ตุลาคมเป็นเดือนที่มีความยึดโยงกับโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างยิ่ง เพราะปรากฏเหตุการณ์สำคัญขึ้นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีโดดเด่นที่นิสิตนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่ความสูญเสียเลือดเนื้อหลั่งนอง นั่นคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519
ทั้งสองเหตุการณ์ย่อมมิแคล้วได้รับการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ผ่านสื่อสาธารณะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งยังตกทอดมาให้คนยุคปัจจุบันร่วมประจักษ์บรรยากาศและสัมผัสอารมณ์ของยุคสมัยนั้น อาจผิดแผกแตกต่างบ้างตรงที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ดูเหมือนจะยินเสียงประโคมแจ่มชัดและพร้อมใจกันยอมรับให้เป็นวันแห่งชัยชนะอันแช่มชื่น แม้จะเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ เพราะมีผู้ชุมนุมประท้วงบาดเจ็บล้มตายและสูญหายจากการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลทหาร แต่ก็ถือเป็น ‘วันมหาปีติ’ แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ขณะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม กลับดูเหมือนโศกนาฏกรรมคลุมเครือเร้นลับ มิค่อยถูกนำเสนอให้เป็นที่จำหลักจดจำเทียบเท่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ราวคนส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาจะเอ่ยถึง ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ ครั้งนี้ เว้นแต่ในกลุ่มก้อนของบุคคลบางส่วนผู้เคยประสบสภาพความเลวร้ายสยองขวัญเช้าวันนั้น จึงหมั่นเคลื่อนไหวมิให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ถูกผลักไสไปอยู่ในความหลงลืม
อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งพบการโลดแล่นเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม แต่ค่อนข้างน้อยคนจะเหลียวไปครุ่นคำนึง นั่นคือ ‘ลูกคอของนักร้องลูกทุ่ง’ ที่ถ่ายทอดน้ำเสียงไปสู่สองหูของประชาชนผู้รับฟังบทเพลงจนเคลิบเคลิ้ม แล้วค่อยๆ ผลิบานความรู้สึกนึกคิดทางสังคม
ภายหลังเหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 สงบลง ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมืองไทยได้ผ่านพ้นระบอบเผด็จการที่สืบทอดอำนาจมายาวนาน รัฐบาลทหารถูกโค่นลงสำเร็จ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ผู้ถูกเรียกขานว่า ‘สามทรราช’ ระเห็จออกนอกประเทศ การก้าวขึ้นมาของนายกรัฐมนตรีพระราชทานนาม สัญญา ธรรมศักดิ์ จะช่วยบันดาลให้เมืองไทยอบอวลกลิ่นอายประชาธิปไตย ความตื่นตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแพร่กระจายกว้างขวาง
กระทั่งวงการเพลงและนักร้องต่างๆ ก็มิได้คลุกคลีอยู่เพียงแค่ความบันเทิงถ่ายเดียว หากอาศัยสถานการณ์ทางการเมืองมาสร้างสรรค์ผลงาน เริ่มเปิดฉากกลางเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2516 มีการอัดแผ่นเสียงเพลงชุด ‘อนุสรณ์วันประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516’ ออกมาวางจำหน่ายจำนวน 20,000 แผ่น ราคาขายแผ่นละ 25 บาท รายได้ทั้งหมดมอบสมทบเป็นกองทุนพิทักษ์ประชาธิปไตยแด่ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ต้นคิดของโครงการ ได้แก่ อุดม, อเนก และอนันต์ แห่งตระกูลวิทยะสิรินันท์ ในนามบริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเริ่มดำริตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม นักร้องและนักดนตรีหลายรายให้ความร่วมมืออย่างยินดี นักร้องลูกทุ่งเยี่ยง พร ภิรมย์ เจ้าของบทเพลงลือเลื่อง ‘บัวตูมบัวบาน’ เมื่อปลายทศวรรษ 2500 เป็นคนแรกสุดผู้ส่งเสียงเพลงที่ตนประพันธ์และขับร้องเอง ขณะ เอื้อ สุนทรสนาน ยกวงดนตรีสุนทราภรณ์มาบันทึกแผ่นเสียงชุดนี้ให้ทุกเพลง ส่วน ครูมงคล อมาตยกุล แห่งวงดนตรีจุฬารัตน์ ช่วยเรียบเรียงเสียงประสาน
แผ่นเสียงชุดพิเศษประกอบด้วยเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งฉายชัดภาพการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคมทั้งสิ้น
ด้านเพลงลูกกรุง มีเพลง ‘ปูชนีย์วีรชน’ ซึ่ง สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ นักกลอนเจ้าของวรรคทอง “อ้อมกอดพี่จะสงวนไม่ด่วนเสนอ อ้อมตักเธอจงถนอมก่อนยอมสนอง” เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง เอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง
เพลงมาร์ช ‘ตายเพื่อเกิด’ รพีพร (นามปากกาของนักเขียนนาม สุวัฒน์ วรดิลก สามีของเพ็ญศรี) เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง นคร ถนอมทรัพย์ เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ขับร้องร่วมกับคณะศกุนตลาโดย กุงกาดิน (นามแฝงของนคร) จินตนา สุขสถิตย์ และ เกศิณี วงศ์ภักดี
เพลง ‘ลืมเสียเถิด’ พร พิรุณ เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง จินตนา สุขสถิตย์ และ เกศิณี วงศ์ภักดี ขับร้องฝ่ายหญิง ส่วน มนตรี สีหเทพ และ นพดล ชาวไร่เงิน ขับร้องฝ่ายชาย
ด้านเพลงลูกทุ่ง พร ภิรมย์ ขับร้องเพลง ‘14 ตุลา วันมหาวิปโยค’ ที่ประพันธ์คำร้องและทำนองเอง ถ้อยสำนวนภาษาสละสลวย ท่วงทำนองคล้ายเพลงแหล่ แฝงข้อคิดเชิงธรรมะทางพุทธศาสนา ตามแนวถนัดของศิลปิน ดังเกริ่นขึ้นต้นด้วยการเอื้อนลูกคอ “ชื่อว่าสูรย์ก็ต้องแสงแรงมหันต์ ชื่อว่าจันทร์ก็ต้องเห็นแสงเย็นอ่อน แต่ความจริงสิ่งหนึ่งพึงสังวร ตายด้วยร้อนยังไม่ร้าย…เท่าตายเย็น…” ก่อนดนตรีจะบรรเลง แล้วจึงร่ายคำต่อ
“เอย…จะเย็นร้อนตอนตายไม่ประหลาด เมื่อถึงฆาตก็ต้องตายไม่วายเว้น แต่สิบสี่ตุลาถึงคราเป็น ฟ้าดินเห็นการตาย…อย่างเต็มตา
ตายเพื่อสิทธิเสรี-พลีชีวิต ของนักเรียนนิสิต-นักศึกษา ต่างคล้องแขนแน่นขนัดเกินอัตรา โกญจนาอนุสาวรีย์ไทย
ด้วยถึงคราจลาจลอลหม่าน จนเกิดการตะลุมบอนนอนเลือดไหล เสียงเซ็งแซ่แดดิ้นบ้างสิ้นใจ เพื่อประชาธิปไตยให้ได้มา
บ้างสิ้นลมใต้ร่มธงไตรรงค์โบก วิปโยคได้ยินทั่วดินฟ้า แผ่นดินเดือดเลือดไทยไหลบูชา เคล้าน้ำตาเปียกชื้น-ผืนไตรรงค์
อนาถล้นคนไทยไยหันหน้า มาคิดฆ่ากันกระจุยเป็นผุยผง ไร้หิริตัปปะพุทธองค์ ไม่กลัวลงนรกบ้างหรืออย่างไร?
