รวันดาและแอฟริกาใต้: ครบรอบ 23 ปี กระบวนการเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ปี 1994 นับว่าเป็นปีที่สำคัญของทวีปแอฟริกา การต่อสู้ในแอฟริกาใต้จบลงที่สันติภาพ ปีเดียวกัน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาเริ่มต้นขึ้น แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมา 23 ปีแล้ว แต่ฝันร้ายที่กลายเป็นจริงยังคงไม่จางหายไปจากความทรงจำของผู้คนที่ยังมีชีวิตรอดอยู่จนทุกวันนี้

และในปีเดียวกัน ประเทศแอฟริกาใต้ นำโดย เนลสัน แมนเดลา นักเคลื่อนไหวคนสำคัญเพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้อย่างสันติ ก็สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยยุคใหม่และขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกได้สำเร็จ

จากสถานการณ์ที่เศร้าสลดของทั้งสองชาติ รวันดาและแอฟริกาใต้ต่างเริ่มกระบวนการและกลไกเพื่อสร้างความปรองดอง (reconciliation) ในชาติ

โดยแอฟริกาใต้จัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission: TRC) ส่วนรวันดาจัดตั้งศาลยุติธรรมกาชาชา (The Gacaca Tribunal System)

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเส้นทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองในสองประเทศค่อนข้างเป็นเรื่องยากลำบาก สืบเนื่องจากความซับซ้อนของเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต รวมถึงกระบวนการสร้างความปรองดองที่ส่งต่อเป็นทอดๆ นั้น ต้องผ่านหลายตัวแสดงและมีหลายปัจจัย

จนเกิดหลายคำถาม เช่น ใครต้องคืนดีกับใคร? ใครควรเป็นคนเริ่มกระบวนการนี้ก่อน ระหว่างเหยื่อหรือผู้กระทำผิด? แล้วมันควรเป็นไปในทิศทางใด? และเราจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่ หากสังคมไม่มีเสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมหรือไม่ได้รับความชดเชยใดๆ

รวันดา: หรือความปรองดองอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

วันที่ 7 เมษายน ปี 1994 ถือว่าเป็นวันที่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเริ่มขึ้น กว่า 100 วันหลังจากนั้น ศพถูกทิ้งไว้ตามถนน ภาพความโหดร้าย ทารุณและทรมาน มีให้เห็นอย่างหลีกหนีไม่ได้

แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่อาจเลวร้ายกว่านั้น คือผู้กระทำผิดและเหยื่อที่รอดชีวิตอยู่ ต่างต้องมาร่วมกันสร้างชีวิตใหม่ด้วยกันอีกครั้ง และบางคนต้องกลายเป็นเพื่อนบ้านกัน

แน่นอนว่าความรู้สึกอยากแก้แค้นในใจเหยื่อเข้มข้นอย่างยิ่ง จึงกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่กระบวนการยุติธรรมต้องรีบดำเนินให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เหยื่อและผู้กระทำผิดสามารถอยู่ร่วมในชุมชนเดียวกันได้

กระบวนการที่ใช้ในการสร้างความปรองดองของศาลยุติธรรมกาชาชา และแนวทางในการเยียวยาคือ ทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดต้องมาพบกัน ต้องแสดงตัวและกล่าวขอโทษ ซึ่งศาลดังกล่าวมีในทุกชุมชนทั่วประเทศ และได้รับเกียรติจากผู้พิพากษาจากชุมชนมาเป็นผู้พิพากษา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความปรองดองของศาลนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้สังเกตการณ์นานาประเทศ นักวิจัย รวมถึงนักวิชาการ ว่าไม่ได้ทำตามกระบวนการที่ถูกต้อง และอาจเสี่ยงต่อการถูกชักใยทางการเมืองได้ กล่าวคือ เหยื่อสามารถใส่ร้ายหรือพูดเกินความจริงได้ หากหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และบางคนอาจได้รับโทษ แม้ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ

ขั้นตอนดังกล่าวในกระบวนการสร้างความปรองดองของประเทศรวันดามักได้รับการยกย่อง แต่ดูเหมือนว่าความปรองดองอาจต้องแลกกับเสรีภาพทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

