มหากาพย์ไล่รื้อหาบเร่แผงลอย 6 ปัจจัยที่ผู้ว่าฯ กทม. อย่ามองข้าม

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ข่าวการไล่รื้อร้านอาหารข้างทางย่านสีลม เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน กลายเป็นกระแสร้อนแรง ผู้เขียนจึงติดต่อขอสนทนากับกลุ่มผู้ค้าริมทางในย่านนี้อีกครั้ง เพื่อเสนอมุมมองให้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบด้าน และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของทุกฝ่าย 

ทั้งนี้ การจัดการปัญหาหาบเร่แผงลอยไม่ได้ยากตรงที่สภาพทางกายภาพ แต่อุปสรรคใหญ่คือ การจัดการผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายให้ลงตัว

1. ขนาดกิจการของร้านอาหารข้างทาง 

กทม. ควรจัดหาพื้นที่สำหรับค้าขายโดยเฉพาะให้เอกชนเช่า ทั้งอาหารราคาถูกและอาหารราคาแพง แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ขนาดกิจการของผู้ค้าแต่ละราย ซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน และไม่อาจจ่ายค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในอัตราเดียวกันได้ 

ตัวอย่างเช่นผู้ค้าที่ขายอาหารประเภทขนมเบื้อง ขนมครก เครป หรือน้ำปั่น ย่อมไม่สามารถเทียบได้กับผู้ค้าที่ขายอาหารประเภทข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว เพราะยอดขายสุทธิและต้นทุนค่าใช้จ่ายในแต่ละวันแตกต่างกัน เมื่อเทียบรายได้ในแต่ละวัน ยอดขายสุทธิของรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวอาจมากกว่ายอดขายของแผงขนมถึง 10-20 เท่า ดังนั้น ผู้ค้าที่สามารถย้ายไปเช่าพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่เฉพาะของ กทม. อาจมีเพียงผู้ค้าที่มีรถเข็นหรือแผงขนาดใหญ่ ขณะที่รายย่อยอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าอาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

2. ใครควรได้รับสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ 

คณะผู้บริหาร กทม. และสำนักเทศกิจต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและจัดการได้อย่างต่อเนื่องว่า ใครคือผู้ที่ควรได้รับสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ 

ไม่ได้หมายความว่า ทุกพื้นที่จะสามารถค้าขายได้ แต่ควรพิจารณาพื้นที่สาธารณะที่เป็นเขตพิเศษขึ้น แล้วให้มีการจดทะเบียนเพื่อใช้พื้นที่นั้น อาจแบ่งเกณฑ์กว้างๆ เช่น ‘เขตชุมชน’ มีการพึ่งพิงระหว่างผู้อยู่อาศัยและผู้ค้าซึ่งเป็นคนในย่านนั้น ‘เขตเมือง’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมสถานที่ทำงานและเป็นจุดสัญจรของผู้คน ก็ต้องจัดพื้นที่สำหรับขายของอย่างเหมาะสม ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้สัญจรไปมา หลักเกณฑ์ของ กทม. ต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ค้าในฐานะผู้ใช้งานพื้นที่กลุ่มหนึ่งมองว่า เหตุใดบางพื้นที่ขายได้ แต่บางพื้นที่กลับขายไม่ได้ 

ส่วนการใช้เกณฑ์รายได้หรือความยากจนอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ค้าที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ (informal economy) กทม. อาจจัดให้มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งการทำให้เป็นทางการ (formalization) หรือนำคนเข้าระบบทำได้หลายวิธีการ เช่น การให้สมัครใช้งานธุรกรรมทางการเงินของภาครัฐ การประกันตนผ่านกองทุนประกันสังคม การสมัครกองทุนการออมแห่งชาติ หรือการยื่นภาษีรายได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายทำนองนี้อย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

เกณฑ์การพิจารณาผู้ค้าอาหารในพื้นที่สาธารณะควรคำนึงถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ ประเภทอาหาร ขนาดของแผง และบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ กทม. สามารถประเมินรายได้สุทธิต่อวัน และกำหนดอัตราค่าเช่าที่เป็นมาตรฐานได้ เพื่อลดโอกาสการตีความและการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจในแต่ละสำนักงานเขต 

3. ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร 

การไล่รื้อร้านอาหารข้างทางกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร (food supply chain) ทั้งในเศรษฐกิจภาคทางการและไม่เป็นทางการ 

แม้ผู้ค้าอาหารรายใหญ่อาจมีทุนเพียงพอในการเช่าแผงที่ กทม. จัดหาให้ใหม่ แต่ผู้ค้าอาหารรายเล็กจำนวนมากไม่มีทุนมากพอ และอาจเลิกกิจการไป จนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดสด ร้านค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ค้ารายย่อยอื่นๆ และเกษตรกร เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ผู้ค้าอาหารข้างทาง ผู้ขายขนมประเภทหนึ่งต้องซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ จากแหล่งหรือร้านอื่นไม่น้อยกว่า 8 ร้าน และหากขายอาหารประเภทที่เป็นจานหรือชามอาจซื้อเกิน 20 ร้าน การไม่มีหาบเร่แผงลอยรายย่อยจึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลเกี่ยวเนื่องเป็นทอดๆ ต่อตัวแสดงอื่นในห่วงโซ่เศรษฐกิจ

4. อาหารข้างทาง ความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง 

การไม่มีอาหารข้างทางทำให้แหล่งอาหารราคาถูก ปริมาณเหมาะสม และมีความหลากหลาย สำหรับผู้บริโภคในเมืองลดลง