ขั้นเด็ดขาดราษฎร์ได้ชัยชนะ ด้วยเดชะบารมีที่ยิ่งใหญ่ โดยบุญญามหาราชแห่งชาติไทย ราษฎร์จึงได้เสรีดีสมบูรณ์
เปลี่ยนคณะบริหารโดยผ่านเกล้า คณะเก่าตามระบิลให้สิ้นสูญ ให้คนไทยได้รัฐธรรมนูญ อย่างพร้อมมูลประวัติศาสตร์-ราษฎร์สัมฤทธิ์
ขอชาวไทยถือวันที่สิบสี่ เดือนตุลาคมทุกปีจงมีจิต กตัญญูแด่ท่านผู้พลีชีวิต ไทยอุทิศ-ทำบุญให้ทั่วไทย…เทอญ”
ชินกร ไกรลาศ เคยชื่อหอมฟุ้งกับเพลง ‘ยอยศพระลอ’ เมื่อปีพุทธศักราช 2511 ก็ร่วมร้องเพลง ‘สดุดีวีรชน’ ที่ ไพรสนฑ์ รุ่งรังสี เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง
“สิบสี่ตุลาเป็นวันมหาวิปโยค เป็นวันระกำช้ำโชกน้ำตาไหลตกโศกซมทวี เลือดไทยไหลนองต่างเรียกร้องร่ำหาเสรี สะท้านทั่วปฐพี สูญสิ้นชีวีเกลื่อนพสุธา
สิบสี่ตุลา, นิสิตศึกษาประชาราษฎร์ ยอมพลีเพื่อชนทั้งชาติสู้ทรราชย์ไม่หวาดผวา สิบสามชีวีประวัติศาสตร์ชี้นั้นจึงตรึงตรา รัฐธรรมนูญของเหล่าประชา เขาเรียกร้องมาให้เราเสรี
โอ้ชนชาติไทยอัดอั้นตันใจสุดเหลือจะกลั้น จึงรวมพลังประจันให้โลกลือลั่นตราบจนบัดนี้ ลูกน้าหลานอา เลือดไหลบ่าท่วมนองธานี น้ำตาชาวไทยไหลปรี่ เป็นพลีประชาธิปไตย
สิบสี่ตุลา จารึกตรึงตราในเกียรติประวัติ วีรชนทุกคนของชาติ กึกก้องประกาศประวัติเกรียงไกร ถ้อยคำบทเพลงนี้บรรเลงเพื่อวีรชนไทย ติดตรึงซึ้งอยู่ร่ำไป ประทับดวงใจเพื่อนไทยไม่ลืม”
นอกเหนือจากแผ่นเสียงชุดที่กล่าวมา เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ยังเปี่ยมมนตร์ขลังดึงดูดให้ใครอีกหลายคนปรารถนาเขย่าลูกคอขับขาน นักร้องเพลงรำวงเจ้าของผลงาน ‘รักกลางจันทร์’ เมื่อปีพุทธศักราช 2505 เยี่ยง กุศล กมลสิงห์ ก็ส่งสำเนียงในบทเพลงชื่อ ‘14 ตุลา’ เนื้อความว่า
“14 ตุลา เป็นวันมหาวิปโยค ที่ชาวไทยทุกคนเศร้าโศก วิโยคสุดแสนอาดูร เด็กไทยทั้งชาติ ร้องประกาศ เรียกรัฐธรรมนูญ อุทิศชีวิตสิ้นสูญ เอารัฐธรรมนูญให้ได้คืนมา
14 ตุลา ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เนื่องจากไทยด้วยกันทำศึก จนเลือดนองพสุธา สู้กันหั่นแหลก เอาร่างเข้าแลกอาวุธนานา ขอให้สิ่งนั้นได้มา คือเสรีประชาธิปไตย
ศูนย์รวมพลังของนักศึกษาทั้งชาติ มุ่งหน้าสู่ธรรมศาสตร์ เป็นแหล่งชุมทางน้ำใจ ผนึกกำลังต่อสู้กับผู้ใจร้าย ทั้งๆ ที่รู้เขาจะยิงตาย ยอมตายเยี่ยงวีรชน
ด้วยบารมี ปกป้องพี่น้องร่วมชาติ ใต้ละอองธุลีพระบาท อยู่เหนือเกล้าพวกเราทุกคน จงนึกไว้ว่า ที่ได้มาช่างยากเหลือล้น เหล่าปวงประชาทุกคน รักษาไว้จนตราบชั่วนิรันดร์”
แท้จริง กุศล ยุบวงดนตรีของตนตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2512 เนื่องจากเขาเป็นทหารอากาศและต้องเดินทางไปราชการในสงครามเวียดนาม ซึ่งช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 นักเพลงผู้นี้ก็ยังติดพันภารกิจในต่างแดน ขณะนิสิตนักศึกษาผู้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการ ล้วนไม่เห็นพ้องกับรัฐบาลจอมพลถนอมที่ส่งทหารไทยไปร่วมรบ การที่ กุศล ผู้ประหนึ่งตัวแทนของทหารไทยในเวียดนามมาเอื้อนเอ่ยเพลงเชิดชูและอุทิศให้กับวีรกรรมของนิสิตนักศึกษาซึ่งชิงชังสงครามเวียดนาม จึงเป็นปมแย้งที่น่าใคร่ครวญขบคิด
ก่อนหน้านั้น แวดวงลูกทุ่งสนั่นไปด้วยบทเพลงให้กำลังใจทหารไทยที่ถูกส่งไปรบในสงครามเวียดนาม หรือทหารรับจ้างนิรนามไปรบในลาว เช่น ‘ลาน้องไปเวียดนาม’ ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ‘เพื่อจงอางศึก’ ของ ผ่องศรี วรนุช และ ‘เสียงสั่งจากเสือพราน’ ของ เพชร โพธาราม เป็นต้น ซึ่งสร้างภาพชาวเวียดนามและชาวลาวฝ่ายต่อต้านทหารอเมริกันเป็นศัตรูผู้ร้าย นั่นเพราะทางรัฐบาลจอมพลถนอมเข้าร่วมกับทางสหรัฐอเมริกา กระทั่งอนุญาตให้เข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยเพื่อนำเครื่องบินรบไปถล่มเวียดนามและลาว
ยังมี หอมลออ แย้มศรี ลิเกเก่าชาวสิงห์บุรีผู้ครองใจบรรดาแม่ยกด้วยนาม ‘หอมลออ ระฆังเงิน’ ครั้นต้นทศวรรษ 2510 สมเศียร พานทอง หรือ ชาย เมืองสิงห์ นักร้องลูกทุ่งรูปหล่อเจ้าของฉายา ‘อแลง เดอลอง เมืองไทย’ (Alain Delon เป็นดาราภาพยนตร์ชายชาวฝรั่งเศส) ออกจากวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคลเพื่อมาตั้งวงดนตรีเอง หอมลออ ก็เข้าร่วมวงกับสมเศียร โดยช่วยแต่งเพลงและเป็นนักร้องหน้าเวทีบ้าง ใช้ชื่อ ‘พร พิฆคเณศ’ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม คราวใด หอมลออ ขึ้นร้องเพลงหน้าเวที จะชอบเสียดสีการเมืองจนถูกเชิญไปสถานีตำรวจเนืองๆ ชาย ต้องไปช่วยประกันตัว และฉุกคิดจะขอนำเนื้อเพลงที่ หอมลออ ร้องมาขัดเกลาแก้ไขลดทอนความรุนแรง เพื่ออัดแผ่นเสียงร้องเสียเอง พอเพลงเผยแพร่ หลายสถานีวิทยุไม่กล้าเปิด แต่ ชาย มักร้องหน้าเวทีบ่อยๆ เพลงนั้นคือ ‘เพื่อประชาธิปไตย’
ชาย เมืองสิงห์ เกริ่นขึ้นต้นว่า “พระบารมีล้นฟ้าปกเกล้าเกศา พระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานรัฐธรรมนูญให้เรา จนได้เป็นชาวประชาธิปไตย” ก่อนจะย้อนไปพาดพิงถึง เสน่ห์ โกมารชุน และ คำรณ สัมบุญณานนท์ นักร้องเพลงเย้ยหยันการเมืองช่วงทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษ 2500 จนโดนเล่นงาน “แกตายเสียแล้วเสน่ห์คํารณ ที่เคยเป็นคนโด่งดัง เคยร้องเพลงติดตะราง ใครๆก็ยังสงสัย ผมมิใช่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านดอกขอรับ ผมเป็นนักร้องในระดับลูกทุ่งประชาธิปไตย”
เนื้อเพลงเต็มไปด้วยถ้อยคำเหน็บแนมจนผู้มีอำนาจอาจระคายหู
