3 ปี คสช. ยืนเด่นโดยมั่นคง

22 พฤษภาคม 2560 คือวาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2558 รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ. 2558-2563 ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในวาระครบรอบ 3 ปี ดูเหมือนว่า ‘วิสัยทัศน์’ ของรัฐบาลจะยังคงแน่วแน่และมั่นคง การดำเนินนโยบายและการประกาศใช้กฎหมายต่างๆ ดูเหมือนจะสอดรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

เพียงแต่เป็นความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของอำนาจรัฐแต่ฝ่ายเดียว ประชาชนไม่เกี่ยว เป็นรัฐที่ปกครองโดยทหารที่ทำรัฐประหารเข้ามา


#มั่นคง

จับให้หมด

การสร้างบรรยากาศช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 เป็นตัวอย่างสาธิตถึงทิศทางในการอยู่ในอำนาจของ คสช. ได้เป็นอย่างดี
จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในช่วงประชามติอย่างน้อย 207 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 อย่างน้อย 47 คน รัฐบาลทหารข่มขู่และห้ามประชาชนจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการลงประชามติอย่างเคร่งครัด ความหวาดกลัวและไม่กล้าแสดงความเห็นปกคลุมบรรยากาศช่วงการลงประชามติโดยแท้ แม้แต่การสวมใส่เสื้อ Vote No ก็อาจจะสร้างความยากลำบากให้ตนเอง มีการดำเนินคดีนักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย

การกระทำการที่ผิดกฎหมายของประชาชนในช่วงก่อนทำประชามติ เช่น ตะโกนชวนให้คนไม่ไปลงประชามติ 1 ราย, เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ 143 ราย, ส่งจดหมาย 198 ราย, โพสต์เฟซบุ๊ค 6 ราย, เผยแพร่/ครอบครองเอกสาร 29 ราย, ฉีกบัตรลงประชามติ 3 ราย และ จัด/สังเกตการณ์กิจกรรม 11 ราย

ในบรรดาคดีที่ถูกตั้งหาข้อหาว่า ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ศาลพลเรือนและศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันด้วยเงินประกันสูงลิบ อยู่ที่ 60,000-200,000 บาท

 

อุ้มเป็นปกติ

อำนาจจากกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือการกระทำความผิด ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่มักอ้างว่า ระหว่างเวลานี้ผู้ถูกควบคุมตัวยังไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิติดต่อญาติหรือทนายความ และไม่จำเป็นต้องแจ้งสถานที่ควบคุมตัว โดยช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารใช้การข่มขู่ และล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

การควบคุมตัวประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การจับกุมอาจจะมีทั้งตำรวจและทหารเข้าจับกุมตัวที่บ้านหรือห้องพักในช่วงเช้าตรู่ ทั้งนี้ ไม่มีการชี้แจ้งเหตุผลในการจับกุม ไม่แสดงหมายจับ อีกทั้ง ยึดและอายัดทรัพย์สิน พร้อมทั้งตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายศาล และยังไม่บอกอีกว่าจะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไปไว้ที่ไหน

บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน และนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนปัญหาภายหลังการรัฐประหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร

จากปี 2557-2559 มีคนถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 992 คน และในปี 2560 เหตการณ์ยังคงเกิดวนไป

อ่านเพิ่มเติม: freedom.ilaw.or.th/report/24monthsarrest
prachatai.org/journal/2016/12/69434

112

ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 มีคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 เท่าที่พบข้อมูล 111 คดี แบ่งเป็นคดีจากการแอบอ้างสถาบันฯ เรียกรับผลประโยชน์ ไม่ใช่จากการแสดงความคิดเห็น 37 คดี และคดีจากการแสดงความคิดเห็น 74 คดี

คดี 112 ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น เท่าที่พบข้อมูล 74 คดี ปัจจุบันศาลมีคำตัดสินแล้ว 26 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 2 คดี ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจากจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ 1 คดี ไม่พบข้อมูล 1 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 44 คดี

คดี 112 ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น เท่าที่พบข้อมูล 37 คดี ปัจจุบัน ศาลมีคำตัดสินแล้ว 15 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 2 คดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียชีวิต 2 คดี ไม่พบข้อมูล 12 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณา 6 คดี

