เขย่าโครงสร้างอำนาจนิยมในสถานศึกษา

ตลอดหลายทศวรรษที่การศึกษาไทยถูกครอบด้วยกฎเกณฑ์จนเกิดเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่เด็กไทยไม่กล้าแม้แต่จะแตกแถว แต่ในปี 2566 นับเป็นปีที่การศึกษาไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นลูกใหม่ที่ถาโถมเข้ามาและสั่นคลอนกฎระเบียบที่ล้าหลัง เป็นปีที่คนรุ่นใหม่ได้เรียกร้องให้การศึกษาไทยปรับเปลี่ยนจากจารีตเก่าๆ เพื่อสิทธิและเสรีภาพกันมากขึ้น

โครงสร้างอำนาจนิยมที่คอยกดทับเด็กไทยมานาน เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับถูกท้าทายโดยเหล่าคนรุ่นใหม่ หนึ่งในกฎเกณฑ์ที่ถูกสั่นคลอนมากที่สุดคือ ยกเลิกกฎทรงผมและเครื่องแบบในสถานศึกษา โดยมีการเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ที่มองว่าทรงผมและเครื่องแบบไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา จนเกิดแคมเปญต่างๆ ขึ้นมากมายเพื่อผลักดันให้นักเรียนและนักศึกษามีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น

WAY ได้รวบรวมเหตุการณ์การท้าทายต่อระบอบอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่เกิดขึ้นในปี 2566 เพื่อตอกย้ำถึงการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอำนาจเก่าที่ถูกท้าทายโดยเหล่าคนรุ่นใหม่ แม้บางเหตุการณ์จะยังไม่สุดปลายทาง แต่ก็นับว่าสร้างแรงกระเพื่อมต่อบรรดาผู้มีอำนาจในระบบการศึกษาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

มกราคม: หมดยุคผมเกรียน 3 ด้าน 

กฎระเบียบเรื่องทรงผมและเครื่องแบบในสถานศึกษา นับเป็นอำนาจนิยมรูปแบบหนึ่งที่ตีกรอบเด็กไทยให้ต้องยอมจำนนอยู่ในกรอบ โดยกฎทรงผมและเครื่องแบบเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนานหลายสิบปีตั้งแต่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ได้เขียนบทความวิพากษ์ความเป็นไทยเกี่ยวกับระเบียบทรงผมและเครื่องแบบ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ที่ได้ยื่นข้อเสนอ 11 นโยบายปฏิรูปการศึกษา ถึงกระทรวงศึกษาธิการ หรือกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่ได้จัดกิจกรรมเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เคารพสิทธิมนุษยชนของเด็กมากขึ้น 

ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ จากเสียงเรียกร้องจากเด็กไทยที่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎทรงผม ซึ่งพ่วงมาด้วยบทลงโทษที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งหนังสือหารือไปยังสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา และกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานสถานศึกษานำไปปฏิบัติได้

16 มกราคม 2566 ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามยกเลิกระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้างๆ เพื่อให้สถานศึกษานำระเบียบหลักเกณฑ์ไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับ โดยได้ร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษา ดังนี้

  1. การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
  2. สถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้

กุมภาพันธ์: มัธยมวัดธาตุทอง โรงเรียนก้าวหน้า

21 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองออกประกาศระเบียบทรงผมนักเรียน ให้นักเรียนเลือกทรงผมได้ตามเพศวิถีของตน แต่ห้ามย้อมผม ห้ามไว้หนวดเครา และห้ามกระทำการอื่นที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นนักเรียน โดยนักเรียนชายและเพศวิถีชายสามารถไว้ผมสั้นหรือผมยาวได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นความยาวที่เหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงและเพศวิถีหญิงสามารถไว้ผมสั้นหรือผมยาวได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม รวบผมและติดโบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองให้เรียบร้อย

มิถุนายน: เครื่องแบบไม่ได้ชี้วัดผลการศึกษา

มาถึงช่วงกลางปี 13 มิถุนายน 2566 เกิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘หยก’ ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนที่เคยถูกต้องขังคดี 112 ได้ถูกโรงเรียนไล่ออก หนึ่งในเรื่องที่ได้รับการถกเถียงกันมากที่สุดคือ ประเด็นเครื่องแบบนักเรียน ก่อนหน้านี้หยกเคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เธอใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนพร้อมกับย้อมสีผมและทำทรงผมที่สะดวก 

