20 ปีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ

ต้มยำกุ้ง

คาดว่าคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2530 เป็นต้นมา (หรือใครก็ตามที่เกิดก่อนหน้านี้แต่ยังจำความไม่ได้) คงเคยได้ยินวลีที่ว่า ‘ไทยเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย’ มาบ้าง ภาพบรรยากาศที่เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดด GDP ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง และฝันว่าจะสามารถหลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับกับสิงคโปร์ หนึ่งเดียวในอาเซียนที่มีฐานะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ผู้คนมากมายพากันเล่นหุ้นหรือเก็งกำไรจากอสังหาริมทรัพย์ รถหรูอย่าง Mercedes Benz และ BMW วิ่งโลดแล่นอยู่บนท้องถนนเป็นภาพที่เห็นได้ง่ายๆ ใครๆ ก็ถอยรถใหม่ และใครๆ ก็สามารถเป็นเศรษฐีได้เพียงพริบตา แต่ภาพความสวยงาม ความร่ำรวยและความสุขสันต์ต่างๆ ก็มอดไหม้อย่างรวดเร็ว เมื่อพิษเศรษฐกิจถูกฉีดเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว จากมหาเศรษฐีร่ำรวยล้นฟ้า กลายเป็นไม่เหลืออะไร ภาพบริษัทนับสิบนับร้อยถูกปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว ยอดคนตกงานพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ – หลายคนจำภาพนั้นได้ดี และหลายคนก็ยังไม่ฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจนี้ แม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปีก็ตาม

แน่นอนว่า เรา คนรุ่นใหม่คงไม่เข้าใจภาพบรรยากาศหรือความรู้สึกดังกล่าวที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น และ 2 กรกฎาคมนี้ คือวันครบรอบ 20 ปีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 WAY ชวน รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยย้อนวันวานและทบทวนถึงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งผ่านบริบทโลกและไทย

นอกจากบทเรียนในอดีต อภิชาตแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจว่า ตอนนี้พวกเรากำลังเป็นกบที่นอนอุ่นสบายในหม้อน้ำอุ่นอยู่ โดยหารู้ไม่ว่า น้ำอุ่นในหม้อกำลังกลายเป็นน้ำเดือด


จุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเป็นมาอย่างไร

วิกฤติมันเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประเด็นทางเศรษฐกิจคร่าวๆ หรือสาเหตุทางเศรษฐศาสตร์คืออะไร เราจะเข้าใจวันนั้นได้ ก็ต้องถอยหลังกลับไปอย่างน้อยที่สุดคือปี 2532 ณ เวลานั้น แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มกำหนดนโนบายให้เปิดเสรีทางการเงินเป็นฉบับแรกของประเทศไทย นี่คือที่มาของทั้งหมด

เคยมีคนกล่าวว่า การเปิดเสรีทางการเงินอาจนำมาสู่สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจนถึงตอนนี้ ไทยก็ยังเปิดเสรีทางการเงินอยู่นะ เราไม่ได้ถอยออกมา แต่ด้วยสภาพเงื่อนไขต่างๆ ตามกาลเวลาที่มันเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ปัจจุบันเราไม่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอะไรนั่นอีก

การเปิดเสรีทางการเงินคืออะไร

การเปิดเสรีทางการเงิน คือ การเปลี่ยนกติกาทางการเงินระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ เอากฎเกณฑ์การควบคุมเงินตราระหว่างประเทศที่มีทั้งหมดก่อนปี 2533 ออกหมด ต้องเล่าก่อนว่า โครงสร้างทางบัญชีระหว่างเศรษฐกิจประเทศไทยกับต่างประเทศนั้น มีอยู่ สามบัญชีทั้งหมด ได้แก่ บัญชีเดินสะพัด (current account) บัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ (capital and financial account) และ บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (international reserve account)

ก่อนปี 2533 คนไทย ถ้าต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ อย่างเช่น จะไปญี่ปุ่นก็ต้องไปแบงก์ชาติ เพื่อขออนุญาตซื้อเงินตราต่างประเทศ คือ เอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินเยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ แค่จะไปต่างประเทศ ถ้าต้องการแลกเงินส่วนตัวไม่กี่บาทเพื่อไปเที่ยว ก็ต้องไปขอนุญาตที่แบงก์ชาติ ต้องกรอกแบบฟอร์มขอซื้อเงินตรา แล้วเขาจะนำแบบฟอร์มนั้นนำไปพิจารณาอีกที มันมีข้อจำกัดเยอะมาก

ส่วนขาเข้า คนต่างชาติเอาเงินดอลลาร์เข้าประเทศไทย ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเราต้องการเงินดอลลาร์ แต่ขาออกมันมีข้อจำกัดว่า ใครจะแลกอะไร ออกไปเท่าไร ลองคิดดู ถ้าปัจจุบันยังเป็นแบบนี้อยู่ ถ้าคุณเป็นต่างชาติคุณจะกล้าขนเงินดอลลาร์มาซื้อสินทรัพย์เยอะๆ ไหม เช่น เอาออกได้เท่านี้ ภายในเวลาเท่านี้ ต่างชาติก็จะรู้สึกไม่สะดวกภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

กฎกติกาที่จำกัดอะไรแบบนั้นมีตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ยุคอะไรแล้วนะครับ และเป็นสิ่งที่โลกเขาก็ทำแบบนั้นกัน ไม่ใช่แค่ไทยที่จำกัดอยู่ประเทศเดียว แต่ระบบแบบนี้มันเริ่มพังไปในต่างประเทศก่อน ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจต่างประเทศจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว พร้อมกับลดและยกเลิกการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินตราในประเทศตนเอง

บริบทโลกในตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้น จึงทำให้กฎกติกาควบคุมเงินตราพัง

ยาวมาก คุณรู้จักสิ่งที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือ neoliberalism ใช่ไหม สิ่งที่พังในตอนนั้นคือ ‘Bretton Woods System’ กล่าวคือ ทุกประเทศต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยอิงกับทองคำ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวนำ มีการใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่พังไปจากสงคราม แต่พอมาถึงทศวรรษที่ 70 ตอนกลาง ก็เกิดปัญหาเมื่อทองคำที่นำไปผูกกับเงินมีไม่เพียงพอ จึงเกิดภาวะถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ บวกกับเงินเฟ้อ ยิ่งทำให้ระบบนี้พัง และนำมาสู่ระบบเสรีนิยมใหม่

ไทยเราเพิ่งรับระบบเสรีนิยมใหม่เข้ามาช่วงปี 1974-1990 เมื่อปลายปี 1980 กระแสที่เรียกว่า เสรีนิยมใหม่ เน้นตลาดเสรีทั้งหมด ไม่ว่าภาคการค้าและภาคการเงิน การเปิดเสรีทางการเงินถือเป็นหนึ่งใน agenda ของระบบเสรีนิยมใหม่ แต่การค้าแบบ free trade หรือการค้าเสรีนั้นมาก่อน เสรีทางการเงินจึงค่อยตามมา

โลกหันไปทางนี้กันหมด ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ช่วงปลายปี 1970 ถึงต้นปี 1980 ลัทธินี้ก็เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย กระตุ้นให้ประเทศโลกที่สามอย่างเราเปลี่ยนมารับกติกาใหม่ที่เรียกว่า ฉันทามติกรุงวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ถูกผลักมาให้โลกที่สามใช้ ไม่ใช่แค่บ้านเราอย่างเดียวนะ แต่บรรยากาศทางวิชาการถูกครอบงำด้วยกระแสดังกล่าวลัทธิดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนแครตไทยหรือนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ต่างก็รับเข้ามา

