2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าคนเยอรมันจะพูดเรื่อง ‘นาซี’ ได้เต็มปาก

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีเรืองอำนาจ ทั้งการแพ้สงครามโลก รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน แต่โดยรวมแล้วบรรยากาศแห่งความสิ้นหวังนำพาให้คนเยอรมันหันหลังให้กับประชาธิปไตยแล้วฝันใฝ่ในชีวิตที่ดีกว่าภายใต้การนำของพรรคนาซี และการปกครองระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ

ความเชื่อมั่นต่อนาซีนั้นสูงลิบชนิดที่แม้จะต้องนำพาประเทศก่อสงครามโลกครั้งใหม่ คนเยอรมันส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียง แม้สุดท้ายปรารถนาที่จะจัดระเบียบโลกใหม่จะมีฉากจบไม่สวยก็ตามที

นับจาก 1 กันยายน 1939 – 2 กันยายน 1945 เป็นระยะเวลา 6 ปี ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นและจบลง เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความสูญเสียให้กับมนุษยชาติในระดับที่ประเมินค่าไม่ได้ เอาเฉพาะซากร่างที่ไม่หายใจก็มีทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนไม่ต่ำกว่า 40 ล้าน รวมกว่า 62 ล้านคนเซ่นสังเวยชีวิตให้กับไฟสงคราม กระนั้นเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงความสยดสยองคือความตายในค่ายกักกันนาซี ซึ่งคาดว่ามีมากถึง 11 ล้านคน และ 6 ล้านคนในนั้นเป็นชาวยิวซึ่งถูกฆ่าอย่างทารุณ โหดเหี้ยม และเป็นบาดแผลของประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่าจำเลยของเรื่องราวอันป่าเถื่อนนี้คือฮิตเลอร์ และนาซี

ย้อนกลับไปในช่วงสงคราม ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ยกมือเห็นด้วยกับผู้นำของเขาอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไร ทารุณเพียงไหน ก็แทบไม่มีคนโต้แย้ง แน่ละว่าอำนาจล้นมือของนาซีช่วยปิดปากคนคัดค้านอัตโนมัติ เพราะมันผู้ใดกล้าหือก็อาจต้องจ่ายด้วยราคาของชีวิต เฉกเช่นกรณีของ ‘พี่น้องตระกูลโชล’ ขบวนการกุหลาบขาว ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่แจกจ่ายใบปลิวโจมตีฮิตเลอร์ ต่างจบลงด้วยเครื่องตัดหัวกิโยตีน

กระนั้นโดยข้อเท็จจริงก็คือ โดยไม่ต้องบังคับขู่เข็ญ ชาวเยอรมันจำนวนมากก็เห็นพ้องต้องกันว่าผู้นำของเขาและพรรคนาซีทำถูกต้องแล้ว

นาซี

ในการชุมนุมครั้งหนึ่งของพรรคนาซีที่กรุงเบอร์ลิน ผู้ขึ้นปราศรัยคือรัฐมนตรีโฆษณาการ โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbles) ปลุกมวลชนนาซีกว่า 15,000 คนด้วยคำถามว่า “พวกท่านต้องการสงครามเบ็ดเสร็จใช่หรือไม่” ฝูงชนตะโกนตอบกลับมาโดยพร้อมเพรียงว่า “ใช่” คำถามต่อมาจากเกิบเบิลส์ถึงมวลชนเบื้องหน้าคือ “ผู้ใดที่บังอาจต่อต้านระบอบปกครองอันสุดประเสริฐนี้สมควรถูกประหารชีวิตหรือไม่” คราวนี้ฝูงชนตอบคำถามด้วยการกรีดร้องอย่างบ้าคลั่งว่า “ใช่แล้ว!” “ประหารมัน!” “ฆ่ามัน!”

ข้อสังเกตสำคัญคือการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังนาซีและพันธมิตรพ่ายแพ้ต่อโซเวียตที่สมรภูมิสตาลินกราด กระนั้นฝูงชนก็ยังเชื่อมั่นในนาซีอย่างสูงลิบ เราจึงไม่แปลกใจที่แม้นาซีจะปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ การกีดกันลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทำสงคราม และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมเพียงใด กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่ชาวเยอรมันจำนวนมากก็หาได้รู้สึกรู้สาว่าทำอะไรลงไป

ผู้ชนะสงครามพยายามที่จะถอดถอนสภาพนาซี มีการจับกุมบุคคลสำคัญมาขึ้นศาลและลงโทษ กระนั้นก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ต้องการทำร้ายจิตใจชาวเยอรมันผู้พ่ายแพ้ ขณะเดียวกันก็ติดพันกับการแผ่อิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘สงครามเย็น’ นั่นทำให้พลพรรคนาซียังมีชีวิตอยู่หลังสงครามโลกจบลงมากถึง 14 ล้านคน และการนำบุคคลเหล่านี้มาขึ้นศาลลงโทษก็แทบปิดประตูของความเป็นไปได้

หลังปี 1951 เมื่อเยอรมนีตะวันตกออกกฎหมายชดเชยผู้เสียหายจากการกระทำของนาซี คนที่เคยเป็นลูกหาบอำมหิตให้กับเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร มือสังหาร สายลับ ตำรวจ ผู้พิพากษา ที่มีส่วนในการจับกุม ยิงทิ้ง ส่งเข้าค่ายกักกัน ฯลฯ กลับได้เข้ามาสู่การดำรงตำแหน่งของรัฐเสียอย่างนั้น

หลังสิ้นสงครามจนถึงกลางทศวรรษ 1960 การพูดถึงนาซียังเป็นเรื่องอ่อนไหว อย่าว่าแต่ชาวบ้านร้านตลาดเลย เอาแค่นักหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ที่ควรจะเป็นปากเสียงให้กับความเงียบก็พูดถึงเรื่องนาซีอย่างแผ่วเบา และจำนวนไม่น้อยเลือกปิดปากตัวเอง ที่มากกว่านั้นคือ คนที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านนาซีกลับถูกคุกคามจากคนเยอรมันด้วยกันเอง พร้อมถูกประณามหยามหมิ่นว่าเป็น ‘พวกทรยศ’

Auschwitz
พฤษภาคม/มิถุนายน ปี 1944 ที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ กลุ่มคนฝั่งขวาจะถูกนำไปใช้แรงงานเยี่ยงทาส ขณะที่ฝั่งซ้ายจะถูกนำไปเข้าห้องรมแก๊ส (ผู้ถ่ายภาพคือ แอร์นสท์ ฮอฟมันน์ แห่งหน่วย SA)

ระหว่างทศวรรษ 1960 การพิจารณาคดีกรณีค่ายกักกันเอาชวิตซ์ตกเป็นข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่อง การดำเนินคดีครั้งนี้ช่วยเปิดข้อมูลและเผยโฉมหน้าของปีศาจโดยเฉพาะกรณีของโฮโลคอสต์ (Holocaust) ซึ่งนำมนุษย์ไปใช้แรงงานอย่างหนักหน่วง มีการทรมานอย่างโหดเหี้ยม ก่อนถูกสังหารด้วยสารพัดวิธี และที่สยดสยองอย่างยิ่งคือการถูกรมด้วยก๊าซพิษ ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนต้องตายอย่างไร้ค่า และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยครึ่งหนึ่งของความตายเป็นชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว

7 ธันวาคม 1970 ภาพที่ถูกจำมากที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ การคุกเข่าของ วิลลี บรันดท์ (Willy Brandt) นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี เพื่อคารวะเบื้องหน้าอนุสรณ์สถานวอร์ซอเก็ตโต ประเทศโปแลนด์ ซึ่งห่างจากวันสิ้นสุดสงครามถึง 25 ปี 3 เดือน และอีก 6 วัน ขณะที่ประธานาธิบดี ริชาร์ด ฟอน ไวซ์แซเกอร์ (Richard von Weizsäcker) ก็กล่าวในครั้งหนึ่งว่า “ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนับเป็นการปลดแอกประเทศครั้งสำคัญ”

ปรากฏการณ์ที่ผู้นำประเทศออกมาแสดงจิตสำนึกสาธารณะครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปิดใจยอมรับ และทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อบันทึกเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนเยอรมันและโลกได้เรียนรู้ถึงความโหดร้ายของนาซีและสงคราม กับการสร้างบาดแผลแห่งเชื้อชาติที่ยากจะให้อภัย