“การแต่งกายและทรงผมมันไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียนของเรา” 

พร้อมกับระบุว่าสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือโครงสร้างการศึกษาไทย ทำให้ทางโรงเรียนได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน เช่น ไม่แต่งกายด้วยชุดนักเรียน หรือทำสีผม เป็นต้น ซึ่งทำให้โลกโซเชียลแตกออกเป็นสองฝั่งและเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในเชิงสนับสนุนว่า “การที่น้องหยกย้อมสีผมและแต่งตัวชุดธรรมดาไปเรียนหนังสือ เป็นการกระทำบนเรือนร่างของตนเอง เธอไม่ได้ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าสิ่งที่เธอทำขัดต่อกฎเกณฑ์ของโรงเรียนและครูยึดกฎเกณฑ์มากกว่ายึดหลักสิทธิมนุษยชนของนักเรียน”

ตรงกันข้ามกับโพสต์ของ แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงว่า การกระทำของหยกเป็นผลมาจากการเสพข่าวและรับสารทางการเมืองของลัทธิคลั่งเสรีภาพแบบก้าวร้าวสุดโต่งของพรรคการเมืองหนึ่งที่มองทุกอย่างในสังคมไทยในแง่ลบ พร้อมกับเผยว่า แม้เสรีภาพจะเป็นสิ่งสวยงาม แต่ถ้ามุ่งทำลายระบบและค่านิยมที่ช่วยรักษาระเบียบวินัยก็จะนำไปสู่ความแตกแยกที่รุนแรง 

ตุลาคม: ธรรมศาสตร์ขานรับเสรีภาพการแต่งกาย

21 ตุลาคม 2566 เพจสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เซ็นประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องแนวทางการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ. 2566 กำหนดนิยามว่าการแต่งกายแบบใดถือว่าไม่สุภาพ เพื่อลดช่องโหว่ในการตีความของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ. 2564 โดยประกาศอธิการบดี มีใจความดังนี้

  • ข้อ 1 ประกาศนี้ เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวทางการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ. 2566”
  • ข้อ 2 การแต่งกายในลักษณะต่อไปนี้ ถือเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อย
    (1) การแต่งกายในลักษณะที่ก่อให้เกิดการรบกวนสมาธิของบุคคลอื่นในการเรียน การสอบ และการเข้ารับบริการอื่นจากส่วนงานของมหาวิทยาลัย
    (2) การแต่งกายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน เจ้าหน้าที่คุมสอบหรือบุคลากรผู้ให้บริการ เช่น การแต่งกายที่ไม่สามารถระบุตัวตนหรือไม่สามารถตรวจสอบการกระทำทุจริตของนักศึกษาได้

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มีกฎบังคับให้นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบเข้าเรียน และสามารถใส่ชุดไปรเวตได้ เพียงแต่ขอให้เป็นชุดสุภาพเท่านั้น ซึ่งประกาศดังกล่าวนับเป็นการระบุถึงความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องแบบในสถานศึกษา สอดคล้องกับที่สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พยายามผลักดันเรื่องเสรีภาพในการแต่งกายของตัวนักศึกษาเอง

พฤศจิกายน: ยกเลิกบังคับแปรอักษร 

อีกหนึ่งเรื่องอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกจากกระแสความคิดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คือเรื่องแปรอักษรในงานจตุรมิตรครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยได้มีการรณรงค์ #ยกเลิกบังคับแปรอักษร จากนักกิจกรรมบางส่วน มีการติดป้ายกระดาษ ใช้ป้ายผ้า หรือป้ายไวนิลแขวนตามจุดต่างๆ รวมถึงมีการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐและรัฐสภา

เนื้อหาข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1) ยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้นแปรอักษร นักเรียนต้องสมัครใจเอง 2) จัดให้มีเวลาพักระหว่างแปรอักษร สามารถไปเข้าห้องน้ำหรือพักเบรกได้ตามสมควร 3) จัดสวัสดิการให้นักเรียนที่ขึ้นแปรอักษร เช่น ครีมกันแดด เป็นต้น และทางกลุ่มผู้รณรงค์ยังแจ้งอีกว่า หากปีนี้มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการแปรอักษร เช่น พบว่าถูกบังคับ หรือเจ็บป่วยจากการขึ้นแปรอักษร และประสงค์จะเอาเรื่อง ทางกลุ่มผู้รณรงค์จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

กีฬาสีจตุรมิตรเป็นประเพณีร่วมกันระหว่าง 4 โรงเรียน ได้แก่ สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ใน 4 โรงเรียน มีเพียง 2 โรงเรียนเท่านั้นที่ตอบสนองต่อการเรียกร้องนี้ คือ เพจนักเกรียน สวนกุหลาบ และเพจนักเกรียน เทพศิรินทร์ โดยเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ และยืนยันว่าไม่ได้มีการบังคับขืนใจให้ขึ้นสแตนด์ แต่เป็นการหากิจกรรมหรือรางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจแทน

แม้จะไม่ได้มีการยกเลิกการแปรอักษรหรือกีฬาสี แต่การรณรงค์ดังกล่าวก็นับเป็นการสั่นคลอนจารีตประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน ให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามยุคสมัยและกระแสความคิดของสังคมที่ให้สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่าการบังคับขืนใจ 

พฤศจิกายน: รณรงค์ยกเลิกบังคับชุดนิสิตในรั้วจุฬาฯ 

14 พฤศจิกายน 2566 ภาคีนิสิตจุฬาฯ เพื่อสิทธิและเสรีภาพผลักดันแคมเปญ ‘ยกเลิก บังคับ ชุดนิสิต’ โดยมีเป้าหมายให้การสวมชุดนิสิตและชุดไปรเวตเป็นไปด้วยความสมัครใจของตัวนิสิตเองโดยไร้ซึ่งการบังคับ เนื่องจากในการเข้าสอบที่ผ่านมายังมีการบังคับให้ต้องแต่งชุดนิสิตอยู่ โดยอาจารย์บางรายไม่อนุญาตให้สวมชุดไปรเวตเข้าสอบ ทำให้นิสิตบางรายต้องขาดสอบเพียงเพราะไม่ได้สวมชุดนิสิต ซึ่งนับว่ายังคงเป็นปัญหาที่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพด้านการแต่งกายในรั้วมหาวิทยาลัย

ภาคีนิสิตจุฬาฯ ได้เสนอว่า ชุดนิสิตเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่นิสิตต้องแบกรับ ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรได้รับอย่างเท่าเทียม จึงได้ผลักดันแคมเปญ ‘ยกเลิก บังคับ ชุดนิสิต’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการสวมชุดนิสิตหรือชุดสุภาพได้ตามความสมัครใจของนิสิต ทั้งในช่วงเวลาเรียนและช่วงเวลาสอบ

ใจความสำคัญในการผลักดันระเบียบการแต่งกายฉบับใหม่ที่ภาคีนิสิตจุฬาฯ เพื่อสิทธิและเสรีภาพพยายามผลักดัน มีดังต่อไปนี้

  1. นิสิตทุกคณะสามารถแต่งกายด้วยชุดสุภาพทั้งในการเข้าเรียน การสอบ การเข้าร่วมกิจกรรมของคณะ ฯลฯ โดยไม่เป็นการรบกวนผู้อื่นระหว่างการทำกิจกรรมนั้นๆ
  2. การแต่งกายชุดสุภาพนั้นสามารถระบุตัวตนและตรวจสอบสถานะความเป็นนิสิตได้
  3. หากเกิดความจำเป็นในการสวมเครื่องแบบนิสิตในรายวิชานั้นๆ ผู้สอนจะต้องทำหนังสือแจ้งก่อนการเปิดภาคเรียนเพื่อให้คณบดีเป็นผู้พิจารณา

แม้แคมเปญดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญที่นิสิตพยายามผลักดันเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแต่งกาย ซึ่งนับเป็นการเขย่าโครงสร้างอำนาจนิยมในสถานศึกษา และอาจจะเป็นไปในทิศทางที่ดีต่ออนาคต 

ที่มา:

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า