11 ปีรัฐประหาร: อาการอกหักซ้ำๆ ของวิไลวรรณ แซ่เตีย ความหวังดีที่ถูกตอบแทนด้วยกระบอกปืน

ภาพต้นฉบับจาก aftershake.net

 

สิงหาคม 2559 วิไลวรรณ แซ่เตีย หญิงแกร่งแห่งขบวนการแรงงานได้ร่ำลาพี่น้องคนขายแรงกลับสู่ จังหวัดขอนแก่น ด้วยเหตุผลว่าต้องกลับไปดูแลมารดาและครอบครัว ในเวทีของงานเลี้ยงส่งเธอจับไมโครโฟนและพูดถึงความฝันของเธอต่อพี่น้องแรงงานว่า การลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมตลอด 30 ปีนั้น ต้องขอบคุณที่พี่น้องแรงงานยืนเคียงข้างอยู่เสมอ และอยากเห็นความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ความเป็นเอกภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย รวมทั้งนโยบายด้านแรงงาน อันจะนำมาซึ่งสวัสดิการต่างๆ ในการดูแลคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ทั้งในระบบ นอกระบบ แม้ว่าตนจะไม่ได้อยู่เป็นหัวเรือของคนทุกข์ยากแล้ว แต่ก็ยังต้องต่อสู้ร่วมกันเพื่อสานฝันกันต่อไป

ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เธออยู่บนเวทีเสมอ ทั้งการชุมนุมในมิติของกลุ่มแรงงานและขบวนการทางการเมือง

การชุมนุมของ กปปส. เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น เธออยู่ที่นั่น ทั้งข้างล่างและบนเวที ขณะที่เวทีพันธมิตรฯ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว วิไลวรรณคนเดียวกันก็ยืนคว้าไมค์และเป็นหนึ่งในหัวแรงหลักขบวนแรงงานที่ขึ้นปราศรัยต่อพี่น้อง

“เราตัดสินใจเข้าร่วมในนามองค์กร เพราะรัฐบาลยุคนั้นเข้มแข็งมาก ไม่ฟังเสียงใคร เวลาเสนออะไรไปก็ไม่รับฟัง ส่วนใหญ่จะอิงกับกลุ่มทุนเป็นหลัก เวลายื่นข้อเรียกร้อง หรือยื่นข้อเสนอไปก็จะไม่ได้ครบหรือไม่สนใจ เป็นพรรคใหญ่ที่ไม่สนใจแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของคนจน อีกส่วนคือมีประเด็นเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน เช่น การฮั้วผลประโยชน์ การซื้อที่ดินรัชดา จึงตัดสินใจเข้าร่วมก็ด้วยมองว่าจะปล่อยให้รัฐบาลที่เข้มแข็งแต่บริหารแบบไม่ฟังเสียงของใครเลยไม่ได้

“เวลาตั้งรัฐมนตรีเข้าไปอยู่กระทรวงแรงงานก็ตั้งคนที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องแรงงานสักเท่าไหร่ รัฐมนตรีก็เปลี่ยนบ่อย คนที่เข้ามาก็เพียงแค่รอตำแหน่งอื่นๆ แต่ไม่ใช่คนที่สนใจหรือจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เรามานั่งเป็นรัฐมนตรี คนดีๆ ที่พอจะแก้ไขปัญหาให้ก็ถูกโยกย้ายไปนั่งที่อื่นหรือไปอยู่ในกระทรวงที่ใหญ่กว่า ก็เลยทำให้งานไม่ต่อเนื่อง ความใส่ใจในการแก้ปัญหาให้แรงงานก็ไม่เกิด ปัญหาของเราก็ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ข้อเสนอที่เป็นเรื่องค่าจ้าง เรื่องประกันสังคม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ หรืออนุสัญญา ILO การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การเหมาช่วงเหมาค่าแรง เวลาเสนอเข้าไปก็จะมีหลากหลายประเด็น แต่เขาไม่ใส่ใจ แม้กระทั่งค่าจ้างก็ปรับขึ้นน้อย ช่วงปี 2546-2548 จะไม่ได้ปรับค่าจ้างสักเท่าไหร่ หรือปรับทีก็ 1-2 บาท ขึ้นค่าแรงทีก็กระจัดกระจาย บางจังหวัดก็ไม่ได้ขึ้นค่าแรงให้”

