ความเท่าเทียมทางเพศ เขย่าสังคมชายเป็นใหญ่

‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เป็นหนึ่งในประเด็นท้าทายสังคมไทยมาตลอด และดูเหมือนผู้คนจะเริ่มตระหนักรู้ในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าอคติทางเพศจะหมดไปเสียทีเดียว 

ตลอดปี 2566 เรื่องราวที่เป็นสับเซ็ตของความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงเกิดขึ้น ขณะที่สังคมก็ค่อยๆ educate เรียนรู้ ปรับตัว โต้กลับค่านิยม ขนบ และจารีตเดิมๆ ที่กดทับความเท่าเทียม แปรเปลี่ยนเป็นความยอมรับ และพยายามทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ละทิ้งอคติทางเพศ หลายคนกล้าที่จะลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวให้โลกได้รับรู้ว่า สังคมไทยยังคงมีความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่

WAY รวบรวมเรื่องราวความเคลื่อนไหวในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2566 ที่บางสิ่งบางอย่างเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่กับบางสิ่งบางอย่างก็ดูเหมือนจะต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อสู้กับจารีตเก่า และในที่สุดแล้วโครงสร้างและค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ซึมลึกอยู่ทุกซอกทุกมุมของทุกบริบทชีวิต ก็เริ่มถูกเขย่าให้สั่นคลอนด้วยการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้เอง 

ความก้าวหน้าของสัดส่วนระหว่างเพศในสภา

ข้อมูลจากสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) พบว่าในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ด้วยสัดส่วนผู้หญิง 96 คน คิดเป็น 19.20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน สส. ทั้งหมด

ต่อมา สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้ลาออก จึงได้มีการเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาแทน ซึ่งถูกแทนที่ด้วย สส. ชายทั้ง 2 ที่นั่ง จำนวน สส. หญิงในสภาจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 94 คน คิดเป็น 18.80 เปอร์เซ็นต์ 

ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเตรียมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อโดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเทียมกันระหว่างชายหญิงด้วย

หากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนของ สส. ผู้หญิงหลังการเลือกตั้งคิดเป็น 15.80 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อครบสมัยมีสัดส่วนคิดเป็น 16.63 เปอร์เซ็นต์ ก็คงจะนับได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านสัดส่วนทางเพศของนักการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่อีกหนึ่งโจทย์ที่ยังไม่ถูกตอบคือ บทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูง ที่ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมากทั่วทั้งโลก แม้ว่าจะมีการเรียกร้องกันอยู่เสมอก็ตาม

Bangkok Pride Parade ประกาศให้โลกรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ

4 มิถุนายน 2566 นับเป็นปีที่ 2 ของการจัดงาน ‘Bangkok Pride 2023’ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับหลายหน่วยงาน ภายใต้แนวคิด Beyond Gender เรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน 

งาน Bangkok Pride 2023 ขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญ เพื่อขยายให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ได้แก่ การรับรองเพศสภาพ สมรสเท่าเทียม สิทธิของ sex worker และสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQ+ 

งานในปีนี้จัดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกต ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สื่อหลายสำนักให้แสงกับตัวแทนพรรคการเมืองที่มาร่วมเดินขบวนและประกาศจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ มากกว่าที่จะให้น้ำหนักกับขบวนพาเหรดของผู้คนที่ต้องการเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ 

WAY ได้รวบรวม ‘เสียงของประชาชน’ ที่ถือป้ายเรียกร้องบอกกล่าวความรู้สึกนึกคิด และความต้องการในขบวนพาเหรด ซึ่งมีทั้ง ‘อย่าโปรโมตซีรีส์วายในไพร์ดพาเหรด’ ‘Not All Disabilities Are Visible ความพิการมีมากกว่าแค่ตาเห็น’ ‘สื่อทำร้ายฉันอย่างไร’ และ ‘INCLUDE ASEXUAL โปรดโอบอุ้ม ASEXUAL’

ทวงคืนกางเกงให้ทนายความหญิง

อีกหนึ่งหมุดหมายที่ดี ที่เรียกได้ว่าเป็นการเขย่าค่านิยมหรือขนบธรรมเนียมเดิมในแวดวงนักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยข้อบังคับใหม่ของสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ในประกาศราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้ทนายความหญิงแต่งกายแบบสากลนิยมในการว่าความได้ 

ในเนื้อหาระบุว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 และมาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 โดยให้ทนายความหญิงแต่งกายตามแบบสากลนิยม กระโปรงหรือกางเกงขายาวสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นๆ ซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด โดยมีรูปแบบที่เหมาะสม เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง หรือกางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย

ประเด็นเรื่องสิทธิการแต่งกายหรือเสรีภาพเหนือร่างกาย เป็นสิ่งที่ทนายความหญิงอย่าง ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ต่อสู้เรียกร้องมาตลอด เพราะที่ผ่านมาทนายความหญิงมักถูกตำหนิเพียงเพราะการสวมกางเกง บางกรณียังถูกศาลสั่งให้ลุกขึ้นยืนเพื่อตรวจสอบการแต่งกาย แม้จะเป็นการว่าความผ่านระบบออนไลน์ และบางกรณีถึงขั้นมีคำสั่งให้ทนายความหญิงเปลี่ยนกางเกงไปสวมกระโปรง มิเช่นนั้นเธอจะไม่อาจทำหน้าที่ว่าความต่อได้

ภัยคุกคามทางเพศ 

เอาแค่ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศในปีนี้ ถ้าให้ชำแหละออกมาเป็นชิ้นๆ คงจะนับได้ไม่ถ้วน อย่างที่ชาวเน็ตแซวกันว่า ‘พระโคกินชายแท้’ ที่สามารถพูดกันได้ตลอดทั้งปีไม่มีเขินปาก ไม่ต้องกลัวว่าจะเชย

ในที่นี้เลยอยากจะขอกล่าวถึงเคสที่เห็นกันชัดๆ โต้งๆ อย่างเช่นกรณีการคุกคามทางเพศของ สส. พรรคก้าวไกล ทั้ง นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี และ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กรุงเทพมหานคร ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติขับออกจากพรรคในวันที่ 1 และ 7 พฤศจิกายน 2566 ตามลำดับ

กรณี ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ถูกเปิดโปงว่ามีพฤติกรรมคุกคามจิตใจ ด่าทอผู้อื่นด้วยถ้อยคำหยาบคาย ลดทอนศักดิ์ศรี จนทำให้เหยื่อรู้สึกไม่เหลือความเป็นมนุษย์ จนเกิดกระแส call out เรียกร้องให้ผู้กระทำผิดแสดงความรับผิดชอบ และท้ายที่สุด นายอาจวรงค์ จันทมาศ ได้ออกมาโพสต์ข้อความขอโทษและยอมรับผิด แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ ลวนลาม หรือการข่มขืนกระทำชำเรา

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดกรณีนักวาดการ์ตูนชื่อดัง เจ้าของคาแรคเตอร์ ‘น้องมะม่วง’ อย่าง ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร ที่มีอดีตผู้ร่วมงานออกมาเปิดเผยว่าถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาโพสต์ขอโทษผู้เสียหาย เพราะไม่อาจทานกระแสวิจารณ์จากสังคม

10 ธันวาคม 2566 หญิงสาวอายุ 17 ปี เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ว่าถูก สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยเหรียญทองโอลิมปิก กระทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศในโรงแรมแห่งหนึ่ง หลังออกจากสถานบันเทิงในจังหวัดขอนแก่น คืนวันที่ 9 ธันวาคม ขณะที่สมรักษ์ระบุว่า ไม่ได้ล่วงละเมิดทางเพศหรือบังคับขืนใจแต่อย่างใด และพร้อมสู้คดี โดยคดีความดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป

เป็นข่าวต่อเนื่องข้ามปี สำหรับ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลอาญายกฟ้อง 2 ข้อหา คือ อนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากคดีขาดอายุความ และยกฟ้องข้อหาพรากผู้เยาว์ เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน ทว่า สังคมยังคลางแคลงใจหลังศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว 

ความหวังในกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ในรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกผลักดันและได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยในปี 2565 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล และฉบับที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2566 รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายที่พิจารณาค้างไว้เป็นอันต้องตกไป 

จนกระทั่งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 ธันวาคม 2566 มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งหมด 4 ร่าง ในวาระแรก ได้แก่

  1. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน เสนอในนามภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม เป็นการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กร โดยใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเกิน 10,000 รายชื่อ
  2. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับ สส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับที่เคยเสนอในสภาชุดก่อนในปี 2562
  3. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม เสนอโดย ครม. ซึ่งแต่เดิมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ภายหลังเปลี่ยนทิศทางมาผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมแทน 
  4. ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับ สส. พรรคประชาธิปัตย์ 

ผลการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทุกฉบับ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาหลักคือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สิทธิแก่ทุกเพศในการเข้าถึงการสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน มิใช่จำกัดเฉพาะการสมรสระหว่างเพศชาย-หญิง เท่านั้น

ที่มา: 

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า