นี่คืออุดมการณ์ระดับโลก ความคิดระดับโลก และการเมืองเศรษฐกิจระดับโลก ณ จุดนั้น อย่าลืมช่วงปี 2532-2533 เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร ถ้าคุณจำได้ สมัยรัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ ภาพบรรยากาศในหัวของคุณยุคนั้นเป็นอย่างไร อู้ฟู้มากครับ แล้วคุณจำคำขวัญได้ไหม

เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ใช่ๆ แล้วอีกอันหนึ่งในทางเศรษฐกิจก็คืออะไร…คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น มหาเศรษฐีเล่นที่ดิน

วลีดังกล่าวแสดงให้เห็นบรรยากาศที่เฟื่องฟูมาก ไทยก็รู้สึกว่า เราพร้อมเปิดเสรีแล้ว รัฐบาลชาติชาย เศรษฐกิจบ้านเราเริ่มโต ทุกคนมองโลกในแง่สดใสไปหมด ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเป็นเสือตัวที่ห้า (เสือสี่ตัวแรกคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ด้วยบรรยากาศแบบนั้นผสมผสานกับความรู้สึกเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังจะกระโจนไปข้างหน้า กลายเป็นเสือที่ปราดเปรียว แบงก์ชาติในช่วงนั้นจึงตัดสินใจเปิดเสรีทางการเงินเพื่อรับเงินทุนไหลเข้า เพื่อจะเป็นแรงส่งให้กับเสือ สุดท้ายก็นำไปสู่คำขวัญดังกล่าว คือ คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น เพราะเงินมันเข้ามาเยอะ สุดท้ายเราก็เลยกลายเป็นหนี้เยอะ (หัวเราะ)

แล้วบริบทอื่นนอกจากการเปิดเสรีทางการเงินแล้วมีปัจจัยอะไรที่ช่วยเสริมและผลักให้ฟองสบู่ขยายขึ้นบ้าง

ช่วงที่ทุกอย่างเป็นไปได้สวย ทุกคนต่างเพลิดเพลิน ในทางวิชาการแล้ว ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวภาวะทางเศรษฐกิจฟองสบู่ สรุปสั้นๆ เลยอาจกล่าวได้ว่า การเริ่มต้นเปิดแผนการค้าเสรีทางการเงินของแบงก์ชาติ นำมาสู่ภาวะฟองสบู่

ก่อนที่ไทยเราจะเปิดเสรีทางการเงิน เงื่อนไขระหว่างประเทศที่สำคัญอีกประการ คือ ‘Plaza Accord’ เป็นการลงนามกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่สหรัฐกดดันให้ญี่ปุ่นเพิ่มค่าเงินเยน ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ค่าเงินทั่วเอเชียตะวันออกก็แข็งขึ้นถ้าเทียบกับดอลลาร์ ส่งผลให้จำนวนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐลดลง ไม่ว่าจะเงินเยนหรือเงินวอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินดอลลาร์ไต้หวัน

เมื่อค่าเงินของประเทศเสือสี่ตัวแข็งขึ้น แล้วประเทศเหล่านั้นจะหนีตายยังไง ก็ต้องย้ายโรงงาน ฐานการผลิตมายังประเทศไทย แล้วใช้เงินบาทเป็นฐานในการส่งออก เพราะเงินบาทไม่ได้แข็งมากถ้าเทียบกับดอลลาร์ในช่วงนั้น กลายเป็นแรงจูงใจทำให้โรงงานต่างประเทศแห่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในบ้านเรา เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทุกคน…มองโลกสวย

นี่เป็นยุคตั้งต้นของยุคทองของอุตสาหกรรมไทย โดยตัวมันเองไม่ได้ผิด มีการลงทุนจากต่างประเทศ มีการจ้างงาน มีการซื้อที่ดิน มีการลงทุนมหาศาล ถนนบางนาทั้งเส้นเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลในช่วงนี้ กระแสแบบนี้มันจึงทำให้เทคโนแครตไทยคิดว่าเราพร้อม

เมื่อรัฐบาลคิดว่า เราพร้อมแล้วที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ ก็เปิดเสรีการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ การเปิดเสรีทางการเงินจริงๆ คือ การลดข้อจำกัดการนำเงินออกจากประเทศ ในทางกลับกันก็ทำให้เขาไม่กลัวการนำเงินเข้ามาเสียแต่ต้น สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ

ต่างชาติเข้ามาลงทุนอะไรในประเทศไทยบ้าง นอกจากสร้างโรงงาน และทำให้เกิดการจ้างงาน

การลงทุนในประเทศไทยมันมีสองอย่าง หนึ่งก็คือ การสร้างโรงงานอย่างที่อธิบายไปข้างต้น อีกอย่างคือ การซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย เป็นการค้าลงทุนทางการเงิน

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น มีบริบทหลักใหญ่ๆ คือ หนึ่งการเปิดเสรีทางการเงิน และสอง ผลกระทบจาก Plaza Accord แน่นอนว่า ทั้งสองสิ่งนำมาซึ่งความอู้ฟู้ทางเศรษฐกิจ ใครๆ ก็มองเศรษฐกิจไทยไปได้สวย ต่างชาติก็มองแบบนั้น แล้วพอเราเปิดเสรีทางการเงิน ต่างชาติก็ยิ่งเข้ามาลงทุนกันใหญ่ ฉะนั้น ผลที่ตามมาอย่างสำคัญคือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนขาเข้าจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศมาเมืองไทย พอเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็เยอะเกิน คนที่เข้ามาลงทุนแต่แรกๆ คุณก็ซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน ถ้าเข้ามาลงทุนที่หลังทำอะไรได้ ก็ซื้อที่ดินดักรอโรงงานที่มีแผนจะสร้างในอนาคตข้างหน้าหรือไปลงทุนในตลาดหุ้นแทน นำมาสู่การเก็งกำไร

การนำเงินเข้ามายังประเทศไทย มีหลายแบบ เป็นเงินกู้ก็ได้ เมื่อธนาคารไทยหรือสถาบันการเงินไทยเห็นว่าเศรษฐกิจบูม ลูกค้าคนไทยต่างต้องการเงินกู้เยอะ เพื่อจะขยายโรงงาน ต่างฝ่ายต่างเห็นว่าเศรษฐกิจดี ธนาคารพาณิชย์เห็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นก็ไปกู้เงินตราต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้วปล่อยกู้ต่อ

ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จะเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินฝากของลูกค้าในธนาคารของตัวเองว่าจะฝากเยอะหรือน้อย ถ้ามีเยอะก็จะปล่อยกู้เยอะได้ ถ้ามีน้อยก็ปล่อยได้น้อย เมื่อธนาคารเหล่านั้นสามารถกู้จากธนาคารต่างประเทศได้ ความสามารถในการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยก็ขยายกว้างขึ้น หลังจากกำแพงควบคุมเงินได้ถูกทลายลง ธนาคารไทยก็กู้เงินจากธนาคารต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนที่พึ่งพิงแต่เงินฝากในประเทศอย่างเดียว