แม้ไม่ได้เป็นดาวเด่นบนเวที แต่ทุกครั้งที่ได้พูดเธอต้องหอบเอาความเจ็บปวดของพี่น้องแรงงานขึ้นไปป่าวประกาศอยู่เสมอ เป้าหมายสำคัญของเธอคือเรื่องแรงงานต้องถูกถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ แต่ในจังหวะเดียวกันที่ขบวนการแรงงานตัดสินใจเข้าร่วมกับเวทีทางการเมือง ก็เป็นช่วงที่เกิดเสียงแตกในกลุ่มแรงงาน เพราะบางกลุ่มเห็นต่างออกไปที่จะเข้าร่วมสังฆกรรมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“ตอนเราเข้าไปร่วมก็พยายามอธิบายว่าที่เข้าไปนั้นไม่ได้ไปหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เพียงแต่อยากให้คิดถึงปัญหาของพี่น้องเป็นหลัก มีการนำประเด็นปัญหาของพี่น้องไปใช้บนเวทีตลอด การทำงานต้องเป็นอย่างไร นายกฯ ควรทำอย่างไร แรงงานมีปัญหาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนเราก็นำเรื่องนี้ไปคุยเป็นหลัก

“ถามว่าแตกแยกกันไปไหม ก็ใช่ แต่เวลาก็จะเป็นตัวอธิบายว่าที่เราตัดสินใจทำแบบนั้นเพราะอะไร ตอนที่เข้าไปก็มีคนที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม คนที่ไม่เข้าร่วมเราก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนใครอยากเข้าร่วมก็เข้ามา ไม่ได้มีความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบกัน เราเคารพการตัดสินใจของพี่น้องเราทุกคน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์”

หลังร่วมชุมนุมอยู่ระยะหนึ่ง เธอเริ่มจับอาการผิดปกติ ข้อเสนอเริ่มเปลี่ยนไปจากแนวทางที่ขบวนการแรงงานยึดเป็นคัมภีร์ว่า แรงงานและหลักการประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราคิดว่าต้องยึดหลักประชาธิปไตยคือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างไร หรือนายกฯยุบสภาก็ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แล้วเราก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เราก็นำเสนอแบบนั้น แต่ว่าระหว่างนั้นก็มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบโดยให้มีนายกรัฐมนตรีจากมาตรา 7 ซึ่งพอเป็นแบบนั้นก็ไม่ใช่หลักการทางประชาธิปไตยแล้ว พอเป็นแบบนั้นพี่น้องหลายต่อหลายคนก็ตัดสินใจถอยออกมาจากการชุมนุม”

แม้จะไหวตัวทันและถอยออกมาแล้ว แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเดินหน้าต่อ กระทั่ง 19 กันยายน 2549 มาถึง หวยที่เธอไม่ได้ซื้อถูกประกาศออกมา

“เราไม่ได้คาดคิดเลยว่าจะกลายเป็นรัฐประหาร ไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเป็นแบบนั้น เมื่อทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาผู้แทนราษฎรเราก็ถอยออกมาคุยกันว่าเมื่อมีการเลือกตั้งหลังจากนี้ใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ ก็ต้องยอมรับ เพราะตามระบอบประชาธิปไตยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ตัดสินใจถอยกันออกมา หลังจากนั้นก็ไม่เข้าไปแล้ว สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป

“เราเข้าไปเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเขาก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่แล้วก็อยู่ในตำแหน่งเพียงแค่รักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ว่าการชุมนุมก็ไม่ยุติ เราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นเพราะว่าถอยออกมาแล้ว แต่ก็เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดใช้ความรุนแรงก็ตาม เพราะไม่อยากให้มีความสูญเสีย เราก็ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่มีการใช้ความรุนแรงมาปราบปรามกัน

“หลังจากนั้นจำได้ว่าเราไปยื่นหนังสือที่กองทัพบกแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปยื่นหนังสือขณะที่ในสังคมเงียบกันหมด”

แน่นอนว่า การยื่นหนังสือไม่ได้ช่วยอะไร เพราะการยึดอำนาจเกิดขึ้นแล้วในคืนก่อนหน้านั้นเอง

หลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนเปลี่ยนรัฐบาลคณะแล้วคณะเล่า สถานการณ์ทางการเมืองล้มลุกคลุกคลานเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง กระทั่งเกิดการชุมนุมใหญ่โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เกิดขึ้น วิไลวรรณ แซ่เตีย กับขบวนแรงงานก็กลับสู่เวทีชุมนุมอีกครั้ง แล้วหวยก็ออกเหมือนเดิม

22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจเหมือนเดิม แต่คราวนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไปไม่เหมือน 11 ปีที่แล้ว

“รัฐประหารปี 2549 ถึงเป็นการยึดอำนาจโดยทหาร แต่ความตึงเครียด การตัดสินใจ การใช้อำนาจก็ไม่เหมือนกัน ในช่วงปี 2549 หลังยึดอำนาจบรรยากาศก็ยังผ่อนคลาย ยังมีกลไกที่ให้พี่น้องแรงงานได้เข้าไปร่วมนำเสนอแสดงความคิดเห็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เกิดองค์กรอิสระมากขึ้นหลายองค์กร และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนเยอะ มีความเปลี่ยนแปลง มีการฟังเสียงคนเล็กคนน้อย พี่น้องของเราก็ได้เข้าร่วมเยอะ

“แต่ช่วงนี้ไม่ได้เลย เห็นได้ชัดเลยเช่น ม. 44 เขามีอำนาจเยอะกว่า ใช้อำนาจเยอะกว่า การเคลื่อนไหวก็ลำบากเพราะเขามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แม้แต่การเลือกคณะกรรมการประกันสังคมก็มีการบิดไป การออกกฎหมายต่างๆ ก็ผิดเพี้ยนไป เพราะคนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่ได้มีส่วนร่วมเหมือนเดิม การแก้ไขกฎหมายก็ยากลำบากกว่าเดิม กฎหมายรัฐธรรมนูญยิ่งตัดสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องออกไปอีก บั่นทอนลงไปกว่าเดิม จะเห็นว่ามันต่างกัน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเอย สภาพัฒนาการเมืองก็ถูกยุบ อำนาจ กลไก ที่จะเป็นปากเป็นเสียงของพี่น้องก็ถูกตัดไป คิดว่ามันถอยหลังออกไปไกล อบต. อบจ. ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ก็ไม่รู้ว่าการตัดสินใจในช่วงนี้ลำบากกว่าเดิม การฟังเสียงประชาชนก็น้อยลง องค์กรไหนที่เห็นต่างก็ไม่มีโอกาสเข้าไปนำเสนออะไรได้ มีเฉพาะคนที่เห็นด้วยเท่านั้นที่เข้าไปคุย

“รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานช่วงนี้ยิ่งหนักกว่าเดิม เขาไม่ฟังเลย เขายึด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นตัวตั้ง อะไรๆ ก็ข้อกฎหมายแน่นเปรี๊ยะ ลำบากกว่าเดิม ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ค่าแรงก็ถูก การปรับค่าแรงก็ถอยไปอีก ในช่วงปีก่อนที่มีการเลือกตั้งยังมีค่าแรง 300 บาทเท่ากันหมด มันก็รองรับหลักการฐานคิดเรื่องคนเท่ากันแล้ว แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไม่เท่ากัน คนงานก็มีอำนาจไม่เท่ากัน ต่างจังหวัดไม่มีอำนาจต่อรอง”

สำหรับแรงงานแล้ว ยุครัฐประหารไม่ดี ยุคประชาธิปไตยก็แย่ แต่ในความแย่ก็มีแง่งามที่แตกต่าง

“เราไปเรียกร้องได้ แต่เขาก็ไม่ฟังเสียงเราเหมือนเดิม ระบบการเมืองที่ผ่านมาไม่เอื้อประโยชน์กับคนจน ไม่ว่าใครจะมาเป็นก็ตาม อาจจะต่างกันเรื่องเสรีภาพในการเรียกร้อง การเข้าไปหา การสื่อสารก็ไม่ถูกจำกัด นักข่าวก็ไม่ถูกจำกัดสิทธิ เราอยากพูดอะไรก็พูดได้ ไม่ถูกควบคุม ช่วงประชาธิปไตยมีเสรีภาพในการนำเสนอประเด็นปัญหา มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว การเรียกร้อง การเดินขบวนทำได้ ถึงเราจะเรียกร้องแล้วไม่ได้รับการแก้ไขแต่ก็มีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ช่วงรัฐประหารนี้แม้จะนำเสนอได้แต่ก็มีข้อจำกัด หากมีการเลิกจ้างจะไปเรียกร้องก็ไม่ได้เพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จำกัดสิทธิเอาไว้ จะนำเสนออะไรก็ต้องระมัดระวังเยอะ ไม่มีอะไรที่ดีเลย ประชาธิปไตยมันดีเพราะมีเสรีภาพในการแสดงออก ถึงรัฐบาลจะแก้บ้างไม่แก้บ้างแต่ก็ไม่มีอะไรที่รุนแรงต่อกัน

