มาริอูปอล (Mariupol) เมืองสาธิตการกลืนชาติทางวัฒนธรรมของรัสเซียบนแผ่นดินยูเครน

หลังเปิดศึกโจมตียูเครนด้วยปฏิบัติการทางทหารมานานกว่า 1 ปีตั้งปีต้นปี 2022 จนได้ชัยชนะในพื้นที่หลายเมือง กลางปี 2023 รัสเซียเริ่มปฏิบัติการยึดยูเครนทางสังคมและวัฒนธรรม เป้าหมายสำคัญคือ ‘การทำให้เป็นรัสเซีย’ (Russification) โดยมีมาริอูปอล (Mariupol) เป็นเมืองทดลอง

มาริอูปอล เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกของยูเครน ไม่ใช่เมืองที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) หรือยุทธศาสตร์ใดๆ อีกทั้งยังไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ แต่กลับตกเป็นเป้าของรัสเซียในการโจมตียูเครน และเป็นเมืองแรกของยูเครนที่ถูกกำลังทหารรัสเซียยึดครองได้ 

หลังถูกโจมตีอย่างหนักตลอดเกือบ 4  เดือน ตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ 2022 ถึงพฤษภาคม มาริอูปอลก็ถูกกองทัพรัสเซียยึดครอง

โวโลดีเมียร์ เยอร์โมเลนโก (Volodymyr Yermolenko) นักปรัชญาและนักเขียนชื่อดังชาวยูเครน เคยพูดถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไว้เมื่อปลายปี 2022 ว่า เป้าหมายสำคัญของรัสเซียในการเร่งโจมตีมาริอูปอลไม่น่าจะเป็นการหวังผลทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือการยึดครองทรัพยากร แต่น่าจะเป็นการพยายามหวนคืนสู่การเป็นจักรวรรดิรัสเซียอีกครั้ง 

สิงหาคม 2023 สำนักข่าวต่างประเทศเริ่มรายงานสภาพเมืองมาริอูปอล ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง  ประชากรชาวยูเครนเหลือเพียงประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ที่เหลืออพยพไปเมืองอื่น สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่านักธุรกิจรัสเซีย พากันเข้าไปกว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในราคาถูก  ขณะที่ชาวรัสเซียจำนวนมากเริ่มเดินทางไปจับจองสิทธิโครงการพัฒนาต่างๆ บนแผ่นดินยูเครน

เมืองใหม่ในแบบของรัสเซียกำลังเกิดขึ้น ในขณะที่สังคมและวัฒนธรรมธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษาของยูเครนกำลังถูกทำลาย

ป้ายจราจร ถูกเปลี่ยนจากภาษายูเครนเป็นภาษารัสเซีย ระบบการศึกษาถูกเปลี่ยนให้ใช้หลักสูตรและระบบเดียวกับรัสเซีย การเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญสุดของการกลืนชาติทางวัฒนธรรมคือ ห้องสมุดจำนวนมากถูกทำลาย หนังสือนับแสนเล่มทั้งภาษายูเครนและภาษาต่างประเทศถูกเผา 

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาเมืองมาริอูปอล (Mariupol City Council) ให้ข้อมูลกับสื่อท้องถิ่นว่าในช่วงที่กองกำลังของรัสเซียเข้ายึดมาริอูปอล ได้มีการทำลายห้องสมุดไปแล้ว 5 แห่ง หนังสือเสียหายกว่า 1.8 แสนเล่ม ทั้งถูกโยนทิ้งและถูกเผา 

ทำไมต้องเผาหนังสือ

หนังสือเป็นสื่อกลางของอารยธรรม ปราศจากหนังสือประวัติศาสตร์จะเงียบงัน
วรรณกรรมจะบอดใบ้ วิทยาศาสตร์จะพิกลพิการ ความคิดและการคาดการณ์จะหยุดนิ่ง
ปราศจากหนังสือการพัฒนาอารยธรรมก็ไม่มีทางเป็นไปได้”

