ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์: กางเกง ทนายความ รัฐประหาร และการเป็นแม่

‘กางเกงไม่ใช่สัญลักษณ์ของเพศชาย และกระโปรงไม่ใช่สัญลักษณ์ของเพศหญิง’ 

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับประโยคนี้หรือไม่ ข้อหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การแต่งกาย เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง

การตำหนิติเตียนว่ากล่าวจากสังคมถือว่าเบาบางลงมากในปัจจุบันที่การแต่งตัวในชีวิตประจำวันไร้ข้อกำจัดทางเพศ แต่สำหรับอาชีพ ‘ทนายความ’ การใส่กางเกงไปศาลของทนายความผู้หญิง กลับถือเป็นเรื่องผิดมหันต์ตามทรรศนะของศาล ทนายความหญิงยังคงถูกตำหนิ เพียงเพราะการสวมกางเกง มิใช่กระโปรง บางกรณีถูกสั่งให้ลุกขึ้นยืนเพื่อตรวจสอบการแต่งกาย แม้จะเป็นการว่าความผ่านระบบออนไลน์ และบางกรณีถึงขั้นมีคำสั่งให้ทนายความหญิงเปลี่ยนจากการสวมกางเกงเป็นการใส่กระโปรง มิเช่นนั้นเธอจะไม่อาจทำหน้าที่ว่าความต่อได้

เราตั้งใจว่ามาคุยกับ ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความอิสระและสมาชิกกลุ่มสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในประเด็นนี้โดยตรง เธอคือหนึ่งในผู้ผลักดันแคมเปญ #ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล ที่เริ่มต้นโดยกลุ่ม Nitihub และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศศินันท์มองว่า ระเบียบมรรยาททนายความ ข้อที่ 20 ซึ่งระบุถึงการแต่งกายของทนายความหญิงไว้ว่า “แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” นั้น ขัดกับหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น การสวมใส่กางเกงก็ไม่ได้ลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของนักกฎหมายแต่อย่างใด 

บทสนทนาระหว่าง WAY กับ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เลยเถิดอย่างตั้งใจ ดังที่เธอเปรยขึ้นว่า “ชีวิตของเธอเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง” เส้นเรื่องที่ซับซ้อนและอุปสรรคอันสาหัสไม่ต่างจากหนังที่เร้าอารมณ์คนดูได้ไม่ยาก ต่างแต่เพียงว่า นี่คือเรื่องจริง …เรื่องจริงของทนายความหญิงที่ไม่อาจทนอยู่เฉยกับความไม่สมเหตุสมผลในประเทศที่หาเหตุหาผลได้ยากจนน่าฉงน หญิงสาวที่เลือกเรียนกฎหมายใน บรรยากาศและห้วงเวลาที่จิตใจของสตรียังคงถูกครหาว่าอ่อนแอเกินกว่าจะยืนระยะได้ในวงการที่เหมาะแก่ชายชาญ 

ครั้นได้เป็นทนายความสมใจ เธอกลับถูกการรัฐประหารในปี 2557 หักอก กฎหมายในตำราเรียนไร้ความหมายเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจอันไม่ชอบธรรม ปีแล้วปีเล่าที่เธอต้องตามหาลูกความที่ถูกจับกุมโดยมิชอบจากคดีทางการเมือง ยืนยันสิทธิของเขาจนเสียงแหบเเห้ง และต่อสู้กับการซ้อมทรมานที่ลูกความต้องเผชิญ

เธอคือนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ขณะที่สามีคือตำรวจหนุ่มไฟแรงที่รักในงานสืบสวน แต่แล้ววันหนึ่ง เขากลับถูกส่งไป ‘ธำรงวินัย’ เป็นเวลา 9 เดือน ข้อหาขัดขืนการโอนย้ายหน่วยงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา 

เธอกลายเป็นทนายความที่ต้องต่อสู้เพื่อลูกความที่ถูกลิดรอนสิทธิซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความปลอดภัยของสามี ขณะเดียวกัน เธอคือนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ร่วมกันเพดานจากการถูกกดทับ 

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่เราสนทนากับเธอ

เริ่มที่แคมเปญรณรงค์การใส่กางเกงไปศาลของทนายความหญิง ประเด็นนี้เป็นปัญหาอย่างไร และสำคัญขนาดไหน

จริงๆ แคมเปญนี้มีมาสักพักหนึ่งแล้ว รุ่นน้องหลายคนรู้ว่าเราสนับสนุนเรื่องการใส่กางเกงมาตลอด เพราะเราใส่กางเกงไปศาลเป็นประจำอยู่แล้ว มันสะดวกเวลาโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ การขึ้นคร่อมได้ แบกกระเป๋าก็สะดวกกว่าการใส่กระโปรง เราเลยพยายารณรงค์การใส่กางเกงโดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน เราต้องทำให้เห็นว่ากางเกงสามารถใส่ให้เรียบร้อยได้ ใส่ให้ดูสุภาพได้ เลยมีแคมเปญนี้ขึ้นมา ตอนนั้นได้รายชื่อประมาณ 6,000 กว่าๆ 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราไปศาลตามปกตินี่แหละ แล้วรุ่นน้องทนายความที่ใส่กางเกงเหมือนกันก็มาบอกเราว่า “โดนศาลว่ามาอีกแล้ว” เราก็บอกว่าเราเคยทำหนังสือถึงสภาทนายความไปแล้วนี่ แต่สภาทนายความกลับบอกว่า ไม่ได้บอกว่าจะแก้ข้อบังคับการแต่งกายให้ แต่ไม่ได้มีข้อห้าม เพียงแต่บอกว่าผู้หญิงควรสวมใส่อะไร

พอไม่มีข้อห้าม เราก็คิดว่าเรื่องนี้คงจบแล้ว เราคงสามารถใส่กางเกงได้ ปรากฏว่าน้องทนายที่โดนต่อว่าเขาก็อ้างอิงถึงหนังสือของสภาทนายความดังกล่าว แต่ผู้พิพากษาท่านนั้นกลับบอกว่า ตามระเบียบของเนติบัณฑิตยสภาการใส่ครุยของสภาของทนาย คุณจะต้องใส่กระโปรงในการใส่ครุย คุณจะอ้างหนังสือของสภาทนายความไม่ได้ เพราะว่ามันมีกฎของเนติบัณฑิตยสภาอยู่ ซึ่งน้องทนายเขาก็บอกว่า งั้นไม่เป็นไร แต่ขอไม่ใส่ครุยก็แล้วกัน เพราะถ้าใส่ครุยจะต้องใส่กระโปรงไง แต่น้องเขาใส่กางเกงมาแล้ว นี่คือความพยายามต่อสู้และยืนยันในสิทธิการใส่กางเกง 

