จับสัญญาณอิหร่าน ภายใต้ประธานาธิบดี ซัยยิดอิบรอฮีม ราอิซี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 จบลงไปด้วยผลชัยชนะขาดลอยของ ซัยยิดอิบรอฮีม ราอิซี ส่งผลให้ดุลอำนาจการเมืองภายในอิหร่านสลับขั้วโดยสมบูรณ์ ทั้งอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ นับเป็นการสิ้นสุดลงของการครองอำนาจราว 8 ปีเต็ม ของปีกการเมืองขั้วปฏิรูปนิยม (اصلاح ‌طلبان; เอสเลาะฮฺ ฏอลาบอน; the Reformists) และแทนที่ด้วยปีกการเมืองสายหลักการนิยม (اصول گرایان; อูซุล เฆะรอยอน; the Principlists)

ผ่านมาราว 1 สัปดาห์ให้หลัง สัญญาณแนวโน้มต่างๆ ของอิหร่านค่อนข้างบ่งชี้ทิศทางชัดเจนขึ้นมาก บทความชิ้นนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อสรุปความเข้าใจพื้นฐานต่อการเมืองอิหร่าน พร้อมกับชี้ถึงสัญญาณแนวโน้มทางการเมืองระยะต่อไปของอิหร่านภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ และภายใต้ปีกการเมืองสายหลักการนิยม

หลักการนิยม vs. ปฏิรูปนิยมในการเมืองอิหร่าน

พลวัตการเมืองอิหร่านปัจจุบันเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มการเมืองอันหลากหลาย ซึ่งรวมตัวกันด้วยจุดยืนทางการเมืองเป็นแนวร่วมปีกการเมือง 2 ปีกหลักๆ คือ ปีกหลักการนิยม หรือ ‘ฝ่ายขวา’ กับปีกปฏิรูปนิยม หรือ ‘ฝ่ายซ้าย’ ในทางการเมืองอิหร่าน

ปีกหลักการนิยม มีจุดยืนสำคัญตรงตามชื่อคือ การยึดมั่นและรักษาไว้ซึ่งหลักการ คำว่า ‘หลักการ’ ในที่นี้ก็หมายถึง หลักการแห่งอิสลามและหลักการแห่งการปฏิวัติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เมื่อ ค.ศ. 1979 นั่นเอง โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนแนวทางอิสลามการเมือง (Political Islam) อิสลามนิยม (Islamism)[1] และบทบาทของผู้นำสูงสุดทางสังคมการเมืองบนหลักการวิลายะตุล ฟะกีฮฺ (Wilayat Faqih)[2] ดังนั้น มวลชนของปีกหลักการนิยมจึงมักแข็งขันในการต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก การสนับสนุนขบวนการต่อสู้ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ในโลกมุสลิม และสำหรับการเมืองภายในประเทศ พวกเขามีแนวโน้มจะยึดมั่นในทางนำของท่านอิมามโคมัยนี เกี่ยวกับการบูรณาการหลักการอิสลามเข้ากำกับกระบวนการทางการเมืองในแบบฉบับของสาธารณรัฐ พร้อมกับเชื่อฟังอิมามคามาเนอีในฐานะผู้นำสูงสุด รวมทั้งนักการศาสนาชั้นสูง ในการวินิจฉัยให้แนวทางการดำเนินชีวิตทางการเมืองในประเด็นต่างๆ 

ในแง่นี้แล้ว ท่าทีทางการเมืองของปีกหลักการนิยม จึงมิใช่การอนุรักษ์จารีตของเก่าจากเมื่อ ค.ศ. 1979 เอาไว้โดยไม่ปรับเปลี่ยน แต่กุมความยืดหยุ่นปรับตัวไปตามบริบทของยุคสมัยเอาไว้ได้โดยอาศัยสภาผู้นำสูงสุดและสถาบันของนักการศาสนา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกุม (قم; Qom) เป็นกลไกสำคัญในการสืบสาน ส่งต่อ และปรับประยุกต์มรดกทางความคิดที่ท่านอิมามโคมัยนีวางเอาไว้ให้กับระบบการเมืองอิหร่านหลังปฏิวัติสาธารณรัฐอิสลาม

