ข่าวที่ไม่เป็นข่าวทั้ง 25 ข่าว เป็นการต่อยอดงานวิจัยที่เริ่มขึ้นในปี 1976 โดย ศาสตราจารย์คาร์ล เจนเซน (Carl Jensen) และทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐโซโนมา (Sonoma State University) ก่อนจะขยายโครงการไปทั่วอเมริกาเหนือในนาม ‘Project Censored’ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ
ก่อนจะมาเป็น 25 ข่าวที่ไม่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลัก กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา โดยข่าวสารหลายร้อยชิ้นจะถูกรวบรวมจากนักศึกษาในชุมชนมหาวิทยาลัย 283 แห่ง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 24 คนจาก 15 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ
ข่าวที่เข้ารอบจะถูกคัดสรรโดยศาสตราจารย์และนักศึกษาในโครงการ Project Censored รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ เกณฑ์การพิจารณาหลักคือ ความสำคัญ นำเสนอได้โดยไม่มีกรอบเวลา แหล่งข่าวมีคุณภาพน่าเชื่อถือ ขอบเขตการรายงานข่าวครอบคลุม เรื่องที่ผ่านการพิจารณาจะถูกโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ในฐานะ Validated Independent News stories (VINs) หรือ ข่าวอิสระที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
และนี่คือ 25 ข่าวประจำปี 2019 ทั้งการล้วงลูกของรัฐบาลสหัฐ การใช้ Big Data และโซเชียลมีเดียสอดส่องควบคุมประชาชน และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องราวเหล่านี้มีความสำคัญ แต่กลับไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก
1. กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐพุ่งเป้าไปที่การทำงานของสื่อมวลชน
เอริค โฮลเดอร์ (Eric Holder) อดีตรัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐ ส่งบันทึกในปี 2015 ถึงสำนักงานความมั่นคง กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถสั่งให้ศาลออกคำสั่งภายใต้กฎหมายข่าวกรองต่างชาติ (Foreign Intelligence Surveillance Act: FISA) เพื่อตรวจสอบการสนทนาของสื่อมวลชน สำนักข่าว และองค์กรสื่อต่างๆ
2. เฟซบุ๊คกับการเป็นเครื่องมือของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
ภายใต้สโลแกนการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ หรือ fake news เพื่อป้องกันประชาธิปไตยของสหรัฐจากอิทธิพลของต่างชาติ ในปี 2018 เฟซบุ๊คได้ร่วมมือกับ Atlantic Council หน่วยงาน think tank ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก NATO และ National Democratic Institute และ International Republican Institute หน่วยงานของรัฐจากยุคสงครามเย็น ทำให้รายงานข่าวหลายชิ้นระบุว่า หน่วยงานเหล่านี้ แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย กลับร่วมกันเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างๆ โดยมีเฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐ
3. กลุ่มชนพื้นเมืองในแอมะซอนร่วมปกป้องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การพัฒนาอุตสาหกรรมกวาดพื้นที่แอมะซอน ป่าฝนสำคัญของโลก ไปจำนวนมาก ด้วยความกังวลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังถูกทำลายจากการทำกำไรและนโยบายทางการเมือง กลุ่มชนพื้นเมือง 500 คนจาก 9 ประเทศจึงรวมตัวกันในนาม Coordinator of the Indigenous Organizations of the Amazon River Basin (COICA) เพื่อร่วมปกป้องพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตและวัฒนธรรม ครอบคลุมผืนป่า 700,000 ตารางไมล์ (ราว 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร) หรือขนาดเท่าประเทศเม็กซิโก
4. อุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระลอกใหญ่ถึง 120,000 ล้านตัน
บริษัทน้ำมันและแก๊สของสหรัฐได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 120,000 ล้านตัน จากรายงานในเดือนมกราคม 2019 ขององค์กร Oil Change International ที่ทำงานด้านมูลค่าที่แท้จริงของเชื้อเพลิงฟอสซิลและสนับสนุนพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเหล่านี้จะสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากที่สุดในโลกภายในปี 2050
