#ม็อบ17ตุลา ดาวกระจาย มวลชนไม่สลาย ทุกคนคือแกนนำ

เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ค่ำวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ด้วยการเปิดฉากปฏิบัติการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุม แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถกระชับพื้นที่ไว้ได้ ทว่ากลับไม่สามารถหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของเยาวชน คนหนุ่มสาว และประชาชนที่เพรียกหาประชาธิปไตย

17 ตุลาคม 2563 คือการชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ยุทธการตอบโต้ด้วยการนัดรวมตัวแบบ ‘ดาวกระจาย’ ในหลายพื้นที่ทั่วกรุง

ยุทธการดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนให้แก่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ได้ไม่น้อย โดยแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘เยาวชนปลดแอก’ และ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ได้โพสต์ข้อความนัดชุมนุม 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ห้าแยกลาดพร้าว – อุดมสุข – BTS วงเวียนใหญ่ ในเวลา 15.00 น. และระบุด้วยว่า หากใครมีไมโครโฟน ลำโพง เครื่องเสียง หรือโทรโข่ง ให้จัดเตรียมมากันเอง เพราะถือว่าทุกคนคือแกนนำ พร้อมย้ำให้ทุกคนเตรียมน้ำสะอาดและผ้าเช็ดหน้าไว้รับมือสารเคมีอันตรายจากเจ้าหน้าที่ด้วย

ทันทีที่ฝ่ายรัฐทราบแผนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งปิดการให้บริการของรถไฟฟ้า BTS และ MTR หวังหยุดการรวมตัวของมวลชน แต่กลับทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง โดย MRT สายสีน้ำเงินปิดให้บริการไปตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. ส่วน BTS ปิด 14 สถานี ตั้งแต่เวลา 14.30 น. ก่อนที่ต่อมาจะประกาศปิดทุกสถานี

17 ตุลาฯ มาตามนัด

15.00 น. มวลชนมาตามนัด แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีเพียง 3 พื้นที่หลักตามที่ได้ประกาศไว้ แต่ยังขยายวงไปยังอีกหลายพื้นที่ อาทิ แยกปทุมวัน หน้าหอศิลป์ กทม. สามย่านมิตรทาวน์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หัวหมาก แยกแคราย นนทบุรี ฯลฯ การชุมนุมดำเนินไปอย่างอิสระ ไม่มีแกนนำอย่างเป็นทางการ ไม่มีการติดตั้งเวทีปราศรัย และพร้อมสลายตัวได้ทุกเมื่อ

เริ่มจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าว กลุ่มผู้ชุมนุมหลั่งไหลมาจากทุกทิศทางจนเต็มพื้นผิวจราจรในเวลาไม่นาน ในมุมหนึ่งมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาช่วยแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อถูกน้ำจากสารเคมี และให้ความรู้แก่ผู้ชุมนุมในการดูแลตนเอง

จากนั้นเวลา 17.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยกันระดมขนย้ายสิ่งกีดขวาง เสริมแนวกั้นทางขึ้นสะพานข้ามแยกลาดพร้าวที่จะมุ่งหน้าลาดพร้าว-รัชโยธิน ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานาว่าจะมีการนำรถน้ำเข้าสลายการชุมนุม หรืออาจมีการรัฐประหารซ้อน แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักต่อไป โดยมีการแจกจ่ายหมวกกันน็อคให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง

บริเวณถนนลาดพร้าว ฝั่งตรงข้ามห้างยูเนี่ยนมอลล์ มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมถนนเปิดประตูบ้านออกมาคอยแจกเสื้อกันฝนให้คนที่กำลังเดินไปม็อบ มีกลุ่มเยาวชนคาดว่าเป็นนักศึกษา หรือนักเรียนมัธยมปลาย คอยยืนแจกน้ำ นม ลูกอม ให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม

ที่แยกอุดมสุข ประชาชนรวมตัวกันคับคั่งบนท้องถนน มีการชู 3 นิ้ว เชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยมาร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ โดยผู้ชุมนุมใช้วิธีส่งโทรโข่งต่อกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถปราศรัยแสดงความเห็นและส่งข้อความไปถึงรัฐบาล จนกระทั่งเวลา 16.55 น. เมื่อมวลชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงขยับขบวนเคลื่อนย้ายจากแยกอุดมสุขไปยังแยกบางนา เพื่อเปิดทางให้รถยนต์ผ่านเข้าซอยอุดมสุขได้

ระหว่างการชุมนุม ปรากฏข่าวลือสะพัดว่าตำรวจตระเวนชายแดนจัดกำลังเตรียมสลายการชุมนุมภายในไบเทค บางนา แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักที่เดิมอย่างเหนียวแน่น

เช่นเดียวกับที่วงเวียนใหญ่ มวลชนรวมตัวกันที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่และขยายพื้นที่ไปจนถึงแยกตากสิน โดยไม่มีแกนนำจากกลุ่มคณะราษฎร มีเพียงการจัดการดูแลกันเองของผู้ชุมนุม

ส่วนที่แยกแคราย นนทบุรี มีผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างคึกคัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี อ่านแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันว่า เป็นการกระทำเยี่ยงรัฐเผด็จการ ป่าเถื่อน ไร้อารยะ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีทุกคน

ทั้งนี้ ภาพรวมของการชุมนุมตามพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างสงบ โดยแต่ละพื้นที่ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ร้ายแรงแต่อย่างใด จากนั้นตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00-22.00 น. กลุ่มผู้ชุมุนมตามจุดต่างๆ จึงได้ทยอยประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้ายกลับบ้าน ก่อนเตรียมการนัดหมายต่อไปในวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 20.30​ น.​ ที่บริเวณหัวหมาก ‘ไมค์ ระยอง’ หรือ ภานุพงศ์​ จาดนอก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลเข้าควบคุมตัวไปที่​ สน.หัวหมาก​ หลังจากประกาศ​ยุติการชุมนุม

ในมุมมองของวิชาชีพแพทย์ นี่คือม็อบสันติวิธี

ช่วงค่ำของวันที่ 17 ตุลาคม กลุ่มวิชาชีพแพทย์ได้ออกแถลงการณ์ มุมมองของแพทย์ต่อสถานการ์ในวันที่ 16 ตุลาคม มีเนื้อหาประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล ทั้งที่การชุมนุมของเยาวชนและประชาชนเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ยังมีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ตามหลักมนุษยธรรม

ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ต้องทำการรักษาอภิบาลผู้ป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงมิได้ตามคำปฏิญาณเมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ รวมถึงต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิผู้ป่วย (autonomy)

บุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่า 400 คน (ณ เวลานั้น) จึงขอร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ ต่อผู้ชุมนุมเป็นการรับฟังอย่างสันติวิธีและขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  1. โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค
  2. การดูแลการชุมนุมต้องปฎิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล หลักความได้สัดส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
  3. การใช้รถยิงน้ำยังผสมสารเคมียิงไปยังผู้ชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงโดยสภาพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายเพื่อบังคับมาตรการนี้อย่างเป็นธรรมได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ แรงดันที่เกิดจากน้ำมีระดับสูง สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่กายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ
  4. งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
  5. เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า