ทำไมธนาคารไทยถึงมายืมต่างประเทศ ก็เพราะปล่อยกู้ได้เยอะ เพราะอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาทของไทยแพงกว่าเงินดอลลาร์เยอะ สมมุติว่า ผมเป็นธนาคาร ผมให้คุณไปลงทุนอะไรก็ได้ ผมคิดดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับต่อปีคุณเสียดอกเบี้ย 10 บาท แต่ผมไปกู้เงินตราจากต่างประเทศมา อัตราดอกเบี้ยมันแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารเห็นกำไรง่าย ดูคุ้ม แค่ไปกู้มาแล้วก็เปลี่ยนเป็นเงินบาท ก็ฟันอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างไปแล้วเท่าตัว

ตัวเลขที่ผมยกตัวอย่างมาไม่ใช่จำนวนจริงๆ นะ แต่อัตราส่วนต่างมันเยอะ ยิ่งธนาคารปล่อยสินเชื่อเยอะแค่ไหน ก็ยิ่งฟันส่วนตามได้เยอะมากขึ้น คนกู้อยากกู้ ธนาคารก็อยากปล่อย เพราะทุกคนมองโลกในแง่ดีกันทั้งนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวอย่างมหาศาล กลายเป็นธนาคารต้องง้อลูกค้า ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เงินในธนาคารมีน้อย ลูกค้าต้องง้อธนาคาร ยุคนั้นยิ่งปล่อยกู้เยอะ กำไรก็ยิ่งเยอะ คุณภาพของคนที่กู้ไปก็ลดลง คุณภาพเครดิต คุณภาพหนี้ก็ลดลง

การที่เศรษฐกิจในประเทศช่วงนั้นเป็นไปได้สวย อีกทั้งธนาคารยังเห็นผลประโยชน์จากการปล่อยกู้ ถือว่าธนาคารไม่ได้เลือกคุณภาพของลูกค้าที่จะปล่อยกู้ให้หรือเปล่า

เลือก แต่เป็นการเลือกแบบคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ ไง ก็ฟันระดับบนสุดก่อน พอหมดแล้วก็ฟันระดับล่างลงมาเรื่อยๆ กลุ่มแรกเขาก็อาจนำเงินที่กู้ไปลงทุนจริง กลุ่มสองก็อาจนำเงินไปลงทุนในโปรเจ็คท์ที่ทำกำไรได้ กลุ่มถัดมาก็อาจไปลงทุนเอากำไรในหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ คุณก็เห็นว่าทุกวันนี้ที่ดินมันโดนปั่นอยู่ทุกวัน ทุกคนก็เลยแห่กันมากู้ธนาคารนำเงินไปปั่นต่อเรื่อยๆ นี่คือการปั่นขึ้นของสภาวะฟองสบู่

คุณจะไปโทษคนกู้ไม่มีคุณภาพอย่างเดียวไม่ได้หรอก ต้องด่าตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ธนาคารเองก็อยากปล่อยเพราะอยากได้กำไรเยอะๆ การควบคุมคุณภาพหรือการวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคารก็แย่ลงเรื่อยๆ จริงๆ แล้วมีรายละเอียดอีกเยอะว่า ทำไมถึงไม่รอบคอบ แต่สั้นๆ ง่ายๆ คือ วิธีการปล่อยกู้ของธนาคารไทยมันเหมือนกับโรงจำนำ ไม่ได้มีความสามารถวิเคราะห์เครดิตลูกค้าได้อย่างจริงๆ จังๆ

เมื่อก่อนใครมีสินทรัพย์ค้ำประกันคุ้มค่าธนาคารก็ปล่อยกู้แล้ว สินทรัพย์หลักที่ใช้ค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์มาตลอดคือ ที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง พอที่ดินราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารเห็นแล้วว่าหลักทรัพย์มันคุ้ม ก็ยอมปล่อยให้กู้ ถึงแม้ว่าเขาจะไปทำลงทุนอะไรแล้วเจ๊ง ธนาคารก็ไม่สนใจเพราะราคาที่ดินมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารเอาที่ดินไปขายต่อ ยังไงก็ได้กำไรอยู่ดี

ผสมกับวิธีการปล่อยกู้ที่เฮงซวยที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงกติกา จะไปว่าลูกค้าไม่ได้ แหม เราก็คน คุณเห็นโอกาสในการเก็งกำไร เราไม่อยากเก็งเหรอ มนุษย์เราเป็นสัตว์เศรษฐกิจกันทุกคน เพียงแต่ว่าเข้าถึงสินเชื่อกันหรือเปล่า เมื่อก่อนเข้ากันไม่ถึง ก็เป็นแค่เด็กปลายแถว

อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า ‘สภาวะฟองสบู่’ มันหมายความว่าอย่างไร

สภาวะฟองสบู่ คือ ภาวะที่ราคาสินทรัพย์แพงกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น ที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะธนาคารสามารถปล่อยกู้ต่อได้หลายๆ รอบ ธนาคารปล่อยมากเท่าไร คนก็มีกำลังไปเก็งสินทรัพย์เหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ากำแพงการควบคุมยังอยู่ ยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารก็จะมีความสามารถในการปล่อยเงินกู้น้อยลง ฟองสบู่ก็จะเกิดไม่ได้ ตรรกะมันเป็นแบบนี้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ที่ภาวะเศรษฐกิจมันพังทลายในช่วงนั้น สาเหตุหลักคือ การขยายตัวของสินเชื่ออย่างมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ แต่สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นก็เพราะว่า เราเอากฎกติกาควบคุมเงินตราระหว่างประเทศออกไป

ช่วงเวลานั้นทุกคนก็เริงร่า เศรษฐกิจกำลังสดใส ฟองสบู่ก็พองขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ราคาสินทรัพย์มันทะยานขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนก็คิดว่าตัวเองรวยหมด

การนำกติกาควบคุมเงินตราออกคือต้นตอของเรื่องทั้งหมด?

จริงๆ แล้ว ผมเล่าข้ามไปนิดหนึ่ง เงื่อนไขหลักอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือ การนำกติกาควบคุมเงินตราออก ซึ่งทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วการนำกำแพงนั้นออกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง แต่ข้อผิดพลาดของแบงก์ชาติจริงๆ มันหนักกว่านั้น ผิดไปอีกสองสามสเต็ป ซึ่งคือ การเอากำแพงออก แต่ไม่ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ลอยตัวเสียพร้อมๆ กัน ยังคงรักษาให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เอาไว้ ทางทฤษฎีแล้ว ต้องเอาออกพร้อมกัน วิกฤติเศรษฐกิจจึงจะเกิดขึ้นได้น้อยลง

อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คือ แบงก์ชาติสัญญาว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่มาเข้ามายังระบบเศรษฐกิจไทย ธนาคารจะรับประกันว่าจะซื้อคุณที่ 25 บาท จะไม่มีทางลงไป 24 บาทหรือขึ้นไปที่ 26 บาท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวหมายถึง แบงก์ชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับตลาดเงินตราต่างประเทศ 1 ดอลลาร์จะเท่ากับ 25 บาท 26 บาทก็แล้วแต่ตลาดไป

ตามหลักทฤษฎีแล้วต้องปรับให้ลอยตัว ไม่ควรรับประกันเงินดอลลาร์ในรูปของเงินบาท การที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ส่งผลให้ธนาคารได้ผลประโยชน์หลักจากการปล่อยกู้ ซี่งคืออัตราส่วนต่างของดอกเบี้ย เพราะแค่ไปกู้มาแล้วก็เปลี่ยนให้เป็นเงินบาท ไปปล่อยกู้ต่อ คุณก็ฟันส่วนต่างทันที แต่เป็นจริงภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่เท่านั้น เพราะถ้าอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ธนาคารพาณิชย์ในไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าวันที่ต้องจ่ายคืนเงินต้นที่เขาไปกู้มา อัตราแลกเปลี่ยนจะยังอยู่คงเดิมที่ 25 บาท