“ไอ้คนดีๆ เดี๋ยวนี้มันจน แต่คนโกงคนมั่งมี ไอ้คนทําดีได้ดี เดี๋ยวนี้มีกันเท่าไร เคยเห็นคนซื่อซื่อจนเซ่อ ถูกหวยเบอร์ก็ถูกตุน คนดีแต่คดๆ ตะหากละคุณ มันถึงจะตุ๋นคนได้ ไอ้ที่ซื่อๆ ว่ากินไม่หมด แต่ทําไมคนคดพุงกาง เกี๊ยะของคุณหนูสองข้าง ไหงแพงกว่าถังข้าวเปลือกใหญ่ แล้วไอ้ที่ตรงเกินไป ทําไมหนอกลายเป็นท่อ ไอ้ที่คดๆ ตลอดข้อ ดันกลับไปเป็นคอมควาย ส่วนทองคําทําเป็นข้อๆ เอามาแขวนคอมีค่า แล้วไอ้ข้อๆ ที่เข้าขื่อคา ไหงดันใส่ขาผู้ร้าย ดาวบนฟ้าดูซี ดูๆ ไม่มีราคา พอตกมาติดอยู่บนบ่า แหมมีค่าใจหาย แล้วทีสุนัขฝรั่ง ราคาตัวตั้งหมื่นพัน ส่วนทีหมาไทยชาวบ้าน ไหงเทศบาลชอบไล่ ก็น่าแปลกอยู่หรอก พวกเราอยู่ตรอกเขาอยู่ตึก เวลาตายซิมันพิลึก มาฝังในดินกะเราได้ แล้วทีผู้ใหญ่ๆ ทําไมชอบแบงค์ร้อย ส่วนทีผู้น้อยๆ บอกว่าแบงค์ย่อยเอ็งเอาไป ส่วนราษฎรทําผิด เฮ้ยลื้อต้องไปติดตะราง สําคัญพี่ทิดซะมั่ง ลูบหน้าลูบหลังผู้ใหญ่ สําคัญพี่ทิดซะมั่ง อย่างดีก็ดังแค่ย้าย สําคัญพี่ทิดซะมั่ง บางครั้งก็นั่งเหนือกฎหมาย ถ้าไทยเราสามัคคี มันต้องไม่มีคอร์รัปชัน เมื่อต้นร้ายปลายบาน ใครจะช่วยกันแก้ไข ถ้าไทยทําไทยใช้ คนไทยรึจะอายญี่ปุ่น ถ้าไทยทําไทยใช้ คนไทยไม่อายหรอกไอ้ยุ่น ขอวอนนิสิตทุกๆ รุ่น ให้ช่วยแก้ดุลค้าขาย”
และปิดท้ายเพลง
“พระเหนือเกล้าภูมิพล ราษฎรเทิดล้นจนทั่วหล้า ขอสดุดีวีรชนผู้รักชาติ ที่หลั่งเลือดแลกอํานาจอธิปไตย”
คงเพราะเสียดสีนิดกระแซะหน่อยอย่างถึงใจ พวกนักศึกษาเลยนิยมเปิดเพลง ‘เพื่อประชาธิปไตย’ ฟังกันเพลินๆ
ควรเปิดเผยให้ทราบอีกว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พร ภิรมย์ หรือ บุญสม อยุธยา และ ชาย เมืองสิงห์ เป็นนักร้องลูกทุ่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมสมัชชาแห่งชาติ หรือที่เรียกขานติดปาก ‘สภาสนามม้า’ กล่าวคือ ต้นเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน จัดให้มีสมัชชาแห่งชาติเพื่อให้บุคคลจากทุกสาขาอาชีพมาประชุมร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยแต่งตั้งบุคคลต่างๆ จำนวนมากถึง 2,347 ราย และแต่งตั้งให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธานที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ กำหนดให้มาประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ ราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง ในวันอังคารที่ 18 ธันวาคม ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จมาในการเปิดประชุมและทรงมีพระราชดำรัสต่อบุคคลทั้งหลาย
คนอื่นๆ ในแวดวงบันเทิงที่ร่วมประชุมสมัชชาแห่งชาติ ก็ราว 20 กว่าราย เฉกเช่น เอื้อ สุนทรสนาน และ ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นต้น
ผู้มอบเสียงเพลงว่าด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ใช่จะมีเพียงนักร้องลูกทุ่งชาวภาคกลางเท่านั้น นักร้องลูกทุ่งชาวปักษ์ใต้เยี่ยง รุ่งตะวัน ขวัญกระบี่ ก็ร้องเพลง ‘ประชาธิปไตยที่ได้มา’ ประพันธ์โดย จิ๋ว พิจิตร ครูเพลงผู้มักหยิบยกสถานการณ์ทางสังคมมาร้อยเรียงเสมอๆ ซึ่ง รุ่งตะวัน เค้นลูกคอออกมาอย่างไพเราะเพราะพริ้ง
“จำไว้ให้ดี วันที่สิบสี่ตุลา ต้องเสียเลือดเนื้อน้ำตา โอ้ปวงประชา ชอกช้ำจำได้ เมื่อนักศึกษาเรียกร้อง ประชาธิปไตย ครั้งที่ยิ่งใหญ่ ไทยทุกหมู่ร่วมกัน
จำไว้ให้ดี วันที่สิบสี่ตุลา เมื่อเสียงปืนนั้นก้องมา โอ้ปวงประชา หวั่นไหวใจสั่น คนกล้าเสี่ยงตาย อุทิศร่างกาย ถวายชีวัน สามัคคียึดมั่น ประชาธิปไตยได้มา”
ร้องต่อเป็นทำนองเพลงมาร์ช
“วีรชนอุทิศชีวี เทิดศักดิ์ศรีชื่อก้องโลกา วีรบุรุษ วีรสตรี ที่ตายเป็นผี ขอบูชา มีชื่อว่าเลือดไทย”
และท่อนสุดท้าย
“จำไว้ให้ดี วันที่สิบสี่ตุลา พี่น้องชนะได้มา หลั่งเลือดบูชา กล้าหาญยิ่งใหญ่ เพราะนักศึกษา เรียกร้องประชาธิปไตย พบชีวิตใหม่ ภายใต้พระบารมี”
ถ้าพิจารณาเนื้อหาบทเพลงสะท้อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ตามที่ยกมาแสดง จะเห็นว่าทุกเพลงมีความคล้ายคลึงกัน คือมุ่งเน้นไปที่การเชิดชูวีรกรรมของนิสิตนักศึกษาในการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แม้จะชื่อว่าเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ เพราะรัฐบาลทหารปราบปรามรุนแรงจนผู้ชุมนุมสูญเสียเลือดเนื้อ บาดเจ็บ และล้มตายนับร้อยนับพัน แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมืองไทยจึงผ่านพ้นระบอบเผด็จการและวิกฤตนองเลือดมาได้ พระองค์ยังพระราชทานนามเรียกขานเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ใหม่ว่า ‘วันมหาปีติ’ ขณะเดียวกัน สังคมแบบประชาธิปไตยก็กำลังเบ่งบาน บทเพลงทั้งหมดจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม มีความชอบธรรมยิ่งนัก สมควรแล้วที่ ‘สามทรราช’ จะต้องถูกขับไล่ออกไป ซึ่งภาพจำเช่นนี้ยังคงกลายเป็นมโนทัศน์ของคนในสังคมไทยจำนวนมากเรื่อยมา
บทบาทของนิสิตนักศึกษาได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากประชาชนนับแต่ปลายปีพุทธศักราช 2516 ถึงขั้นที่กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลและผู้นำทางความคิดของสังคมไทย เมื่อชาวบ้านเดือดเนื้อร้อนใจ ถูกรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็จะระลึกถึงนักศึกษามาร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งสหภาพแรงงานและชาวนา ส่วนชนชั้นกลางและชาวเมืองก็ยังเป็นกำลังใจให้กลุ่มคนหนุ่มสาว มิเว้นกระทั่งเรื่องสไตล์การใช้ชีวิตและแฟชั่นการแต่งกาย ก็มีใครต่อใครอยากจะเลียนแบบจากพวกนักศึกษา