กระนั้นก็ดี ปีกหลักการนิยมก็ประกอบไปด้วยหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างระหว่างกันในรายละเอียด ตั้งแต่เฉด ‘ฮาร์ดคอร์’ ซึ่งต่อต้านตะวันตกอย่างแข็งกร้าว ไม่ยอมประนีประนอม และเน้นความเป็นอิสระพึ่งพาตนเองของประเทศ เฉดที่ให้น้ำหนักกับการหนุนบทบาทนักการศาสนาและหลักการอิสลามในทางการเมือง ไปจนถึงเฉดที่บูรณาการแนวคิดทางอิสลามกับความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก โดยให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ตลอดจนเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคม เช่น พรรคนักคิดสมัยใหม่แห่งอิหร่านอิสลาม หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พรรคนูอันดีชาน (نواندیشان; Modern Thinkers Party of Islamic Iran) 

ส่วน ปีกปฏิรูปนิยม มุ่งเน้นปฏิรูปอิหร่านไปในทิศทางบูรณาการชุดมโนทัศน์สมัยใหม่ เข้าประกอบไว้เป็นคุณค่าของสังคมการเมืองที่ยังคงยึดโยงอยู่บนพื้นฐานของหลักการอิสลามให้มากขึ้น อาทิ มโนทัศน์เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นพลเมือง เสรีภาพ ความเสมอภาค ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เรียกโดยสรุปได้ว่า แนวทางหลักของปีกปฏิรูปนิยม ก็คือ การผสานเอาหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยกับอิสลามเข้าด้วยกัน โดยให้น้ำหนักกับการเพิ่มระดับอำนาจของประชาชนในการกำหนดทิศทางทางการเมือง ข้อเสนอเหล่านี้ในฐานะแนวทางการปฏิรูปประเทศ ถูกนำเสนอขับเคลื่อนอย่างเป็นจริงเป็นจังในช่วงประธานาธิบดีโมฮัมหมัด คอตามี (Mohammad Khatami; ค.ศ. 1997-2005) ซึ่งดำรงสถานะเป็นผู้นำทางความคิดของมวลชนและกลุ่มการเมืองหลักๆ ในปีกปฏิรูปนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และมีกรุงเตหะราน โดยเฉพาะแวดวงวิชาการที่รายรอบมหาวิทยาลัยเตหะรานเป็นศูนย์กลางสำคัญ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สองปีกการเมืองนี้มิได้แยกเป็น ‘ซ้าย’ กับ ‘ขวา’ ชนิดที่ว่าจะมานั่งจิบชากันไม่ได้ ตรงกันข้าม บางเฉดของแต่ละสายก็สามารถจะทำงานร่วมกัน หรือสลับตำแหน่งยืน มาเล่นในอีกฝั่งได้อย่างไม่เคอะเขิน ดังปรากฏให้เห็นในการเมืองอิหร่านช่วงที่ผ่านๆ มาเป็นปกติ

หากเราย้อนกลับมาตั้งต้นทำความเข้าใจว่า คุณค่าอันเป็นหลักการพื้นฐานค้ำยันโครงสร้างการเมืองของอิหร่านนั้น เป็นส่วนผสมกันระหว่างหลักการอิสลามว่าด้วยระบอบวิลายะตุล ฟะกีฮฺ[3] กับหลักการความเป็นสาธารณรัฐ หลักการแรกมีสถาบันของนักการศาสนาเป็นกลไกดำเนินการหลัก ส่วนหลักการที่สอง มีประชาชนเป็นจุดอ้างอิงและตัวกระทำการสำคัญ

