15 ปีความรุนแรงปตานี 15 ชรบ. ลำพะยา นโยบายชายแดนใต้ ‘มาถูกทาง’ จริงหรือ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การก่อเหตุถล่มฐานชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หมู่ที่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นับเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมากที่สุดของ ‘กองกำลังภาคประชาชน’ และอาจจะนับได้ว่าสูญเสียจำนวนมากที่สุดของเหตุการณ์ในลักษณะโจมตีฐานปฏิบัติการของ ‘กองกำลังที่มิใช่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง’ ในรอบ 15 ปีของสถานการณ์ความรุนแรงปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกปัจจุบัน1

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกๆ ความสูญเสียของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงที่ปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความหมายของเหตุการณ์ในมุมมองระดับยุทธศาสตร์มากกว่ายุทธวิธีว่า สถิติเหตุความรุนแรงลดลง แต่โครงสร้างขบวนการยังตั้งมั่น

 

กราฟแสดงสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงและจำนวนการสูญเสียระหว่าง มกราคม 2556 – ตุลาคม 2562

 

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch: DSW) ระบุถึงจำนวนครั้งการก่อเหตุรุนแรงที่ลดลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลสำคัญมาจากการทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาลของรัฐลงไปทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ทั้งในด้านการทหารและด้านการพัฒนา กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า สถานการณ์ปัญหากำลังคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและการดำเนินงานของรัฐในวันนี้ ‘มาถูกทางแล้ว’

สัมพันธ์กับความเชื่อทางทฤษฎีของนักการทหารบางส่วนที่ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวงจรอายุขัยอยู่ที่ราว 25 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน ประกอบกันกับตัวเลขการลดลงของเหตุการณ์ดังกล่าวถึงข้างต้นก็อาจทำให้เชื่อได้ถึง ‘ทิศทางขาลง’ หรือภาวะกำลังฝ่อตัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

แม้สถิติตัวเลขจะไม่โกหก แต่มันก็บดบังสายตาเราพอสมควรมิให้เห็นสภาพจริงในเชิงลึกของปัญหา เหตุถล่มฐานปฏิบัติการ ชรบ. ที่ลำพะยาสะท้อนความหมายอย่างน้อยประการหนึ่งอันสังเกตได้จากแบบแผนการโจมตีที่เป็นระบบ นั่นคือ โครงสร้างขบวนการก่อเหตุรุนแรงยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงในพื้นที่ มิได้สลายหายไปไหน การวางแผนก่อเหตุอย่างละเอียด มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ สะท้อนออกมาชัดเจนถึงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างการสั่งการ สนธิกำลัง และประสานงานข้ามเขตพื้นที่

คำถามที่ติดตามมาในเชิงยุทธศาสตร์ก็คือ ท่ามกลางการทุ่มเททรัพยากรมหาศาลของรัฐลงไปอย่างต่อเนื่องนับสิบปีเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเหตุใด กระบวนการระดมผู้ก่อเหตุหน้าใหม่ และกระบวนการฝึกซ้อมทางอาวุธจึงยังคงดำเนินอยู่ในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง

ถามอีกแบบคือ อะไรเป็นปัจจัยผลัก (push factors) ผู้คนจำนวนหนึ่งให้ไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐได้อย่างต่อเนื่อง การตั้งคำถามดังกล่าวเรียกร้องให้จำต้องทบทวนยุทธศาสตร์ที่หน่วยความมั่นคงเรียกว่า ‘การสลายโครงสร้างจัดตั้งฐานมวลชนของขบวนการ BRN ในลักษณะหมู่บ้านจัดตั้ง และการบ่มเพาะต่อเยาวชนในสถานศึกษา’2 หากสรุปอย่างกระชับแล้ว ยุทธศาสตร์ดังกล่าวโดยแก่นแกนสารัตถะคือ ความพยายามนำพาอำนาจรัฐเข้าไปแทนที่ ‘อำนาจรัฐซ้อน’ ของขบวนการ BRN ในระดับกำปง/หมู่บ้าน