ทว่าพอล่วงเข้ากลางปีพุทธศักราช 2517 ดูเหมือนภาพลักษณ์นิสิตนักศึกษาได้แปรเปลี่ยนไปในสายตาของคนไทย การชุมนุมและเดินขบวนประท้วง รวมถึงการสนับสนุนให้กรรมกรและชาวนานัดหยุดงานที่เรียกว่า ‘สไตรค์’ ซึ่งเกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง เริ่มถูกมองเป็นปัญหา เป็นการก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองไม่สงบ ไม่ใช่สิ่งที่ชอบธรรมอีกแล้ว ขบวนการนักศึกษาอันเคยเป็นที่ปลาบปลื้มก็ค่อยๆ ถูกเชื่อมโยงให้ไปผูกพันกับแนวคิดสังคมสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ เป็นพวกฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะถูกเพ่งเล็งถึงความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าเขาลำเนาไพร และเชื่อว่านิสิตนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พากันเข้าป่าไปเป็น ‘ผกค.’ หรือ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเริ่มปรากฏสัญญาณการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ชุมนุมผู้เดินขบวนประท้วง ดังเหตุการณ์ ‘จลาจลพลับพลาไชย’ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมปีนั้น เกิดการปะทะกันดุเดือด ขว้างปาสิ่งของ ระเบิดขวด และระเบิดเพลิง ใช้อาวุธปืนยิงกัน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมๆ เกินร้อยราย
ฉัตรทอง มงคลทอง นักร้องลูกทุ่งชาวสุราษฎร์ธานี เจ้าของเสียงแหบ ห้วนกระด้างดุดัน และชอบกระชากเสียงสูง ซึ่งกำลังโด่งดังจนตั้งวงดนตรีเดินสายทั่วภาคใต้ในปีพุทธศักราช 2518 ได้แต่งเพลงขึ้นร้องเองชื่อ ‘ตามแฟน’ เป็นเรื่องราวของหนุ่มสุราษฎร์ฯ เดินทางมาขึ้นมาตามหาแฟนสาวในกรุงเทพมหานคร โดยมีท่อนหนึ่งแสดงความกังวลว่าแฟนสาวของตนจะไปร่วมเดินขบวนประท้วง
“แฟนผมอยู่ไหน ทำไมน้องเจ้ามณี
หรือเธอไปขายห่อหมก ขายขนมครก แถวราชเทวี
น้องอย่าไปเดินขบวน คนเขาจะชวนน้องไปทางไม่ดี”
ต่อมา ดาวใต้ เมืองตรัง นักร้องหญิงได้ร้องเพลงแก้ตอบโต้เพลงนี้ชื่อ ‘แฟนพี่อยู่ตรัง’ แต่งคำร้อง-ทำนองโดย ประจวบ วงศ์วิชา
ลพ บุรีรัตน์ หรือ วิเชียร คำเจริญ นักร้องเพลงตลกผู้หันมาเป็นนักแต่งเพลง รู้สึกว่านักศึกษาไม่ควรออกมาเรียกร้องทางการเมืองให้วุ่นวาย ควรตั้งใจเรียนหนังสือให้สมกับที่พ่อแม่อุตส่าห์ส่งเสีย พอเรียนจบจะได้มีงานทำ แล้วค่อยมาสนใจการเมือง ดังเสียงเล่า “ผมก็มานั่งอ่านข่าว เอ๊ะ! ไอ้นักศึกษามันโวยๆ มันไปเกี่ยวอะไรกับการเมืองวะ มึงจะเรียนก็เรียนไปสิวะ มึงไปเกี่ยวไปยุ่งอะไรกับเขา ก็เลยมาแต่งเพลงข้าคือไทย”
เพลง ‘ข้าคือไทย’ ขับร้องโดย ก้องเพชร แก่นนคร บรรยายเสียงสะท้อนของชาวนาส่งถึงนักศึกษาให้หมั่นเรียนสูงๆ จะได้เป็นปัญญาชน และไม่ถูกชักจูงจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ปิดท้ายเพลงด้วยการเทิดทูนพระบารมีของพระมหากษัตริย์
“หมั่นเรียนเถิดเพื่อน เรียนให้รู้เป็นครูคน เรียนให้เด่นเช่นปัญญาชน อย่าให้คนว่าเป็นปัญญาควาย คนจนอย่างข้า ขออยู่ทำนาเลี้ยงกาย เอ็งเรียนจบหลักสูตรจุดหมาย กลับมาเป็นนายของข้าก็ยอม
เมื่อเป็นบัณฑิต มีหัวคิดเหนือชนใด เพื่อนอย่าโง่ให้ใครจูงใช้ มาเฉือนเลือดไทยกันเองจนงอม ไทยเป็นนายไทย ข้าจะเต็มใจสมยอม ถ้าให้ข้าเป็นทาสไอ้คอม จะให้ข้ายอม ข้ายอมไม่ได้
ข้ามีกำเนิด ถิ่นเกิดข้าคือสยาม ถึงจนคนว่าต่ำทราม ข้าก็มีนามว่าไทย เอียงซ้ายเอียงขวา คนอย่างข้า ข้าไม่เข้าใจ ข้ารู้ว่าข้าคือไทย ข้าโตมาได้ในแผ่นดินนี้
มีองค์กษัตริย์ เป็นฉัตรสูงเหนือกรุงไทย ชาติไทยอยู่ศัตรูเกรงใจ ด้วยพระจอมไทยเปล่งบารมี พระคุณล้นเกล้า ทั่วถิ่นไทยเรารู้ดี ถ้าใครกล้าหมิ่นบารมี เป็นเลือดกาลีไม่มีรู้คุณ”
ภาพของชาวนาที่ ลพ วาดไว้ในเพลงย่อมแตกต่างจากชาวนาหัวก้าวหน้าที่ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาจนเป็นเหตุให้ถูกลอบสังหารไม่น้อยราย
ในปีพุทธศักราช 2520 ‘ข้าคือไทย’ ได้รับพระราชทานรางวัลเสาอากาศทองคำในด้านคำร้องยอดเยี่ยม
ลพ ยังอาศัยบรรยากาศที่ประเทศเพื่อนบ้านถูกครอบงำโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เมืองไทยกลับรอดพ้น และกลายเป็นแหล่งพักพิงให้แก่เพื่อนบ้านที่อพยพลี้ภัยเข้ามา เขียนขึ้นเป็นเพลง ‘สยามเมืองยิ้ม’ ซึ่ง ดาวใต้ เมืองตรัง ขับร้องไว้เป็นคนแรกก่อนปีพุทธศักราช 2520 ทว่าไม่ดัง จนต่อมา พุ่มพวง ดวงจันทร์ นำมาร้องจนเป็นที่ยอดนิยม
ก้องเพชร แก่นนคร เป็นนักร้องลูกทุ่งอีสานที่เคยครองชื่อเสียงจากบทเพลงไพเราะจับใจและภาษาสวยเยี่ยง ‘ภูพานสะอื้น’ ของ สุรินทร์ ภาคศิริ ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ประมาณปีพุทธศักราช 2514 สุรินทร์ แต่งเพลงนี้ด้วยเจตนาจะให้เป็นเพลงปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) เพื่อเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล และกล่อมเกลาคนไม่ให้เห็นดีเห็นงามจนเผลอเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ สอดคล้องกับการที่ สุรินทร์ เองก็เป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้คุม เสมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐ
ความงดงามของภูพานในเพลงชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม แต่กลับเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่ง สุรินทร์ มองว่าเป็นผู้หลงผิด ดังเนื้อเพลง “ภูพานสงบ ทอดซบอกธรณินทร์ แม่โขงไหลริน โอบกอดอีสานมานานแค่ไหน ภูพานสะอื้น แม่โขงต้องกลืนน้ำตาร้องไห้ เคยร่มเย็นกลับลุกเป็นไฟ เพราะคนใจง่ายยอมขายชาติสิ้น” และปิดท้ายว่า “ตัวไกลใจพี่ห่วงอีสาน ห่วงสาวภูพาน ข่าวกล่าวขานเคยได้ยิน หลงผิดไฉน วิงวอนให้น้องยุพิน จงคิดกลับใจถวิล สร้างสรรค์ถิ่นเฮา เทือกเขาภูพาน”