อย่างปัจจุบัน ถ้าวันที่คุณไปกู้มา อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่วันที่ครบกำหนดชำระขึ้นมาเป็น 30 บาท ธนาคารขาดทุนทุกดอลลาร์ 5 บาททันที ถ้าเป็นแบบนี้ ธนาคารก็จะระมัดระวังมากขึ้นเวลากู้เงินจากต่างประเทศ

แต่ในตอนนั้นเป็นระบบแลกเปลี่ยนอัตราคงที่ ธนาคารไทยจึงมีแรงจูงใจที่จะกู้มากกว่า ฉะนั้น ถ้าแบงก์ชาติปรับเป็นเปิดเสรีทางการเงินพร้อมกับปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว ผลที่จะมีกับเศรษฐกิจไทย ธนาคารจะกู้น้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริง ฟองสบู่ก็จะมีขนาดเล็กกว่าที่เกิดขึ้นจริง หรือไม่เกิดฟองสบู่สักเท่าไร วิกฤติเศรษฐกิจก็จะไม่เกิด

ความผิดพลาดประการต่อมา แบงก์ชาติสร้าง ‘กิจการวิเทศธนกิจ’ (Bangkok International Banking Facility: BIBF) คือ เพื่อลดค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อที่จะสามารถกู้เงินต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ถือเป็นจุดขายของแบงก์ชาติเมื่อปี 2535-2536  ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะฟองสบู่เข้าไปอีก เพราะเราฝันอยากเป็นศูนย์กลางทางการเงินเหมือนกับสิงคโปร์หรือฮ่องกง แต่ BIBF กลับส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ไทยกู้เงินจากต่างชาติมากขึ้น ง่ายขึ้น

แค่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ก็กระตุ้นให้เกิดฟองสบู่อยู่แล้วยังมี BIBF มาเพิ่มอีก สุดท้ายฟองสบู่ก็เลยแตกเพราะแบงก์ชาติพยายามที่จะป้องกันค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำตั้งแต่ต้น เพราะฟองสบู่มันเริ่มพองขึ้นเรื่อยๆ และถึงจุดใกล้แตกตั้งแต่ปี 2538-2539 กว่าเราจะประกาศลอยตัวค่าเงินบาทก็วันที่ 2 กรกฎาคม 2540

จอร์จ โซรอส (George Soros) กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge fund) ของเขา เริ่มเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทไทยแต่ปลายปี 2539 แล้ว แบงก์ชาติควรยอมแพ้แต่ต้นแล้วปล่อยให้เงินบาทลอยตัวไปเลย แต่ดันไปสู้อีกห้าหกเดือนจนเงินสำรองระหว่างประเทศหมด นี่คือความผิดพลาดล็อตสุดท้าย

สำหรับทัศนะของผมแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจมันเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายไทย ผมไม่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่วนเวียนอยู่ในสังคมไทยนำมาสู่ความคิดแบบชาตินิยมเต็มไปหมด จอร์จ โซรอส สำหรับผมหรือกองทุนอื่นๆ ที่เข้ามาโจมตีค่าเงินไทยตั้งแต่ปลายปี 2539 ก็เหมือนกับเราเป็นฝีเม็ดใหญ่ๆ อยู่แล้ว แค่พวกเขาเข้ามาจิ้มให้มันแตกก็เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ต้องแตก เรากู้เงินอย่างเพลิดเพลินตั้งแต่แรก ราคาสินทรัพย์ถูกปั่นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เกินจริง เกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไป หากดูให้ลึกถึงฐานล่างที่เปราะบาง ยังไงฟองสบู่ก็ต้องแตกด้วยตัวมันเองอยู่ดี

ความผิดของ Hedge Fund ก็อาจจะทำให้ฟองสบู่แตกเร็วขึ้น แต่มองในอีกทางหนึ่งคือ แตกเร็วก็ดีแล้วเพราะจะได้ปรับตัว ดังนั้นในความหมายดังกล่าว การที่แบงก์ชาติพยายามที่จะป้องกันเงินบาทจนต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปหมด เหลือเงินอยู่เพียง 2,000 กว่าล้านดอลลาร์ จากที่มีเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ นี่คือความผิดพลาดในทัศนะของผม

จอร์จ โซรอส โจมตีค่าเงินบาทอย่างไร

จริงๆ แล้ว IMF เตือนให้เราเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ก่อนที่จะโดนโจมตีค่าเงินบาทด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2539  ถึงจุดที่โดนโจมตีก็เพราะว่า จอร์จ โซรอส เขาวิเคราะห์กันเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่โจมตีซี้ซั้ว ไม่งั้นพวกเขาก็อาจเจ๊งได้ ที่เลือกไทย ณ เวลานั้น เพราะนำตัวเลขระบบเศรษฐกิจไทยมาวิเคราะห์ มาประเมินแล้ว ถึงเห็นว่าไทยมีจุดอ่อน กล่าวคือ ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์นำเงินกู้ไปลงทุนกับในเศรษฐกิจที่มันจะไม่ทำกำไร เพราะนำไปปั่นสินทรัพย์กันเป็นส่วนใหญ่ ในระยะต่อไปก็กลายเป็น NPL (สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-Performing Loan) ระบบธนาคารก็พังในที่สุด

พอสิ้นปี 2539 จากภาวะที่เรากู้หนี้สะสมมาเป็นสิบปี ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ หนี้ในรูปแบบเงินดอลลาร์สูงขึ้นมาก แต่ที่แย่หนักกว่านั้นคือ เงินที่ธนาคารต่างชาติให้ธนาคารพาณิชย์ไทยกู้ยืม เป็นเงินกู้ระยะสั้นแบบปีต่อปี สัดส่วนของเงินกู้ที่มีระยะหนึ่งปีสูงกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญที่ จอร์จ โซรอส เห็นแล้วเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท

ที่เล่าเพื่อจะตอบคำถามว่า โจมตีอย่างไร การที่คุณจะรักษาค่าเงินบาทในขณะที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คุณต้องมีเงินทุนสำรองอยู่ในกระเป๋าอยู่พอสมควร แต่เรามีเงินทุนสำรองน้อยกว่าหนี้ระยะสั้นที่ไทยมีต่อต่างประเทศ

ถ้าอยู่ดีๆ จอร์จ โซรอส ทุ่มดีมานด์หรือความต้องการซื้อเงินตราในตลาดเงินตราระหว่างประเทศไทย ถ้าแบงก์ชาติไม่ทำอะไรเลย มันจะพอต่อการทุ่มซื้อของ จอร์จ โซรอส ไหม ก็ไม่พอ ของมีน้อย ความต้องการซื้อเยอะ ราคาก็ขึ้น เช่นกัน ค่าเงินบาทก็จะไต่จาก 25 บาท เป็น 26 บาทหรือ 27 บาท ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ชาติต้องทำคือ ขายดอลลาร์ออกจากกระเป๋าตัวเองเพื่อให้เท่ากับที่ จอร์จ โซรอส ต้องการซื้อ ถ้าไม่ขาย อัตราแลกเปลี่ยนก็จะเพิ่มสูงขึ้น พอหมดก็เป็นอย่างที่เห็น คือ ไม่มีทางเลือก สุดท้ายต้องประกาศลอยค่าเงินบาท