เพื่อมุ่งผลลัพธ์ในการควบคุมพื้นที่และเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย สามารถบังคับใช้กฎหมายเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทุกหมู่บ้าน และสถานการณ์เหตุรุนแรงในพื้นที่ จชต. ลดลง ยุทธศาสตร์สลายโครงสร้างฯ ดังกล่าวปรากฏออกมาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน อาทิ

  • การอาศัย ‘งานการข่าว’ กำหนดเป้าหมายบุคคลและสืบสภาพเป้าหมายพื้นที่ อาทิ พื้นที่บ่มเพาะ ฝึกซ้อมการรบ หลบซ่อน เก็บอาวุธ
  • การใช้ ‘งานการทหาร’ รักษาความปลอดภัย และติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรง
  • การอาศัย ‘งานการเมือง’ อันหมายถึงการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับแนวคิด ความเชื่อ และทัศนคติ การจัดเวทีชาวบ้าน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐหรือนักวิชาการที่รัฐจ้างมาใช้งาน และมักมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์เวทีเสวนา
  • การใช้ ‘งานพัฒนา’ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อาทิ การส่งเสริมอาชีพและรายได้ การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงเส้นทาง

ดังนั้น คำถามในมุมของการทบทวนยุทธศาสตร์ ตลอดจนยุทธวิธีก็ปรากฏชัด นั่นคือแนวทางวิธีการที่กระทำมาดังยกตัวอย่างข้างต้นนี้ สามารถสลายโครงสร้างจัดตั้งของขบวนการในชุมชนหมู่บ้านได้จริงหรือไม่

จากการเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะหลัง3 ผู้เขียนกลับพบว่า นอกจากเหตุการณ์ดังกรณีการถล่มฐานปฏิบัติการ ชรบ. ที่ลำพะยา จะบอกเราว่า ยุทธศาสตร์ที่รัฐดำเนินมาน่าจะมีปัญหาอุปสรรคบางอย่างอันทำให้มิอาจสลายโครงสร้างขบวนการได้

ในทางกลับกัน ข้อมูลจำนวนไม่น้อยจากกำปง/หมู่บ้านหลายแห่งกลับสะท้อนว่า ผลของการดำเนินงานให้ผลตรงข้ามกับเป้าประสงค์ นั่นคือกลับทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว เกลียดชัง และต่อต้านรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ มากไปกว่านั้นคือ บรรยากาศที่เอื้อต่อการผลักไส/เบียดขับคนจำนวนหนึ่งไปเป็นแนวร่วมมุมกลับและสมาชิกหน้าใหม่ของขบวนการฯ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ชาวบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี รู้สึกหวาดระแวงเสมอเวลาทหารเข้ามายังพื้นที่ชุมชน พวกเขามองว่า ทหารเข้ามาเพื่อต้องการหาข่าวและมีทัศนคติแบบจ้องจับผิด ประกอบกับระยะหลังมานี้ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร แม้อาจด้วยเจตนาที่ดี แต่ก็ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งรู้สึกถึงความหวาดระแวงอย่างสูงที่ทหารมีต่อสถาบันตาดีกา อันปรากฏเรื่องเล่าไม่สู้ดีนักกระจายอย่างกว้างขวางว่า ทหารขอเข้ามามีส่วนร่วมสอนหนังสือเด็ก ซึ่งเรื่องนี้มากเพียงพอจะก่อความรู้สึกเชิงลบในใจคนมลายูปตานีจำนวนไม่น้อย

ผู้เขียนพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า เคยมีการบอกหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ว่า ให้พวกเขาไม่ต้องเข้ามาร่วมในการทํางานสาธารณะของชุมชน เพราะจะทำให้กิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน

“ไม่เคย ที่ไม่บอกตรงๆ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะ ‘ไม่ชอบ’ ” ชาวบ้านท่านหนึ่งตอบ