แคน สาริกา ผู้เคยเข้าป่าทางภาคอีสานหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เล่าว่า กระทั่งสหายหลายคนก็ยังต้องมนตร์ของเพลง ‘ภูพานสะอื้น’ แม้จะทราบว่าเป็นเพลงสะท้อนแนวคิดต่างจากพวกตน แต่ก็เกิดแรงดาลใจอยากจะปรับเปลี่ยนเพลงปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มักเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ให้แหวกกรอบ และใช้ภาษาละมุนละไมแบบเพลงลูกทุ่งบ้าง
นั่นชวนให้นึกถึงที่ เจมส์ เลียวนาร์ด มิทเชลล์ (James Leonard Mitchell) วิเคราะห์ว่า สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ชอบเพลงลูกทุ่ง มองว่าไม่สามารถนำมาปลุกระดมได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้เป็นสมาชิกจำนวนไม่น้อยหลงใหลท่วงทำนองเพลงลูกทุ่ง หลายปีก่อน ผมเองเคยสนทนากับชายชราชาวภาคใต้คนหนึ่งที่เคยเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เขาบอกว่าเมื่อลอบออกจากป่ามายังชุมชน ได้ฟังเพลงลูกทุ่งจากวิทยุของร้านค้า เขายังรู้สึกเคลิบเคลิ้ม แม้เนื้อหาของเพลงนั้นจะเป็นการให้กำลังใจตำรวจทหารที่จะมาปราบคอมมิวนิสต์ หากเขาฟังโดยฉวยใช้มาจินตนาการเสียใหม่เป็นเพลงให้กำลังใจพวกเขาในการต่อสู้กับตำรวจทหาร
อีกบทเพลงลูกทุ่งที่บ่งชี้ลักษณะการมองนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน นั่นคือเพลง ‘รำพึงอยู่ไหน’ ผลงานประพันธ์ของ ชลธี ธารทอง และขับขานผ่านลูกคอของ ระพี พรนที บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่มาตามหาหญิงสาวชื่อรำพึงในช่วง “ยามเมื่อลมหนาวล่อง นั่งมองท้องนาบ้านเรา โอ้คนรักเก่า จากเราลับลาแรมปี” ซึ่งพอไปที่มหาวิทยาลัยของสาวเจ้าก็ “ไหนว่าเรียนอยู่จุฬาฯ ไปหาเจ้าก็ไม่มี หายไปจากนี่เมื่อ 14 ตุลา” และระหว่างรอคอย “…บ้านเราเขาลืออื้ออึง ผู้คนเขาทึ่ง รำพึงสาวลืมบ้านนา โธ่เจ้าคงชอบอุบาย เอียงซ้ายเสียแล้วแก้วตา เลยหนีเข้าป่าเป็น ผกค.”
เพลงท่อนกลางยังเน้นย้ำสมทบ
“โอ้รำพึงอยู่ไหน ไปทำไมอยู่ในป่าเขา กลับมาบ้านเรา เถิดหนา กลับมาเรียนต่อ ไทยต้องรักไทย เชื่ออะไรกับ ผกค. แม่และพ่อ เฝ้าคะนึงเจ้าทุกวัน”
ในท่อนจบ ชลธี เปรียบเทียบผู้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์กับปลาที่ว่ายตามแหล่งน้ำในท้องทุ่ง
“มอง เหม่อมองท้องทุ่ง กุ้งปลาบ้านนามากมาย เจ้าสิหางส่าย ว่ายวนเหมือนคนเกี้ยวกัน แหมน่าอยากเกิดเป็นปลา ประสาสัตว์น้ำอย่างมัน คงไม่มีวันเอียงซ้ายเหมือนคน”
พูดง่ายๆ ชลธี เสียดสีว่า ขนาดปลายังไม่อยากเป็นคอมมิวนิสต์
ระพี พรนที คือนักร้องลูกทุ่งที่ผมอยากศึกษาเป็นพิเศษมายาวนานเกือบสิบปี เขาอาจไม่ใช่นักร้องโด่งดังมากเท่านักร้องคนอื่นๆ ช่วงปลายทศวรรษ 2510 แต่น้ำเสียงของเขาตราตรึงความทรงจำของแฟนเพลง ระพี เป็นชาวสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และไม่ได้ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องลูกทุ่งเฉกเช่นนักร้องคนอื่นๆ เดิมทีเขาบวชเป็นสามเณรอยู่วัดป่าสัก รู้จักกันในนาม ‘สามเณรวิเศษณ์สิงห์คำ’ เชี่ยวชาญด้านการปลุกเสกวัวธนูและกุมารทอง มูลเหตุที่ได้ลาสิกขามาร้องเพลงลูกทุ่งเพราะจะมาหาเงินไปช่วยเหลือทางวัด ชลธี ธารทอง ฟังเสียงแล้วชอบ เลยชวนมาอัดเสียงเพลง ‘รำพึงอยู่ไหน’ และร้องอีกไม่กี่เพลง ก็อำลาวงการกลับบ้านเกิดไปบวชต่อ
แม้ จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศไปตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 หากแว่วยินข่าวคราวเป็นระยะๆ ว่าจะหาหนทางกลับคืนเมืองไทย ซึ่งก็ได้กลับมาเยี่ยมบิดาครั้งหนึ่งก่อนถูกกดดันให้ออกนอกประเทศอีก ขณะที่ จอมพลประภาส จารุเสถียร เคยลอบเดินทางจากกรุงไทเป ประเทศไต้หวันเข้ามาเมืองไทย จนเกิดการชุมนุมของขบวนนักศึกษาเมื่อวันที่ 20-22 สิงหาคม พุทธศักราช 2519 เลยต้องยอมออกนอกประเทศ
สงเคราะห์ สมัตถภาพงศ์ ครูเพลงชาวชัยภูมิที่มักจะประพันธ์เพลงให้ เพลิน พรหมแดน นักร้องลูกทุ่งเข้าของฉายา ‘ราชาเพลงพูด’ ขับร้อง โดยเฉพาะเพลงล้อเลียนการเมือง ทั้งสองคนเคยฝากผลงานไว้แล้วคือเพลง ‘คึกลิดคิกลึก’ ล้อเลียนรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จริง สงเคราะห์ ก็รับราชการกรมที่ดิน แต่แนวความคิดค่อนข้างอิสระ ไม่เข้าข้างรัฐบาลอย่างเดียว จากกระแสข่าวการจะกลับมาของ ‘สามทรราช’ สงเคราะห์ จึงแต่งเพลง ‘คิดถึงลูก’ ให้ เพลิน ร้อง เนื้อหาล้อเลียน จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร เพลงนี้ขึ้นต้นว่า
“ผมมีลูกอยู่เพียงสามคน เวรกรรมเหลือทน อยู่เมืองไทยไม่ได้ คนเขาเกลียด ว่าเป็นคนจัญไร กลับมาเมื่อไหร่ เขาจะเอาตายทั้งเป็น กลับมาเมื่อไหร่ เขาจะเอาตายทั้งเป็น”
จากนั้นเป็นบทพูด
“พ่อบอกแล้วว่า จะทำอะไรๆ ก็คิดให้มันดีๆ เอาแต่อำนาจบาตรใหญ่เข้าว่าท่าเดียว ประเทศไทยมันไม่ใช่ของเจ้าสามคนเท่านั้นนะหนา มันเป็นของคนไทยทั้งชาติ ผลสุดท้ายลูกก็ต้องกลายเป็นคนไร้แผ่นดิน เฮ้อ ลูก”
ร้องเพลงต่อ
“ลูกคนแรกไปอยู่สิงคโปร์ ลูกชายคนโต โอ้โอ๋ พ่อดวงเด่น บวชล้างบาป แต่ไม่หมดกรรมเวร เป็นพระเป็นเณร ก็ยังไม่สิ้นนินทา พระเป็นเณร ก็ยังไม่สิ้นนินทา”
แล้วพูด
“ว่าไงน้อม อยากจะบวชก็บวชซะลูก ล้างบาปล้างกรรม คนเขาจะประท้วงยังไงๆ ก็ใช้ความอดทนเอานะ ยุบหนอพองหนอนะท่องเอาไว้ ไม่ช้าไม่นาน ก็คงจะถึงนิพพานหรอก”
และก็ร้องเพลง
“ลูกอีกคนต้องหนีไปอยู่ไทเป ไม่เคยเกเรทำไมหนอคนจึงด่า สงสารลูกที่เป็นต้อนัยน์ตา บ่นว่าอยากกลับมา รักษาตาให้ทุเลา บ่นว่าอยากกลับมา รักษาตาให้ทุเลา”
พูดต่อ
“ตุ้ยเอ๊ย ตาหายแล้วยัง แล้วตอนนั้นเจ้าไม่น่าบอกว่าหัวใจโตเลยนะ คนเขาไม่รู้ เขาก็ไม่เชื่อน่ะสิ ลูกน่าจะบอกว่าลูกพุงโตมากกว่า เอาละ อีกสามวันพ่อจะส่งหมอไปให้ทั้งสามหมอด้วยกัน หมอตา หมอตับ และหมอนวด เลือกเอาจะเอาหมอไหน”
ร้องท่อนสุดท้าย