อีกกรณีคือ เราได้ยินจากน้องทนายอีกคนหนึ่ง เขาบอกว่าโดนเหมือนกัน แล้วก็มีน้องทนายอีกท่านทักมาทาง Inbox Facebook ว่าโดนตำหนิ แล้วเขาก็ส่งตัวรายงานกระบวนพิจารณาคดีมาให้เลยว่า “เนี่ยขนาดออนไลน์นะพี่ ท่านยังให้ลุกขึ้นยืนเลยว่าใส่กระโปรงหรือเปล่า” พอเราเห็นรายงานกระบวนพิจารณาคดี เราโกรธมาก ขนาดว่าความออนไลน์ยังต้องใส่กระโปรง ถึงขั้นต้องลงในกระบวนพิจารณากำชับว่าต้องใส่กระโปรง เราก็เลยทวิตข้อความนี้ไปเรื่อยๆ สักปีกว่า ปรากฏว่ามีคนรีทวีตไปเยอะมาก เราเลยทำแคมเปญนี้ต่อเพื่อให้คนช่วยกันลงรายชื่ออีกครั้ง ไปยื่นรายชื่อกันเมื่อวาน (17 มิถุนายน 2565) ได้ประมาณ 16,000 รายชื่อ แล้วก็ไปยื่นที่เนติบัณฑิตยสภาอีกครั้งหนึ่ง โดยกลุ่ม Nitihub และกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

คนจำนวนหนึ่งอาจมองว่า ก็แค่ใส่กระโปรงให้ถูกระเบียบ ไม่เห็นจะยากตรงไหน สำหรับคุณแล้ว ‘กางเกง’ ที่กำลังเรียกร้องนี้ มีความหมายถึงอะไรบ้าง

ไม่ใช่แค่ชุดทนายความนะ อย่างชุดข้าราชการ หรือเครื่องแบบในอาชีพอื่นๆ ก็กรณีเดียวกัน ตอนที่เราทำแคมเปญแล้วทวิตไป มีคอมเมนต์เกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการครูผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ใส่กระโปรงเหมือนกัน แจมมองอย่างนี้ว่าในสังคมสมัยก่อน ผู้ชายส่วนใหญ่จะทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงก็จะอยู่บ้านเลี้ยงลูกต่างๆ นานา กฎระเบียบในยุคเก่าเขาอาจจะมองว่า ผู้หญิงจะต้องใส่กระโปรงถึงจะดูเรียบร้อย แต่ในยุคใหม่ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สามีภรรยาออกทำงานกันทั้งคู่ ยุคสมัยมันเปลี่ยนแล้ว แต่กฎหมายมันเปลี่ยนไม่ทัน

ฉะนั้นในเรื่องระเบียบแบบแผนมันก็มาจากยุคก่อนๆ ที่เราอาจไม่รู้ถึงสิทธิ์ของตัวเองในการที่จะใส่ชุดอะไรก็ได้ พอยุคสมัยมันเปลี่ยน คนทุกระดับเริ่มรับรู้ถึงสิทธิในการแต่งกายมากขึ้น ทั้งจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและข่าวสารบ้านเมือง อย่างตอนที่เราลุกขึ้นมาใส่กางเกง แล้วก็เห็นจากในซีรีส์เกาหลีและซีรีส์ฝรั่ง เราก็เห็นอัยการหรือทนายความผู้หญิงเขาใส่กางเกงแล้วมันดูเท่ ดูทะมัดทะแมง สะดวก ก็เลยคิดว่าเราควรจะมีสิทธิในการเลือกเสื้อผ้า ไม่ว่าจะกางเกงหรือกระโปรงก็ตาม 

อีกอย่างในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล หรือการอยู่ในบริเวณศาลใดๆ ก็ตาม แจมคิดว่าการแต่งกายมันเป็นองค์ประกอบเล็กมากที่จะแสดงให้เห็นถึงการเคารพหรือไม่เคารพอำนาจของศาลหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งการตอบโต้ของศาลก็มักจะบอกว่า “กฎระเบียบต่างๆ มีไว้เพื่อให้เราเคารพสถานที่” ตัวเราเองก็โดนตำหนิว่า คุณต้องเคารพสถานที่ คุณเป็นทนายความ มันเป็นกฎระเบียบ แต่แจมมองว่ากฎระเบียบบางอย่างมันต้องมีการแก้ไข 

มีคนบอกว่าเราเป็นคนชอบมีปัญหา บางคนก็บอกว่าเราทำให้มันดูเท่หรือเปล่า make the rule แต่เราไม่ได้มีปัญหากับทุกเรื่อง อย่างในกระบวนการพิจารณาคดี เราก็ว่าความตามกฎหมาย ตามที่เราเรียนมา แต่กับบางเรื่อง เช่น การใส่กางเกง เรามองว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลง หรืออย่างเรื่องรองเท้า เราก็เห็นด้วยว่าใส่คัทชูดีกว่ารองเท้าแตะ เพราะถ้าใส่สูทกับรองเท้าแตะมันก็ไม่เข้ากันใช่ไหม สุดท้ายคือ เราคิดว่าการเลือกแต่งตัวของแต่ละคนควรจะเป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้โดยไม่เกินขอบเขตแค่นั้นเอง

เมื่อเสื้อผ้าเป็นมากกว่าเครื่องแต่งกาย แต่หมายถึงเครื่องมือในการสะท้อนตัวตน สร้างความมั่นใจในการแสดงออก และส่งเสริมการทำกิจกรรมไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม หากเจาะจงลงในอาชีพทนายความ เสื้อผ้าและการแต่งกายมันหมายถึงอะไรบ้าง 

เราพูดตลอดว่าเป็นทนายความต้องมีความมั่นใจ เพราะการว่าความเป็นศิลปะ ถ้าทนายความไม่มีความมั่นใจ การถามความก็จะอยู่ในลำคอ งุ้งงิ้งๆ อย่างวันไหนที่เราต้องใส่กระโปรงไปว่าความ แค่ขยับเรายังต้องระวัง การที่เราจะต้องยืนว่าความ มันต้องแอคชั่นด้วยนะ ไม่ใช่การยืนเฉยๆ นิ่งๆ มันต้องมีท่าทางการเดินการคุย เราคิดว่าความมั่นใจสำคัญมากๆ ในอาชีพนี้ 

สมัยก่อนทนายผู้หญิงก็จะถูกมองว่า ว่าความได้ไม่เท่าผู้ชาย ตอนที่เราบอกพ่อว่าจะเรียนกฎหมาย พ่อก็บอกว่า เป็นผู้หญิงอย่าทำงานสายกฎหมายเลย มันไม่รุ่ง แกบอกว่า การว่าความเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าผู้หญิงไปว่าความคดีข่มขืนจะกล้าว่าความไหม ตอนนั้นเราค้านในใจอยู่ตลอดเวลา เราเลยเรียนกฎหมายอีกใบ ใบแรกเราเรียนบัญชีตามใจพ่อ 

เราไปทำงานด้านบัญชีประมาณปีหนึ่ง แล้วรู้สึกว่ามันไม่ตรงกับตัวเราเท่าไหร่ เลยตัดสินใจมาสอบใบอนุญาตว่าความตอนเรียนจบ จากนั้นก็เข้าสู่วงการทนายความ เข้ามาอยู่ในวงการสิทธิมนุษยชน เราเข้าโครงการที่เรียกว่า ‘อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ แล้วก็ทำเกี่ยวกับงานช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ตอนนั้น