ในช่วงเดียวกันนี้ โรงเรียนเกือบทั่วเยอรมนีตะวันตกเริ่มบรรจุหลักสูตรว่าด้วยนาซี ผู้คนจำนวนมากเริ่มสืบค้นเรื่องราวและบันทึกประสบการณ์ในช่วงสงคราม เกิดการวิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยน และรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน กระทั่งสร้างบรรยากาศให้เยอรมนีก้าวไปสู่สังคมยุคใหม่ที่มีประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง

นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี วิลลี บรันดท์ คุกเข่าเบื้องหน้าอนุสรณ์สถานวอร์ซอเก็ตโต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1970

มกราคม 1979 ภาพยนตร์ชุดเล็กเรื่อง โฮโลคอสต์ (US TV mini-series Holocaust) ถูกนำมาฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยมีผู้ชมทั่วโลกกว่าร้อยล้านคน เฉพาะในเยอรมนีก็เกินกว่า 20 ล้านคนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งทำให้บรรยากาศการพูดคุยเรื่องนาซีและโฮโลคอสต์ถูกขุดค้นหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมเริ่มดีขึ้นอยู่แล้วยิ่งแพร่หลายไปในวงกว้าง กระทั่งคนธรรมดาสามัญก็พูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และพยายามถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอย

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ จากเดิมที่ชาวเยอรมันประณามว่าพวกต่อต้านนาซีเป็นพวกทรยศชาติ ก็กลับกลายเป็นว่าพวกเขาเริ่มเข้าใจ โดยจากการสำรวจความคิดเห็นในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระหว่างปี 1951 – 1970 พบว่าคนเยอรมันมีความรู้สึกดีต่อผู้ต่อต้านนาซีสูงขึ้นกว่าเดิม

ปี 1990 เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์เสื่อมอิทธิพล เยอรมนีตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นหนึ่ง แม้จะยังมีกระแสเหยียดเชื้อชาติกับกลุ่ม นาซีใหม่ (Neo-Nazism) อยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วแผ่นดินนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาพัฒนาประเทศไปสู่สังคมยุคใหม่ซึ่งมีความก้าวหน้าทั้งด้านประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็เลือกที่จะไม่ลืมประวัติศาสตร์บาดแผลที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ ก็ถูกปลูกฝังเรื่องความโหดร้ายของนาซีไว้ในชั้นเรียน ถนนหนทางถูกจารึกชื่อชาวยิวที่เสียชีวิต ไม่มีการปกปิดว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ณ ที่แห่งนี้

กล่าวสำหรับกลุ่มคนที่ต่อต้านนาซี ซึ่งนำโดยพี่น้องตระกูลโชล ‘โซฟี’ และ ‘ฮันส์’ ต่อมาถูกยอมรับและยกย่องกระทั่งปี 1999 ผู้อ่านนิตยสารสำหรับสตรีเยอรมัน Brigitte ได้โหวตให้ โซฟี โชล เป็นสตรีเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ ถัดมาปี 2003 สถานีโทรทัศน์ ZDF ของเยอรมันได้เชิญชวนให้คนอายุต่ำกว่า 40 ปีออกเสียงในหัวข้อ ‘ชาวเยอรมันดีเด่นสุดตลอดกาล’ Unsere Besten (Our Best) ปรากฏว่าโซฟี กับ ฮันส์ โชล ได้รับเลือกมาในอันดับ 4 สูงกว่าศิลปินชื่อก้องโลกอย่าง โยฮัน เซบาสเตียน บาค, โยฮัน โวล์ฟกัง เกอเธ่,  โยฮัน กูเตนเบิร์ก, ออตโต ฟอน บิสมาร์ค, วิลลี บรันดท์ และสูงกว่าแม้กระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เสียอีก ปรากฏการณ์นี้ยิ่งบ่งบอกว่าชาวเยอรมันสมัยใหม่ตระหนักและเข้าใจว่า บรรพบุรุษของตนเองทำอะไรลงไปในสงครามนั้น

 

เรียบเรียงจาก โซฟี โชล ‘กุหลาบขาว’ และ ‘นาซี’ โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์

 

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า