3 ปีหลังรัฐประหารยุครัฐบาล คสช. มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแสดงออกทางเสรีภาพ อย่างน้อย 73 คน จากจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 47 คนที่เคยยื่นขอประกันตัว ทั้งการขอประกันต่อพนักงานสอบสวน ศาลพลเรือน และศาลทหาร มี 18 คน ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และอีก 28 คน ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และมีอย่างน้อย 11 คน ที่ไม่มีโอกาสได้ยื่นขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ ขณะที่อีก 16 คน ยังไม่มีข้อมูลว่าได้ยื่นขอประกันตัวหรือไม่

ที่มา: เปิดสถิติประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 3 ปี หลังรัฐประหาร

 

กฎหมายเพื่อความมั่นคง

ก่อนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 จะถูกประกาศบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พ.ร.บ.คอมฯนี้เคยถูกคัดค้านอย่างหนัก ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุมของ สนช. ช่วงปลายปี 2559 โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 300,000 คนในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ สนช. ชะลอการพิจารณาไปก่อน

ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือมาตรา 20/1 ที่ให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เสนอศาลบล็อกหรือปิดเว็บไซต์ใดก็ได้ ถ้าเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้ไม่ผิดกฎหมายอื่นใด แต่ สนช. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 168 เสียง

ต่อมาในเดือนเมษายน 2560 มีประกาศจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต ระบุว่า ด้วยศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ให้ประชาชนโดยทั่วไปงดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่เนื้อหา ของบุคคลตามประกาศนี้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรง และทางอ้อมเพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทั้งเจตนา และไม่เจตนา

บุคคลตามประกาศได้แก่ 1. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 3. Mr.Andrew MacGregor Marshall

ความพยายามในการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังมีอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบ 141 เสียง ต่อ 13 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. หรือที่ถูกเรียกว่าร่างกฎหมายคุมสื่อ

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย แถลงค้านร่างกฎหมายคุมสื่อ ว่า

“กฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพสื่อซึ่งมีชื่อไม่ตรงกับเนื้อหาฉบับนี้ เป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลทหารในการเข้าไปแทรกแซงและควบคุมการรายงานข่าวอย่างอิสระ…การผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ย่อมทำให้ผู้สื่อข่าวในประเทศไทยต้องคอยกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า พวกเขาอาจถูกจำคุกโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล”

เป็นเสียงของนานาชาติที่ คสช. ไม่ให้ค่าความสำคัญ

 

#มั่งคั่ง

 

อุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์ อุทยานประวัติศาสตร์ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต 7 พระองค์ ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสของการดำเนินการหลายขั้นตอน ตั้งแต่การหล่อพระบรมรูป จนถึงการจัดตกแต่งพื้นที่ การขอรับบริจาคจากเอกชน เรียกเก็บค่าหัวคิว และวลี ‘นำเงินไปบริจาคแล้ว’ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร แต่ คสช. ยืนยันว่าไม่มีการทุจริต

ต่อมา ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ว่าไม่พบความผิด ส่วนคำว่า ค่าหัวคิวนั้น แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดของ พล.อ.อุดมเดช ที่ควรเรียกว่า ค่าที่ปรึกษา

“…พล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว…” 

ด้าน พล.อ.ธีรชัย นาควาณิช ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ถามถึงการเปิดเผยเงินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอุทยานฯ ว่า “ผมว่าไม่ใช่สาธารณะนะ จะเอาให้ตายเลยไหม จะเอาขนาดประหารชีวิต 7 ชั่วโคตรไหม ถามอย่างนี้ ดูเจตนาคนบ้าง…”

 

ครอบครัว ปรีชา จันทร์โอชา

นอกจากกรณีเงินในบัญชีที่เพิ่มสูงขึ้นหลังรัฐประหาร ปัญหาการแสดงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ยังบรรจุ ปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชาย เข้ารับราชการตำแหน่งรักษาราชการนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 3 มียศร้อยตรี เงินเดือน 15,000 บาท เพราะมีตำแหน่งว่างก็ให้คนมาทำงาน พร้อมมีการเปิดเผยว่า มีหลายคนในกองทัพที่ทำแบบนี้ ไม่ได้มีแค่ตนคนเดียว

