2015 ปีอันตรายของสื่อทั่วโลก

journalist-1

ปี 2015 คือปีมรณะของนักข่าวและสื่อสารมวลชนทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและแถบตะวันออกกลาง โดยพวกเขาตกเป็นเป้าหมายการสังหารและถูกลูกหลงจากเหตุรุนแรงที่สืบเนื่องจากการรายงานข่าว

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists: IFJ) เผยแพร่ผลสำรวจ ‘IFJ list of journalists & media staff killed in 2015’ โดยรายงานว่า ปี 2015 มีนักข่าวและสื่ออย่างน้อย 109 รายเสียชีวิต ใน 30 ประเทศทั่วโลก ขณะที่มีเพียงสามราย เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุifj-info

ตัวเลขการเสียชีวิตของคนทำสื่อในทวีปอเมริกามาเป็นอันดับหนึ่งที่ 27 ราย ส่วนใหญ่ถูกสังหารโดยกลุ่มผู้ค้ายา ในตะวันออกกลางตัวเลขอยู่ที่ 25 ราย แถบเอเชียแปซิฟิก 21 ราย ทวีปแอฟริกา 20 ราย และสุดท้ายคือทวีปยุโรป อยู่ที่ 16 ราย

เฉพาะเหตุกราดยิงอย่างอุกอาจในสำนักงานนิตยสาร Charlie Hebdo กลางกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ 7 มกราคม 2015 ทำให้บรรณาธิการ นักวาดการ์ตูนและคอลัมนิสต์เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 11 ราย อีกสองประเทศที่มีสื่อเสียชีวิตมากเป็นอันดับสอง คือ อิรัก 10 ราย ตามด้วยเยเมนเก้าราย

หนึ่งในสื่อผู้เสียชีวิตในทวีปอเมริกา เมื่อ 3 กรกฎาคม 2015 คือ โจเอล อกีเลส ตอร์เรส เจ้าของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น Canal 67 ในฮอนดูรัส ซึ่งถูกมือปืนกระหน่ำยิงจากมอเตอร์ไซค์ขณะขับรถในเมืองเทาลาเบ (Taulabe) ทางตะวันตกของประเทศ

อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการทั่วไป UNESCO ออกแถลงการณ์ประณามเหตุฆาตกรรมสื่อสามรายที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในฮอนดูรัสช่วงกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติที่มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อมวลชน

“การใช้ความรุนแรงเพื่อให้นักข่าวหยุดนำเสนอข่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะถือเป็นการทำร้ายสังคมโดยรวม ขอเรียกร้องให้ทางการเอาจริงกับอาชญากรรมต่อสื่อ และผู้กระทำความผิดจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” โบโกวากล่าว

รายงานระบุว่า นักข่าวผู้เสียชีวิตร้อยละ 64 เสียชีวิตขณะอยู่ในเขตสงคราม ขณะที่ตัวเลขนักข่าวเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2005 อยู่ที่ 787 ราย

เลขาธิการ IFJ แอนโธนี เบลเลนเจอร์ กล่าวว่า จากรายงานฉบับนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า นักข่าวและผู้ผลิตสื่อกลายเป็นเป้าหมายได้ง่าย เนื่องจากคนไม่เคารพกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายในประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้คนทำสื่อได้

ขณะที่ จิม บูเมลลา ประธาน IFJ เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติพยายามกดดันนานาประเทศ ให้บังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของนักข่าวทั่วโลก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

commondreams.org

theguardian.com

unesco.org

ifj.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า