หมิ่นศาสนา’ หลังจากโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับตัวเขาเองขณะเล่นเกม Pokémon Go ในโบสถ์
ในส่วนของสัญลักษณ์ สิ่งรำลึก และอนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ สามารถเห็นได้ตามสถานที่สำคัญหลายแห่งของประเทศ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสับสนและขัดแย้งกันระหว่างพลเมืองหลายกลุ่ม ทั้งทางด้านอุดมการณ์และความต้องการรักษาความทรงจำ หรือว่าอยากจะลืมเรื่องราวในอดีตเหล่านี้
ขณะที่ร่างของเลนินยังคงตั้งแสดงอยู่ที่อาคารสุสานแห่งพระราชวังเครมลินในจตุรัสแดง ชาวรัสเซียบางส่วนยังคงคัดค้านการรื้อถอนอนุสาวรีย์เลนินจำนวนหนึ่งที่เหลืออยู่ในประเทศ ส่วนในโลกของอดีตคอมมิวนิสต์ ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง รวมทั้งยูเครน มีนโยบายจะถอดถอนอนุสาวรีย์เลนินและสัญลักษณ์อื่นๆ ทั้งหมดของสหภาพโซเวียต
การสำรวจของสำนัก Levada ที่ออกคำถามว่าควรจะทำอย่างไรกับร่างของของเลนิน ผู้ตอบร้อยละ 50 ในรัสเซียเรียกร้องให้เอาร่างเขาไปฝังเสียดีกว่า
หลังจากครองอำนาจสูงสุดมาได้ 17 ปี ในแง่หนึ่งการพยายามปฏิรูปประเทศของปูตินประกอบด้วยหลายมาตรการ นับตั้งแต่การลดภาษีไปจนถึงการขยายตัวของสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งได้ช่วยปรับเปลี่ยนศักยภาพของชาวรัสเซียหลายล้านคนให้ดีขึ้น
ก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าคนรัสเซียมีประสบการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยเพียงด้านเดียว คืออาชญากรรม ความยากจน และความไม่มั่นคง ที่ได้แพร่ขยายมากขึ้นหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ปูตินกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ว่า “เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศของเราที่มีการมอบอำนาจ … อย่างถูกต้องตามกฎหมาย … และโดยสันติ” และเขาพร้อมที่จะ
รวมกลุ่มชนชาติรัสเซียเข้าไว้เป็นปึกแผ่น
ในอีกแง่หนึ่ง ปูตินเปิดเผยตัวตนเสมือนอำนาจเผด็จการใหม่ โดยไม่ยอมให้มีการแสดงออกด้วยการประท้วงคัดค้านสาธารณะ ทางการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการคัดค้านทางการเมือง ด้วยความหวั่นเกรงต่อสภาพของมวลมหาชนที่อาจลุกฮือขึ้นมา และใช้วิถีทางกำลังทหารในภูมิภาค เช่น แหลมไครเมีย และภูมิภาคเอเชียกลาง
รัฐบาลปูตินในปี 2011 และ 2012 ได้เริ่มปราบปรามการประท้วงโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนอิสระที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในแนวทางอุดมการณ์ที่ ‘ไม่รักชาติ’
รัสเซียยังได้พยายามปราบปรามกระแสการปฏิวัติในยูเครน และจอร์เจีย ในส่วนของซีเรีย การสนับสนุนของปูตินต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในงานขจัดฝ่ายต่อต้าน เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาระบอบปกครองของซีเรียไว้ได้
เครมลินได้ใช้ข้ออ้างถึงขบวนการสนับสนุนการเข้าร่วมสหภาพยุโรป (Pro-EU) ในปี 2014 ของรัฐบาลเคียฟ แห่งยูเครนซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ก่อการกบฏสายมอสโคว์ในยูเครนตะวันออก เพื่อนำมาสยบคนรัสเซียให้หวั่นเกรงการจะออกไปประท้วงตามท้องถนน
สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าได้ผล ภายในรัสเซียแม้จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่มีกะจิตกะใจอยากจะออกมาส่งเสียงเรียกร้องใดๆ
นักวิเคราะห์อิสระแห่ง Levada Center กล่าวว่า ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวรัสเซียไม่เต็มใจออกไปร่วมกิจกรรมประท้วงคัดค้านตามถนนเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเห็นว่า ปูตินก้าวไกลไปมากจนสถานะของเขาแทบจะกลายเป็นพระเจ้าซาร์ยุคใหม่ไปแล้ว และถือว่าเป็นความสำเร็จแบบน่าทึ่งของผู้นำคนหนึ่งในประวัติศาสตร์รัสเซีย ที่ได้พุ่งขึ้นโดดเด่นสู่ความสำคัญระดับโลก