จากนั้นบุตรชายของ พล.อ.ปรีชา ได้ใช้บ้านพักในค่ายทหารจดทะเบียนตั้งบริษัท รับงานโครงการก่อสร้าง ของกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวม 11 โครงการ มูลค่ากว่า 155 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ปรีชาชี้แจงว่า เพิ่งทราบ พร้อมยืนยัน ไม่รู้เห็น

 

ขึ้นภาษี

หลังกระแสข่าวการบริหารงบประมาณของประเทศจนทำให้สภาวะเงินคงคลังอยู่ในสภาพ ‘ถังแตก’ เพราะมีเงินคงคลังเหลือเพียง 74,907 ล้านบาท บวกกับรัฐบาล คสช. ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาท แต่รัฐบาล คสช. ให้เหตุผลว่า เก็บภาษีไม่เข้าเป้า หลัง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 การเก็บภาษีของ 3 กรมต่ำกว่าเป้าหมาย 13,000 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางการอุดรอยรั่วของกระเป๋าคือ ตั้งเป้าหารายได้เข้ารัฐ

หลังจากนั้นก็มีแผนการปรับขึ้นภาษีตามมาหลายรายการ เช่น

– การปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบิน โดย พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้เหตุผลว่า เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี และเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะผู้ประกอบการเสียภาษีน้ำมันเครื่องบินเพียง 20 สตางค์ต่อลิตร ติดต่อกันมาถึง 24 ปีแล้ว รัฐจึงได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 และรายได้รัฐจากภาษีนี้จะนำคืนกลับสู่ประชาชนต่อไป

– การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบในหลักการ โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น แต่กระทรวงการคลังบอกว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับ vat ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม. คงอัตรา vat 7 เปอร์เซ็นต์ต่อไป

– ปรับเพดานภาษีสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ อาบอบนวด

 

โบนัส คสช.

ครม. ปรับขึ้นเงินเดือนให้ 721 เจ้าหน้าที่ คสช. ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใน คสช. ที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำมาพิจารณาบำเหน็จประจำปีได้ จึงเห็นควรขอรับการสนับสนุนโควตาบำเหน็จประจำปี ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ทั้งนี้ ในปี 2558 รัฐบาล คสช. อนุมัติไปจำนวน 1,033 คน และปี 2559 ได้อนุมัติเพิ่มเติมอีก 709 คน จากจำนวนทหารที่ช่วยในการปฏิบัติการ คสช. ทั้งหมด 22,771 นาย ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้รับการพิจารณา ได้แก่ พลทหารกองประจำการ-บุคคลพลเรือนที่มิใช่ข้าราชการ

 

#ยั่งยืน

 

Thailand 4.0

จากยุค 1.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตร สู่ 2.0 ที่อาศัยอุตสากรรมเบา และ 3.0 ยุคแห่งอุตสาหกรรมหนัก ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ยุค 4.0 ที่พัฒนาประเทศโดยด้วยนวัตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร สาธารณสุข ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การใช้กำลังคน ตามโมเดลที่วางไว้ของรัฐบาล คสช. Thailand 4.0 จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เราจะหลุดพ้นจากการเป็น ‘ประเทศกำลังพัฒนาตลอดไป’ ได้เสียที เร็วๆ นี้แหละ

 

ยุทธศาสตร์ 20 ปี

 “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คือวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ 20 ปีที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในไม่ช้านี้ โดยหมุดหมายตัวแรกจะถูกตอกลงด้วยฝีมือของรัฐบาล คสช. ประเทศไทยจะพัฒนาในทุกๆ ด้านตลอด 20 ปีข้างหน้าโดยที่ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะขาดช่วงขาดตอนหากถึงคราวเปลี่ยนรัฐบาล เพราะยุทธศาสตร์ 20 ปี ถูกบัญญัติไว้แล้วว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลนับจากนี้ต้องยึดถือและดำเนินงานพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อทำให้ประเทศไทยศิวิไลซ์ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

รัฐธรรมนูญ 2559

หลัง ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง (โดยไม่ผิดกฎหมาย) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาร่วม 2 ปีในการปลุกปั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนออกมาเป็นร่างให้ประชาชนได้ลงประชามติ ซึ่งผลที่ออกมาบ่งบอกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ ‘เห็นด้วย’ จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แด่ปวงชนชาวไทยทุกคน  