ทำไมคุณถึงอยากทำอาชีพทนายความ มันสำคัญอย่างไร 

ภาพจำในวัยเด็ก เราเห็นคนที่ลำบากมาหาพ่อ มาขอบคุณที่ช่วยคดีมากมาย แล้วเราก็ถามพ่อว่า ทำไมเขาจะต้องมาขอบคุณ ทำไมต้องเอาผลหมากรากไม้มาให้เราทุกอาทิตย์เลย แล้วเราก็รู้สึกว่า ทนายความคงเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้จริงๆ 

อย่างกรณี ‘ห้วยคลิตี้’ พ่อเราเป็นหนึ่งในทีมทนาย ตอนนั้นคดีคลิตี้จะมีทนายจากกรุงเทพฯ กับทนายต่างจังหวัดมาทำงานร่วมกัน ตอนนั้นเรายังเด็ก พ่อจะชอบเอารูปมาให้ดูว่า เนี่ย ดูเด็กที่คลิตี้สิ เขาลำบากมากเลยนะ เขาต้องเจอสารพิษที่ทำให้มีปัญหาทางร่างกาย พ่อจะชอบเล่าให้ฟัง แล้วสอนเราว่าอย่าดูถูกคน ให้เรามีน้ำใจกับคนอื่น แล้วถ้าเรามีโอกาสช่วยคนอื่นได้ก็ควรจะช่วย เราเลยโตมาในครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว พอโตมาถึงรู้ว่า เออ พ่อเราแม่งสอนดีว่ะ ตอนนั้นเรามองว่าพ่อเท่ เราเลยอยากเป็นทนายความ เรามีพ่อเป็นแบบอย่างไง ถึงแม้พ่อจะมองว่าผู้หญิงเติบโตในสายงานนี้ยากก็ตาม

ความอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล คุณคิดว่านิสัยใจคอเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอะไร

เราคิดว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ พ่อเราเลี้ยงลูกโดยไม่มีโครงสร้างอำนาจเหมือนครอบครัวอื่นๆ พ่อให้อิสระในการคิดค่อนข้างเยอะ จะซื้ออะไรก็โหวตกัน หรือถ้าเราขอซื้ออะไร เขาก็จะถามเหตุผล 3 ข้อ ว่าทำไมต้องให้เงินไปซื้อ เขาพยายามฝึกให้เราใช้เหตุผลทุกครั้ง ฉะนั้นเวลาเจออะไรที่ไม่มีเหตุผล เราก็จะตั้งคำถามว่า มันต้องมีเหตุผลมารองรับเรื่องนี้สิ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็โพล่งขึ้นมา เราเลยกลายเป็นคนที่มีข้อโต้แย้งในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นประจำ ซึ่งประเทศนี้มันเยอะ

ปัจจุบันคุณพ่อมีความเห็นเรื่องผู้หญิงกับอาชีพทนายความอย่างไร 

เดี๋ยวนี้ภูมิใจลูกมาก พ่อภูมิใจมากค่ะ 

ได้คุยกับพ่อเรื่องแคมเปญการแต่งกายของทนายความหญิงบ้างไหม 

เพิ่งคุยกันอยู่เลย คือช่วงนี้เป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้งนายกสภาทนายความ ซึ่งปกติเราไม่ค่อยจะสนใจเลย เพราะสังเกตสิ คนที่ได้ก็หน้าเดิมๆ เราก็เลยมองว่ามันคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเริ่มเห็นประเด็นว่า สภาทนายความเขาไม่ยอมแก้ไขเรื่องนี้ให้เรา เราก็บอกพ่อว่า คนที่พ่ออยากให้หนูเลือก เขามีนโยบายเรื่องการสวมกางเกงไปศาลไหม เพราะรอบนี้หนูจะเลือกคนที่มีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศต่างๆ ที่เขาจะต้องแก้ไขให้เราด้วย

ในฐานะทนายความ คุณทำงานในประเด็นอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย

เรารู้สึกว่า คนตัวเล็กไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคมเท่าไหร่ เพราะถูกกดด้วยอะไรบางอย่างตลอดเวลา มีอยู่ช่วงหนึ่งเราทำประเด็นเกี่ยวกับรถบริการสาธารณะ เพราะเวลามีอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แล้วมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เราจะต้องทำหนังสือแจ้งสิทธิ์ไปให้คนบาดเจ็บหรือครอบครัวคนเสียชีวิต ให้เขารู้ว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง เช่น มีสิทธิใน พ.ร.บ.ขนส่งสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.ทั่วไปเกี่ยวกับการบาดเจ็บ ต้องเบิกค่ารักษาหรือการนอนโรงพยาบาลได้ แล้วเบิกได้วันละเท่าไหร่ หรือกรณีที่เสียชีวิต เขาต้องได้ค่าทำศพเท่าไหร่ หรือถ้ารถคันนั้นมีประกัน สามารถเรียกจากประกันได้เท่าไหร่ เราก็ส่งจดหมายไปถึงญาติผู้เสียชีวิตหรือคนที่บาดเจ็บโดยตรงเพื่อให้เขาได้สิทธิให้ไวที่สุด เพราะถ้าเราบอกช้า บางทีบริษัทประกันก็จะเข้าไปจัดการเลย ให้เซ็นรับนู่นนี่นั่น บางเคสที่เสียชีวิตได้แค่ 10,000 บาท เพราะเขาไม่รู้ว่าเขามีสิทธิได้เท่าไหร่ บางคนบาดเจ็บหูขาดแต่ได้เงินแค่หลักพัน ก็เพราะเขาไม่รู้สิทธิ ไม่มีใครแจ้งสิทธิเขา 

เรามีหน้าที่แจ้งสิทธิเขา และเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย เรียกตัวแทนผู้รับผิดชอบต่างๆ มาคุยกัน แล้วถ้าคุยกันไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ส่งฟ้องร้องดำเนินคดี ตอนนั้นเราฝึกงานแล้วทำประเด็นนี้อยู่ 1 ปี จากนั้นก็ออกมาเรียนเนติบัณฑิตจนจบ พอเรียนจบเราก็วางแผนว่าจะไปทำงานที่ Law firm เพื่อหาประสบการณ์เกี่ยวกับคดีทั่วไป ปรากฏว่าเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราเลยกลับสู่กระบวนการนักกฎหมายสิทธิอีกรอบหนึ่งที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

นับแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา การเป็นทนายความที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพาคุณไปพบเจออะไรบ้าง 

โห เปิดโลกของเรามาก เพราะทนายต้องทำทุกอย่าง ตอนนั้นกฎหมายแทบไม่เป็นกฎหมาย เรางงมาก เพราะเราย้ายมาจากงานด้านสิทธิผู้บริโภคที่ว่าความไปตามเอกสาร พอมาเจอคดีความทางการเมืองและกฎหมายสิทธิมนุษยชน เราอกหักนะ รู้สึกว่ามันไม่เห็นเหมือนที่เราเรียนมาเลย คุณนึกจะจับใครคุณก็เอาไปเลย แล้วเอาไปไว้ที่ไหนก็ไม่บอก มุมหนึ่งเรามองว่า หรือเป็นเพราะทหารเขาไม่เข้าใจกฎหมาย ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย คุณอุ้มเอาคนคนหนึ่งไปไว้ที่ไหนก็ไม่บอก พอทนายถามก็บอกไม่รู้ อย่างนี้มันคือการอุ้มหายเลยนะ มันคือการลักพาตัวเลยนะ ไม่ใช่อย่างที่ทหารชอบใช้คำว่า ‘เชิญตัว’

