Project Censored – โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม
กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ
และ 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวของปี 2015-2016 มีดังนี้:
1. มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฝังตัวอยู่ทั่วโลก
หน่วยรบพิเศษ (Special Operations Forces: SOF) ซึ่งขึ้นตรงต่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพสหรัฐ (US Special Operations Command: SOCOM) ได้แทรกซึมเข้าไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ กว่า 147 ใน 195 ประเทศที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
ดูเฉพาะงบประมาณและจำนวนภารกิจที่ปฏิบัติการ SOF ถืออยู่ในมือ ก็มากกว่าปฏิบัติการในพื้นที่สงครามอัฟกันและอิรัก ยังไม่นับเนื้องานและรายชื่อประเทศที่ SOF แทรกซึมเข้าไปปฏิบัติการ ซึ่งพบว่าข้อมูลดังกล่าวยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ
ภารกิจหลักของปฏิบัติการพิเศษนี้ คือการเป็น ‘ติวเตอร์’ และ ‘เชื่อมความสัมพันธ์’ ระหว่างประเทศนั้นๆ กับสหรัฐ ซึ่งมีตั้งแต่การฝึกใช้ปืนไรเฟิล ไปจนถึงเทคนิคภาคสนามในการต่อสู้กับการก่อการร้าย
ข้อความระหว่างบรรทัดและข้อสงสัยต่อประเด็นดังกล่าวคือ งบประมาณที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 3,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2001 ไปอยู่ที่ราว 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 และรายชื่อประเทศที่สหรัฐส่งหน่วยทหารเข้าไปมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
2. ผลทดสอบยากว่าครึ่งมีปัญหา
ปี 2015 ริชาร์ด ฮอร์ตัน บรรณาธิการ The Lancet วารสารทางการแพทย์ชื่อดัง เปิดเผยข้อกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือต่อวงการแพทย์และบรรษัทยาไว้ว่า มีข้อมูลและกรณีศึกษามากมายที่ชี้ว่า บทความวิชาการทางการแพทย์จำนวนมากนั้นเชื่อถือไม่ได้ เหตุเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนในวงการ รวมทั้งการละเลยขั้นตอนทดลองยาที่ควรจะถี่ถ้วน ใช้ตัวอย่างที่มากและหลากหลาย
จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่ามีคนไข้ที่ใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์แล้วเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจำนวนมาก กรณีโด่งดังที่ฮอร์ตันยกขึ้นมา คือ ‘Study 329’ หรือกรณีผู้ป่วย 329 รายที่ใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า Paroxetine แล้วเกิดผลข้างเคียง
ทีมนักวิทยาศาสตร์กลับไปวิเคราะห์ข้อมูลผลทดสอบ (clinical trials data) อีกครั้งพบว่า คนไข้ 11 รายใน 275 รายที่ใช้ยาดังกล่าว พยายามฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเอง อีกด้านของเหรียญเดียวกันคือ Study 329 เป็นที่มาของโครงการ ‘Restoring Invisible and Abandoned Trials (RIAT)’ หรือการเปิดเผยข้อมูลการทดลองวิจัยยาเป็น open data เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลการวิจัยได้
3. การสูญพันธุ์ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
ผลกระทบของระบบนิเวศทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วและมหาศาลพบว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิด Trichodesmium ที่อยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เปรียบเสมือนปุ๋ยชั้นดีในมหาสมุทรเริ่มนับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์
ค่าที่วัฏจักรการดำรงชีวิตของมันต้องตรึงหรือเปลี่ยนไนโตรเจนในอากาศไปเป็นสารที่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ – ตั้งแต่สาหร่าย ไปจนถึงวาฬ สามารถนำไปใช้ได้
ปัญหาน้ำทะเลมีค่า pH สูงกว่า 7 หรือที่เรียกว่าทะเลกรด ทำให้แบคทีเรียในทะเลผลิตไนโตรเจนมากกว่าปกติถึงร้อยละ 50 ผลที่ตามมาคือ Trichodesmium ยิ่งเร่งการเปลี่ยนรูปก๊าซไนโตรเจนมากขึ้นเท่านั้น ภาวะที่พวกมันตรึงไนโตรเจนในอากาศ จำต้องใช้สารอาหารในทะเลที่มีจำกัด อาทิ ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัส ซึ่งจะเบียดขับและส่งผลให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รอบตัวสูญพันธุ์ลงเรื่อยๆ และในที่สุด หายนะจะย้อนกลับมาที่ตัวมันเอง
4. อัลกอริธึมซ่อนรูป และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่อาจกำหนดได้
รายงานของ มาร์ค เฟรย์ ในวารสาร Index on Censorship ธันวาคม 2015 อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยพฤติกรรมและเทคโนโลยีอเมริกัน (American Institute for Behavioral Research and Technology) พบปรากฏการณ์การจัดการโดยเสิร์ชเอนจิน (Search Engine Manipulation Effect: SEME) และอัลกอริธึมลับ สำหรับกูเกิลคือ PageRank ขณะที่เฟซบุ๊คจะเป็น EdgeRank ซึ่งจะมีผลต่อผลการค้นหาและสิ่งที่ปรากฏบนหน้าฟีดส์ แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อความคิดและการตัดสินใจระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งในสหรัฐ
หนึ่ง-กลไกการเลือก กำหนด หรือจัดอันดับ (ranking) แบบลับๆ โดยเฉพาะกูเกิลและเฟซบุ๊ค อาจกำหนดการมองโลกและส่งผลทางจิตวิทยาต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน
สอง-เกิดข้อกังขาจากสื่อมวลชนและนักวิชาการว่า เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นระบบที่ถูกใช้ตลอดมาอาจถูกแฮ็คระบบได้ง่าย ทั้งการขอเข้าไปตรวจสอบกลไกการนับคะแนนของเครื่องมือยังไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นความลับของบริษัทเจ้าของซอฟท์แวร์
ข้อความระหว่างบรรทัดของรายงานชิ้นนี้ตีความได้ว่า อาจมีมือที่มองไม่เห็นสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป
5. ขนมหวานเคลือบยาพิษ จากธนาคารโลกต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยซีเรีย
แม้สื่อมวลชนจะรายงานและให้พื้นที่ต่อประเด็นผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากภาวะสงครามในซีเรียอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นอย่างการฉกฉวยผลประโยชน์จากปัญหาผู้ลี้ภัยของธนาคารโลก อาจเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนไม่แตะต้องขุดคุ้ยมากนัก
อ้างอิงจากรายงานของ ซาราห์ ลาซาร์ ที่ตีพิมพ์ใน AlterNet เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เธอแสดงหลักฐานจำนวนมากที่ชี้ว่า ธนาคารโลกยื่นข้อเสนอล่อใจนักลงทุนตะวันตกให้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) ของจอร์แดน โดยมีธงว่า เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของกลุ่มผู้ลี้ภัย ขณะที่ลาซาร์วิจารณ์ว่า ยิ่งเธอพยายามขอข้อมูลของโครงการนี้มากเท่าไร เธอก็ยิ่งพบว่า มีแต่การค้ามนุษย์ ทารุณกรรม และการโกงค่าแรงมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา: projectcensored.org
ติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2015-2016 (2) ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้