พอตั้งต้นเช่นนี้ก็สามารถกล่าวอย่างกระชับในเบื้องต้นได้ว่า ปีกการเมืองสองสายในการเมืองอิหร่านต่างยึดโยงอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างสองหลักการดังกล่าวด้วยกันทั้งคู่ แต่ปีกหลักการนิยมมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับหลักการแรก คือ วิลายะตุล ฟะกีฮฺ และการปฏิรูปปรับตัวของหลักการนี้ตลอดทั้งสถาบันนักการศาสนาในบริบทของเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนปีกปฏิรูปนิยมให้น้ำหนักกับหลักการที่สอง คือ ความเป็นสาธารณรัฐ โดยมุ่งเพิ่มอำนาจและสถานะของประชาชนในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้น การที่นักวิชาการตะวันตกใช้อีกคำหนึ่งเรียกแทนแนวทางทางการเมืองของปีกหลักการนิยมว่า ‘อนุรักษนิยม’ ตามประสบการณ์และความเข้าใจทางการเมืองแบบตะวันตกก็จึงผิดฝาผิดตัว เพราะบริบทแตกต่างกัน ครั้นหันมาพิจารณาปีกปฏิรูปนิยม ก็มิได้มีความหมายไปในทำนองการมุ่งเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตกโดยสะเด็ดน้ำ

ทั้งสองปีกการเมืองยังวางตัวอยู่บนหลักการความคิดพื้นฐานร่วมกัน คือ ดุลยภาพระหว่างอิสลามกับสาธารณรัฐ อุดมการณ์ของการปฏิวัติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อครั้ง ค.ศ. 1979 จึงยังคงเป็นทางนำทางความคิดของทั้งสองปีกการเมืองในบางเรื่องที่แสดงให้เราเห็นอย่างเด่นชัด

ตัวอย่างที่ดีคือ ทั้งปีกหลักการนิยมและปฏิรูปนิยมต่างมีจุดยืนร่วมกันต่อการยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องปาเลสไตน์และปฏิเสธความสัมพันธ์กับอิสราเอล ข้อนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทั้งสองแนวทางคิดไม่แตกต่างกัน

อีกประการคือ ทั้งสองปีกการเมืองต่างเห็นพ้องว่า ต้องกลับเข้าสู่การเจรจาเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์กับชาติตะวันตก อันเป็นเงื่อนไขที่จะปลดล็อคปัญหาหลายอย่างของอิหร่าน ต่างกันเล็กน้อยแค่ว่า ปีกหลักการนิยม โดยตัวแทนที่ถูกส่งเข้าชิงตำแหน่งและขึ้นเป็นประธานาธิบดีในที่สุด คือ ซัยยิดอิบรอฮีม ราอิซี กล่าวไว้ในบางช่วงตอนของรายการดีเบตทางโทรทัศน์กับผู้แข่งขันรายอื่นในทำนองที่แปลเป็นสำนวนของผู้เขียนก็คือว่า …กับพวกเคี่ยวๆ แบบชาติตะวันตกเหล่านี้ (โดยอาจยกเว้นจีนกับรัสเซียเอาไว้) การเจรจาต้องทำโดยสายแข็งทัดเทียมกันแบบปีกหลักการนิยม มิใช่พวกอ่อนปวกเปียกซึ่งจะล้มเหลว ดังที่ปีกปฏิรูปนิยมเคยได้โอกาสทำและทำไม่สำเร็จมาแล้วในช่วงประธานาธิบดีรูฮานีที่ผ่านมานั่นเอง

นัยของตัวเลข: จับสัญญาณการเมืองอิหร่านระยะต่อไปผ่านผลเลือกตั้ง

ดังที่กล่าวไว้ในช่วงต้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ค.ศ. 2021 จบลงด้วยชัยชนะถล่มทลายของ ซัยยิดอิบรอฮีม ราอิซี แต่ตัวเลขในการเลือกตั้งก็น่านำไปวิเคราะห์ต่อ เพราะสะท้อนสัญญาณอันน่าสนใจ หากเราไล่เลียงดูเป็นลำดับดังนี้ว่า ซัยยิดราอิซีคว้าคะแนนมาได้ทั้งสิ้นราว 18 ล้านเสียง เหนือกว่าผู้แข่งขันรายอื่นๆ ที่ได้รับคะแนนกันอยู่ระหว่าง 9.9 แสนถึง 3.4 ล้านเสียงเท่านั้นเอง อันนับเป็นช่องว่างที่ทิ้งห่างกันมาก กระนั้น 17.9 ล้านเสียงของประธานาธิบดีอิหร่านท่านใหม่ก็ได้มาจากผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 28.9 ล้านคนเท่านั้น จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอิหร่านที่มีอยู่จริงทั้งหมดราว 59 ล้านคน ตัวเลขนี้บ่งชี้ให้เห็นอัตราการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือ turn out เพียงแค่ 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่การปฏิวัติสาธารณรัฐอิสลามเมื่อ ค.ศ. 1979

