เลือกตั้ง66: จุดยืนพรรคการเมือง ม.112 แก้ไขหรือยกเลิก ปฏิรูปหรือล้มล้าง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศเลือกตั้ง 2566 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือการที่หลายพรรคการเมืองกล้าที่จะพูดถึงการแก้ไขมาตรา 112 บนเวทีดีเบตและตามสื่อช่องทางต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะในทางสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตาม

มาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ความไม่ได้สัดส่วนของโทษเป็นสิ่งที่สร้างข้อถกเถียงในสังคมมาตลอด มากไปกว่านั้น มาตรา 112 ยังเป็นกฎหมายที่บัญญัติในเชิง ‘ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร’ ทำให้เกิดปัญหาการตีความและถูกนำมาใช้เล่นงานกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเด็นสิทธิประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 โดยศาลมักอ้างว่าเป็นคดีร้ายแรง กลัวจำเลยหลบหนีหรือกระทำความผิดซ้ำ ทั้งที่การคุมขังก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงด้วยเช่นกัน

หากยกกรณีการชุมนุมของกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นจุดตั้งต้น จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวม 1,902 คน จาก 1,203 คดี

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้อหา ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 242 คน รวม 262 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 ราย รวม 21 คดี นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 130 คน รวม 41 คดี

วาระเลือกตั้ง 2566 นโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคจึงหลีกเลี่ยงการแตะประเด็น ‘112’ ได้ยากยิ่ง บางพรรคเสนอให้แก้ไข บางพรรคยืนยันให้ยกเลิก บางพรรคแนะว่าควรคุยกันในสภา บางพรรคก้มหน้า ไม่แตะต้อง ไม่พูดถึง

WAY ชวนสำรวจจุดยืนพรรคการเมืองต่อการแก้ไขมาตรา 112 ก่อนเข้าคูหาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่าพรรคไหนมีข้อเสนออย่างไร พรรคไหนกล้าทะลุเพดาน และการปฏิรูปคือการล้มล้างจริงหรือ

พรรคก้าวไกล

แก้ไข ม.112

  • ลดอัตราโทษ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ หรือลงโทษปรับแทนการจำคุก
    • ลดโทษ: จากเดิมจำคุก 3-15 ปี เหลือไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (กรณีกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์)
    • ลดโทษ: จากเดิมจำคุก 3-15 ปี เหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (กรณีกระทำความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
  • ป้องกันไม่ให้ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น 
    • จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีได้: แก้ไขให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้
  • ยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ
    • ยกเว้นความผิด หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
    • ยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นความจริง 


3 เมษายน 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวในเวที ‘เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ โดยมองว่า ม.112 มีปัญหา เสนอแก้ไขลดโทษให้น้อยลง ซึ่งกระบวนการแก้ไขต้องผ่านสภา 

พรรคเพื่อไทย

  • เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไข ม.112 และการบังคับใช้กฎหมาย
  • แก้ไขโดยหารือผ่านสภา

29 มกราคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ม.112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ที่ขาดหลักนิติธรรม ทำให้ไประคายเจ้านาย ตนมั่นใจว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะไม่มีเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหา

13 มีนาคม 2566 พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวในเวที ‘มติชนย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง’ ว่าเห็นด้วยกับการมีกฎหมายดูแลปกปักรักษาประมุขของประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง สาระของกฎหมายอาจปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องมากขึ้น

3 เมษายน 2566 แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในเวที ‘เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ ว่า พรรคไม่ยกเลิก ม.112 แต่สามารถถกในสภา กำหนดขอบเขต ผู้ฟ้อง บทลงโทษ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

6 เมษายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน กล่าวในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ ว่า ม.112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ โดยย้ำจุดยืนของพรรคว่า ไม่ยกเลิก ม.112 แต่ต้องแก้ไขให้เป็นธรรม

พรรคไทยสร้างไทย

  • แก้ไขผ่านกลไกรัฐสภา รับฟังความเห็นรอบด้าน
  • บุคคลที่ใช้ ม.112 ยัดข้อหาผู้อื่นเพียงเพราะเห็นต่าง ต้องได้รับโทษ

28 มีนาคม 2566 ‘เวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ ศิธา ทิวารี มองว่า ม.112 เป็นคดีการเมืองที่คนเอาไปบังคับใช้นอกเหนือจากที่ควรจะเป็น สร้างความแตกแยก และบางครั้งเป็นการตีความผิด
 

18 เมษายน 2566 เวที ‘ไทยรัฐดีเบต เลือกตั้ง’66 ประชันวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมือง’ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรค ระบุว่า เห็นด้วยที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาต้องไปคุยในสภา รับฟังความเห็นรอบด้าน โดยเห็นว่าบุคคลที่ใช้กฎหมายนี้ทำร้ายผู้อื่นที่เห็นต่าง เสมือนดึงสถาบันฯ ลงมา ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ต้องมีโทษมากกว่าคนอื่นด้วย

พรรคเสรีรวมไทย

  • แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรรม
  • แยกองค์ประกอบความผิด ‘ดูหมิ่น’ และ ‘อาฆาตมาดร้าย’ ออกจากกัน
  • ลดอัตราโทษที่เหมาะสม จากเดิม 3-15 ปี เหลือไม่เกิน 3 ปี