การที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราน้อยกว่าหนี้สินระยะสั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับการถูกโจมตีค่าเงินบาท

ในอดีต ก่อนที่ จอร์จ โซรอส จะเข้ามาโจมตี ยังไม่มีใครเห็นความเปราะบางของระบบการเงินในไทย สถาบันการเงินหรือธนาคารต่างประเทศเหล่านั้นก็ยังยอมให้เซ็นสัญญากู้ต่อ แต่เมื่อ จอร์จ โซรอส ทุ่มความต้องการซื้อลงมายังตลาดเงินตราไทย แบงก์ชาติก็พยายามจะปกป้อง กลายเป็นข่าวทั่วโลกว่า ไทยโดนโจมตีค่าเงินบาท

สมมุติว่า คุณเป็นสถาบันการเงินจากลอนดอนที่ให้ธนาคารพาณิชย์ไทยกู้ยืมเงินเห็นข่าวนี้ เห็นตัวเลขจำนวนมหาศาล คุณจะยังปล่อยกู้ต่อไหม ก็ไม่ ใช่ไหม ก็เรียกชำระหนี้คืน หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องซื้อเงินบาทเพื่อจ่ายหนี้คืน ก็ยิ่งทำให้เส้นดีมานด์มันสูงขึ้น แบงก์ชาติก็เงินหมดเร็วขึ้น

ผมถึงกล่าวว่า สิ่งที่ จอร์จ โซรอส ทำคือ เอาเข็มจิ้มฟองสบู่ให้แตกเร็วขึ้น ซึ่งคิดแบบนี้แล้ว ถ้ามาดูตัวเลขหนี้สินระยะสั้นแล้วมันสูงมากกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็แสดงว่าไม่มีทางสู้แต่ต้น ผมจึงบอกว่า แบงก์ชาติ ควรยอมแพ้แต่แรกเพราะสู้ไม่ได้

เมื่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นก็เป็นไปได้ดี ภาคการผลิตก็เติบโตจริง ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงไม่มีศักยภาพพอที่จะก้าวข้ามออกจากฟองสบู่นั้นได้ก่อนจะแตก

ช่วงนั้นเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าไทยเราเป็นไปได้สวย GDP โตปีละ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโตที่สุดในโลก ใครๆ ก็มองว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ห้า คนที่มีกำลังเข้าถึงเงินกู้ธนาคารได้ ก็อยากจะลงทุนทั้งนั้น

อุตสาหกรรมเปโตรเคมีคอล TPI เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนเอง หรือหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ก็ไปกู้เงินจากต่างประเทศเอง เพราะอยากเป็นผู้นำด้านสิ่งพิมพ์ เป็นสำนักข่าวอันดับหนึ่งของเอเชีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนก็มองโลกในแง่ดีกันทั้งนั้น

เลข GDP ขึ้นจริงๆ แต่ฐานมันเปราะ ทำไมคนไทยไม่มีความสามารถขนาดนั้น ทุกเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤติฟองสบู่ ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger crisis) ปี 2008 หรือวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จุดตั้งต้นมาจากสินเชื่อขยายมากเกินกว่าที่ควร

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เกิดเพราะนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศบ้านเขา หรือที่เรียกว่า subprime crisis (subprime mortgage crisis) มาจาก วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ คล้ายกับบ้านเราแต่คนละสาเหตุ

ถ้าอย่างนั้นก็คงต้องตั้งคำถามกับวิกฤติการเงินเหล่านั้นด้วย ว่าทำไมคนถึงลงทุนในสิ่งที่ไม่ productive ประเด็นของผมก็คือ เวลาเศรษฐกิจมันเข้าสู่ฟองสบู่แล้ว มันเกิดขึ้นแล้ว แต่ตัวคุณยังอยู่ในภาวะแบบนั้น คุณมองไม่เห็นหรอกว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ยังมองว่าถนนมันถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ

แสดงว่าผู้ว่าฯแบงก์ชาติในช่วงนั้น มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า การเปิดเสรีทางการเงินแต่กลับใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ จะทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์มากกว่า แต่ไม่มีใครในแบงก์ชาติ วิเคราะห์หรือประเมินเลยหรือว่าอาจก่อให้เกิดวิกฤติเช่นนี้ด้วย

ในแบงก์ชาติมีคนเตือนแล้วครับ มีการถกเถียงกันว่า การทำเช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นลูกน้องที่เสนอเรื่อง ซึ่งหัวหน้าไม่ฟัง มองว่าเป็นความเห็นที่ไม่สำคัญ นักการเมืองก็เช่นกัน จริงๆ นักการเมืองแทบไม่แตะในเชิงนโยบาย ผู้ว่าฯว่าอย่างไรนักการเมืองก็เชื่อหมด แม้แต่การป้องกันการโจมตีค่าเงินบาท ในความคิดของผม นักการเมืองไม่ได้ผิดหรอก เพราะพวกเขาก็เชื่อมือ

อาจกล่าวได้ว่านโยบายของแบงก์ชาติ เป็นอิสระจากรัฐบาลมาก?

พระราชบัญญัตติของแบงก์ชาติเป็นอิสระมากในความหมายหนึ่ง จริงๆ ก็เป็นตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ การที่เป็นอิสระมากเกินไปก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กระบวนการตัดสินใจมักเกิดข้อผิดพลาด โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างแบงก์ชาติและนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรถถัง เป็นปัญหาหมด เพราะทำให้กระบวนการตัดสินใจออกมาเป็นเช่นนั้น

หากเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐปี 2008 ที่ภาครัฐได้เข้าไปอุ้มภาคธนาคารแทบทั้งหมด แล้ววิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยในช่วงนั้นได้ทำลักษณะเดียวกันหรือเปล่า

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกธนาคารก็พัง ทุนของภาคธนาคารทุกธนาคารรวมถึงภาคการเงินเสียหายหมด ขาดทุนจนทุนตั้งต้นถูกล้างหมดในทางบัญชี กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ในไทยมันล้มละลายทั้งภาค

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น สิ่งที่ระบบทุนนิยมต้องทำพื้นฐานเลย หากต้องการให้ระบบธนาคารมันยังอยู่ต่อ เพราะถ้าไม่แก้อะไรเลยก็ปล่อยให้ล่ม ระบบทุนนิยมก็ไม่ทำงาน จะทำให้เดินหน้าต่อไปได้ก็ต้องเติมเงินเข้าไปในระบบ รัฐบาลจึงกลายเป็นเจ้าของธนาคารเหมือนกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ไทยก็เช่นกัน ใช้เงินอัดเข้าไปในระบบ กลายเป็นเจ้าของธนาคารอยู่สักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็ค่อยขายออกไป

อย่างไรก็ตาม ค่าเสียหายที่รัฐบาลเข้าไปอุ้มธนาคารเหล่านั้นให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง ตัวเลขที่ผมมีอยู่ในมือก็คือ 1.4 ล้านล้านบาท ฟังดูน้อยในปัจจุบัน แต่ก็เท่ากับรายได้ประชาชาติ 35 เปอร์เซ็นต์ในตอนนั้น ตอนนี้งบประมาณรัฐบาลไทยมีค่าประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทุกวันนี้ก็ยังจ่ายหนี้ไม่หมด

แล้วที่สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีการเฉลิมฉลองว่า “จ่ายหนี้หมดแล้ว” คือหนี้ส่วนไหน