“ตอนนั้นเรายังคุยกัน ยังมีกฎหมายอะไรเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ยังมีประโยชน์ต่อประชาชน การเรียกร้องอะไรก็ไม่ลำบาก ไม่ถูกบังคับ ไม่มีกรอบ ไปตามปกติ ไปยื่นหนังสืออะไรก็ทำได้ ไม่มีการจำกัดสิทธิ แต่ช่วงนี้มีการจำกัดสิทธิเยอะกว่า ทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทำให้ลำบากกว่าเดิม แล้วยังไม่ฟังเสียงประชาชนอีกเพราะเขาถือว่ามีอำนาจ ไม่ฟังเสียงคนเห็นต่าง”

แน่นอนว่าการชุมนุมใหญ่ในแต่ละครั้งไม่ได้มีแค่กลุ่มแรงงาน แต่มีหลายขบวนและมากชีวิตปัจเจกที่ไปร่วมหัวจมท้ายบนท้องถนน แต่ในฐานะของผู้นำแรงงาน เธอคิดว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่เธอไม่ได้เลือกแต่ละครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญที่เธอและพี่น้องเอาความฝันไปแลกมา

“มันไม่ได้มีแค่แรงงานนะที่เข้าไป กลุ่มไหนๆ ก็เข้าไปทั้งนั้น ที่เราเข้าไปก็หวังการเปลี่ยนแปลง อยากไปรื้อระบบทางการเมืองให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ใครมาเป็นนายกฯ ก็อยากให้ฟังเสียงประชาชน อยากให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ที่ทำกิน สิ่งแวดล้อม ความไม่เป็นธรรม การออกกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อคนจน ก็มีความหวัง นี่เป็นหลักใหญ่ที่คนเข้าไปร่วมต้องการ สุดท้ายคนที่มีอำนาจ คนที่มีเงิน ก็ยังมีอำนาจในการต่อรองเยอะกว่าคนจน ทั้งที่คนที่ออกไปเคลื่อนไหวแม้จะมีชนชั้นกลางแต่ก็มีคนรากหญ้าด้วย

“ก็ได้บทเรียนในการต่อสู้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่มันก็ไม่เกิด กลายเป็นผู้มีอำนาจมาก คนมีเงินเยอะ ก็ครองอำนาจนั้น คนยากคนจนก็ลำบากเหมือนเดิม สุดท้ายประชาชนก็ต้องกลับมามองตนเองว่าจะพึ่งตัวเองอย่างไร ต้องกลับมาทบทวนว่าจะพึ่งพาตัวเองอย่างไร คิดถึงอนาคตว่าจะมีตัวแทนไปเป็นปากเป็นเสียงแทนเราอย่างไร ต้องคิดไปไกล ไปอาศัยเขาเกาะนั่นนี่ก็ไม่ได้หากเราไม่มีตัวแทนเข้าไปในสภา การตัดสินใจต่างๆ นานาก็เป็นเรื่องของกลุ่มใครกลุ่มมันตลอดเวลา แล้วมันจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร”

ในวันที่ไม่มีหัวโขน วิไลวรรณ แซ่เตีย กลับบ้านเกิดไปเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน ขณะที่ปัญหาของพี่น้องแรงงานก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น 11 ปีผ่านไปหลังรัฐประหารครั้งนั้น และเข้าปีที่ 3 หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ความฝันที่ถูกนำไปเททิ้งระหว่างทางเรียกว่าความอกหักซ้ำซากได้ไหม เธอตอบว่าใช่

“ใช่ ก็เป็นธรรมดา ตอนเข้าไปทุกคนก็มีความหวัง อยากเห็นสิ่งที่ดีขึ้น พอเป็นแบบนี้ก็ผิดหวัง การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากเห็น”

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า