“ลูกคนเล็กไปอยู่เยอรมัน นิสัยดุดันยังเหมือนเดิมหรือเปล่า คิดถึงลูกแต่ก็ต้องทนเอา ทั้งสามคนเจ้า อย่ากลับมานะอย่ากลับมา ทั้งสามคนเจ้า อย่ากลับมานะอย่ากลับมา”
และพูดท่อนสุดท้าย
“พ่อหนุ่มเอ๊ย เป็นไงล่ะ ใจแข็งเชียวนา เงียบฉี่เลย ไม่เห็นส่งข่าวพ่อบ้างล่ะลูก ยังไงยังไง ก็ทนอยู่เมืองนอกโน่นแหละนา คนอื่นเขาอยากจะไปเที่ยวเมืองนอกจะตายอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสดีเหมือนลูกพ่อ อย่าเพิ่งเข้ามาเลยนะเมืองไทยตอนนี้ มันวุ่นๆ อยู่ ขืนเข้ามาอีกมันก็จะยิ่งวุ่นกันใหญ่ แต่ถ้าหากว่าจะมาจริงๆ ล่ะก็ บวชเข้ามาเงียบๆ นะลูกนะ แล้วพ่อจะชื่นจนหัวใจสั่น”
เพลงของ เพลิน ล้อเลียนจอมพลถนอม ซึ่งกำลังบวชเณรอยู่ที่สิงคโปร์ (ในบทพูดเรียก ‘น้อม’) จอมพลประภาส ซึ่งมีปัญหาเรื่องสายตาเป็นต้อ (ในบทพูดเรียก ‘ตุ้ย’) และพันเอกณรงค์ ซึ่งอยู่เยอรมนี
ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2519 จอมพลถนอม บวชสามเณรกลับเข้ามาเมืองไทยจริงๆ เพลิน วิตกกังวล พอดี เพลิน เป็นลูกศิษย์ของพระภิกษุผู้ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรให้จอมพลถนอมที่สิงคโปร์ พระภิกษุรูปนั้นนำแผ่นเสียงไปให้ดูพร้อมบอกว่า เพลิน เป็นลูกศิษย์ของอาตมา อย่าไปถือสาหาความ จอมพลถนอมตอบกลับว่าไม่เป็นไร
การกลับมาเมืองไทยของสามเณรถนอม ซึ่งต่อมาทำพิธีอุปสมบทในเมืองไทยเป็นพระถนอม คือชนวนเหตุให้นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลนำตัว ‘ทรราช’ มาขึ้นศาลพิจารณาคดี หรือขับไล่ออกไปนอกประเทศ กระนั้นช่วงปลายเดือนกันยายน ยังไม่ปรากฏว่าทางรัฐบาลดำเนินการกับพระถนอมแต่อย่างใด จึงมีการลุกฮือติดโปสเตอร์ต่อต้านทั่วประเทศ จนเกิดเหตุสะเทือนขวัญเมื่อพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม 2 คน ที่ไปติดโปสเตอร์ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ ก่อนจะนำศพไปแขวนคอกับประตู
ขบวนการนักศึกษาเริ่มชุมนุมคัดค้านจอมพลถนอม และยื่นคำขาดให้รัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช แก้ไขปัญหาเรื่องนี้
ล่วงเข้าต้นเดือนตุลาคม ขบวนการนักศึกษาถูกประโคมโจมตีจากกลุ่ม ‘ฝ่ายขวา’ ว่าจงใจเอากรณีของจอมพลถนอมมาเป็นเงื่อนไขเพื่อก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศชาติ ทำลายพระพุทธศาสนา และล้มล้างรัฐบาล รวมถึงปลุกระดมว่านักศึกษาเป็นพวกคอมมิวนิสต์
ขบวนการนักศึกษารณรงค์ให้คนออกมาร่วมประท้วงขับไล่จอมพลถนอม โดยจะนัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม และย้ายเข้ามาชุมนุมต่อในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงละครจำลองเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม แต่พอในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ปรากฏการเผยแพร่ประโคมข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ พร้อมลงภาพถ่ายนักศึกษาแสดงละครจำลองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโจมตีว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นี่เป็นหนึ่งในแผนการของพวกคอมมิวนิสต์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่นำเสนอเช่นนี้ย่อมมิพ้น ดาวสยาม ของ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ เจ้าของนามปากกา ‘กระแช่’ พร้อมๆ กับการรวมพลังของกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และลูกเสือชาวบ้าน ที่รับฟังการปลุกเร้าจนโกรธแค้นเลยออกมาต่อต้านนักศึกษา ด้านสถานีวิทยุยานเกราะที่มีโฆษกคือ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายอาคม มกรานนท์ และ นายอุทิศ นาคสวัสดิ์ สื่อสารเสียงยั่วยุปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปเกลียดชังนักศึกษา
ลักษณะเหล่านี้นำไปสู่เหตุการณ์เช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 กองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ บุกเข้ากวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดร้ายทารุณเกินคาดคะเนว่ามนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันได้ลงคอ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและสูญหายมากราย กลายเป็นภาพสยดสยองทั้งการใช้ผ้าผูกคอลากร่างกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เอาร่างแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้วเอาเก้าอี้ฟาด รุมประชาทัณฑ์ เอารองเท้ายัดปากศพ เอาร่างไปโยนเผานั่งยางกลางท้องสนามหลวง ที่ชวนเศร้าสลดคือ มีคนยืนดูสภาพเลวร้ายอยู่รายล้อมโดยไม่รู้สึกรู้สา ใบหน้าบางคนผลิรอยยิ้มแย้ม
ถ้าจะมองสถานีวิทยุยานเกราะให้ข้องเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง ก็ต้องบอกว่านี่คือสถานีวิทยุขวัญใจชาวชนบท บุกเบิกโดย จำรัส วิภาตะวัธ หัวหน้าวงดนตรีชุมนุมศิลปิน เคยมีนักร้องลูกทุ่งหลายคนจัดรายการประจำสถานีแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สุรพล สมบัติเจริญ หรือ เพลิน พรหมแดน หรือในปีพุทธศักราช 2513 ตอนที่ ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงชุดแรกให้ ศรคีรี ศรีประจวบ บันทึกเสียงจนแจ้งเกิดลือลั่น แผ่นเสียงก็เปิดที่วิทยุยานเกราะ
เพลงลูกทุ่งที่เอ่ยถึงหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม คือ เพลง ‘เด็กขายหนังสือพิมพ์’ ผลงานขับร้องของ ศักดิ์ศรี ศรีเมืองลพ ซึ่งทุกวันนี้เป็นดาราตลกที่คนรู้จักกันในชื่อ ชูศรี เชิญยิ้ม แว่วยินกันช่วงต้นปีพุทธศักราช 2519 และน่าสะดุดหูว่า หนังสือพิมพ์บางฉบับที่อยู่ในเพลงค่อนข้างนำเสนอข่าวไม่ค่อยจะเป็นผลดีต่อขบวนการนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