หนี้ที่รัฐบาลเอาเงินไปอุ้มธนาคารพาณิชย์มาจากการกู้ภาคประชาชน พวกเรานี่แหละ ที่ทักษิณบอกว่าจ่ายหนี้หมดแล้วเป็นหนี้อีกอัน

ต้องอธิบายโครงสร้างระบบเศรษฐกิจก่อน มันมีหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนและภาครัฐ โดยหนี้ต่างชาติเมื่อเอามารวมกัน ก็เป็นหนี้ไทยต่อต่างประเทศ เมื่อคุณป้องกันการโจมตีค่าเงินบาท จนทำให้เงินหมดกระเป๋า เงินที่แบงก์ชาติเหลือมีอยู่แค่ 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปีหนึ่งไทยเรานำเข้าสินค้าต่อปีก็เกินเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเงินดอลลาร์ที่ไทยมีเพียงเท่านั้น ฉะนั้น รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจไทยนำเข้าสินค้าได้ แล้วไทยก็ยังเป็นหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศอีก จะหาเงินดอลลาร์จากไหนมาใช้

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้ IMF เพราะเราพิมพ์ดอลลาร์เองไม่ได้ ที่ทักษิณบอกว่าจ่ายหนี้หมดคือ จ่ายหนี้ดอลลาร์หมด หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตอนนั้น ค่าเงินบาทก็อ่อนลงเป็นเท่าตัว ทำให้เราส่งออกสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น สินค้าเดิม จากที่ 1 ดอลลาร์ ซื้อได้แค่ 25 บาท เป็น 1 ดอลลาร์ซื้อสินค้าไทยได้ 50 บาท ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ดีขึ้น ไทยส่งออกได้มากขึ้น ก็มีเงินมาจ่ายหนี้ดอลลาร์ได้หมด

แต่ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังเป็นหนี้เงินบาทที่กู้มาจากสาธารณชนอยู่ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หนี้ที่มาล้างขาดทุนให้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่หมด

แสดงว่า 1.4 ล้านล้านบาทก็ยังใช้ไม่หมด แล้วอีกนานไหม กว่าจะหมด

ใช่ 1.4 ล้านล้านบาท เฉพาะส่วนที่ล้างขาดทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย รัฐบาลยังใช้ไม่หมดแต่เหลืออีกไม่เยอะ ธนาคารที่แข็งแกร่งที่สุดในตอนนั้นก็คือ ธนาคารกรุงเทพกับกสิกรก็ยังต้องขายหุ้นบางส่วนให้ต่างชาติ จนปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในธนาคาร ที่แน่ๆ ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ ครอบครัวล่ำซำหรือครอบครัวโสภณพนิชก็ไม่ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว ตอนนี้ทุกธนาคารพาณิชย์ไทยมีต่างชาติเข้ามาถือสัดส่วนหุ้นกันทั้งนั้น แค่มากหรือน้อย อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ รัฐบาลก็อัดเงินช่วยเยอะถึงจะฟื้นได้

นอกเหนือจากการที่รัฐเข้าไปอุ้มภาคธนาคารแล้ว ภาคเศรษฐกิจส่วนอื่นในไทยฟื้นตัวจากวิกฤตินั้นได้อย่างไร

รัฐบาลไทยไม่ได้ทำอะไรมากกว่าแก้ภาคธนาคารให้กลับมาทำงานได้อีก จริงๆ ต้องมีกระบวนการมากกว่านั้น ต้องจัดตั้งกระบวนการประนอมหนี้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ซึ่งรายละเอียดเยอะ นอกจากการแก้หนี้เสียด้วยการเติมเงินลงไปให้ธนาคารมันทำงาน

รัฐบาลแทบจะไม่มีนโยบายต่อภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งล้มละลาย ภาคเศรษฐกิจจริงคือ พวกการผลิตเพื่อการซื้อขาย รัฐบาลอาจมีให้เงินคนตกงานบ้าง มี Miyazawa Plan ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แนวทางของนโยบายรัฐในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจมีน้อยมาก

เศรษฐกิจไทยมันตกตั้งแต่ปี 2540 จุดต่ำสุดน่าจะ ปี 2542 แล้วก็ค่อยๆ หลุดออกมาได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นคือ เราส่งออกเยอะขึ้น ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ โรงงานต่างชาติมาลงทุนในไทยกันเยอะ เมื่อค่าเงินบาทตกลง จุดต่ำสุดที่ค่าเงินบาทอ่อนสุด จาก 25 บาทเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจุบันแม้จะขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้ขึ้นเยอะหนีห่างจากอดีตมาก การที่ค่าเงินบาทอ่อนลงก็แสดงว่าการส่งออกมันดีขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์มันเข้ามาเติมในระบบเศรษฐกิจไทยได้ เราก็สามารถจ่ายหนี้ดอลลาร์ได้ ก็หลุดออกจากวิกฤติไป

เราหลุดจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ก็เพราะการฟื้นตัวจากการส่งออกอย่างรวดเร็ว แต่อย่าดีใจนะ เพราะเราลดราคาแข่งกับเขา เราไม่ได้แข่งสินค้าที่มีคุณภาพจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกเพิ่มขึ้น จากเดิมพึ่งพิงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ประชาชาติทั้งหมด ปัจจุบันเราพึ่งพิงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัว การส่งออกจึงกลายเป็นตัวนำเศรษฐกิจไทย อดีตเราไม่ได้พึ่งพิงมากขนาดนี้

ข้อเสียของการพึ่งพิงการส่งออกขนาดนี้ก็คือ เศรษฐกิจเมืองนอกตกเมื่อไร เราเจ็บตัวมากกว่าอดีต เพราะเราพึ่งพิงการส่งออกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ฉะนั้น ตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา เศรษฐกิจเมืองนอกไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราโตช้า อันนี้ก็กลายเป็นผลพวงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจระดับโลก

ที่ปัญหามันน่ากลัวกว่านั้น เพราะไทยเป็นเพียงแค่โรงงานรับจ้างผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าของการผลิต?

หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ราคาสินทรัพย์ตกลง ค่าเงินก็อ่อนลง ถ้าคุณเป็นนักลงทุนต่างประเทศคุณจะทำอย่างไร เมื่อของถูกลงในรูปของเงินบาท แล้วค่าเงินบาทก็อ่อนลง ดับเบิลสองชั้น ก็แห่กันมาเข้าซื้อของในเมืองไทย

ตั้งแต่นั้นมา สัดส่วนความเป็นเจ้าของบริษัทหรือโรงงานของต่างชาติในประเทศไทยมันพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะในภาคส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้เราจะส่งออกสินค้ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน แต่จำนวนเจ้าของกลับไม่ได้เยอะสักเท่าไร เราจะเห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ส่งออกเยอะมากในแต่ละปี แต่การผลิต การตลาด การออกแบบ ไม่ใช่ของเรา เราก็เป็นเพียงแค่รับจ้างทำของ ได้แค่ค่าแรงหรือได้บางชิ้นส่วนที่พอจะเป็น local content ได้

เราเป็นแรงงานรับจ้างทำของให้ แต่ตอนนี้เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ถูก นี่ไง ค่าแรงเราแพงขึ้น ถ้าเราไม่มีตรายี่ห้อเป็นของตัวเอง เราก็ต้องแข่งราคากับเขาอย่างเดียว แล้วแข่งยังไงในเมื่อราคาค่าแรงเราขึ้นแล้ว เราจะไปแข่งกับประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไง เช่น ลาว กัมพูชา หรือเมียนมาร์ พวกนี้ค่าแรงยังถูกกว่าเราอยู่เลย แล้วแข่งของเหมือนๆ กันแต่ราคาต่างกัน เราจะสู้ได้ไหม เราจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกได้น้อยลงประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มันแย่ลงด้วย

