เป็นข่าวเล็กๆ ในสื่อไทย แต่เป็นข่าวใหญ่พาดหัวตัวไม้ที่ฝั่งออสเตรเลีย เมื่อ ‘คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด’ ผู้ถือหุ้นใหญ่เหมืองทองคำชาตรี ‘อัครา รีซอร์สเซส’ ติดประกาศแจ้งต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์บริษัทฯ จะฟ้องเอาเรื่องและเรียกค่าเสียหายจากรัฐไทย ฐานละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ที่ไม่ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน หลังจากมีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำชาตรียุติการประกอบกิจการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
คิงส์เกต ผู้ถือหุ้นใหญ่เหมืองทองคำชาตรีอ้างว่า ในความตกลงฯ เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมโดยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทกับรัฐบาล ซึ่งจะขอหารือกับรัฐบาลไทยก่อนสักสามเดือน “หากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ บริษัทฯ จำเป็นต้องดำเนินการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศต่อไป ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาและผลลัพธ์ของกระบวนการดังกล่าวได้อย่างแน่นอน”
ภาษาบ้านๆ เรียกว่า ขู่…ให้ยอมซะ อย่าถึงกับต้องลงมือลงไม้
ย้อนหลังกลับไปถึงสาเหตุของการปิดเหมืองทองคำชาตรี ไม่ต้องไปไกลถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเหมืองของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ยืดเยื้อมานาน เริ่มต้นที่พฤศจิกายน 2557 ได้มีการตรวจเลือดของชาวบ้านในเขตพื้นที่เหมืองทองชาตรี 600 คน พบค่าโลหะหนักในเลือดเกินมาตรฐานถึง 300 คน ทำให้ต้องนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือระดับชาติของสี่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหากรณีเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบข้อเท็จจริง
10 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการร่วมฯ มีความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ยุติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ทั้งหมดช่วงสิ้นปี 2559 ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมฯ ประกอบด้วย
- ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย
- ในกรณีของบริษัทอัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทออกไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้นำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมือง และฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชน และบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการปิดกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ดังนี้
- 3.1 กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมือง และฟื้นฟูพื้นที่ของบริษัทอัคราฯ
- 3.2 กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- 3.3 กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ
ทั้งนี้ การช่วยเหลือพนักงานบริษัทอัคราฯ ที่มีจำนวนกว่า 1.5 พันคน นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานกับกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ให้นำเงินเข้ากองทุนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 45 ล้านบาท มาช่วยเหลือ
“สำหรับประโยชน์จากการทำเหมืองทองคำ มีการพบแร่ทองคำในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 3-4 ตันเท่านั้น โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 1,200 ล้านบาท คิดเป็นประโยชน์รวมกันเฉลี่ยปีละ 3,600 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเหมืองแร่ เพราะไม่คุ้มกับ social cost” นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีกระทวงอุตสาหกรรม (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ได้กล่าวอย่างมั่นใจในการแถลงข่าว
แม้ว่าต่อมา 7 มิถุนายน 2559 จะมีการยกเลิกมติ ครม. ดังกล่าว แล้วมีมติใหม่ ซึ่งสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอยู่มาก เพราะมติ ครม. ใหม่ระบุเพียงว่า
1. รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในรูปแบบวิดีทัศน์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงกัน
2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้มีความรัดกุมและปิดช่องที่จะถูกฟ้องร้องได้อย่างดี
อ้างอิงจากการรายงานของ กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า มติ ครม. เมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจทำให้คณะรัฐมนตรีถูกดึงเข้าสู่การฟ้องร้องจากบริษัทเอกชนได้ เพราะผิดหลักกฎหมายสากล ที่รัฐบาลไปยกเลิกประทานบัตรที่ได้อนุญาตไปแล้ว ประทานบัตรยังมีอายุจนถึงปี 2571 หากมีการฟ้องร้อง “มีโอกาสที่จะแพ้สูง ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินค่าปรับจำนวนมาก”
กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ปรับแนวทางการดำเนินงาน โดยไม่แตะส่วนของประทานบัตรเหมืองแร่ที่จะหมดในปี 2572 แต่จะหันไปใช้อำนาจการอนุญาตแทน โดยจะไม่อนุญาตให้ต่ออายุการดำเนินกิจการใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือโรงแต่งแร่ และไม่อนุญาตต่อประทานบัตรแร่ทองคำในแปลงที่หมดอายุ ซึ่งแปลงที่หมดอายุนี้เป็นพื้นที่ไข่แดงที่จะเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ที่มีอายุประทานบัตรถึงปี 2571 แต่การไม่อนุญาตในสองข้อนี้ จะทำให้เอกชนไม่สามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ หากถูกฟ้องร้องสามารถต่อสู้คดีได้
เมื่อชัดเจนว่า รัฐบาลมีนโยบายปิดเหมืองทองเพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ กระทรวงต่างๆ ก็ได้รับการเยือนจากทีมทูตออสเตรเลียแบบที่เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้ง ทั้งขู่ทั้งปลอบ จนในที่สุดต้องเลือกใช้มาตรการขั้นสูงสุดนั่นคือ การฟ้องรัฐไทยผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ซึ่งกลไกนี้หากชนะจะได้ทั้งการต่อใบอนุญาตและค่าชดเชยจากเงินภาษีของประชาชนคนไทย
คิงส์เกตไม่เลือกใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ที่เพิ่งเริ่มจากการฟ้องร้องผ่านศาลปกครอง ของไทย เพราะเหตุผลและขั้นตอนของกฎหมายที่รัฐบาลเลือกใช้จนนำไปสู่การปิดเหมืองนั้น ถูกต้องและชัดเจน
ไม่ใช่แค่ในไทย คดีในออสเตรเลียเองก็ชี้ชัดว่า รัฐมีพันธกิจในการคุ้มครองประชาชน เช่น คดีที่บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของโลก ฟิลลิป มอร์ริส ฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียที่ออกกฎหมายควบคุมยาสูบกำหนดให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ต้องบรรจุซองสีเรียบๆ ไม่มีตราสินค้าปรากฏบนซองบุหรี่ และคำโฆษณาใดๆ (Plain Packaging Laws for Tobacco Products) ซ้ำต้องมีภาพสีที่แสดงให้เห็นพิษภัยของบุหรี่ต่อสุขภาพ ด้วยภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 80 ของหน้าซองบุหรี่
คดีนี้ ฟิลลิป มอร์ริส แพ้ทั้งในศาลสูงของออสเตรเลีย และในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐมีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนชาวออสเตรเลีย
แต่การไปสู้คดีเช่นนี้ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ในที่สุดอาจจะชนะ เพราะต้องพึ่งพาบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก การต้องต่อสู้กับโลกทัศน์ของอนุญาโตตุลาการที่มองเพียงแค่ตัวบทในความตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุน ความเป็นทั้งมาเฟียและอุตสาหกรรมการฟ้องร้อง รวมทั้งกระบวนการพิจารณาคดีที่ปิดลับ แม้แต่รัฐบาลออสเตรเลียก็ยังไม่ยอมเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการสู้คดีกับ ฟิลลิป มอร์ริส ต่อรัฐสภา
เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ประการแรกๆ เลยว่า ออสเตรเลีย หนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมดี เขาดีเฉพาะประเทศเขานะจ๊ะ ในกรณีรัฐบาลออสเตรเลียเคยสั่งปิดเหมืองในรัฐแทสมาเนียด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม สั่งปิดโรงหลอมทองแดงที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ ปตท.สผ. กรณีอุบัติเหตุแท่นเจาะก๊าซ และเอาผิดกับอีกหลายๆ ผู้ปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