ในวาระครบรอบ 100 ปีนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งที่เคยมีชีวิตผ่านยุคสหภาพโซเวียตก็ยังคงจดจำได้ถึงความสำเร็จและล้มเหลวหลายประการของประเทศ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองรัสเซีย ความหวาดกลัวในยุคสตาลิน และการมีส่วนร่วมและได้รับชัยชนะของโซเวียตรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แลกมาด้วยชีวิตนับไม่ถ้วน
สำดับเหตุการณ์
การปฏิวัติรัสเซียปี 1917 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองโดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติด้วยความรุนแรงนำสู่การล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟและการปกครองนับหลายศตวรรษของจักรวรรดิรัสเซีย ระหว่างการปฏิวัติพวกบอลเชวิค นำโดยหัวหน้าของฝ่ายซ้าย วลาดิเมียร์ เลนิน เข้ายึดอำนาจและทำลายประเพณีปกครองของระบอบซาร์ พวกบอลเชวิคต่อมาได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นเมื่อใด
เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติรัสเซีย’ ไม่ได้เกิดครั้งเดียว แต่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน ในปี 1917 การปฏิวัติสองครั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่จะนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ปฏิวัติทั้งสองเกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือน หลังจากความไม่สงบทางสังคมในรัสเซียก่อตัวมานานหลายทศวรรษ
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 รัสเซียเป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยมีชาวนาจำนวนมหาศาลและชนกลุ่มน้อยที่ทำงานในโรงงานสภาพแร้นแค้น
ประเทศในยุโรปตะวันตกมองว่ารัสเซียเป็นสังคมด้อยพัฒนาและล้าหลัง จักรวรรดิรัสเซียมีระบบกึ่งทาส เป็นรูปแบบของระบบศักดินาซึ่งชาวนาไร้ที่ดินถูกบังคับให้รับใช้ชนชั้นสูงเจ้าของที่ดิน ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 19 รูปแบบนี้ได้หายไปหมดแล้วในส่วนมากของยุโรปตะวันตกตั้งแต่ท้ายยุคกลาง
ปี 1861 จักรวรรดิรัสเซียยกเลิกระบบทาสติดที่ดินในที่สุด การปลดปล่อยทาสมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปฏิวัติรัสเซีย โดยที่ชาวนามีอิสระในการจัดตั้งมากขึ้น
การปฏิวัติของรัสเซียปี 1905
รัสเซียก่อตั้งกิจการอุตสาหกรรมขึ้นได้ล่าช้ากว่ายุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา แต่เมื่ออุตสาหกรรมเกิดขึ้นในที่สุดประมาณต้นศตวรรษที่ 20 สิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่
ระหว่างปี 1890 และ 1910 ประชากรในเมืองสำคัญของรัสเซีย เช่น เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมอสโคว์ เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ส่งผลให้เกิดความแออัด ชนชั้นใหม่คือ ‘คนงานอุตสาหกรรม’ มีสภาพเป็นอยู่ที่ย่ำแย่มาก
การเติบโตของประชากรเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่การเพาะปลูกเสียหายรุนแรงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศทางตอนเหนือ และสงครามที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น สงครามไครเมีย (1854-1856) ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารทั่วทั้งจักรวรรดิอันไพศาล
การประท้วงครั้งใหญ่ของคนงานรัสเซียต่อต้านระบอบกษัตริย์ทำให้เกิดการสังหารหมู่ใน ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ (ฺBloody Sunday) ปี 1905 ผู้ประท้วงหลายร้อยคนซึ่งปราศจากอาวุธถูกสังหารหรือบาดเจ็บโดยกองกำลังทหารของจักรพรรดิ
การสังหารหมู่นำสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติรัสเซียปี 1905’ พวกคนงานที่โกรธแค้นตอบโต้ด้วยการประท้วงครั้งใหญ่ต่อเนื่องกันที่ทำให้บางระบบเป็นอัมพาตทั่วประเทศ
ซาร์นิโคลัสที่ 2
หลังจากการนองเลือดในปี 1905 จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 สัญญาว่าจะจัดตั้งสภาผู้แทน หรือ Duma เพื่อดำเนินการปฏิรูป
รัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิงหาคม 1914 เพื่อสนับสนุนเซอร์เบียกับพันธมิตร คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ การเข้ามีส่วนร่วมในสงครามก่อผลสุดร้ายแรงสำหรับจักรวรรดิรัสเซีย