ตอนแรกเขาใช้คำว่า ‘รายงานตัว’ แต่สุดท้ายมันก็คือการเอาตัวไปโดยที่คุณไม่มีอำนาจ อย่างน้อยๆ ก็ต้องบอกหน่อยว่า เอาตัวเขาไปทำอะไร ข้อหาอะไร มันเบสิกมากนะ เหมือนเรื่องสิทธิของจำเลยในคดีอาญา สิทธิของผู้ต้องหาที่เราท่องอยู่บ่อยๆ สิทธิในการที่จะรู้ว่าเขาโดนคดีอะไร สิทธิในการรู้ว่าเขาจะเอาเราไปที่ไหน สิทธิในการที่เราจะได้บอกญาติ สิทธิที่จะได้ปรึกษาทนายความก่อน แต่การกระทำของทหารคือ การจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คุณต้องทำอะไรบ้างในฐานะทนายความสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร 

พอรัฐประหารปุ๊บ เราเกือบโดนจับก่อนเลยคนแรก เพราะเราไปชุมนุมที่หอศิลป์ กทม. 23 พฤษภาคม 2557 ตอนนั้นเราไปดูหนัง พอออกมาจากโรงหนัง เราก็งงว่าทำไมมันมืดจังเลย ไฟดับเหรอ แล้วก็ได้ยินเสียงพนักงานว่า รีบออกไปเลย รีบออกไปเลย มีกฎอัยการศึกแล้ว ซึ่งเราไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารอีกในยุคนี้ เราก็เลยไปหอศิลป์กันกับบรรดาเพื่อนๆ เราเห็นนักข่าวฝรั่ง เราก็เลยชูป้าย ทหารก็จะมาลากเราไป แต่เราตัวเล็กไง เลยวิ่งไปหลบหลังนักข่าว เลยไม่โดนจับ แต่เราเห็นว่ามีคนโดนจับ มีคนโดนทหารถือปืนลากไป เราก็รู้สึกว่าแบบนี้มันได้เหรอวะ ต่อหน้าต่อตาสื่อเยอะแยะคุณก็ยังลากไปแบบนั้น เรารู้สึกโกรธ ทำอะไรไม่ได้ เราก็เลยไปม็อบต่อ จนได้รับโทรศัพท์จากพี่ท่านหนึ่งว่า เราจะตั้งกลุ่มทนายขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่โดนจับจากการไปม็อบแล้วไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง 

จริงๆ สภาทนายความควรทำนะ แต่กลับอยู่ไหนไม่รู้ ก็เลยมีการตั้งกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นมา ประกอบกับเราเองที่รู้สึกโกรธอยู่แล้วด้วย ตอนนั้นเรามีตั๋วทนายแล้ว อาจารย์ของเราก็มักจะบอกว่า ห้ามเรียก ‘ตั๋ว’ เพราะมันฟังดูเหมือน ‘ตั๋ววัวตั๋วควาย’ เขาให้เรียกใบอนุญาต ซึ่งตอนรัฐประหาร เราได้ใบอนุญาตว่าความแล้ว ก็เลยปฏิเสธการทำงานที่ Law firm แล้วมาเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ทำงานที่หลากหลายมากขึ้น 

ที่คุณบอกว่า รู้สึกอกหักในกฎหมาย หมายถึงอะไร 

เอาแค่เรื่องโดนจับนะ คุณมีสิทธิ์อะไรมาเอาคนไปโดยที่ไม่บอกญาติเขา หรือการที่คุณลากคนไปกับพื้น คุณลากคนไปได้ยังไง ประชาชนนะ คุณเป็นทหาร คุณเป็นตำรวจ คุณไม่มีสิทธิ์ลากประชาชนแน่นอน ทำร้ายยิ่งไม่ได้ เอาแค่ประชาชนทั่วไปยังกระทำต่อกันแบบนี้ไม่ได้เลย แต่นี่คุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนะ 

จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็จะมีเรื่องเช่นว่า การไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่สิทธิการประกันตัวคือสิทธิพื้นฐานมากๆ เลยนะ เพราะตามกฎหมายเราต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การโดนจับไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องผิดเสมอไป อาจจะเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยหรืออาจเกี่ยวข้องกับคดี คุณต้องได้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งการประกันตัวเป็นปัญหามาตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้ว โดยเฉพาะในคดีที่เป็นปัญหา เช่น ข้อหามาตรา 112 

ในยุคแรกๆ นั้น ถ้าใครโดนจับด้วยมาตรา 112 ทำใจได้เลยว่าไม่ได้รับการประกันตัวแน่นอน เข้าเรือนจำไปเลย ซึ่งตามหลักของการฟ้องคดี มันต้องแสวงหาพยานหลักฐานทั้งที่ว่าเขาผิดหรือไม่ผิด แต่กระบวนการของไทยที่ตำรวจทำอยู่ คือการแสวงหาหลักฐานบนข้อสันนิษฐานว่าผิดไว้ก่อน แล้วนำไปฝากขังเข้าเรือนจำไว้ก่อน แล้วระหว่างนั้นค่อยทำสำนวนคดีเพิ่มเติม ซึ่งมันไม่แฟร์กับคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ยกตัวอย่างสักคดีได้ไหม คดีที่สั่นสะเทือนความรู้สึกในการเป็นทนายความของคุณมากที่สุด

โอ้โห มีหลายคดีเลย เอาทุกคดีเลยได้ไหม (หัวเราะ)

เราว่าคดีมาตรา 112 นี่แหละ ตอนทำงานแรกๆ ไม่คิดว่าคดีจะเยอะขนาดนี้ ตอนแรกๆ คนที่โดนคดีจะเป็นผู้สูงอายุเสียเยอะ เป็นคดีแบบ…คุณลุงคนหนึ่งเขียนผนังห้องน้ำแล้วถูกจับทหารจับไปโดยไม่ได้ประกันตัว แล้วก็ถูกลงโทษพิพากษาจำคุกจากคดีมาตรา 112 หรือคดีที่มีการซ้อมทรมาน มันเป็นอะไรที่ไม่โอเคมากๆ เช่นว่าช่วงหลังการรัฐประหารมีการจับกุมคนเสื้อแดงค่อนข้างเยอะ พอเขาจับไปแล้ว เขาก็เอาไปเข้าค่ายทหาร 7 วัน ซึ่งมันเป็น 7 วันที่มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น แล้วเวลาเราไปเจอเขา เขาจะไม่กล้าบอกกับเราตั้งแต่แรกว่าโดนซ้อมนะ เขาจะมีแววตาที่เรารู้สึกว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง เราก็เลยไปสัมภาษณ์เขาว่าโดนคดีอะไร พอคุยบ่อยๆ เขาก็เริ่มเชื่อถือและไว้ใจ เขาถึงจะเล่าให้ฟังว่ามันมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นยังไงบ้าง พอเราได้ฟังก็แบบ โอ้โห มันเหมือนในหนังเลย มันมีการจับไปคลุมหัว มัดมือ พูดจาข่มขู่ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะโดนคุกคาม เป็นผู้ชายก็จะโดนด่ามึงกูนั่นนี่ แล้วก็ขับรถไปที่ค่ายทหาร จากนั้นก็เรียกตัวมาสอบ หากไม่พูดตามที่เขาต้องการก็โดนกระทืบ โดนเตะบ้าง ช็อตไฟฟ้า หรือทำ waterboarding (วิธีทรมานแบบสำลักน้ำ จมน้ำบนบก) 