พอจะเห็นสัญญาณอะไรข้างหน้าในระยะอันใกล้หรือไกลบ้างไหม

ใกล้คงยังไม่เห็น สามปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยช้ามาก โตปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเราโตทีปีละเจ็ดถึงสิบเปอร์เซ็นต์

ในขณะที่คนในสังคมกำลังกลายเป็นคนแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังโตปีละสามเปอร์เซ็นต์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จะหมายความว่ายังไงสำหรับพวกคุณ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ รุ่นผมเพิ่งจบพอดี อย่างเพื่อนผมจบบัญชีพร้อมกันทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือนเริ่มต้นที่หมื่นกว่าบาท โบนัส 12 เดือน แล้วดูตอนนี้ เงินเดือนยังหมื่นกว่าบาทอยู่ใช่ไหม แล้วเงินเดือนคุณขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์แต่ละปี ความสามารถของนายจ้างก็จะจ่ายเงินเดือนได้ลดลง

นั่นแสดงให้เห็นว่า รายได้ของรุ่นคุณจะโตช้า เงินได้โตช้า ในขณะที่พ่อแม่พวกคุณก็ต้องแก่ลง แล้วจะไปเลี้ยงพ่อแม่ ครอบครัวไหวไหม ผู้สูงอายุต้องใช้เงินเดือนมหาศาลนะ นี่ล่ะ คนรุ่นต่อไปกำลังจะเผชิญกับวิกฤติสังคมคนชรา ถ้ารายได้โตไม่เร็ว นั่นคือสิ่งที่จะตามมา

มันจะไม่ระเบิดเหมือนฟองสบู่ที่ผ่านมา รอบนี้เหมือนต้มกบ ค่อยๆ ตาย เศรษฐกิจโตไม่ทันที่จะหล่อเลี้ยงความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรน้อยลง สัดส่วนของคนที่มีแรงในการผลิตน้อยลง จำนวนสัดส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น ภาระที่ต้องดูแลก็เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนคนที่ต้องมารับภาระตรงนั้นกลับน้อยกว่า แล้วรายได้พวกเขาก็โตช้า รวมถึงเศรษฐกิจที่เติบโตเพียงปีละสองสามเปอร์เซ็นต์ จะรับไหวไหม ถ้าโตปีละ 6-7 เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะพอไหว

สถานการณ์ในตอนนี้ถือว่าน้ำที่ต้มอยู่กำลังเดือดอยู่หรือเปล่า

ผมก็คิดว่าแบบนั้น สามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไม่โต การส่งออกก็ไม่โต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมไทยถือว่าช้าที่สุด อินโดนีเซียโต 5 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์โต 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยกลับโตเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะการส่งออกบ้านเราลดลง ผมไม่มั่นใจว่าตัวเลขพึ่งพิงการส่งออกของฟิลิปปินส์เป็นตัวเลขเท่าไร แต่ดูจากเศรษฐกิจด้วยรวมแล้วเขาโตปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราแซงฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจเราเหนือกว่า แต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์กำลังกลับมาแซงเราแล้ว เมื่อก่อนฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่า ‘Sick Man of Asia’ หรือ คนป่วยแห่งเอเชีย แต่ตอนนี้ไทยกำลังเป็นแทน เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ต่างชาติก็พูดอยู่บ่อยๆ สิ่งที่ผมพูด มันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งรู้ ถ้าคนที่ตามข่าวสารเศรษฐกิจทั่วโลกก็จะรู้กันอยู่แล้ว

ถ้าตอนนี้ไทยเป็นกบที่กำลังถูกต้ม เราจะโดดออกทันไหม หรือมีคนเอาฝามาปิดเรียบร้อยแล้ว

ก็แล้วแต่คุณจะมอง คุณก็ต้องเอาเรื่องไปผูกกับการเมือง รัฐบาลเขาบอกว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือ ทางออก เป็นนโยบายที่จะแก้ไขสภาวะดังกล่าว

นโยบายที่จะทำให้คนไทยกระโดดออกจากหม้อน้ำร้อนมันยากกว่าเดิมอีกนะ สัดส่วนแรงงานลง การผลิตก็น้อยลง แล้วเราจะผลิตให้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมได้อย่างไร จากอดีตคนหนึ่งคนผลิตสินค้าได้ห้าชิ้น ปัจจุบันต้องผลิตมากกว่าเดิมเพื่อให้รายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูคนในครอบครัวก็ต้องเพิ่มการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 10 ชิ้น แล้วจะทำอย่างไรให้ผลิตมากกว่าเดิมในเวลาที่เท่าเดิม ยากไหมล่ะ ถ้าบอกว่าอยากให้เป็น 4.0 ก็ต้องพูดถึง innovation หรือ creative ถ้าเราไม่อยากเป็นโรงงานรับจ้าง เราก็ต้องมี innovation นี่คือ มนตราที่รัฐบาลร่ายคาถาให้คุณฟังอยู่ ถูกไหม ก็ถูก

แต่จะทำให้คนเป็น innovative ได้ไงในเมื่อเรายังท่อง 12 ประการอยู่ ระบบการศึกษาในการเรียนรู้บ้านเรายังเป็นการนั่งท่องจำ ตั้งคำถามก็ไม่ได้ มีกรอบที่เยอะมากแล้วคนจะ creative ได้ยังไง สื่อก็ไม่ได้ช่วยให้คน educated ได้ แล้วมันจะเก่งได้ยังไง คุณจะทำให้คนเก่งขึ้น ก็ต้องมีการเรียนที่บูรณาการ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน

ปัจจุบันเอกชนหันไปลงทุนต่างประเทศกันเยอะขึ้น ตัวเลขคร่าวๆ อยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ต่างชาติมาลงทุนในบ้านเราแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์ แม้แต่คนไทยด้วยกันยังขนเงินหนีออกจากประเทศ ออกจากระบบเศรษฐกิจไทย ก็เพราะว่าเขาเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีแล้วหรือเปล่า ฉะนั้นก็เลยหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

แน่นอนว่า การไปลงทุนต่างประเทศแทนก็จะส่งผลให้เงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยลดลง แม้เงินจะกลับเข้ามาในประเทศก็จริง แต่เงินดังกล่าวไม่ได้ถูกกระจายไปสู่ทุกชนชั้น กลับกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าของทุน ถ้าคุณจ้างงานในประเทศก็จ้างค่าแรงให้แรงงาน เงินก็จะกระจายไปทุกภาคส่วน

ปัญหาของไทยอยู่ที่เชิงโครงสร้างหรือเปล่า

โครงสร้างการแข่งขันของไทยแย่ลง ปัญหาก็คือ ต่อให้วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น เราไม่มีน้ำท่วม ไม่โดนฝนแล้ง ถามว่าไทยจะโตไหม ถ้ามันไม่โตก็แสดงว่าเรามีปัญหาที่ลึกกว่าปัญหาชั่วคราว ซึ่งก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ การสูญเสียโครงสร้างทางการแข่งขัน ซึ่งต่อมาได้สะท้อนลงมาถึงภาคการลงทุนในไทยที่มันต่ำลงมามาก ต่ำมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจไทยมีการลงทุน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่หามาได้ ปัจจุบันเราลงทุนเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมามันหายไปครึ่งหนึ่ง