ส่วนหนึ่งของคำปราศรัยของบาร์บารา ทัชแมน (Barbara Tuchman) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอเมริกัน กล่าว ณ หอสมุดรัฐสภา (Library of Congress) ในปี 1980 เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนของเหตุผลการเผาทำลายหนังสือและห้องสมุดของผู้คนต่างอารยธรรม หลายต่อหลายครั้งบนโลกใบนี้

รีเบคกา นูธ (Rebecca Knuth) นักวิชาการด้านบรรณารักษ์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย ผู้แต่ง Libricide: The Regime-Sponsored Destruction of Books and Libraries in the Twentieth Century (การล้างเผ่าพันธ์ห้องสมุด: การทำลายหนังสือและห้องสมุดที่ได้รับการสนับสนุนจากระบอบการปกครองในศตวรรษที่ 20) ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเผาหนังสือครั้งสำคัญของโลกและพบว่า การเผาทำลายหนังสือรวมถึงการทำลายห้องสมุด ถูกใช้เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ของการใช้ความรุนแรงขนาดใหญ่ต่อศัตรูทั้งภายนอกและภายใน 

นูธระบุว่าการเผาทำลายหนังสือและห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศมาหลายต่อหลายครั้ง เช่น เมื่อนาซีล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในประเทศเยอรมนีด้วยกัน หรือเมื่อกองทัพเยอรมันกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วยุโรป เมื่อชาวเซิร์บกระทำต่อชาวโครแอตและบอสนีแอก ในโครเอเชียและบอสเนีย เมื่ออิรักยึดครองคูเวต รวมถึงเมื่อจีนปฏิวัติวัฒนธรรมภายในประเทศ และรุกรานทิเบต

การเผาหนังสือที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายและมีหนังสือถูกเผาทำลายมากที่สุดของศตวรรษที่ 20 เกิดจากการกระทำของนาซี ในช่วง ค.ศ. 1933 เมื่อรัฐบาลนาซีของเยอรมันมีเป้าหมายประสานองค์กรต่างๆ ทางสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับอุดมการณ์และนโยบายของนาซี เริ่มลงมือกวาดล้างวัฒนธรรมอื่นที่ ‘เสื่อมทราม’ (degenerate) และจำเป็นต้องมีการ ‘ชำระล้าง’ (Säuberung) 

วันที่ 10 พฤษภาคม 1933 หนังสือที่ไม่ได้เขียนด้วยภาษาเยอรมันกว่า 25,000 เล่ม จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกนำไปกองรวมที่จัตุรัสโอเปรา (Opernplatz) ในกรุงเบอร์ลิน เพื่อ ‘ชำระล้าง’ ด้วยไฟ เป็นการเผาหนังสือที่เรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นการทำลายหนังสือที่ไม่ใช่ภาษาเยอรมันด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการเผา โยนทิ้งน้ำ ก็แผ่กระจายไปทั่วยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮอลแลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส โปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย รวมถึงยูเครน ต้องสูญเสียหนังสือจำนวนมากจากมาตรการทำลายวัฒนธรรมทางภาษาของเยอรมัน มีตัวเลขบันทึกว่าโปแลนด์สูญเสียหนังสือไปว่า 15 ล้านเล่ม และเชโกสโลวาเกียสูญเสียไปกว่า 2 ล้านเล่ม

การเผาทำลายหนังสือภาษายูเครนของรัสเซียในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างจากการที่นาซีเผาทำลายหนังสือของชาวยิวในพื้นที่ต่างๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียทำลายวัฒนธรรมของยูเครนด้วยการเผาหนังสือ ปี 2010 กลุ่มชาตินิยมรัสเซียได้เผาและทำลายหนังสือประวัติศาสตร์ภาษายูเครนในแคว้นไครเมียเป็นจำนวนมาก โดยให้เห็นผลว่าเป็นหนังสือที่แบ่งแยกผู้คน ทำลายความรักที่ชาวรัสเซียและชาวยูเครนมีร่วมกัน กลุ่มชาตินิยมรัสเซียยังประกาศสนับสนุนประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ผู้ฝักใฝ่รัสเซียให้ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง เพื่อเดินหน้าลดคุณค่าประวัติศาสตร์และภาษาของยูเครน และปรับปรุงความสัมพันธ์กับมอสโก  

เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นใบเบิกทางให้รัสเซียส่งกองกำลังมายึดแคว้นไครเมียกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของตนเองอีกครั้ง ใน ค.ศ. 2014 

ทำมาริอูปอลให้เป็นรัสเซีย ยับยั้งความเป็นชาติยูเครน

ประเทศยูเครนในปัจจุบัน มีขนาดใกล้เคียงรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอาณาจักรเคียฟรุส (Kyivan Rus) รัฐแห่งแรกของชาวสลาฟ หรือชนเผ่าเร่ร่อนในยุโรปตะวันออก ทั้งชาวเซิร์บ ชาวโครแอต ชาวบอสนีแอก รวมถึงชาวรัสเซียต่างเป็นสลาฟด้วยกันทั้งสิ้น 

กรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครนปัจจุบัน ในอดีตคือเมืองหลวงของอาณาจักรเคียฟรุส ยูเครนเป็นดินแดนที่มหาอำนาจแย่งชิงมาตลอด ประวัติศาสตร์ของยูเครนเต็มไปด้วยถูกแบ่งแยกและรวมกลับเข้ามาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคชาวไวกิง มองโกล ลิธัวเนีย โปแลนด์ จักรวรรดิรัสเซีย ออตโตมาน สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมัน โรมาเนีย เชโกสโลวาเกีย ล้วนเคยเข้ามาปกครองดินแดนนี้  อิสระอย่างสมบูรณ์ของประเทศยูเครนเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 นี้เอง

วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) พูดเสมอว่ายูเครนและรัสเซียมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ยูเครนไม่ใช่รัฐที่แท้จริง และชาวยูเครนก็ไม่มีอยู่จริง ในขณะที่ยูเครนพยายามสร้างชาติใหม่ในทางการเมืองให้ขยับสู่ประเทศประชาธิปไตย และระบบเสรีนิยม เดินห่างออกจากรัสเซียมากขึ้น สร้างตัวตนของความเป็นชาวยูเครนมากขึ้น ผู้คนค่อยๆ ละทิ้งภาษารัสเซีย ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) เองก็เคยพูดรัสเซียมาก่อน และเพิ่งมาเรียนภาษายูเครนภายหลัง 

ประวัติศาสตร์ชาติยูเครนถูกเขียนอย่างไม่เกรงใจรัสเซียมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของโฮโลโดมอร์ (Holodomor) โศกนาฏกรรมในช่วงปี 1932-1933 ที่รัฐบาลโซเวียตในยุคโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เข้าควบคุมทรัพยากรการเกษตรของยูเครนเพื่อส่งเสริมระบบนารวม ผลผลิตในยูเครนถูกส่งไปเลี้ยงพลเมืองโซเวียต ปล่อยให้ชาวยูเครนตายเพราะความหิวโหยกว่าวันละ 28,000 คน ตลอดช่วงปีแห่งความเลวร้ายชาวยูเครนถูกปล่อยให้อดตายไปมากถึงว่า 3.9 ล้านคน การกล่าวถึงโฮโลโดมอร์ซึ่งรัฐสภาเบลเยียมเพิ่งมติรับรองว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดในสหภาพโซเวียต แต่เด็กยูเครนรุ่นหลังๆ มีโอกาสเรียนรู้เหตุการณ์นี้ผ่านตำราประวัติศาสตร์ภาษายูเครน 