ตอนที่เราเห็นภาพคลุมถุงในคดีผู้กำกับโจ้ มันเหมือนดึงเรากลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนที่เราสอบข้อเท็จจริง แล้วเวลาเราคุย เราเห็นแววตา ท่าทาง มันสะท้อนความเจ็บปวด พูดไปมือสั่นปากสั่น คุณต้องเล่นละครเก่งขนาดไหนถึงจะพูดได้อย่างนี้ แล้วไม่ได้มีเคสเดียวนะ มีหลายเคสมาก คนเสื้อแดงแทบทุกเคสที่ถูกจับเกี่ยวกับอาวุธ ก็จะโดนจับให้สารภาพออกสื่อ แล้วก็เอาไปซ้อม แต่มาตรา 112 จะเป็นในเชิงจิตวิทยามากกว่า ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการด่าหรือพูดจาให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งก็คือการคุกคามอย่างหนึ่ง

การขลุกในคดีแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำแล้วต่อเนื่อง 7-8 ปี กระทบกับความรู้สึกของคุณอย่างไรบ้าง 

เราทุกข์ทรมานมาก แฟนเราจะรู้ดีว่าตอนที่เราทำงานปีแรกๆ เรากลับบ้านมาร้องไห้ตลอดเลย แล้วหน้างานของเราคือต้องสู้ เราเคยเถียงกับทหารแล้วน้ำตาคลอ ขาสั่น เพราะความกลัวไปด้วย เถียงไปกลัวไป…จริงๆ ก็ไม่เชิงเถียงหรอก มันคือการยืนยันสิทธิที่ทนายจะต้องได้เจอลูกความ ซึ่งทหารเขาก็จะอ้างกฎของเขา เราก็จะบอกว่า ไม่ได้ คุณต้องให้เขาได้เจอทนายความของเขา ซึ่งทหารในช่วงแรกๆ จะมีปืนทุกคนเลย เราเป็นทนายผู้หญิงคนเดียว เราก็กลัวนะ แต่อีกมุมหนึ่งก็ห่วงคนที่อยู่ข้างใน เขาจะเป็นยังไง เขาจะรู้สิทธิตัวเองไหม เขาจะพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดไหม หรือสิ่งที่จะมากระทบสิทธิของเขาต่างๆ เราอยากเจอเขาให้ไวที่สุด ทุกครั้งที่มีการจับตัว เราจะต้องเจอคนถูกจับให้ไวที่สุดเพื่อจะได้แจ้งสิทธิของเขา เราเคยโดนทหารด่าว่าเป็นพวก ‘ทนายโจร’ ว่าเราเป็นทนายให้พวกคนทำผิด ช่วงนั้นเราเครียดและเป็นทุกข์มากๆ 

ช่วงแรกๆ คดี 112 ไม่มีใครได้ประกันตัวเลย เราเห็นตั้งแต่วันที่เขาโดนจับ แล้วก็เห็นวันที่เขาเข้าไปในเรือนจำ เราเห็นวันที่เขาถูกโกนศีรษะจนหมดเลย เรารับไม่ได้นะ ขนาดเราไม่ใช่ญาติ เรายังรับไม่ได้เลย แถมมันไม่ใช่คดีร้ายแรงอะไรเลย แค่โพสต์หรือเขียนผนังห้องน้ำ มันไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาไม่ได้เป็นคนที่ไปทำอันตรายกับคนอื่น เรือนจำมันคือสถานที่กันคนที่อันตรายต่อคนอื่นและสังคม มุมนั้นเราเข้าใจ แต่คนที่โดน 112 เขาไม่ได้ทำอันตรายต่อสังคม 

ช่วงที่เราไม่โอเคมากๆ ก็มีคนมาให้กำลังใจ มีทนายรุ่นน้องคนหนึ่งเคยบอกกับเราว่า เราเป็นทนายนะพี่ เราไม่ได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่จะช่วยทุกอย่างให้กับลูกความได้ เราเอาเรื่องของลูกความเก็บมาคิด แล้วเป็นที่ปรึกษาของเขาทุกเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นพี่จะแย่เอา ซึ่งเราก็แย่จริงๆ เพราะตอนนั้นเราเป็นทุกอย่างให้กับลูกความเลย ญาติของเขาก็โทรหาเรา 24 ชั่วโมง ว่าจะประกันตัวเมื่อไหร่ เราเหมือนกับรับทุกอย่าง ปีแรกของเราคือแย่มาก

พี่อีกคนก็บอกเราว่า ถ้าแจมอยากทำงานนี้นานๆ จะต้องแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ได้ พอจบงานปุ๊บ แจมต้องดีดนิ้ว แล้วไปทำอย่างอื่น ต้องลืมบทบาทของเราไปด้วย หลัง 2 ทุ่มโทรศัพท์ไม่ต้องรับแล้ว แกบอกว่าถ้าเราอยากช่วยคนให้ได้มากกว่านี้ เราต้องดูแลจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งเรารู้สึกว่า เออจริง ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้ เราตายแน่ เราเครียดเกินไป หลังจากนั้นเราเริ่มจัดการเวลามากขึ้น เราไปผ่อนคลายมากขึ้น เวลาอยู่กับแฟนก็จะพยายามไม่เอางานมาเกี่ยวข้อง เพราะเขารู้สึกว่าเราเอาเรื่องเครียดมาที่บ้าน แล้วมันทำให้บรรยากาศภายในบ้านตึงเครียดไปด้วย เราก็ปรับตัวมาเรื่อยๆ 

ทุกวันนี้ เวลาต้องออกไปทำคดีทางการเมือง หรือคดี 112 คุณออกไปทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน 

โกรธทุกครั้ง เพราะมาตรา 112 เหมือนเคยถูกเลิกใช้ไปช่วงหนึ่งนะ แล้วก็เอากลับมาใช้อีก แต่รอบนี้มันเยอะมาก ตีความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม การที่คุณบังคับใช้กฎหมายมันไม่ได้หมายความว่าทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์นะ การไม่มีขอบเขตมันคือการทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย คำว่า ‘กฎ’ คือสิ่งที่บังคับโดยทั่วไป ธรรมชาติของกฎหมายหรือลักษณะสำคัญของกฎหมาย มันต้องเป็นสิ่งที่คนต้องรู้ก่อนนะว่าสิ่งนี้มันผิด ไม่ใช่ว่าไม่รู้เลย เช่น คดีลักทรัพย์ ลักทรัพย์ผิดนะ ทุกคนรู้ แต่ถ้ารู้แล้วยังทำ มันถึงเรียกว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย แสดงว่าทำผิดโดยเจตนา แต่มาตรา 112 ทุกคนแทบไม่รู้เลยว่า แบบไหนถึงเรียกว่าผิด เพดานมันกว้างมาก แล้วคุณก็บอกว่า เขาทำโดยที่เขารู้ว่าผิด ซึ่งมันไม่ใช่ 

มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง อย่างการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ แค่คำว่า ‘ดูหมิ่น’ มันก็กว้างมาก เพียงแค่พูดถึงก็กลายเป็นการหมิ่นประมาท อย่างแต่ก่อนมันคือการอาฆาตมาดร้าย คือกูจะฆ่ามึง กูจะเอาปืนไปยิงมึง หรือหวังในชีวิต อันนี้พอเข้าใจได้ แต่กรณีเช่น การแต่งตัวคล้าย หรือการพูดถึงเฉยๆ การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงที่เป็นเหตุและผล เหล่านี้มันไม่ควรจะผิดด้วยซ้ำ

กรณีที่คุณแสดงความคิดเห็นถึงสวัสดิการและเบี้ยเลี้ยงของตำรวจ คฝ. (ควบคุมฝูงชน) ตอนนั้นคุณคิดอะไรอยู่

ตอนนั้นคนน่าจะ misunderstanding อะไรบางอย่าง คุณมาทำหน้าที่แค่เป็นตัวแทนของรัฐ แล้วคุณก็ทำหน้าที่ควบคุมรักษาความสงบหรือควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ส่วนม็อบที่มาเรียกร้อง นั่นก็เป็นสิทธิของเขาเหมือนกัน แต่ตอนนั้นทั้งสองฝ่ายต่างมองกันเป็นศัตรูไปหมดแล้ว อาจทำให้เข้าใจบริบทอะไรบางอย่างผิดไป เราพยายามจะทำให้เห็นว่า คฝ. เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาทำงานแล้วเบี้ยเลี้ยงยังไม่ได้เลย อีกมุมหนึ่งเราก็ต้องการให้ คฝ. กลับไปย้อนคิดทบทวนตัวเองด้วยว่า คุณมาแอ็กชันขนาดนี้ เบี้ยเลี้ยงคุณก็ยังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

เราโดนด่าเยอะมากกับการแสดงความเห็นครั้งนั้น ตอนที่เราเล่น Twitter แรกๆ เราเข้าใจว่า Twitter มันต้องใช้คำกระชับ ใช้ text กระชับแล้วก็ชัด เพื่อให้คนเข้าถึงประเด็นได้เลย เราเลยใช้คำว่า ‘ทวงคืนเบี้ยเลี้ยงให้ คฝ.’ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นคำสั้นๆ กระชับ แล้วเป็นประเด็นได้ แต่กลายเป็นว่าแฮชแท็กมันไปไกล แล้วก็โดนแชร์ โดนตีกลับมาว่าสมน้ำหน้า คฝ. ไม่ได้เบี้ยเลี้ยง โดยเข้าใจเจตนาของเราผิดไป เราอยากให้เห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน อยากให้ คฝ. มายืนข้างประชาชนด้วยซ้ำ เพราะนายคุณยังไม่ให้เบี้ยเลี้ยงคุณเลย เราก็เลยใช้คำว่าทวงคืนเบี้ยเลี้ยงให้ คฝ.

คือการต่อสู้ไม่ว่าอะไรก็ตาม การผลักดันมิตรให้เป็นศัตรูมันทำให้ชนะยาก แต่ถ้าเราทำให้ศัตรูมาเป็นมิตรได้ ทำให้เขาเข้าใจเรามากขึ้น โอกาสที่จะชนะมันก็มีมากกว่า อีกมุมหนึ่งก็จะทำให้ คฝ. เขาเรียนรู้เหมือนกันว่าฝั่งตรงข้ามไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เราเป็นประชาชนที่เผชิญปัญหา ไม่อย่างนั้นเราจะออกมาทำไมให้มันร้อน ให้มันเหงื่อออก ให้มันทรมาน

พูดได้ไหมว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องเบี้ยงเลี้ยงของ คฝ. คือการถามหามาตรฐานบางอย่างที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่ควรถูกลิดรอน

ใช่ๆ ถ้าเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ มันจะ back to basic เลยนะ เราทุกคนจะเข้าใจกันมากขึ้น เราจะไม่มองว่าเขาเป็น คฝ. หรือเป็นม็อบ แต่เขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า เราจะไม่ทำร้ายกัน เราจะไม่มองว่า คุณไม่ควรได้นั่นได้นี่ เพราะเราต้องมองในบริบทว่า เขามาในหมวกใบไหน คฝ. เองก็ต้องมองว่า การที่ประชาชนมาต่อสู้นั้น เขาไม่ได้มองคุณเป็นนายสิบเอ นายสิบบีนะ แต่เขามองคุณเป็นรัฐ ประชาชนมองข้าราชการเป็นรัฐ เขากำลังต่อสู้กับรัฐ ถ้าเขาปาประยุทธ์ได้ เขาคงอยากปาประยุทธ์แหละ แต่ประยุทธ์ไม่อยู่ไง เขาพยายามจะทำอะไรบางอย่างกับสัญลักษณ์ของรัฐในการที่จะต่อสู้กับรัฐบาล เพราะว่ามันไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะผลักดันเสียงของประชาชนได้ ขนาดกฎหมายในสภาก็ยังถูก ส.ว. กุมไว้ คือมันเป็นความรู้สึกว่า มันไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก เขาจึงต้องแสดงออกบนท้องถนน เราคิดว่าการลงถนนเป็นเหมือนทางเลือกสุดท้าย ไม่ใช่ว่าทุกคนเอะอะก็อยากลงถนน แต่เขาแค่รู้สึกว่าไม่มีใครฟังเสียงเขาเลย ขนาด Facebook ยังปิดคอมเมนต์เลย แล้วเขาจะไปแสดงความคิดเห็นที่ไหน รัฐเป็นคนทำให้ประชาชนลงถนน ทำให้ประชาชนออกมาเกรี้ยวกราดใน Twitter คืออารมณ์คนก็เกิดจากรัฐบาลนั่นแหละ รัฐกดดันให้เขาต้องทำ

ภาพจำเกี่ยวกับตัวคุณมีหลายเรื่อง นอกจากเป็นทนายความคดีทางการเมือง และการออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีเบี้ยเลี้ยง คฝ. ขณะเดียวกัน คุณคือภรรยาของนายตำรวจที่ถูกธำรงวินัยด้วย คุณจัดวางบทบาทเหล่านี้อย่างไร

