ภาพประกอบ: Shhhh
งานวิจัยชื่อ Re-evaluating the Effect of Age on Physical Activity Over the Lifespan โดยวิทยาลัยสาธารณสุขบลูมเบิร์ก มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (John Hopkins University’s Bloomberg School of Public Health) ชี้ว่า วัยรุ่นที่มีอายุ 12-19 ปี ซึ่งเป็นวัยที่น่าจะมีกำลังวังชาและแสดงศักยภาพความแข็งแรงของร่างกายมากที่สุด กลับเคลื่อนไหวร่างกายพอๆ กับคนวัยเกษียณที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หากวัยที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวและออกกำลังกายมากที่สุด กลับเป็นช่วงวัยหนุ่มสาวที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
เพื่อทำการวิจัย นักวิจัยใช้ข้อมูลของ National Health and Nutrition Examination ที่สำรวจในปี 2003-2004 และอีกครั้งในปี 2005-2006 โดยนำผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีอายุแตกต่างกัน จำนวน 12,529 คน สวมใส่เครื่องวัดการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดทั้งวัน โดยจะอนุญาตให้ถอดเฉพาะตอนอาบน้ำและนอนหลับเท่านั้น
ในส่วนของการจัดทำข้อมูลนั้น นักวิจัยจะจัดแบ่งอายุของผู้เข้าทดลองไว้ห้ากลุ่ม ดังนี้
เด็ก (children): อายุ 6-11 ปี
วัยรุ่น (adolescents): อายุ 12-19 ปี
วัยหนุ่มสาว (young adults): อายุ 20-29 ปี
วัยกลางคน (adults at midlife): 31-59 ปี
วัยชรา (and older adults) 60-84 ปี
ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ผู้ชายมีแนวโน้มออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวมากกว่าผู้หญิง แต่เมื่อเคลื่อนเข้าสู่วัยกลางคน เส้นกราฟการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ชายจะค่อยๆ เฉียงลงอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อัตราการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายของผู้หญิงทั่วไปจะไม่ดิ่งลงมากนัก แต่เมื่อหลังอายุ 60 หรือเข้าสู่วัยชรา ผู้ชายจะมีกิจกรรมให้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงกว่าประชากรวัยเกษียณที่เป็นผู้หญิง
ผลวิจัยอาจเพียงชี้ตัวเลขเทียบเคียงให้เห็นเด่นชัด แต่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเราอาจคุ้นเคยอยู่แล้วว่า กิจกรรมของกลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 12-19 ปี หรือในยุคเจเนอเรชั่น ‘ME’ อาจวนลูปอยู่ที่หน้าจอแทบเล็ต การทำการบ้าน กวดวิชา และการเล่นเกมในเวลาว่าง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ อยู่ในอากัปกิริยานั่งทั้งหมด
แต่ทั้งหมดนั้นจะโทษที่เทคโนโลยี โลกที่เปลี่ยนไป และดีเอ็นเอของเด็กในเจเนอเรชั่นนี้อย่างเดียวไม่ได้ อาจต้องกลับไปทำความเข้าใจคาแรคเตอร์ของผู้ที่ใกล้ชิดกับวัยรุ่นยุคนี้ด้วย
การเป็นเด็กเจนมี (Gen ME) อาจเพราะถูกเลี้ยงมาจากคุณพ่อคุณแม่เจน ‘ขี้กังวล’ และ ‘ขี้กะเกณฑ์’ ก็ได้
ทันทีที่งานวิจัยนี้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ทำให้นักการศึกษาและผู้ที่ทำงานกับเด็กออกมาให้ความเห็นกันจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ เลนอร์ สเคเนซี (Lenore Skenazy) คอลัมนิสต์ผู้ติดตามประเด็นเด็กและเยาวชนที่วิจารณ์ไว้ในบทความ ‘19 Is the New 60’ ว่า…
ไม่น่าแปลกใจที่ผลวิจัยจะเป็นเช่นนี้ เพราะหากมองกลับไปยัง ‘คาแรคเตอร์’ ของพ่อแม่ปัจจุบันที่มักเข้าข่าย ‘hyper-parenting’ หรือผู้ปกครองที่ ‘ขี้กะเกณฑ์’ มากเกินไป เช่น จัดตารางให้ลูกต้องทำนู่นทำนี่ แต่ก็มักเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ และผู้ปกครองจะต้องนั่งอยู่กับที่เสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย
พร้อมกันนั้นยังกล่าวถึงพ่อแม่ ‘ขี้กังวล’ (parental paranoia) ที่มักกลัวการให้ลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน หรือกระทั่งให้ลูกกลับจากโรงเรียนเองด้วย
ตรงกับความเห็นของ ปีเตอร์ เกรย์ (Peter Gray) ศาสตราจารย์ประจำคณะจิตวิทยา วิทยาลัยบอสตัน (Boston College) ที่ชี้ว่า การประคบประหงมลูกมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูก เช่น การไปรับไปส่ง สอน และจับจ้องคอย (มอง) ดูแล
หากเราไม่อยากทำเพียงแค่บ่นเด็กรุ่นใหม่ว่าขี้เกียจ และก่นด่าโซเชียลมีเดียเพียงแค่นั้น วาดิม ซิปุนนิคอฟ (Vadim Zipunnikov) หัวหน้าทีมวิจัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยาลัยสาธารณสุขบลูมเบิร์ก แผนกชีวสถิติ (Bloomberg School’s Department of Biostatistics) กล่าวว่า
“คำถามที่สำคัญคือ การออกแบบตารางเรียน วิชาเรียน และกิจกรรมที่อยู่ในห้องเรียน ที่จะทำให้เด็กๆ ได้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกมากขึ้น”
สเคเนซีจึงเสนอวิธีแก้ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นวิธีที่ถูกสตางค์ ง่าย และปลอดภัยที่สุด คือการยืดเวลาปิดโรงเรียนออกไป เช่น ให้โรงเรียนปิดราว 6 โมงเย็น เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องรีบไปรับลูกแล้วขับรถพาเขาไปออกกำลังกายในยิมอีกที่หนึ่ง เด็กๆ จะมีอิสระได้วิ่งเล่นและทำกิจกรรมในโรงเรียนมากขึ้น และปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะเด็กๆ จะอยู่ในเขตรั้วโรงเรียน
อ้างอิงข้อมูลจาก: wsj.com
treehugger.com
jhsph.edu