มีการพูดคุยกันมาระยะใหญ่ๆ ทั้งในวงวิชาการและวงชาวบ้านธรรมดาผู้ถือครองที่ดินและบ้านพักแต่ละทำเลทั่วกรุงเทพฯ ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยจะย้ายเมืองหลวงจาก ‘กรุงเทพมหานคร’ ไปยังจังหวัดอื่น ด้วยอุปสรรคต่างๆ เช่น ความแออัดเบียดเสียดของชุมชนเมืองในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาดินทรุด-น้ำท่วมขังที่เริ่มทวีความจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ตามความรุนแรงของภาวะโลกร้อน
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา งานวิจัยโดย ดร.สก็อตต์ คัลป์ (Scott Culp) และ ดร.เบนจามิน สเตราส์ (Benjamin Strauss) เปิดเผยว่าผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจรุนแรงเป็น 3 เท่าของเดิมที่เคยมีการคาดการณ์เอาไว้ โดยพื้นที่หลักที่จะได้รับผลกระทบคือโซนทวีปเอเชีย ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ บังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศไทย ประมาณกันว่าจะมีผู้ประสบภัยในประเทศดังกล่าวทั้งสิ้น 237 ล้านคน มากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ถึง 54 ล้านคน
ภายในปี 2050 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอาจส่งผลให้ชาวนาที่มีรายได้น้อยจะอพยพจากที่ดินเดิม การตัดสินใจย้ายเมืองหลวงอาจป้องกันความเสียหายได้เพียงบางส่วน แต่การสูญเสียที่ดินเป็นวงกว้างไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ อาจพัฒนาไปเป็นปัญหาความไม่มั่นคงด้านสังคมและการเมือง
ลอเรตตา จิราร์เดท (Loretta H. Girardet) เจ้าหน้าที่ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติประจำสหประชาชาติ (UN) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนจะสร้างแรงกดดันให้กับเมืองใหญ่ต่างๆ นอกจากนี้เมื่อน้ำท่วมที่ดินมากขึ้น เกษตรกรยากจนก็จำต้องผละที่ดินแล้วเข้าไปทำงานในเมือง
สำหรับประเทศไทย หลังรอดพ้นวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) ก็เริ่มมีกระแสว่าคนกรุงเทพฯ กระจัดกระจายไปในต่างจังหวัด ซื้อบ้านและที่ดินเก็บไว้ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อ ‘หนีน้ำท่วม’ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มั่นใจได้ว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมต่ำก็กลายเป็นทำเลทองที่หลายคนต้องการ กระทั่งที่ดินหลายแห่งเริ่มถีบตัวสูงขึ้น
ปัจจุบันมีประชากรที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้น (high tide) 110 ล้านคนทั่วโลก มีประชากรที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำหลากรายปี (annual flood level) 250 ล้านคน และภายในปี 2050 หรือนับถอยหลังรอไปอีก 30 ปีข้างหน้า อาจมีบ้านที่ประสบปัญหาอุทกภัยตามแนวชายฝั่งมากถึง 300 หลังต่อปี และอาจเพิ่มเป็น 630 หลังภายในปี 2100 หากระดับการปล่อยคาร์บอนยังไม่ลดลง เมืองที่น่าเป็นห่วง เช่น เซี่ยงไฮ้ในจีน มุมไบในอินเดีย โฮจิมินห์ในเวียดนาม บาสราในอิรัก และอเล็กซานเดรียในอียิปต์
งานวิจัยดังกล่าวใช้วิธีการประเมินระดับน้ำทะเลด้วยข้อมูลดาวเทียมร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากแบบจำลอง SRTM (Shuttle Radar Topography Mission) ที่จัดทำโดยองค์การ NASA ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุดออกมาเป็น CoastalDEM (digital elevation model: DEM) ทำให้เห็นว่าพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการจมอยู่ใต้ทะเลมีอาณาเขตมากกว่าที่คิด โดยการคาดการณ์ใหม่นี้สื่อให้เห็นว่าผลกระทบจากปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนจะสร้างความเสียหายร้ายแรงขึ้น ใช้งบประมาณเยียวยาและป้องกันมากขึ้น รวมถึงจะกระทบชุมชนเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูลจาก: cbsnews.com nytimes.com nature.com |