 

เช่าที่ดิน 99 ปี

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. เพื่อวางรากฐานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถขยายไปยังภาคอื่นๆ ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อน่าสนใจตรงที่ว่า ได้เพิ่มสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างด้าวผู้ประกอบกิจการและอาศัยภายในเขตฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง 50 ปีและต่อได้อีกไม่เกิน 49 ปีนับจากวันที่ครบ 50 ปี เท่ากับเช่าได้ถึง 99 ปี ว่าแต่… ทำไมอ่านแล้วรู้สึกคุ้นๆ เหมือนเคยได้ยินนโยบายนี้ จากปากอดีตนายกรัฐมนตรีคนไหนสักคนกันนะ

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

แม้เสียงประชาชนจะออกมาร้องก้องโลกแค่ไหนว่าไทยมีพลังงานทางเลือกที่ดีกว่านี้ แต่ดูเหมือนรัฐบาล คสช. จะไม่ได้ยิน (หรือไม่ฟัง) เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะเกิดขึ้นจริง โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) แม้ท่านประยุทธ์จะสั่งให้กลับไปทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสียใหม่ภายในหนึ่งปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการนี้จะถูกพับเก็บอย่างแน่นอน ประชาชนอย่างเราก็คงทำได้แค่ติดตามกันต่อไป to be continued

 

ออกกำลังกายวันพุธ

ด้วยความรักและความห่วงใยของรัฐบาล ที่เห็นว่าคนไทยมักมีกิจกรรมเหนื่อยนิ่ง กล่าวคือ การนั่งจดจ่ออยู่กับหน้าจอมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด ทีวี หรือคอมพิวเตอร์ ในฐานะที่ข้าราชการถือเป็นบุคคลตัวอย่าง ต้นแบบที่ดีของประชาชน จึงกำหนดให้ช่วงเวลา 15.00-16.30 เป็นช่วงเวลาออกกำลังกายของข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการผู้ขยันขันแข็งนั่งทำงานอยู่หน้าคอมจนปวดหลัง ได้ออกมายืดเส้นยืดสาย รับแสงแดดอันสดใสบ้าง โดยกำหนดให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนปี 2559 เป็นต้นมา

 

#ม.44 กับเรื่องชวนหัว

 

22 พฤษภาคม 2557 นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ พร้อมกับฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้งและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นแทน สิ่งที่พ่วงตามมาหลังจากนั้นยังมีการออกคำสั่งอภิมหาอาญาสิทธิ์ที่เรียกว่า ‘ม.44’ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เป็นดั่งแก้วสารพัดนึกที่สามารถเสกสรรบันดาลทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ  

จนถึงวันนี้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นับรวมแล้วทั้งสิ้น 234 ฉบับ

ทว่า ม.44 ที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมืออันศักดิ์สิทธิ์ขึงขัง แต่อีกมุมกลับสะท้อนความไร้เดียงสา ไม่ต่างจากวานรมีปืน ทั้งใช้อำนาจเกินขอบเขต หมดเปลืองไปกับเรื่องชวนหัว และบ่อยครั้งยังละลาบละล้วงแทรกแซงไปทั่วทุกองค์กร

อาทิ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ เรื่องของเรื่องก็คือ หากพบว่ามีเด็กแว้นรวมตัวกันซิ่งเมื่อไหร่ บุพการีต้องถูกเชิญตัวมารับทราบพฤติกรรม โทษฐานไม่สั่งสอนบุตรหลาน และหากยังกระทำผิดซ้ำ บิดามารดาต้องถูกลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

25 สิงหาคม 2559 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยมีคำสั่งปลดฟ้าผ่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว และจะไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เหตุเกิดจาก ‘มวลน้ำรอการระบาย’ จนเกินทน ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2559 จึงมีคำสั่งฉบับที่ 64/2559 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่งอย่างถาวร

21 มีนาคม 2560 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยเพิ่มอำนาจให้ผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายรถที่จอดในที่ห้ามจอด ล็อคล้อ และหากเกิดความเสียหายขณะเคลื่อนย้ายรถ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากไม่ได้เป็นการจงใจ นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสุดท้ายหากผู้ขับขี่ไม่ไปชำระค่าปรับจะไม่สามารถต่อทะเบียนรถได้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า