ลงทุนน้อย ความสามารถในการผลิตก็น้อย จะไม่โตเร็ว ที่ลงทุนน้อยก็เพราะว่าแข่งขันไม่ได้ จะแข่งขันได้ก็ต้องเพิ่ม productivity รัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ เทรนคน เพื่อให้ประชาชนสามารถหลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวได้ ต้องสร้างยี่ห้อได้ ต้องมี innovation ในการตลาด

ฉะนั้นแล้ว เราสามารถใช้ภาคเกษตรกรรมผลักดันให้ไทยเป็นประเทศมหาอำนาจผลไม้เพื่อให้สามารถกระโดดข้ามหม้อต้มน้ำนี้ได้หรือไม่

ประสบการณ์ของทั่วโลกมันไม่มี ประเทศที่รวยที่สุด 10 ประเทศแรก ไม่มีประเทศไหนเขาเป็นประเทศเกษตรกรรมกันแล้ว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในอังกฤษเมื่อปี 1750 สาเหตุที่หันมาปฏิวัติอุตสาหกรรมกันทั่วโลกเพราะว่า ในหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมี productivity สูงกว่าเกษตรเยอะ มีความสามารถในการผลิต กล่าวคือ มีรายได้ มีโอกาสในการเติบโตสูงกว่า

ผมก็ตอบไม่ได้ว่าไทยจะทำได้ไหม แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์โลกก็คือ ไม่มี ประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือย่างนิวซีแลนด์ที่อาจมีการส่งออกเกษตรกรรมบ้าง แต่ข้อดีเขาคือ มีแร่ธาตุเยอะ เขาส่งออกตรงนั้น แต่ก็ไม่ใช่ส่วนนั้นอย่างเดียว คุณอย่าไปโรแมนติก ต่อให้เป็น smart farmer ก็ตาม ไม่ได้จะบอกว่าไม่ดีนะ แต่ไม่พอที่จะให้เรากระโดดออกจากหม้อต้มน้ำได้

จากที่ฟังทั้งหมด เหมือนว่า คนรุ่นต้มกบจะลำบากกว่าคนรุ่นต้มยำกุ้ง

ก็แน่นอน เด็กที่เพิ่งเรียนจบ ทั้ง Gen Y หรือ Gen Z ผมเชื่อแบบนั้น เนื่องจาก หนึ่ง-เงินเดือนเขาโตช้ากว่า สอง-ลักษณะงานขาดความมั่นคงมากกว่า ผมไม่แน่ใจว่าการทำงานฟรีแลนซ์ที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป หรืออาจเป็นเพราะงานประจำทั้งภาครัฐและเอกชนมันเติบโตน้อยกว่าที่ควร ทำให้คนบางกลุ่มหันไปสนใจฟรีแลนซ์แทน ทั้งๆ ที่ก็อาจอยากได้งานมั่นคงมากกว่า หรือเปล่า จริงๆ แล้วภาพแบบนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นี่ยังไม่รวมกระแสที่ต่างชาติกำลังเริ่มกังวล ที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มนำหุ่นยนต์และ AI (ปัญญาประดิษฐ์ – Artificial Intelligence) เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานมากขึ้นที่เรียกว่า robotization เทคโนโลยีพวกนี้กำลังจะทำลายแรงงานมนุษย์ มนุษย์จะแข่งกับหุ่นยนต์ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องหันไปหางานที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้แทน และนี่คือความสำคัญคือ การบูรณาการทางความรู้

แต่เทรนด์ดังกล่าว ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่บ้านเราต้องเผชิญ เพราะดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบจากกระแสนี้เหมือนกัน

ถูกต้อง เราจึงเห็นการขึ้นมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกระแสที่อังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ทั้งสองเหตุการณ์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลาง ชนชนล่างเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบและไม่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์

ตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 อาจถือได้ว่าความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมแบบสุดโต่งถูกคลายลงไปเยอะในระดับโลก คลายความขลังลง และยิ่งตามมาด้วย สองเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งส่งผลให้การเมืองโลกอยู่ในช่วงที่ทิศทางโครงสร้างและระเบียบโลกกำลังถูกเปลี่ยน

ผมก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ผมพูดแค่นี้ดีกว่า ประเทศที่เป็นลัทธิเสรีนิยมสุดโต่งจะได้รับผลกระทบเยอะและอาจตามมาด้วยความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตย

จะออกหัวหรือออกก้อยยังไม่รู้ หรือออกซวยก็ได้ โลกอาจกลายเป็นเผด็จการมากกว่านี้ ประชาธิปไตยอาจถูกโจมตีมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ลัทธิปกป้อง หรือ protectionism อาจกลับมามากขึ้นก็ได้

ณ ตอนนี้คือจุดเริ่มต้นของ long wave ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เคยครอบงำเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปี 2000 กำลังถูกคลื่นลูกใหม่ท้าทาย เป็นคลื่นที่ยังไม่มีใครรู้ ผมก็ไม่ใช่นักอนาคตศึกษาคงไม่อาจเดาได้ แต่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้ทั้งโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะอยู่รอดได้ไหม กับความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือจะถูกท้าทายจากฝ่ายขวาจนต้องพ่ายแพ้ไป หรือเอาชนะได้ใหม่ ต้องรอดูต่อไป

ขอคำแนะนำสำหรับคนรุ่นต่อไปในปัจจุบันควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอด

มึงหนีออกนอกประเทศไปเลยดีที่สุด (หัวเราะ) จริงๆ ผมบอกหลานแบบนี้ การเมืองไทยใน 15 ปีข้างหน้าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แผนไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จเหรอ ในเมื่อมันขับเคลื่อนโดยระบบราชการ นักการเมืองคงไม่ต้องพูดถึง ถูกจัดให้เป็นเพียงตัวประกอบ คิดว่าระบบราชการจะขับเคลื่อนตัวเองออกจากต้มกบได้หรือ ดูเพียงระบบราชการที่ล้าสมัย ต้องมาขับเคลื่อนแผนการ 4.0 ผมก็ไม่มีความเชื่อมั่นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาแผนเลย ในเมื่อสถานการณ์ในตอนนี้ยากกว่าเดิม ยากกว่าสมัยที่ นายกรัฐมนตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เกิดทุนนิยมสมัยใหม่ในบ้านเราอีก โดยภารกิจมันยากกว่ากันเยอะ

แล้วความขัดแย้งทางการเมืองจะจบไหม เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถแก้ไขได้ กลไกการแก้รัฐธรรมนูญอย่างสันติไม่มี ทุกอย่างถูกล็อคเอาไว้หมดแล้ว ผมว่าในทางการเมือง ไม่ใช่ว่าเอาฝาปิดหม้อต้มกบอย่างเดียวหรอก เอาหินทับอีกด้วย (หัวเราะ)

จะตอบว่าไทยจะออกจากหม้อต้มน้ำนี้ได้อย่างไร ก็ยังตอบยาก เพราะมันเป็นปัญหาของทั้งระบบ ถ้าแนะนำในฐานะส่วนบุคคลคือ ทำอย่างไรให้ตัวเองเก่งที่สุด ไปได้ไกลที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ เราจะข้ามผ่านระบบการศึกษาหรือโครงสร้างแบบไทยๆ ได้อย่างไร คือทำให้ตัวเองบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง ในทิศทางไหนก็ได้ เท่าที่ตัวเองจะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดที่เล่ามา หรือไม่ก็ออกนอกประเทศไปเลย

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า