มีคนเคยบอกว่า น่าเอาเรื่องของเราไปทำละคร (หัวเราะ) มันตลกไง คือเราก็ไม่เคยคิดหรอกว่าจะเจอกับตัวเอง เพราะชีวิตเราก็ดำเนินไปโดยเรียบง่าย แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเราไม่ชอบอยู่เฉยๆ เวลาเห็นใครมีปัญหา อย่างมีคลิปในม็อบเสื้อแดงที่หน้ารามฯ ซึ่งเป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง มันเป็นภาพที่เราเอามือไปกันให้กับลุงเสื้อแดงคนหนึ่ง ตอนนั้นเราไม่ได้ไปม็อบ เราแค่ผ่านไปแถวนั้นพอดี แล้วฝั่ง กปปส. กำลังทำร้ายคนเสื้อแดง ตอนนั้นเราเข้าไปโดยสัญชาตญาณ เราไม่อยากเห็นคนโดนทำร้ายต่อหน้า แต่มุมของญาติพี่น้องบอกว่าเราเสี่ยง ถ้าใครมีปืนตอนนั้นเราตายเลยนะ ดีที่เป็นแค่ไม้ แต่เหมือนอะไรบางอย่างทำให้เราพุ่งตัวไปเอง โดยที่เราไม่รู้ว่าเราพุ่งไปทำไม รู้อีกทีก็ เอ้า นี่กูอยู่ท่ามกลางการกระทืบกันอยู่ 

สิ่งที่สามีและครอบครัวของคุณต้องเผชิญคืออะไร หนักหนาอย่างไร และผิดปกติขนาดไหน

ตอนนั้นแฟนเราทำงานเป็นตำรวจติดตามผู้บัญชาการท่านหนึ่งที่ขอนแก่น แล้ววันหนึ่งมีคำสั่งว่าจะต้องคัดตัวเข้าวัง แฟนบอกเราว่า “ตัวเองไม่ต้องกังวลหรอก ปกติถ้าตำรวจมีครอบครัวแล้ว เขาไม่เอา” เราก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าคงตกรอบแหละมั้ง แล้วเขาคัดประมาณ 4-5 รอบ รอบแรกแฟนเราก็เข้าไป หมุนตัว วัดความสูง กลายเป็นว่าแฟนเราเข้ารอบ เข้ารอบเรื่อยๆ จนเข้าไปรอบไฟนอล ตอนนั้นเราก็บอกว่า “เฮ้ย นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว ตัวจะโดนคัดตัวไปจริงๆ หรือเปล่า” เขาก็บอกว่า “คงไม่หรอก เดี๋ยวเขาจะบอกว่าเขาไม่สมัครใจจะเข้าวัง” 

การถูกธำรงวินัย มันเกิดขึ้นหลังจากที่แฟนของเราขัดขืนไม่ไปฝึกเพื่อเป็นตำรวจในวัง ต้องเข้าใจก่อนว่า การไปทำงานในวัง มันหมายถึงการขาดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยนะ ตอนแรกเราเข้าใจว่าถูกย้ายไปทำงานในวังก็ยังเป็นตำรวจอยู่ เพียงแต่ไปทำงานรับใช้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง แฟนเราต้องขาดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วถูกโอนย้ายไปเป็นข้าราชบริพารเลย ซึ่งมันก็ช็อกเขามากเหมือนกัน

แฟนเราเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ กว่าจะสอบได้ กว่าจะเรียนจบ ต้องเรียนเตรียมทหารนานมาก แล้วอยู่ดีๆ กลับมีคำสั่งให้เขาขาดจาก สตช. แล้วไปเป็นข้าราชบริพารเลย เป็นอีกหน้างานหนึ่งไปเลย เขาก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ จึงเกิดการรวมตัวของตำรวจจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากเข้าวัง ตอนนั้นเรากลัวเหมือนกันว่าจะเป็นยังไงบ้าง จะตายไหม จะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าพอมีคนขัดขืนมากพอ คนใหญ่คนโตก็ไม่กล้าทำอะไร ถ้ามีแค่แฟนเราคนเดียว หรือตำรวจแค่คนสองคน ไม่รอดแน่ 

พอมีตำรวจจำนวนมากรวมตัวกันขอสละสิทธ์การคัดตัวเข้าไปเป็นข้าราชบริพารในวัง พวกเขาก็เลยถูกส่งไปธำรงวินัยแทน ซึ่งธำรงวินัยเป็นศัพท์ของทหารนะ ตำรวจไม่มีธำรงวินัย ไม่มีใน พ.ร.บ.ตำรวจ แต่สุดท้ายแฟนเราก็ต้องไปธำรงวินัยเป็นเวลา 9 เดือน 

ใน 9 เดือนนั้น คุณและเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

เราไม่รู้ว่าเขาเล่าหมดหรือเปล่า เพราะเขากลัวเราเครียด ซึ่งเราเครียดจริงๆ ยิ่งช่วงที่ลุ้นว่าเขาจะโดนอะไรไหม เขาจะมีชีวิตรอดไหม ประมาณปลายปี 2562 เราพยายามติดต่อสำนักข่าว พยายามติดต่อทุกคนที่รู้จักว่าช่วยทำข่าวให้หน่อย เรากลัวแฟนเราจะตาย แต่ตอนนั้นไม่มีใครกล้า มีแค่สื่อไม่กี่เจ้าที่ลงให้ เราก็เครียดว่าเอายังไงดีวะ เราถามแฟนอยู่ตลอดว่า เราโพสต์ได้ไหม เราออกมาพูดได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ให้เราออกมาพูด เขากลัวว่าจะเกิดอันตราย เพราะเขายังอยู่ในการควบคุมของผู้มีอำนาจอยู่ 

กระทั่งช่วงที่เขาผ่อนคลายให้เราไปเยี่ยมได้ เราก็เลยเริ่มผ่อนคลายความเครียดไปได้เยอะว่า เขาปลอดภัยดี เราไปเยี่ยมทุกสัปดาห์ที่สระบุรี ขับไปกลับทุกสัปดาห์เลย เราเพิ่งคลอดลูกคนเล็กด้วย ความเป็นแม่หลังคลอดก็จะเครียดอยู่แล้ว แล้วชีวิตเราเจออะไรบางอย่างมากระแทกพร้อมๆ กันโดยที่ต้องทำงานต่อ งานแม่งก็เครียด ลูกความกูก็ติดคุก ผัวกูอีก ลูกอีก แต่ก็พยายามจะจัดการตัวเองให้ได้ดีที่สุด

จนวันที่เขาออกมา แล้วสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน มีการพูดถึงสถาบันเยอะมาก อย่างที่เราไม่คิดว่าจะไวขนาดนี้ด้วยซ้ำ แล้วเพดานมันสูงมาก เราเลยออกมาพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเราในช่วงนั้น สำนักข่าวเข้ามาหาเราเยอะมาก เราก็ตัดสินใจจะพูด เพราะมันเหมือนกับเราพูดแทนภรรยาตำรวจอีกหลายคนที่โดนเหมือนกับเรา ตอนแรกเราก็คิดว่าเราไม่พูดก็ได้ ยังคุยกับแฟนเลยว่า “ตัวเอง เขาไม่ให้สัมภาษณ์ดีไหม เพราะชีวิตเรามันไม่มีอะไรแล้ว มันปกติแล้ว สัมภาษณ์แล้วเดี๋ยวเราจะซวยเปล่าวะ เดี๋ยวมันจะกลับมาวุ่นวายอีกไหม เราจะกลับมาซวยไหม เดี๋ยวมันจะมีปัญหา”