แอฟริกาใต้: หรือความปรองดองต้องแลกกับการชดเชยทางเศรษฐกิจ

ความขัดแย้งระหว่างคนผิวดำและผิวขาวรุนแรงอย่างมากในช่วงนโยบายแบ่งแยกสีผิวที่ออกโดยชาวผิวขาวเพื่อให้พวกเขาเหนือกว่าอีกกลุ่ม  เมื่อนโยบายดังกล่าวถูกล้มลง กระบวนการสร้างความปรองดองในแอฟริกาใต้จึงเริ่มขึ้น – อย่างแปลกๆ

โดยกลุ่มคนที่ถูดจัดว่าเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับกระบวนการฟื้นฟูความปรองดองในชาติ แต่ก็เกิดข้อกังขาว่า รัฐกำลังทำการซื้อขายความจริงกับความยุติธรรม

เพื่อโต้แย้งกับข้อกังวลดังกล่าว องค์กรเพื่อความยุติธรรมและความปรองดอง (Institute for Justice and Reconciliation: IJR) องค์กรที่แยกตัวมาจาก TRC ได้เริ่มหันไปให้ความสนใจกับความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปรองดอง

แต่จากรายงานประจำปีเรื่อง ‘Reconciliation Barometer’ ของ IJR ได้ค้นพบว่า ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญในประเทศแอฟริกาใต้ โดยกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม อย่างพรรคนักสู้เพื่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ หรือ EFF (Economic Freedom Fighters) ที่เป็นฝ่ายซ้ายได้ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดสรรปันส่วนที่ดินและแหล่งทรัพยากรใหม่ เช่นเดียวกับนักเรียนในแอฟริกาใต้ที่ออกมาประท้วงเกี่ยวกับการเข้าถึงทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม

ทั้งหมดนี้อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า แค่ให้พูดความจริงอย่างเดียวอาจไม่พออีกต่อไป ความยุติธรรมทางสังคมและความเสมอภาคจะต้องอยู่ในกระบวนการสร้างความปรองดองด้วย

ความปรองดองตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับบุคคล

การปรองดองคือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีบาดแผลกับชุมชนที่เป็นผู้สร้างบาดแผลให้พวกเขา เพื่อให้สังคมพัฒนาและเดินต่อไปได้ การเยียวยาจำเป็นต้องขยายกว้างออกไปอย่างทั่วถึง

แม้นโยบายแบ่งแยกสีผิวจะถูกยกเลิกไปแล้วในประเทศแอฟริกาใต้ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาจะจบลงไปแล้ว ทั้งสองเหตุการณ์ผ่านพ้นมา 23 ปี แต่แนวทางในการเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงไม่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ความหวังในการปรองดองก็ไม่ได้ริบหรี่เสียทีเดียว เมื่อเรายังเห็นภาพการเยียวยาต่อกันและกันระหว่างเหยื่อและผู้กระทำผิดอยู่บ้าง

ในแอฟริกาใต้ เราเห็นโครงการ  The Forgiveness Project  ที่บอกเล่าเรื่องราวการปรองดองระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวในแอฟริกาใต้

ส่วนในรวันดาเราเห็นภาพแบบนี้ได้จากหญิงแม่ม่ายที่เคยเป็นภรรยาของผู้กระทำผิดและเหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันและทำงานร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม หากมองดูให้ดีแล้ว กระบวนการปรองดองดังกล่าวไม่ได้เริ่มต้นจากองค์กรใด ศาลใดหรือคณะกรรมาธิการใดๆ แต่ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตัวระบบเอง กล่าวคือ รัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายและกลไกที่นำมาสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม ยิ่งไปกว่านั้นที่สำคัญคือ ภาคประชาชนและสังคมเองก็ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันร่วมกัน

เพราะสุดท้ายแล้วการปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากใจของเราไม่เปิดรับให้มันเข้ามาเยียวยาตัวเราเอง


อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation.com

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า