18 ตุลา รถไฟฟ้าหยุดเดินทาง ม็อบไม่มีแกนนำ ไมโครโฟนถูกส่งต่อเหมือนคบเพลิง

เข้าสู่วันที่ 5 ของการชุมนุม ประชาชนหนาแน่นในจุดชุมนุมหลัก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อโศก และยังขยายการชุมนุมไปรอบๆ เมือง ไม่ว่าจะเซนทรัล เวสเกต นนทบุรี แยกบางนา ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ฯลฯ นอกจากในกรุงเทพฯและปริมณฑล การชุมนุมยังขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น, อุบลราชธานี

รถไฟฟ้าหยุดเดินทาง

ความเคลื่อนไหวก่อนการชุมนุม พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้ลงนามในคำสั่งที่ 9/2563 เรื่อง “ห้ามการใช้เส้นทางคมนามคม อาคารหรือสถานที่” โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 และ 4 ของข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

มีคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ต่อไปนี้ตั้งแต่เวลา 14.30 น. จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

มีการปิดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 สถานี ได้แก่ พหลโยธิน 24, ห้าแยกลาดพร้าว, หมอชิต, อโศก, อุดมสุข, บางนา, ช่องนนทรี, สุรศักดิ์, กรุงธนบุรี, วงเวียนใหญ่

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) 4 สถานี ได้แก่ หัวลำโพง, ลุมพินี, สุขุมวิท, พหลโยธิน และ จตุจักร

สกายวอล์ก 2 แห่ง ได้แก่ ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าว-สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินพหลโยธิน และทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก-สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท

มีการมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีอำนาจสั่งการปิดการจราจร เส้นทางคมนาคม และใช้มาตรการจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระวังมิให้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร

 

ม็อบไม่มีแกนนำ

เข้าสู่วันที่ 5 ของการชุมนุม มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 80 คน ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 13 ต.ค. จนถึงวันที่ 18 ต.ค. ได้รับรายงานผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 80 คน 

ในกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี ยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ทั้งหมด 27 คน โดยแยกเป็นผู้ถูกคุมขังชาย 23 ราย และหญิง 4 ราย และแยกเป็นถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จำนวน 19 ราย, ทัณฑสถานหญิงกลาง 3 ราย, เรือนจำกลางเชียงใหม่ 2 ราย, เรือนจำอำเภอธัญบุรี 3 ราย

นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจับกุมตัวตามหมายจับ และยังถูกควบคุมตัวไว้ในอำนาจของพนักงานสอบสวนจำนวน 8 คน โดยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จำนวน 6 ราย สภ.เมืองอุบลราชธานี 1 ราย และสภ.เมืองพัทยา 1 ราย

ไมโครโฟนถูกส่งต่อเหมือนคบเพลิง

การชุมนุมวันที่ 5 ของราษฎรได้เผยวี่แววขึ้นหลังจากเพจเยาวชนปลอดแอก – Free YOUTH ได้แจ้งข่าวในช่วงก่อนเวลา 16.00 น. เพียงไม่กี่นาทีถึงสถานที่นัดหมาย

การชุมนุมในวันที่ 5 ของราษฎรได้เผยความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ราษฎร’ หลังจากผู้ร่วมชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย

นี่คือการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำและผู้ปราศรัยหลัก

จุดหลักในการนัดหมายการชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอโศก แต่การชุมนุมขยายไปรอบๆ เมือง ไม่ว่าจะเซนทรัล เวสเกต นนทบุรี แยกบางนา ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ฯลฯ รวมถึงจังหวัดอื่นๆ เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี

ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ตุลาคม เพจธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพจเยาวชนปลดแอก ได้รายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำการปิดเพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ทางกลุ่มผู้จัดการชุมนุมได้สร้างช่องทางสื่อสารไว้ใน telegram ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมแล้วว่า 139,481 ราย

แอพลิเคชัน telegram ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารของผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมาก่อน ช่วยอัพเดตข้อมูลข่าวสารการชุมนุมที่เกิดขึ้นล่าสุด รวมทั้งเผยแพร่รายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงในที่ชุมนุมให้ได้ทราบทั่วกันอีกด้วย บางกลุ่มก็ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมช่วยกันสอดส่องรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม เฝ้าระวังตำรวจ และเตือนผู้ชุมนุมถึงความเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียง

เช่นเดียวกับการชุมนุมในสามวันที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามปิดเส้นทางสัญจรของประชาชนเพื่อสกัดไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขนส่งมวลชนสาธารณะอย่าง BTS และ MRT ว่าไม่ได้เป็นขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง

พื้นที่การชุมนุมหลักคือพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแยกอโศก ดำเนินไปในลักษณะคล้ายกับการชุนนุมเมื่อวาน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเครื่องขยายเสียง ใช้โทรโข่งและการสื่อสารด้วยการตะโกนบอกกันต่อ ไม่มีแกนนำหลัก ไม่มีผู้ปราศรัยหลัก ทุกคนสามารถขึ้นมากล่าวปราศรัยได้ จึงทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมากล่าวปราศรับในประเด็นที่ตนอึดอัดคับข้องใจ

เนื้อหาการปราศรัยมีตั้งแต่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ระบบการเกณฑ์ทหาร ไปจนถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผู้ปราศรัยรายหนึ่งที่แยกอโศก กล่าวปราศรัยโดยไม่มีเครื่องกระจายเสียงว่า

“ลูกหลานเราถูกเกณฑ์ทหาร บอกว่าจะไปเป็นรั้วของชาติ แต่ผมเป็นทหารอยู่ 2 ปี มันเอาไปเป็นขี้ข้า”

ขณะที่อดีตตำรวจตระเวนชายแดนรายหนึ่ง กล่าวกับ WAY ว่า

ผมเจ็บปวดเพราะเคยทำหน้าที่แบบนี้มาก่อน โทรไปหาเพื่อน ไม่มีใครอยากทำ แต่ถ้าไม่ทำก็โดนวินัย มือปืนกลัวมือมืด ตำรวจกลัวที่สุดคือวินัย

ผู้ปราศรัยรายหนึ่งขึ้นกล่าวที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ว่า ตนเองคือตำรวจคนหนึ่ง แต่ตอนนี้ขอออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชน และขอเรียกร้องให้เพื่อนตำรวจออกมาร่วมชุมนุมเพื่อเป็นหน้าด่านตั้งรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เพราะเงินเดือนของพวกท่านมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า