Bangkok Pride Parade 2023 รวมเสียงแห่งความหลากหลายจากป้ายของประชาชน

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเยือนกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 ‘Bangkok Pride Parade 2023’ หรือพาเหรดเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ กลับมาอีกครั้งในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นี่เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นบรรยากาศผู้คนเต็มท้องถนน (ที่ถูกปิดเพียงส่วนเดียว เพราะอีกส่วนรถก็ยังวิ่งผ่านราวกับการปิดถนนไม่มีอยู่จริง) ประชาชนสวมรอยยิ้ม แต่งตัวแบบที่เป็นตัวเอง ถือป้ายเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศอย่างคับคั่ง อีกทั้งยังมีองค์กรมากมาย พรรคการเมืองหลากหลายมาร่วมเดินขบวนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและแสดงจุดยืนสนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (พรรคการเมืองที่ว่า รวมถึงพรรคที่ ส.ส. โดดประชุมสภาในวันที่มีการยื่นร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเช่นกัน)

สื่อโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่าขบวน Pride Parade ในปีนี้ให้แสงกับพรรคการเมืองและองค์กรขนาดใหญ่มากเกินไป และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ป้ายที่ถูกเขียนขึ้นโดยประชาชนกลับไม่ได้รับพื้นที่สื่อเท่าที่ควร WAY จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนร่วมสอดส่อง ‘เสียงของประชาชน’ ไปพร้อมๆ กัน

“อย่าโปรโมตซีรีส์วายในงานไพรด์”

หนึ่งในป้ายจากขบวนที่เปิดโอกาสให้เกิดข้อถกเถียงในสื่อโซเชียลว่า แล้วผู้จัดทำซีรีส์วายควรวางตัวอย่างไรในงานพาเหรด หลายเสียงสนับสนุนให้ผู้จัดทำ หรือดาราที่รับบทบาทตัวละครหลัก มาเดินในฐานะผู้ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง มิใช่การตั้งใจมาเดินเพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือโปรโมตเพื่อเชิญชวนคนไปดู

Not All Disabilities Are Visible ความพิการมีมากกว่าแค่ตาเห็น

ในงาน Bangkok Pride Parade 2023 มีความตั้งใจโอบอุ้มทุกความหลากหลาย มีการรับอาสาสมัครที่จะช่วยดูแลความเรียบร้อย เช่น อาสาล่าม อาสาจัดขบวน หนึ่งในนั้นก็มีการรับสมัครอาสา​ ‘บัดดี้ผู้พิการ’ เพื่อแสดงจุดยืนและเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมเดินขบวน Pride Parade ได้อย่างแท้จริง 

เพราะความพิการมีหลายรูปแบบและความพิการไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้เสมอไป ไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวก บุคคลออทิสติก หรือความพิการแบบอื่นๆ อาสาจึงต้องใช้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว คนในสังคมต้องพึ่งพาการสอบถามข้อมูลให้ได้มากที่สุด การที่ผู้พิการได้มาเป็นส่วนหนึ่งของขบวน Pride Parade จึงนับเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่ง

สื่อทำร้ายฉันอย่างไร?

“เลิกพาดหัวเหยียด” 

“สื่อทำให้ฉันรู้สึกผิดที่เป็นตัวเอง”

“ซีรีส์วายเลิกหากินกับคอมมูโดยไม่เข้าใจ” 

กิจกรรมจากขบวนของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คนร่วมขีดเขียนประสบการณ์ที่มองว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ของสื่อที่ดี ฉกฉวยอัตลักษณ์ทางเพศ และลดทอนการขับเคลื่อนเรื่องประเด็นความหลากหลาย 

ประชาชนร่วมกันหยิบมาร์กเกอร์ ระบายความคับแค้นใจ จนผ่านไปไม่นาน ผ้าสีขาวก็ถูกเติมแต่งด้วยสีสันมากมาย หลากหลายลายมือ

INCLUDE ASEXUAL โปรดโอบอุ้ม ASEXUAL

Asexual คือกลุ่มคนที่มีความรักได้ เพียงแต่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือถึงมีก็อาจจะไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขบางประการที่แตกต่างออกไป Asexual ในแต่ละบุคคลจึงเปรียบเสมือนเฉดสี เข้มบ้าง จางบ้าง อยู่ตรงกลางแต่ไม่ได้หายไป การที่ใครสักคนนิยามว่าตนเองเป็น Asexual จึงไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะเป็นเหมือนกับคนอื่นๆ ที่นิยามว่าตนเป็น Asexual 

กี่ครั้งแล้วที่แต่ละตัวอักษรใน LGBTQIA+ ถูกทำเสมือนเขาไม่มีตัวตน ถูกลบอัตลักษณ์ ถูกทำร้ายร่างกายเพียงเพราะสิ่งที่เขาเป็น ถูกพรากสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ

นี่เป็นเพียงแค่เสียงส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเดินขบวนในงาน Bangkok Pride Parade 2023 ยังมีเสียงอีกมากมายที่ควรถูกรับฟังด้วยความตั้งใจและความเข้าใจ 

ร่วมโอบรับทุกความหลากหลาย ผลักดัน พ.รบ.สมรสเท่าเทียม และทำให้สังคมยอมรับเรื่องนี้อย่างแท้จริงเสียที

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า