“ข่าวตลาด ซื้อ ไทยรัฐ ไปอ่านดู
อยากได้ความรู้ เสียงปวงชน เข้มข้นมากหลาย
บทความสยิว ต้อง เดลินิวส์ และ เดลิไทม์
ดาวสยาม นำสมัย รู้ได้ไม่มีเคลือบแคลง”
ศักดิ์ศรี เป็นนักร้องวงดนตรีพรนายณ์ของ พร พรนารายณ์ ซึ่งมีนักประพันธ์เพลงคนสำคัญคือ ธงชัย เล็กกำพล หรือ หมอธงชัย
ครับ เพลง ‘เด็กขายหนังสือพิมพ์’ มิแคล้วฝีมือการแต่งของ ธงชัย
หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ยังมีบทบาทไปเกี่ยวข้องกับแวดวงดาราตลก โดยเป็นผู้สนับสนุนให้ตลกหลายคนได้ตั้งคณะขึ้นมาเพื่อรับงานแสดงต่างๆ
ปัจจุบัน พอเอ่ยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ชื่อหนึ่งที่จะผุดพรายขึ้นมาในความนึกของใครต่อใคร ย่อมได้แก่ ธงชัย วินิจจะกูล เนื่องจากเป็นผู้นำนักศึกษาในเช้าวันพุธนั้น
ผมใคร่จะชวนให้คุณผู้อ่านลองนึกชื่อของ ธงชัย เล็กกำพล อีกคน เพราะหลายบทเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้นได้บันทึกบรรยากาศช่วงปลายทศวรรษ 2510 และต้นทศวรรษ 2520 แลเห็นบริบทอันสามารถโยงใยถึงความเป็นไปหลายประการในสังคมไทยก่อนและหลังปีพุทธศักราช 2519 โดยเฉพาะการต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารตำรวจและกลุ่มคนอื่นๆ กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หมอธงชัย เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข แน่นอน น้ำเสียงในบทเพลงย่อมเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ แต่มีอยู่เพลงหนึ่งบอกเล่าด้วยเสียงของผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ คือเพลง ‘ผกค. กลับใจ’ ขับร้องโดย มิตร เมืองจันทร์ นักร้องประจำวงดนตรีพรนารายณ์ โดยเสียงนั้นเป็นการสารภาพว่าตนได้หลงผิดทรยศต่อประเทศชาติซึ่งปู่ย่าตายายเอาแลกชีวิตมา ชีวิตในป่าเขาก็ลำบาก และการจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นความชั่ว จึงอยากจะกลับตัวกลับใจมาเป็นคนดี
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่ก่อตั้งโดย พันตำรวจเอกสมควร หริกุล (ยศขณะนั้น) ซึ่งจริงๆ สมาชิกของกลุ่มเป็นเพียงประชาชนทั่วไป หากกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐโดยมิได้รู้ตัว นำไปสู่มองนักศึกษาผู้คิดเห็นต่างจากพวกตนกลายเป็นศัตรูในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็มีเพลงลูกทุ่งที่แสดงภาพลักษณ์ในเชิงพาฝันและเติมเรื่องความรักลงไป เช่นเพลง ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ของ สัญญา พรนารายณ์ ที่ร้องท่อนหนึ่งว่า “แม่สาวตาคม นิยมตำรวจทหาร ลูกเสือชาวบ้าน นานๆ จะมองสักหน” หรือเพลงแก้คือ ‘รักลูกเสือชาวบ้าน’ ของ น้ำอ้อย พรวิเชียร ที่ร้องท่อนหนึ่งว่า “ลูกเสือคนดี ย่อมมีแต่คนสงสาร ลูกเสือชาวบ้าน ทำงานเพื่อการกุศล ฉันยังเฝ้าหวังกังวล ลูกเสือคนจน อดทนอย่าได้ท้อถอย”
สัญญา และ น้ำอ้อย เป็นนักร้องชายหญิงคู่ขวัญแห่งวงดนตรีพรนารายณ์ ซึ่งทั้งสองเพลงก็แต่งโดยหมอธงชัยนั่นเอง
ชายธง ทรงพล เจ้าของเพลง ‘ปูไข่ไก่หลง’ เป็นอีกคนหนึ่งที่ร้องเพลงเชิญชวนให้คนมาเข้าร่วมกลุ่มลูกเสือชาวบ้านช่วงทศวรรษ 2510 คือเพลง ‘มาเป็นลูกเสือ’ ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ไพศาล พันธุ์สาลี เพราะการเป็นลูกเสือชาวบ้าน “…ไม่มีการเมืองมาเคลือบแคลงแอบแฝงคลุมเครือ ไม่เอียงซ้ายเอียงขวาถือสัจจาตามกฎลูกเสือ…”
เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 ผมสบโอกาสเข้าชมนิทรรศการภาพถ่าย ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ บังเอิญยินเสียงเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งกังวานขึ้น เป็นเพลงที่ทางผู้จัดนิทรรศการใช้ประกอบการฉายวีดิทัศน์ นั่นคือเพลง ‘สัจจะลูกเสือ’ ขับร้องโดย รุ่งเรือง ดาวสุรินทร์ ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองคือ ชลธี ธารทอง
“ลูกเสือชาวบ้าน ปฏิญาณต่อหน้าฟ้าดิน ฟ้าโปรดได้ยิน นายอินคำสาบาน ชีวิตเลือดเนื้อ ของลูกเสือชาวบ้าน พลีให้เป็นทาน แด่ผืนแผ่นดินไทย
ลูกเสือทุกรุ่น เทิดพระคุณล้นเกล้าของเรา เหมือนดั่งร่มเงา เบ้าหล่อหลอมหัวใจ เราไม่แบ่งชนชั้น ขีดคั่นเล็กหรือใหญ่ เกียรติและวินัย เรายิ่งใหญ่เท่ากัน
ขอทำตามกฎ คำสบถไม่มีสะบัด เราจะร่วมยืนหยัด ยืนหยัดสู้ฝ่าฟัน ร่วมเผ่ากอ เหมือนมีพ่อเดียวกัน จนรวยไม่สำคัญ รักกัน รักกันเข้าไว้
ลูกเสือชาวบ้าน มอบวิญญาณใต้ร่มผืนธง ผืนแผ่นไตรรงค์ ใครอย่าเปลี่ยนสีไป ยามฉันยิ้มทัก รักฉันบ้างหรือไม่ เราใช่อื่นไกล ลูกเสือไทยด้วยกัน
ลูกเสือชาวบ้าน มอบวิญญาณใต้ร่มผืนธง ผืนแผ่นไตรรงค์ ใครอย่าเปลี่ยนสีไป ยาม พัก รักกันบ้างหรือไม่ เธอช่างงามวิไล ขวัญใจลูกเสือชาวบ้าน”
แม้จะเคยอยู่วงดนตรีของ ขวัญจิต ศรีประจันต์ มาก่อน แต่ที่ รุ่งเรือง ได้แจ้งเกิดเป็นนักร้องลูกทุ่งเต็มตัวและลิ้มรสชาติหอมหวานของชื่อเสียงช่วงปลายทศวรรษ 2510 ก็เพราะเพลง ‘สัจจะลูกเสือ’ เมื่อแฟนเพลงนึกถึงเขา จึงมักจะนึกเห็นภาพลูกเสือชาวบ้านไปพร้อมกัน นับแต่นั้น รุ่งเรือง ก็ขับร้องอีกหลายเพลง โดยเฉพาะบทเพลงของ ชลธี เช่น ‘วีรกรรมเขาค้อ’ ‘นาล่ม’ และผลงานสำคัญในชีวิตของเขาคือ บทเพลงเทิดพระเกียรติ ‘แด่ทูลกระหม่อมฟ้าชาย’
ชลธี ธารทอง เคยเป็นนักร้องลูกทุ่งช่วงทศวรรษ 2500 เคยคลุกคลีอยู่กับวงดนตรีดังๆหลายวง เฉกเช่น วงรวมดาวกระจาย ของ สำเนียง ม่วงทอง และ วงดนตรีของ เทียนชัย สมยาประเสริฐ ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักแต่งเพลง สร้างนักร้องลูกทุ่งให้มีชื่อเสียงหลายคน