ในแวดวงวิชาการและสื่อของอิหร่าน มีการวิเคราะห์สาเหตุของตัวเลขดังกล่าวกันหลายทิศทาง ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นผลของสาเหตุเหล่านั้นผสมกัน หนึ่งคือ การจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านเท่าใดนัก สองคือ การจงใจเตะตัดขาโดยกลไกรัฐภายใต้รัฐบาลรักษาการของประธานาธิบดีรูฮานี ซึ่งเป็นปีกปฏิรูปนิยม เช่น นักวิเคราะห์บางท่านให้ทัศนะว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยในหลายเขตเลือกตั้งออกมารอใช้สิทธิ์กันตั้งแต่ 8 โมงเช้า แต่กว่าที่รัฐจะพร้อมและอนุญาตให้เข้าไปทำการเลือกตั้งได้ก็ล่วงมาเกือบเที่ยงวันเสียแล้ว คนเหล่านั้นโดยเฉพาะผู้มีอายุจึงพากันกลับบ้านไปเสียมาก และสาเหตุที่สามคือ การคว่ำบาตรการเลือกตั้งจากแนวร่วมกลุ่มการเมืองและมวลชนสายปฏิรูปนิยม ด้วยมองว่า การตัดสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไปจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้ง อิสหาก ญาฮันกีรี (Eshaq Jahangiri) รองประธานาธิบดีของรัฐบาล รูฮานี อาลี ลารีญานี (Ali Larijani) ประธานรัฐสภา และมาฮฺมูด อะฮฺหมัดดิเนญาด (Mahmoud Ahmadinejad) อดีตประธานาธิบดี ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็น ‘หวยล็อค’ มาจากผู้นำสูงสุด ซึ่งประกันชัยชนะรอไว้ให้กับซัยยิดราอิซีไปแล้ว

ข้อครหาดังกล่าวทั้งมีและไม่มีน้ำหนักไปพร้อมกัน นักวิชาการบางท่าน เช่น อาจารย์อนุชา เกียรติธารัย มองว่า หากแม้คุณสมบัติของบุคคลดังที่กล่าวมาผ่านการอนุมัติของสภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่าน (شورای نگهبان; ชูรอเยะฮฺ เนะกะฮฺบอน) แต่ปัญหาและความล้มเหลวเช่นในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ การจัดการปัญหาเศรษฐกิจ และการระบาดของโควิดในช่วงรัฐบาลรูฮานีที่ได้รับโอกาสมายาวนานถึง 8 ปีแล้วนั้น ก็ส่งผลให้โมเมนตัมทางการเมืองสวิงมาทางปีกอนุรักษนิยมอยู่แล้ว ขณะที่บุคคลดังรายชื่อที่กล่าวมา ณ เวลาปัจจุบัน ก็ไม่อยู่ในระดับที่ทาบรัศมีกับตัวแทนปีกอนุรักษนิยมอย่างซัยยิดราอิซีได้[4] ขณะที่ ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด แสดงทัศนะว่า แม้คะแนน 18 ล้านเสียง ของซัยยิดราอิซีจะพ่วงไว้ด้วยจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแค่ 28.9 ล้านคน แต่หากเทียบคะแนนที่ผู้ชนะได้รับในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 4 ครั้งหลังสุด คือ ค.ศ. 2005, 2009, 2013 และ 2017 โดยกำหนดอย่างง่ายให้จำนวนประชากรที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีค่าคงที่ จะพบว่า พิสัยของคะแนนที่ทำให้ผู้แข่งขันชิงบัลลังก์ประธานาธิบดีได้จะอยู่ระหว่างราวๆ 17.2-24.5 ล้านเสียง ในแง่นี้ 18 ล้านเสียงของซัยยิดราอิซีจากผู้ออกมาใช้สิทธิ์แค่เท่าที่ปรากฏนั้น ก็นับว่าไม่ได้น้อยจนน่าเกลียดดังที่บางกลุ่มครหา[5]