แต่ปรากฏว่า มันมีประเด็นโจมตีว่าเราพูดไม่จริง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ได้ เราต้องพูดแล้ว เราต้องทำให้เห็นว่ามันมีคนเดือดร้อนจริงๆ ซึ่งภรรยาตำรวจคนอื่นๆ เขาไม่สามารถออกมาพูดได้ แต่เรามีอะไรบางอย่างที่ Privilege กว่าคนอื่นๆ ถ้าเราออกมาพูด มันน่าจะเป็นประโยชน์ เราได้พูดแทนหลายๆ ครอบครัวที่เขาอาจจะแย่กว่าเราด้วย เพราะบางครอบครัวโดนไป 9 เดือน เมียเพิ่งท้อง ออกมาปุ๊บ เมียคลอดพอดี หรือบางคนพ่อป่วย เป็นมะเร็ง สุดท้ายต้องลาออกเพื่อไปดูแลพ่อ มันมีหลายครอบครัวที่ลำบากกว่าเรา 

สามีของคุณเป็นตำรวจแบบไหน 

แรกๆ เขาเป็นตำรวจค่อนข้าง 100 เปอร์เซ็นต์ เราเจอกันตอนเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ส่วนเขาเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แล้วเรียนปริญญาอีกใบที่ มสธ. เหมือนกัน เจอกันแรกๆ ก็ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองเท่าไร เขาก็บอก เออ เรามีเสน่ห์ ดูเป็นผู้หญิงเก่ง เขาชอบคนเก่ง เราก็ชอบคนเก่งเหมือนกัน ตอนนั้นเราไม่ได้มองเขาเป็นตำรวจ เราเป็นทนายความนะ แต่ตอนนั้นเป็นแค่นักเรียนกฎหมาย แล้ววันที่ได้มาคุยกันจริงๆ เราถึงเริ่มรู้สึกว่า เรามีความแตกต่างกัน เราคุยเรื่องงานกันไม่ค่อยได้ มีปากเสียงกันเรื่องงานค่อนข้างเยอะ 

เช่น เขามองว่าทนายความชอบทำให้วุ่นวาย หรือตอนนั้นเราติเรื่องการทำงานของตำรวจในคดีระเบิดที่ราชประสงค์ แฟนเราโกรธมาก จนเราตกใจว่า “เฮ้ย ตัวเองเป็นไรอะ แค่แซวว่าจับแพะหรือเปล่า” เขาก็บอกว่า “รู้ไหมว่าตำรวจทำงานเหนื่อยขนาดไหน รู้ไหมกว่าจะจับได้ เขาไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทำไมถึงมักง่ายด้วยการบอกว่าจับแพะหรือเปล่า” … ถามว่าแฟนเป็นตำรวจแบบไหน ตำรวจจ๋าเลย (หัวเราะ) 

หลังจากนั้นเราไม่คุยกันเรื่องงานเลย เพราะตัวเองมองมุมหนึ่ง เขาก็มองอีกมุมหนึ่ง ยิ่งตอนนั้นเขาทำงานใหม่ๆ เขาชอบงานของเขา เขารักงานมาก งานสายสืบ งานสืบสวน เขาชอบ เขาบ้างานเหมือนกัน ช่วงปีแรกต่างคนต่างยุ่ง เราทำงานกลับถึงบ้านดึกกันทั้งคู่ กลับมาเราก็นอน เช้ามาก็แยกกันไปทำงาน ไม่ค่อยจะได้คุยกันเท่าไร หรือถ้าเจอกัน ถามไถ่กัน เครียดไหม ไปดูหนังกันดีกว่า 

ช่วงที่สถานการณ์การเมืองเริ่มเปลี่ยน เกิดการดันเพดานและวิพากษ์วิจารณ์กว้างขึ้น สถานการณ์ในครอบครัวเป็นอย่างไร

พอประยุทธ์เริ่มอยู่นานขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยน ประชาชนเริ่มเห็นปัญหาต่างๆ แฟนเราก็อยู่กับเราบ่อยขึ้นด้วยมั้ง เราก็พยายามพูดเรื่องสิทธิให้เขาฟังบ่อยๆ เขาเริ่มเห็นงานที่เราทำ แล้วเขาก็คิดว่า เออ ตำรวจมันมีปัญหาจริงๆ เขาเริ่มฟังบ้าง แต่เขาก็ยังทุ่มเทให้ตำรวจเหมือนเดิม ยังทำงานหนักเหมือนเดิม ยังไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ทำงานไม่เคยหยุดเลย สงกรานต์ ปีใหม่ ทำงานตลอด ไม่เคยลาไปเที่ยว ไม่มี 

จุดเปลี่ยนจริงๆ คือเรื่องธำรงวินัยนี่แหละ ทำให้เขาเห็นว่า สุดท้ายแล้วต่อให้ทำงานดีขนาดไหน ทำงานเก่งขนาดไหน ทุ่มเทขนาดไหน สตช. ก็ไม่เห็นคุณค่าเขาอยู่ดี เขารู้สึกอกหักเหมือนกันว่า อะไรวะ กูทุ่มเทขนาดนี้ เวลาเจอลูกเจอเมียยังไม่มีเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มาทำกับเขาแบบนี้ มันไม่ใช่แล้ว แล้ววันที่เขาแย่ที่สุดในชีวิต เจอปัญหาธำรงวินัย ไม่มีใครที่จะเป็นมิตรแท้ของเขาเลย บรรดาเพื่อนฝูงหรือนายก็ตีตัวออกไป ไม่มีใครพยายามช่วยเขา ทุกคนกลัวกันหมด ไม่กล้าแม้กระทั่งโทรหาเพราะกลัวจะซวย แต่เรากลับรู้สึกว่า ถ้าคุณออกมาช่วยกันพูดหลายๆ คน มันก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

มองย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนต้นของเรื่อง จากที่คุยกันมาทั้งหมด คุณแข็งแกร่งมากนะ

มันทำให้เรามีความแข็งแรงขึ้น โตขึ้นในทุกๆ มิติของชีวิต ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีจะร้าย คนชอบบอกว่า เราซวยจังวะ ชอบเจออะไรที่คนเขาไม่เจอกัน แต่เรามองว่ามันทำให้เราโตกว่าคนอื่น ทุกครั้งที่ปัญหาเข้ามา เราจะบอกตลอดว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เจอไวกว่าคนอื่นเท่านั้น เหมือนตอนที่พ่อเราล้ม เส้นเลือดสมองแตก หรือตอนที่เราเสียแม่ เราก็มองว่าวันหนึ่งเราก็ต้องเจออยู่ดี แค่เราเจอเร็วกว่าคนอื่น เรามีโอกาสได้แข็งแกร่งก่อนคนอื่น เรามีโอกาสเรียนรู้ปัญหาก่อน แก้ไขปัญหาก่อน แล้วเราก็จะเก่งขึ้น ปัญหาทุกอย่างทำให้เราเก่งขึ้นหมด ตั้งแต่เด็กจนโต ทุกช่วงเวลาคือจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่ประกอบเป็นตัวเราในวันนี้ 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า