5. การค้าทาสยุคใหม่ในสหรัฐและทั่วโลก
จากรายงานในปี 2018 ของ Global Slavery Index ระบุว่า ปี 2016 มีผู้คนราว 403,000 คนในสหรัฐต้องใช้ชีวิตและมีสภาพความเป็นอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ทาสยุคใหม่’ และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยนิยาม ‘ทาสยุคใหม่’ นั้นไม่ใช่แค่การบังคับใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงการบังคับให้แต่งงานอีกด้วย
6. การป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศและกับความผิดฐานก่ออาชญากรรม
ปี 2004 ซินเทีย บราวน์ (Cyntoia Brown) ในวัย 16 ปี ถูกติดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต จากการสังหารชายผู้พยายามข่มขืนเธอ และในเดือนมกราคม 2019 หลังจากรับโทษไป 15 ปี ผู้ว่าการรัฐเทนเนสซี บิลล์ ฮาสลัม (Bill Haslam) ได้อนุมัติปล่อยตัวเธอ เนื่องจากคดีนี้เป็นเรื่อง “น่าเศร้าและซับซ้อน” เพื่อคืนโอกาสให้กับ ซินเทีย บราวน์ ได้สร้างชีวิตตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่ข้อมูลจากองค์กร Survived and Punished ระบุว่า หลายครั้งที่การป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศทำให้ผู้หญิงตกเป็นจำเลย และในความเป็นจริง ยังมีคนแบบ ซินเทีย บราวน์ อยู่ในเรือนจำอีกจำนวนมาก
7. การล่วงละเมิดทางเพศเด็กในค่ายผู้อพยพ
รายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยชิ้นระบุว่า ตั้งแต่ปี 2014 เมื่อเยาวชนผู้อพยพมีจำนวนสูงขึ้น ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กขึ้นในค่ายผู้อพยพ โดยรายงานของ ProPublica ในปี 2018 ระบุว่า ตลอดการเก็บข้อมูล 6 เดือน พบว่า ในค่ายผู้อพยพนั้นมีด้านที่ไม่มีใครมองเห็นซ่อนอยู่ โดยผู้กระทำมีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้อพยพด้วยกัน
8. หญิงอเมริกันกับอาชญากรรมการทำแท้ง
ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์กำลังเสี่ยงต้องโทษจำคุกหากมีการทำแท้ง แม้แต่การคลอดบุตรที่เสียชีวิตในครรภ์ เนื่องจากศาลสูงสุดเตรียมยกเลิกกฎหมายที่เรียกว่า ‘Roe v. Wade’ ซึ่งให้สิทธิผู้หญิงในการตัดสินใจทำแท้ง บทความของ นาโอมิ แรนดอล์ฟ (Naomi Randolph) ใน Ms. Magazine ฉบับปี 2019 ระบุว่า การทำแท้งอาจเป็นความผิดทางอาญา เพราะกฎหมายในหลายรัฐนิยามทารกในครรภ์ว่าเป็นเสมือน ‘บุคคล’ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของผู้เป็นแม่
9. ประชากรโลก 2,000 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงยารักษาโรค
บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้มเหลวที่จะตอบสนองเรื่องยาในประเทศกำลังพัฒนา สำนักข่าว Guardian รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยการอ้างอิงของมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยา (Access to Medicine Foundation: AMF) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาที่จำเป็น เช่น วัคซีนป้องกันอหิวาต์ ยารักษาซิฟิลิส ประมาณการณ์ว่า ผู้คนราว 2,000 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นและขาดแคลนการรักษาอย่างเร่งด่วน
10. เพนตากอนสอดส่องโซเชียลมีเดียเพื่อพยากรณ์การประท้วง
ในความเป็นจริง การใช้ Big Data ของเพนตากอนมีไว้เพื่อทำการเฝ้าระวังโซเชียลมีเดีย ทำนายและเตรียมรับมือเหตุรุนแรง การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบในตะวันออกกลาง แต่ นาฟีซ อาเหม็ด (Nafeez Ahmed) รายงานกับ Motherboard ในเดือนตุลาคม 2018 ว่า เพนตากอนกลับใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อสำรวจว่า กำลังจะมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นที่จุดไหนในประเทศ
11. กลุ่มนิยมผิวขาวสุดโต่งในสหรัฐเดินทางไปฝึกการรบกับกองกำลังฟาสซิสต์ในยูเครน
ขณะที่รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เหตุผลด้านภัยก่อการร้ายห้ามให้ชาวอิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซีเรีย และเยเมน เดินทางเข้าประเทศ แต่กลุ่มขวาจัด นิยมผิวขาวสุดโต่ง กลับเดินทางไปกลับระหว่างสหรัฐและยูเครนได้อย่างสบายๆ โดยข้อมูลจาก MintPress News และ The Hill รายงานว่า กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางไปฝึกการรบร่วมกับกองกำลังนีโอนาซี Azov Battalion