แม้ข้อวิเคราะห์เหล่านี้จะฟังขึ้นอย่างยิ่ง อีกด้านหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า ขณะที่ซัยยิดราอิซีได้คะแนนแบบทิ้งห่างคู่แข่งขันรายอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น กระนั้นก็ดี กลุ่มของจำนวนคะแนนที่มาเป็นอันดับ 2 กลับเป็นคะแนนของบัตรเสียและบัตรเปล่าที่ไม่กาให้กับใคร อันมีจำนวนทั้งสิ้นราว 4.1 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 14 ของคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้งหนนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนตีความว่า ส่วนใหญ่ของบัตรเสียนี้เป็นความตั้งใจแสดงจุดยืน ‘no vote’ ให้กับระบอบการเมืองอิหร่าน[6] เป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเมืองอิหร่านระยะต่อไป และได้สร้างฉันทานุมัติทางการเมืองที่กว้างขวางกว่ากระบวนการเลือกตั้ง อันเป็นโจทย์ซึ่งประธานาธิบดีซัยยิดราอิซีต้องลงแรงมากขึ้น ดังที่ท่านก็ได้ตระหนักและทำให้เห็นผ่านการประกาศแนวทางทางการเมืองตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการนั่งหารือกับอดีตประธานาธิบดีรูฮานีเพื่อร้อยกรองงานระหว่างกันให้ต่อเนื่อง ทั้งการริเริ่มแนวทางอันเป็นมิติใหม่ทางการเมือง คือ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งเห็นสมควรจะเข้ามาร่วมรัฐบาลเพื่อให้ท่านพิจารณาทาบทาม

โจทย์ที่รอท้าทายความสามารถประธานาธิบดีคนใหม่

นอกจากการจัดการกับแรงเสียดทานทางการเมืองภายในส่วนหนึ่งแล้ว โจทย์ความท้าทายสำคัญที่รอพิสูจน์ฝีมือประธานาธิบดีซัยยิดราอิซีอยู่ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลสำคัญมาจากการฟื้นคืนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อันมีผลเชิงลบรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกน้ำมัน ซึ่งอิหร่านมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดต่ออิหร่านในการทำธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศ อันรวมถึงการเจรจาการค้าและรูปแบบการชำระเงินระหว่างอิหร่านกับไทยในสินค้าต่างๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกันด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวที่ต่อมาถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 บั่นทอนศักยภาพทางการค้า การลงทุน และการเงินของอิหร่านอย่างมาก ดังสะท้อนออกมาในตัวเลขการถดถอยของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการตกต่ำลงของค่าเงินเรียลอิหร่าน ที่ส่งผลสืบต่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงและการออมภายในประเทศลดลง ซึ่งยิ่งย้อนกลับมาบ่อนทำลายไม่เพียงการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นระบบเศรษฐกิจอิหร่านทั้งระบบ และทำให้เป็นการเพิ่มระดับปัญหาเศรษฐกิจเดิมที่ดำรงอยู่แล้วภายในประเทศ คือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในวงกว้าง

ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวผูกโยงใกล้ชิดกับความท้าทายประการถัดมา คือ การกลับเข้าสู่วงเจรจาภายใต้กรอบของแผนปฏิบัติการรอบด้านร่วมกัน (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการหาข้อยุติร่วมกับชาติมหาอำนาจในประเด็นดังกล่าว เพราะจะเป็นการปลดล็อคเงื่อนไขของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายฉบับ ทั้งในกรอบสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลผูกมัดครอบคลุมไปยังประเทศคู่ค้าของอิหร่านอย่างกว้างขวางด้วย เพราะสหรัฐอเมริกาในยุคของทรัมป์ประกาศว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลต่อประเทศเหล่านั้นด้วย ถ้าหากบริษัทเอกชนของประเทศนั้นทำธุรกรรมกับอิหร่าน