20 พฤศจิกายน 2565 บนเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112’ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค เสนอให้แยกองค์ประกอบความผิดออกจากกัน เพราะคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ อาจมีโทษหนักกว่า หรือใกล้เคียงกับข้อหาพยายามลอบปลงพระชนม์ จึงควรแยกออกไปเป็นส่วนหนึ่งของ ม.111/1 ขณะที่ข้อหา ‘ดูหมิ่น’ หรือหมิ่นประมาท ก็ควรกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม จากเดิม 3-15 ปี ควรลดเหลือไม่เกิน 3 ปี 

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • แก้ไขผ่านกลไกประชามติ

18 เมษายน 2566 เวที ‘ไทยรัฐดีเบต เลือกตั้ง’66 ประชันวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมือง’ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค เสนอวิธีแก้ปัญหาการบังคับใช้หรือตัวบทกฎหมายของ ม.112 โดยผ่านกลไกประชามติ ถามความเห็นคนทั้งประเทศ

พรรคชาติพัฒนากล้า

  • ไม่มีนโยบายแก้ไข ม.112
  • เสนอตั้งคณะกรรมการพิเศษกำกับการบังคับใช้โดยเฉพาะ

18 เมษายน 2566 เวที ‘ไทยรัฐดีเบต เลือกตั้ง’66 ประชันวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมือง’ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่มีนโยบายแก้ไข ม.112 แต่หากมีการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม หรือนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ต้องมีการพิจารณา ควรตั้งคณะกรรมการพิเศษ ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่ายและอัยการ เพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ม.112

พรรคประชาธิปัตย์

  • ไม่ยกเลิก
  • เสนอแก้ไขกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย ม.112

24 เมษายน 2566 มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงจุดยืนบนเวทีดีเบต 4 นักการเมืองหญิง ผ่าน ‘นโยบายสะท้อนจุดยืนพรรค’ ความว่า พรรคไม่แตะต้อง ม.112 และเป็นบทบัญญัติที่ต้องดำรงไว้ เพราะประชาชนทั่วไปยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง แล้วสถาบันของชาติจะไม่มีได้อย่างไร

1 กุมภาพันธ์ 2566 องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วาระพิจารณาญัตติด่วน จากกรณีการอดอาหารประท้วงของ ‘ตะวัน-แบม’ โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 

7 เมษยน 2566 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ระบุในการปราศรัยที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ความว่า พรรคจะไม่ยกเลิก ม.112 เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งทุกประเทศล้วนมีกฎหมายคุ้มครองประมุขทั้งสิ้น ถ้าจะแก้ไขให้ไปแก้ที่การบังคับใช้กฎหมายให้ยุติธรรม แต่ ม.112 ต้องคงไว้

พรรคไทยภักดี

  • ไม่ยกเลิก ม.112
  • เพิ่มโทษ ขยายการคุ้มครองสถาบันฯ

3 ธันวาคม 2565 พรรคไทยภักดี ออกแถลงการณ์ “เพิ่ม มากกว่า แก้ ม.112 ไม่คิดล้มล้าง ทำไม?? ต้องกลัว” เสนอการเพิ่มโทษ ม.112 แก้ไขขยายความคุ้มครองจากเดิมคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการในพระองค์ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด จนถึงอดีตพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ทั้งยังเสนอไม่ให้ ส.ส. ใช้ตำแหน่งไปประกันตัวผู้ต้องหา ม.112

 
พรรคพลังประชารัฐ

  • ไม่มีนโยบาย


28 มีนาคม 2566 ‘เวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กล่าวว่า ม.112 ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีอาญาในหมวดความมั่นคง พรรคพยายามทำให้สงบเรียบร้อย ไม่อยากให้มีปัญหากับ ม.112 เพราะเป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว และสถาบันฯ หรือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ปัญหา

พรรครวมไทยสร้างชาติ

  • ไม่มีนโยบาย

28 มีนาคม 2566 ‘เวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวว่า กรอบคิดของ ม.112 เป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องสิทธิของการวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไร เป็นประชาชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเอง สิ่งสำคัญคือ ถ้าไม่กระทำผิดกฎหมายก็ไม่มีความผิด

พรรคภูมิใจไทย

  • ไม่มีนโยบาย

28 มีนาคม 2566 ‘เวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ’ ศุภชัย ใจสมุทร ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจาก ม.112 และ ม.112 เป็นมาตราเดียวที่ปกป้องสถาบันฯ พร้อมยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยปกป้องสถาบันฯ มาโดยตลอด

พรรคสามัญชน

  • ยกเลิก ม.112
  • สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ


พฤศจิกายน 2564 พรรคสามัญชน ออกแถลงการณ์ ยกเลิกมาตรา 112 ระบุถึง หลักการแบ่งแยกอำนาจในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า อำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน การยกเลิก ม.112 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับประชาชนให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน

9 พฤษภาคม 2566 พรรคสามัญชนเน้นย้ำเหตุผลที่ต้อง ‘ยกเลิก 112’ ผ่านเฟซบุ๊กเพจของพรรค โดยชี้ว่า ม.112 เป็นเพียงการดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมหรือพลังการรวมกลุ่มรวมก้อนของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ หรือเรียกว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) ซึ่งไม่ใช่กฎหมายสูงส่งใดๆ ที่ต้องถูกรักษาหรือปกป้องไว้

ที่มา

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า