12. เครือข่าย 5G กับความกังวลผลกระทบต่อสุขภาพ
ในโลกยุคใหม่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งจากหลายช่องทางผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงขึ้น หลังจากที่เราใช้บริการ 4G โลกโทรคมนาคม ได้ให้บริการการรับส่งข้อมูลในย่านความถี่สูงขึ้นและมีความเร็วมากขึ้น คือ 5G อย่างไรก็ตาม 5G ต้องใช้ระบบเสาส่งสัญญาณไร้สายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Radiation: RFR) จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
13. Dead Zone ในอ่าวเม็กซิโกเกิดจากของเสียในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
บริเวณที่เรียกว่า เป็นเหมือน dead zone ในอ่าวเม็กซิโก เกิดจากการปนเปื้อนของปุ๋ยที่ใช้ในการปศุสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ทั้งในเท็กซัส โอกลาโฮมา ไอโอวา แคนซัส และเนบราสกา บริเวณนั้นมีออกซิเจนเพียงน้อยนิด จนไม่เพียงพอสำหรับสัตว์น้ำ โดย dead zone กินพื้นที่ 8,000 ตารางไมล์ (ประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร) จากรายงานของ Guardian และ Truthout เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกมีต้นเหตุมาจากบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีนโยบายด้านการจัดการของเสียและมลภาวะที่ดีพอ
14. FBI จับตาผู้ชุมนุมรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การชุมนุมต่อต้านบริษัทน้ำมัน BP ที่อินเดียนา เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้หยุดการใช้พลังงานฟอสซิล ในปี 2016 เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย 350.org ซึ่งเกิดขึ้นจากประชาชนกว่า 30,000 คน ใน 6 ประเทศ รวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้รณรงค์เรื่องสภาพอากาศ และจากเหตุการณ์นี้ มีผู้ชุมนุมอย่างสงบหลายรายถูกสกัดจับขณะกำลังเดินทางไปร่วมชุมนุม
15. รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ กับการคุกคามกฎหมายสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์
กฎหมายสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (The Endangered Species Act: ESA) ออกมาเพื่อปกป้องพืชและสัตว์ท้องถิ่นกว่า 1,600 สายพันธุ์ในสหรัฐ แต่กฎหมายกำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 มีรายงานว่า กฎหมายหลายฉบับถูกเสนอสู่สภาคองเกรส เพื่อถอดสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ออกจากรายชื่อการคุ้มครองของกฎหมาย ESA
16. การพังทลายของพื้นทะเลกับหายนะของอุตสาหกรรมน้ำมัน
หายนะน้ำมันรั่วไหลฉาบผิวหน้าอ่าวเม็กซิโกในปี 2010 ของ BP Deepwater Horizon ถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของท้องทะเล ซึ่ง เอียน อาร์. แมคโดนัลด์ (Ian R. MacDonald) รายงานไว้ใน The Conversation เดือนมีนาคม 2019 ว่า การรั่วไหลครั้งนั้นเกิดจากการถล่มของโคลนใต้มหาสมุทร ทำให้ท่อของบริษัทขุดเจาะน้ำมันเสียหายชนิดที่ยากจะหยุดยั้งได้
17. อดีตผู้ต้องขังจำนวนมากต้องเผชิญวิกฤติการว่างงาน
จากรายงานในปี 2018 ของ Prison Policy Initiative พบว่า ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกจากเรือนจำต้องประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างหนักในการหางานทำ การศึกษาของนักสังคมวิทยา ลูเชียส คูเลาเทอ (Lucius Couloute) จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซ็ตส์ (University of Massachusetts) และ แดเนียล คอปฟ์ (Daniel Kopf) ผู้สื่อข่าวจาก Quartz พบว่า อดีตผู้ต้องขังราว 27 เปอร์เซ็นต์ต้องกลายเป็นคนว่างงานหลังพ้นโทษออกมา
18. กลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในแอฟริกาตะวันตก
กุมภาพันธ์ 2019 New Humanitarian เผยแพร่รายงานสาเหตุและผลที่ตามมาของความรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ภาคเหนือของแคเมรูน ภาคเหนือและกลางของมาลี และทางภาคใต้ของไนเจอร์ ข้อมูลนี้มาจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม และแยกแยะออกมาเป็นปัจจัยด้านต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว
19. การเซ็นเซอร์สารคดีเปิดโปงล็อบบียิสต์ของ Al Jazeera
สารคดีชิ้นหนึ่งเป็นการเปิดเผยอิทธิพลเบื้องหลังของอิสราเอลต่อการเมืองสหรัฐ แต่ก่อนจะถูกเผยแพร่ รัฐบาลกาตาร์ได้ถอดสารคดีชิ้นนี้ไปจาก Al Jazeera เนื่องจาก Al Jazeera เป็นสื่อที่รัฐบาลให้ทุนสนับสนุน แต่ในเดือนสิงหาคม 2018 มีเนื้อหาที่เคยถูกเซ็นเซอร์หลุดออกมาสู่สาธารณะ และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์หลายแห่ง เช่น Electronic Intifada รวมถึง Orient XXI ของฝรั่งเศส และ Al-Akhbar ของเลบานอน
20. นักวิทยาศาสตร์เร่งการฟื้นตัวของแนวปะการังด้วยกระแสไฟฟ้า
อลิซ ไคลน์ (Alice Klien) รายงานไว้ใน New Scientist เมื่อเดือนกันยายน 2018 ว่า แนวปะการังที่เสียหายจากอุตสาหกรรมประมงและระบบนิเวศที่ถูกทำลายจะมีอัตราการฟื้นตัวช้า ทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ Reef Ecologic ทดลองใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นการฟื้นตัวจากความเสียหายของแนวปะการัง และพบว่า อัตราการฟื้นตัวของปะการังเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติถึง 4 เท่า
21. การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจป้องกันโรงเรียน
ในสหรัฐ ระหว่างมกราคม 2015 – มีนาคม 2019 เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียน 97 ครั้ง ใน 31 รัฐ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 ราย ในเดือนมกราคม 2019 ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งให้มีการใช้ School Resource Officers (SRO) หรือตำรวจที่คอยปกป้องนักเรียนในโรงเรียนบางแห่ง แต่กลับมีการเปิดเผยจาก YES! Magazine ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับการสุ่มตรวจ และมีรายงานการล่วงละเมิดเด็กนักเรียน ราวกับว่าพวกเขาเป็นอาชญากร
22. ความรุนแรงในสถานพินิจแคลิฟอร์เนีย
หลังจากการตรวจสอบสถานพินิจแคลิฟอร์เนียตามคำสั่งศาลสิ้นสุดลง ซาแมนธา ไมเคิลส์ (Samantha Michaels) รายงานกับ Mother Jones ถึงข้อดีของการตรวจสอบครั้งนี้ว่า มีเยาวชนถูกจับเข้ามาน้อยลง แต่ข้อมูลที่อ้างอิงจากรายงาน ‘Unmet Promises’ โดย Center on Juvenile and Criminal Justice ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสถานพินิจแคลิฟอร์เนียดูเหมือนจะเลวร้ายมากขึ้น
23. โครงการอาหารกลางวันที่เสมอภาคมากขึ้น
อาหารกลางวันของโรงเรียนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จากการรายงานของ คอร์ชา วิลสัน (Korsha Wilson) ใน YES! Magazine เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ระบุว่า เขตการศึกษาทั่วประเทศต้องจ่ายค่าอาหารกลางวันราว 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ตาม องค์กรอย่าง Farm to School Network และ Wholesome Wave กำลังสร้างระบบอาหารใหม่เพื่อทำให้อาหารกลางวันในโรงเรียนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
24. ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ วิกฤติใหญ่ของชาว Millennials
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองบอกว่า คน Gen Y ทำอะไรตามใจ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่คิดถึงอนาคต เหมือนคนไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ นักสังคมวิทยา วิคเตอร์ ตัน เฉิน (Victor Tan Chen) อธิบายว่า วิกฤติที่จะทำให้ Millennials ประสบปัญหาเศรษฐกิจ คือความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางชนชั้น
25. Google กับการล้วงข้อมูลส่วนตัว
กูเกิลได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการวิจัยการตลาดกับการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวบางลง โดยกูเกิลได้ทำการสำรวจความเห็นผ่าน Google Opinion Rewards ทั้งใน Android และ iOS โดยมีการแจกรางวัล แลกกับ ‘ความยินยอม’ บางอย่าง ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลในเว็บเบราเซอร์ของผู้ใช้งาน