ความต้องการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่เหินห่างรัสเซียของยูเครน เริ่มชัดเจนในปี 2014 เมื่อมีการประท้วงใหญ่ในกรุงเคียฟเพื่อโค่นล่มยานูโควิช ผู้นำเผด็จการที่สนับสนุนเครมลิน (จนยานูโควิชต้องลี้ภัยไปรัสเซีย และรัสเซียส่งกองกำลังมายึดแคว้นไครเมีย) ในครั้งนั้นขบวนผู้ประท้วงในเมืองเคียฟเต็มไปด้วยธงสหภาพยุโรปและธงชาติยูเครน สะท้อนให้เห็นความปรารถนาของยูเครนที่ต้องการสมาทานมาตรฐานความเป็นชาติแบบประชาธิปไตยและเสรีนิยมตามแนวทางยุโรป ไม่ใช่สังคมนิยมเผด็จการแบบรัสเซียที่พวกเขามีประวัติศาสตร์ร่วมมานาน 

ความพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของยูเครน เดินหน้าควบคู่กับการฉายภาพให้เห็นว่ารัสเซียไม่ใช่ญาติมิตร ดังที่ปูตินพยายามบอกเล่ามาตลอด นอกจากเด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้เรื่องราวของโฮโลโดมอร์ผ่านตำราเรียนแล้ว พวกเขายังสามารถแสดงออกทางความคิดที่มีต่อเผด็จการรัสเซียได้อย่างเสรี โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป 

ปี 2016 ศิลปินเพลงป๊อปรุ่นใหม่ชาวยูเครนชื่อจามาลา (Jamala) ชนะเลิศการประกวดร้องเพลงในเวทียูโรวิชัน (Eurovision Song Contest)  การประกวดร้องเพลงระหว่างประเทศในสหภาพยุโรป จามาลาเป็นชาวตาตาร์ (Tatar) ชาติพันธุ์มุสลิมในแคว้นไครเมีย เลือกเพลง 1944 ใช้ในการประกวด เนื้อหาของเพลง 1944 บอกเล่าชะตากรรมของชาวตาตาร์ในไครเมียที่ถูกสตาลินกดขี่และขับไล่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยูเครนพากันเรียกจามาลาว่า ‘จามาลาของเรา’ ผู้เป็น ‘วีรสตรีทางวัฒนธรรมของยูเครน’ 

ปี 2019 ชาวยูเครนลงมติเลือกโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) นักแสดงตลกเชื้อสายยิวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี 

ความพยายามของรัสเซียในการทำให้มาริอูปอลเป็นรัสเซีย (russification) เป็นการกระทำซ้ำสิ่งที่จักรวรรดิรัสเซีย (Russia Empire) เคยกระทำกับยูเครนในศตวรรษที่ 18 

ปี ค.ศ. 1793 หลังจักรวรรดิรัสเซียสามารถผนวกดินแดนยูเครนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์(Dniper) ซึ่งก่อนหน้านั้นยังเป็นของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียได้ จักรวรรดิรัสเซียมีคำสั่งการห้ามใช้ภาษายูเครน รวมถึงห้ามไม่ให้มีการสอนภาษายูเครนด้วย มีการกดดันให้ประชาชนยูเครนนับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ (Russian Orthodox)

แม้จะมองว่าการยึดครองมาริอูปอลในปัจจุบันเป็นไปบนฐานคิดของการพยายามรื้อฟื้นจักรวรรดิรัสเซีย แต่เยอร์โมเลนโกก็มั่นใจว่า ลึกๆ แล้วปูตินเองน่าจะตระหนักถึงความเป็นไปไม่ได้ ปลายทางของความพยายามที่แท้จริงของปูตินจึงน่าจะอยู่ที่ต้องการหยุดการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของยูเครน ที่ตีตัวออกห่างจากประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต และมาริอูปอลเมืองที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ใดๆ ต่อรัสเซีย ก็ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสำหรับเขียนเสือให้วัวกลัว 

ที่มา:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า