นั่นไม่ได้หมายความว่า รัฐของออสเตรเลียและทูตซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล อยากให้การดูแลประชาชนไทยที่ดีด้วย หากนั่นเป็นการขัดกับผลประโยชน์ของนักธุรกิจบ้านเขา ถึงที่สุดแล้วประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ก็ยังถือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ
กลับมาที่ประเทศไทย นับจากนี้ ไทยจะเจอเคสนักเลงหัวไม้ในคราบนักลงทุนต่างชาติ ถือไม้หน้าสามพะยี่ห้อ ISDS มาข่มขู่ให้รัฐบาลทำโน่นทำนี่ หรือห้ามทำโน่นทำนี่ โดยเฉพาะการออกนโยบายสาธารณะที่คุ้มครองประชาชนแต่กระทบกับการทำกำไรของธุรกิจอีกมาก ซึ่งต้องใช้ทั้งสติปัญญาและความกล้าหาญทางนโยบาย
หากดูจากกรณีที่บราซิลฟ้องไทยอุดหนุนน้ำตาลใน WTO ที่รัฐบาลยอมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเสียที แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการสะท้อนได้หรือไม่ว่า รัฐบาล คสช. เลือกที่จะยอมตามกระแสกดดันของต่างประเทศ แต่นั่นเป็นกรณีสินค้า หากเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เกี่ยวกับชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม ถอดใจตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นสู้ ก็เรียกว่าทำลายนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนที่ตัวเองอ้างมาตลอด
นอกเหนือจากการสู้คดีแล้ว สิ่งที่รัฐไทย ทั้งผู้กำหนดนโยบายและหน่วยราชการต่างๆ ต้องทำคือ ระมัดระวังในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศใหม่ๆ อาทิ (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ ASEAN+6 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พยายามที่จะสอดแทรกกลไก ISDS แบบอัพเลเวลมาไว้ในเนื้อหา คือเรียกว่า ฟ้องง่ายฟ้องดายได้ทุกเรื่อง การชดเชยค่าเสียหายก็เอาแบบสูงสุด และที่สำคัญคือของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศชี้ขาดว่าอย่างไร กระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่มีสิทธิทบทวน ต้องทำตามเท่านั้น
นี่อาจจะเป็นข้อดีข้อเดียวใน FTA ไทย-ออสเตรเลีย ที่ไม่บังคับไทยเข้าระบบอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก (International Centre for Settlement of Investment Disputes: ICSID) แต่เลือกใช้ระบบอนุญาโตตุลาการชั่วคราวของสหประชาชาติ (UNCITRAL) ที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศยังสามารถกลับมาทบทวนความถูกต้องก่อนมีคำสั่งบังคับคดีได้
นอกจากนั้น หน่วยราชการของไทยยังควรเริ่มกระบวนการทบทวนความตกลงระหว่างประเทศด้านการลงทุนที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ เพื่อตัดกลไก ISDS และความคลุมเครือของการตีความถ้อยคำในเนื้อหาความตกลงออกไป ดังที่หลายประเทศ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น
ขณะที่ในระดับโลก การขึ้นมาเป็นประธานของ G77 ของเอกวาดอร์ในปีนี้น่าสนใจและน่าจะสร้างสีสันในการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างมาก เพราะนอกเหนือจากการผลักดันให้มีองค์กรโลกบาลว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเพื่อเอาผิดกับนักลงทุนขี้ฉ้อที่มักไปสร้างบริษัทจำลองนอกแผ่นดินตัวเอง (offshore companies) เพื่อหลบเลี่ยงภาษีแล้ว รัฐบาลของ คาร์ลอส คอร์เรอา (Rafael Correa) ผู้นำฝ่ายซ้ายที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเอกวาดอร์อีกสมัย ก็ประกาศชวน G77 จะผลักดันเอาผิดกับนักลงทุนที่ทำลายและทำร้ายชุมชน จากเดิมที่มีแต่การเป่าหูว่า ต้องคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เอกวาดอร์ประกาศว่า ถึงเวลาต้องคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นจากการลงทุนเลวๆ ของนักลงทุนต่างชาติได้แล้ว
waymagazine.org เคยนำเสนอเนื้อหาสาระและที่มาที่ไปของกลไก ISDS หลายชิ้น ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ISDS: ขูดเลือดไทยไปคุ้มครองนักลงทุน
อ้างอิงข้อมูลจาก: waymagazine.org
manager.co.th
posttoday.com
bangkokbiznews.com
thaipublica.org
theguardian.com
ftawatch.org
bilaterals.org
Clip: ISDS กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน
Minibook: ISDS รักนะนักลงทุน นิยายรักฉบับไม่เห็นหัวประชาชน