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางพื้นที่ที่ผู้เขียนเข้าไปเก็บข้อมูลประกอบการทำวิจัย อันที่จริงแล้ว ความรู้สึกลักษณะนี้กระจายตัวอย่างกว้างขวางพอสมควรในพื้นที่ต่างๆ ของปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับการเกิดกรณีเหตุการณ์อันทำให้ผู้คนกังขาต่อความชอบธรรมของรัฐในการปกครองเหนือพื้นที่ และผู้คนร่วมอัตลักษณ์พื้นถิ่นของพวกเขาที่มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน และแตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศไทย ทั้งข้อกังขาในเรื่องความเป็นธรรม เช่น กรณี อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ และในเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่หยุดชะงัก ตลอดจนถูกตั้งคำถามเรื่องความจริงใจและโปร่งใส

ทั้งหมดนี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า เราควรมองให้ลึกลงไปมากกว่าตัวเลขจำนวนการก่อเหตุและจำนวนการสูญเสียที่บดบังภาพความจริงบางประการที่สำคัญเอาไว้ แล้วทำการทบทวนยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการมาอย่างจริงจังในทิศทางที่เปลี่ยนกระบวนคิดจากการมุ่งเน้นสลายโครงสร้าง ‘ตัวบุคคลผู้ก่อเหตุรุนแรง’ ไปสู่การมุ่งเน้นสลายโครงสร้างของ ‘สาเหตุรากเหง้า’ ที่ผลักผู้คนไปสู่การจับอาวุธอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนออย่างง่ายที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะช่วยให้เราเข้าใจสภาพจริงของปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นคือ ในเมื่อหัวใจสำคัญประการหนึ่งของความรุนแรงพัวพันอยู่กับความรู้สึกเสียดินแดน/พื้นที่ของคนมลายูปตานี ดังนั้นแล้ว ‘การปรากฏตัว’ ของกลไกรัฐ โดยเฉพาะหน่วยที่ถืออาวุธตามกำปง/หมู่บ้าน ก็จะยิ่งตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าว การดำเนินเวทีพูดคุยระดับชุมชนโดยรัฐดำเนินการก็ยิ่งตอกย้ำ ‘การเสียอาณาพื้นที่’ ของผู้คน

ยุทธศาสตร์รักษาโครงสร้างฐานมวลชนระดับหมู่บ้านของขบวนการฯ ทำงานบนความรู้สึกสูญเสียดังกล่าว

ยุทธศาสตร์ของรัฐในการที่จะสลายโครงสร้างฯ ก็ต้องทำในสิ่งตรงกันข้าม มิใช่ดำเนินการในทิศทางที่ยิ่งทำให้ผู้คนยิ่งรู้สึกถูกลิดรอนพื้นที่ทางการเมืองโดยน้ำมือของรัฐมากไปกว่าเก่า

หากประเด็นทางการเมืองอันเป็นแก่นแกนของความรุนแรงในพื้นที่นี้เป็นเรื่องของความรู้สึกขาดสิทธิและอำนาจในการกำหนดชะตาอนาคตของตนเอง (lack of the right to self-determination) ด้านกลับของเหรียญเดียวกัน ก็คือเรื่องของการสร้างสำนึกรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่และชีวิตทางสังคมการเมืองของผู้คนที่นั่น (sense of belonging)

ผู้เขียนคิดว่า ขบวนของมโนทัศน์เหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาความรุนแรงที่ปตานี


 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  1. สำนักข่าวอิศรา. เสียงจากลำพะยา…โจมตีป้อม ชรบ. ตาย 15 เกิดขึ้นได้ไง. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562.
  2. สํานักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.), สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. แผนปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2559. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562.
  3. เรียบเรียงจากบางส่วนของโครงการวิจัยที่ผู้เขียนกำลังดำเนินการอยู่ ใน, ตูแวดานียา ตูแวแมแง และอาทิตย์ ทองอินทร์. ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง. สนับสนุนทุนวิจัย โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) . อยู่ระหว่างการวิจัย.

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า