งานวิจัยเกี่ยวกับการค้าอาหารริมทางของผู้เขียน ในช่วงปี 2563 พบว่า อาหารข้างทางเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผู้สัญจรไปมา คนทำงาน หรือผู้อาศัยบริเวณนั้น จากการสนทนาระหว่างเก็บข้อมูล แม้ผู้คนบางส่วนจะไม่เห็นด้วยกับการมีหาบเร่แผงลอย แต่หลายคนก็เลือกบริโภคอาหารริมทางด้วยเหตุผลด้านราคา ปริมาณ ความหลากหลาย และความสะดวก เพราะไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปซื้อหรือสั่งผ่านแอปพลิเคชันที่คิดค่าบริการเพิ่ม 

ดังนั้น อาหารข้างทางจึงเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของคนหลายกลุ่ม ผู้บริหารจึงควรคำนึงบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อออกมาตรการที่ตอบโจทย์กับพื้นที่นั้น

5. ความไม่ชัดเจนของนโยบายบริหารเมือง

เมืองกรุงเทพมหานครไม่เคยมีแนวทางจัดการเรื่องหาบเร่แผงลอยอย่างชัดเจนมา

ตั้งแต่สมัยรวมจังหวัดพระนครกับธนบุรี สภาวะการบริหารเมืองที่ไร้ระเบียบเช่นนี้ก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ การฉ้อฉล และการไม่ปฏิบัติตามกติกาในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ค้าขายเอง ตัวอย่างเช่นนโยบาย ‘จุดผ่อนผัน’ ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนจะมีความยืดหยุ่นและปรับตามสถานการณ์ได้ แต่ก็เปิดช่องให้เกิดการทุจริตและกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน

สิ่งที่ควรพิจารณาต่อมาคือ อุปสรรคของการแก้ปัญหานี้อยู่ในส่วนหรือข้อต่อใดของระบบราชการ กทม. ซึ่งต้องทบทวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ตั้งแต่นโยบาย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ผู้ค้าข้างทาง ตลอดจนผู้เล่นรายอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา 

เมื่อพูดถึงเมืองที่นับรวมทุกคน (inclusive city) จึงต้องอธิบายให้ชัดว่า ทุกคนนั้นหมายถึงใครบ้าง นับรวมผู้ค้าอาหารข้างทางหรือเปล่า หากผู้บริหารเมืองยังไม่มีทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ค้าอาหารข้างทาง จนกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ไม่มีความมั่นคงในชีวิต และไม่สามารถวางแผนทางการเงินและจัดการชีวิตตนเองได้ 

กทม. จะต้องมีนโยบายบริหารเมืองที่ชัดเจน ไม่ปล่อยให้ชีวิตของคนค้าขายตกอยู่ในความไม่มั่นคง ตัวอย่างเช่นผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนเคยมีความคิดจะเปลี่ยนถนนคอนแวนต์ทั้งเส้นเป็นถนนอาหาร แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้จะมีการปรับภูมิทัศน์ของเมืองและการลงทุนสร้างอาคารในบริเวณนั้น แต่ก็มีแนวโน้มจะกีดกันผู้ค้าแผงลอยออกไปจากพื้นที่ 

6. ธุรกิจ สิทธิมนุษยชน และความยั่งยืนของคนเมือง

นโยบายรัฐและการบริหารเมืองที่เน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามวาระการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 17 มุ่งเน้นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ต้องนับรวมประชาชนอยู่ในภาคเอกชนด้วย

กทม. ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองของภาคประชาชน ตั้งแต่ผู้ค้าแผงลอย ผู้บริโภค ผู้สัญจร ผู้อยู่อาศัย และกลุ่มผู้ใช้พื้นที่สาธารณะอื่นๆ ผ่านการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรึกษาหารือในแต่ละพื้นที่ และ กทม. ควรกระจายและแบ่งสรรอำนาจให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สามารถกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพราะเขตต่างๆ อาทิ สีลม เยาวราช บางลำพู บางแค ล้วนมีบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการค้าอาหารข้างทางในแต่ละพื้นที่

ขณะนี้ ผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาเมืองกลับเป็นภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่นองค์กรธุรกิจในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact Network Thailand) ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ สนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และบริษัทหลายแห่งมีนโยบายและจรรยาบรรณทางธุรกิจ (code of conduct) ในทำนองนี้ เพื่อสร้างบทบาทความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ (Corporate social responsibility: CSR) ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ

แต่ที่ผ่านมา เมื่อภาคธุรกิจขยายตัวในเขตเมือง กลับมีประชาชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก และคนเหล่านี้ขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และศักยภาพด้านต่างๆ จนไม่อาจปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงตามสภาพของเมืองได้ทัน โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจสำคัญอย่างสีลม ผู้มีอำนาจในการบริหารเมืองจึงควรคำนึงถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้ด้วย

ส่งท้าย 

ผู้เขียนเสนอให้คณะผู้บริหาร กทม. ทบทวนและพิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบด้าน โดยตัดสินใจบนหลักการว่า ประชาชนต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด และ กทม. ต้องรับฟังเสียงจากรอบด้าน ทั้งกลุ่มผู้ค้าข้างทาง ประชาชน หรือกลุ่มธุรกิจก็ตาม แน่นอนว่า ประเด็นปัญหานี้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหาร กทม. เพราะทุกการตัดสินใจล้วนมีผู้ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้เสีย แต่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานของการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ

Author

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจเรื่องแรงงานและนโยบายสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า