กระนั้น อิหร่านเองก็มีทางเลือกอันหลากหลายต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ต้องปลดล็อค ‘นิวเคลียร์ดีล’ เช่น การเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายใน ทั้งในแง่การเติบโตและการกระจายความเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการหล่อเลี้ยงภายในระบบเอง โดยอาศัยจุดแข็งจากขนาดพื้นที่ ประชากร และทรัพยากรที่ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใด ส่วนเงินลงทุนที่จะขับเคลื่อนระบบพึ่งพาตนเองดังกล่าวให้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งขึ้น เราอาจเห็นเค้าลางนี้ได้จากการบรรลุข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระยะ 25 ปี ระหว่างอิหร่านกับจีน ผู้เป็นคู่ค้าและผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ ข้อตกลงดังกล่าวอันมุ่งเน้นไปที่การขยับขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างเข้มข้นกว้างขวาง ได้ลงนามกันไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 นี้เอง โดยเป็นไปตามการเสนอของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อครั้งเยือนกรุงเตหะรานใน ค.ศ. 2017

ไม่บ่อยครั้งนักที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเยือนประเทศใดด้วยตนเอง บ่งชี้ชัดเจนว่าอิหร่านมีสถานะอันสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์เพียงใดสำหรับจีน

การคลี่คลายโจทย์ท้าทายทางด้านเศรษฐกิจอันผูกโยงอยู่กับการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ จะเป็นตัวการสำคัญในการพิสูจน์ความสามารถของประธานาธิบดีซัยยิดราอิซี ซึ่งน่าสนใจจับตาดูอย่างใกล้ชิดมาก

บริบทระหว่างประเทศเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้การเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไม่ง่ายที่จะหาข้อยุติได้ในเร็ววัน แม้ทั้งอิมามคามาเนอีผู้นำสูงสุด ประธานาธิบดีซัยยิดราอิซี กลุ่มการเมืองภายในแทบทุกกลุ่ม รวมทั้งสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน จะเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำก็ตาม ดังที่เราจะพบการแสดงออกของประธานาธิบดีซัยยิดราอิซีว่า สหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเสียก่อน เพื่อแสดงความจริงใจในการจะเจรจากับอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศในทางกลับกันว่า จะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ถ้าอิหร่านไม่หยุดการพัฒนาเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมก่อน

การเจรจาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจึงดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเกมวัดใจกันอยู่ในขณะนี้


อ้างอิง

[1] นิยามของอิสลามการเมือง และอิสลามนิยม รวมไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม โปรดดู, อาทิตย์ ทองอินทร์. ขบวนการรัฐอิสลาม. นนทบุรี: สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2559. น.74-78.

[2] โปรดดูนิยามอย่างกระชับใน บทความตอนที่แล้ว

[3] ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาอิสลามและอิหร่านศึกษา ให้นิยามคำแปลภาษาไทยไว้ว่า ‘ปราชญาธิปไตย’ ดังปรากฏในงานหลายชิ้นของท่าน อาทิ

[4] โครงการเสวนาวิชาการออนไลน์ ‘ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ค.ศ. 2021’ ตอนที่ 3 หัวข้อ ‘เส้นทางสู่ถนนปาสเตอร์: จับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ค.ศ. 2021’ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 โดยโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, https://www.youtube.com/watch?v=AyaRTc22_hM.

[5] โครงการเสวนาวิชาการออนไลน์ ‘ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ค.ศ. 2021’ ตอนที่ 4 หัวข้อ ‘อิหร่านภายใต้ประธานาธิบดีซัยยิดราอิซี’ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 โดยโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, https://www.facebook.com/100000595686222/videos/4737692106260599/.

[6] โครงการเสวนาวิชาการออนไลน์ ‘ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน ค.ศ. 2021’ ตอนที่ 4 หัวข้อ ‘อิหร่านภายใต้ประธานาธิบดีซัยยิดราอิซี’ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 โดยโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, https://www.facebook.com/100000595686222/videos/4737692106260599/

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า