พลังทางทหารของจักรวรรดิรัสเซียเทียบไม่ได้กับประเทศอุตสาหกรรมอย่างเยอรมนี การบาดเจ็บล้มตายของทหารรัสเซียหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าประเทศทั้งหลายในสงครามใดๆ ก่อนหน้านี้ การขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงทำให้รัสเซียต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจตกต่ำอย่างสิ้นหวังเนื่องจากค่าใช้จ่ายทำสงคราม
จักรพรรดินิโคลัสออกจากเมืองหลวงของรัสเซียที่กรุงเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ในปี 1915 เพื่อลงมือควบคุมกองทัพรัสเซียด้วยตนเอง
รัสปูติน กับ อเล็กซานดรา
ระหว่างสามีไม่อยู่ จักรพรรดินี อเล็กซานดรา ฟีโอโดรอฟนา (Czarina Alexandra Feodorovna) ผู้ไม่เป็นที่นิยมเพราะมีความเกี่ยวโยงกับจักรวรรดิเยอรมัน เริ่มปลดเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วงเวลานี้ที่ปรึกษาผู้อื้อฉาวของเธอคือ กริกอรี รัสปูติน (Grigory Rasputin) ผู้มีอิทธิพลต่อการเมืองรัสเซียและราชวงศ์โรมานอฟ แสดงบทบาทอย่างมาก
พวกขุนนางรัสเซียซึ่งต้องการยุติอิทธิพลของที่ปรึกษามากอำนาจผู้นี้ รัสปูตินจึงถูกสังหารเมื่อ 30 ธันวาคม 1916 ขณะนั้นชาวรัสเซียส่วนใหญ่สูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของซาร์นิโคลัสที่ล้มเหลว การทุจริตของรัฐบาลมีมาก เศรษฐกิจของรัสเซียยังคงล้าหลัง และซาร์นิโคลัสก็ยุบสภา Duma หลายรอบ ทั้งที่เป็นรัฐสภาที่ไม่มีอำนาจอะไรมาก เมื่อสภาไม่เห็นด้วยกับความต้องการของตน
ต่อมาไม่นาน ผู้แทนราษฎรสายกลางก็พากันโดดเข้าร่วมกับมวลชนสายรุนแรงของรัสเซีย เพื่อร่วมเรียกร้องให้ล้มล้างระบอบจักรพรรดิที่กำลังระส่ำระสาย
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (ตามปฏิทินจูเลียนของรัสเซีย ซึ่งใช้มาจนถึง กุมภาพันธ์ 1918) เริ่มขึ้นเมื่อ 8 มีนาคม 1917 (23 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจูเลียน)
ผู้ประท้วงส่งเสียงร้องเรียกหาขนมปังเดินกันแน่นท้องถนนแห่งเมืองเปโตรกราด กลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ กระทั่ง 11 มีนาคม ทหารเปิดฉากยิงสังหารผู้ประท้วง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงประท้วงและไม่ยอมออกจากถนน กองทหารเริ่มลังเลและหลบหลีก
สภา Duma จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น 12 มีนาคม ไม่กี่วันต่อมา จักรพรรดินิโคลัสประกาศสละราชบัลลังก์ เป็นการจบสิ้นสายการครองราชย์หลายศตวรรษของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย
ปฏิวัติบอลเชวิค
วันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายน 1917 (หรือ 24 และ 25 ตุลาคม ในปฏิทินจูเลียน เป็นเหตุให้เหตุการณ์นี้มักได้ชื่อว่า ‘การปฏิวัติเดือนตุลาคม’ หรือ October Revolution) ฝ่ายซ้ายที่นำโดยหัวหน้าพรรคบอลเชวิค วลาดิเมียร์ เลนิน ประกาศทำการรัฐประหารล้มเลิกรัฐบาลเฉพาะกาลของสภา Duma โดยแทบไม่เสียเลือดเนื้อ
รัฐบาลเฉพาะกาลมีสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มผู้นำชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางในเมืองของรัสเซีย เลนินจัดการให้รัฐบาลโซเวียตเข้าปกครองโดยตรงผ่านสภาย่อยของกลุ่มทหาร ชาวนา และคนงาน
พวกบอลเชวิคและพันธมิตรเข้ายึดครองอาคารทำการของรัฐบาลและสถานที่ยุทธศาสตร์อื่นๆ ในเมืองเปโตรกราด และในไม่นานก็ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีเลนินเป็นหัวหน้า เลนินจึงกลายเป็นผู้เผด็จการแห่งรัฐคอมมิวนิสต์แรกสุดของโลก
สงครามกลางเมืองรัสเซีย
สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในรัสเซียเมื่อปลายปี 1917 หลังจากการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค ฝ่ายที่สู้รบกัน คือ กองทัพแดง และ กองทัพขาว
กองทัพแดงต่อสู้เพื่อรัฐบาลบอลเชวิคของเลนิน กองทัพขาวเป็นตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรหลวมๆ รวมถึงนักราชานิยม ทุนนิยม และผู้สนับสนุนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย
สงครามกลางเมืองรัสเซียสิ้นสุดลงเมื่อปี 1923 โดยกองทัพแดงของเลนินอ้างชัยชนะและจัดการก่อตั้งสหภาพโซเวียตขึ้น