ช่วงปลายทศวรรษ 2510 เพลงที่ ชลธี แต่ง มักแสดงความเห็นทางการเมืองเชิงอนุรักษ์นิยม และต่อต้านความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา เนื่องจากเขามองว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งถือเป็นศัตรูของชาติ ล่วงเข้าทศวรรษ 2520 เนื้อเพลงของ ชลธี แสดงออกชัดเจนถึงการสนับสนุนให้ปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ รวมถึงให้กำลังใจทหารและตำรวจ นักร้องคนสำคัญที่มักได้ใช้ลูกคอของตนสื่อสารความคิดของ ชลธี นั่นคือ สายัณห์ สัญญา เช่น เพลง ‘สุดทางที่ด่านซ้าย’ เป็นต้น
กลุ่มกระทิงแดง ถือเป็นกองกำลังของฝ่าย ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ที่บุกเข้าไปโจมตีและทำร้ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม แท้จริง สมาชิกของกลุ่มนี้ก็คือนักเรียนอาชีวะและช่างกลที่เคยร่วมต่อสู้กับขบวนการนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่ ‘สามทรราช’ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แต่ช่วงปีพุทธศักราช 2517-2519 กลุ่มนักเรียนอาชีวะและช่างกลได้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และมองว่าพวกขบวนการนักศึกษาฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ กระทั่ง พันเอกสุตสาย หัสดิน (ยศขณะนั้น) ได้มาชวนกลุ่มนักเรียนอาชีวะและช่างกลไปร่วมองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก่อเกิดเป็นกลุ่มกระทิงแดงขึ้นมา โดยมี พันเอกสุตสาย เป็นหัวหน้า
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และช่วงต้นทศวรรษ 2520 สุตสาย หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดงที่ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี ยังเข้าไปมีบทบาทในแวดวงเพลงลูกทุ่ง โดยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของนิตยสาร ราชาเสียงทอง รายปักษ์ ร่วมกับ อรนุช หัสดิน, กมล สิทธิพันธ์ และ เวหน โกมลฐิติ นิตยสารนี้ออกฉบับปฐมฤกษ์ช่วงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2523 มี ธนู จงเลิศจรรยา เป็นเจ้าของและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ส่วน ณรงค์ รอดเจริญ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ นำเสนอเนื้อหาความเป็นไปในวงการเพลงลูกทุ่งและนักร้องลูกทุ่ง
คุณผู้อ่านคงจะเห็นแจ่มชัดว่า เพลงลูกทุ่งที่นำเสนอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีข้อแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งที่นำเสนอเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ความเปลี่ยนแปลงปรากฏขึ้นในชั่วเวลาเพียง 3 ปี ระหว่างพุทธศักราช 2516-2519 ทำให้ภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาซึ่งเคยดูเป็นพลังสร้างสรรค์ หรือ ‘เป็นความงดความงามใช่ความชั่ว’ ได้กลับกลายเป็นภาพของผู้สร้างความไม่สงบ เป็นอันตรายต่อประเทศ
ถ้วนเท่าผมแจกแจงรายละเอียดและอภิปรายมานั้น คือความพยายามถอดรหัส ‘ประวัติศาสตร์ผ่านลูกคอ’ ของนักร้องลูกทุ่ง มุ่งเน้นเฉพาะว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ซึ่งแค่เพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาสังคมไทยในชุด ‘ลูกคอสงครามเย็น’ ที่ผมพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมา
ในลูกคอของนักร้องลูกทุ่ง ยังมีอะไรให้เราบุกเข้าไปดื่มด่ำอีกหลายอรรถรส!
เอกสารอ้างอิง
- ขจร ฝ้ายเทศ. การสื่อสารทางการเมืองในเพลงไทยลูกทุ่ง พ.ศ. 2507-2547. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณทิต (สื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548
- แคน สาริกา. เสียงเพลงจากภูพาน: พลิกตำนาน “เพลงป่า” มาเป็น “เพลงเมือง”. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สาริกา, 2544
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก 14 ถึง 6 ตุลา: ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2562
- ดาวสยาม. ปีที่ 3 ฉบับที่ 638 (6 ตุลาคม 2519)
- ธีรภาพ โลหิตกุล. ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในเมืองไทย ( พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๕๐๐). กรุงเทพฯ: โสมสาร, 2541
- บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่). ในเสียงเพลง ลพ บุรีรัตน์. กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม, 2560
- บุญเลิศ ช้างใหญ่. ศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง เทวดาเพลง ภาคสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : แพรว, 2556
- “ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ.” ราชกิจานุเบกษา. เล่ม 90 ตอนที่ 161 (10 ธันวาคม 2516). หน้า 1-110
- “ประกาศเรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่งตั้งประธานและรองประธานที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ.” ราชกิจานุเบกษา. เล่ม 90 ตอนที่ 165 (16 ธันวาคม 2516). หน้า 18-19
- ราชาเสียงทอง. ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (20 พฤศจิกายน 2523)
- สมุดภาพแห่งความทรงจำ จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ในวาระครบรอบ 36 ปี 14 ตุลา. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2552
- Bowie, Katherine A.. Rituals of national loyalty : an anthropology of the state and the village scout movement in Thailand. New York: Columbia University Press, 1997
- Mitchell, James Leonard. Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music. Chiang Mai: Silkworm Books, 2015