มนุษย์ในโลกทุนนิยมถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า การทำงานในแต่ละสัปดาห์ควรมีระยะเวลาเท่าไรจึงเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ระหว่างทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ พัก 2 วัน หรือทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ พัก 3 วัน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ในบรรดาบริษัทในสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมการทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งหมดจำนวน 61 บริษัท มี 56 บริษัทขอต่อระยะเวลาการทดลองเพิ่ม และมีอีก 18 บริษัทที่ตัดสินใจใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์แบบถาวร
การทดลอง ‘4 Day Week Campaign’ ที่มี โจ ไรล์ (Joe Ryle) เป็นผู้อำนวยการ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและผลักดันนโยบายการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้อนุมัติร่างกฎหมายที่จะทำให้แรงงานทั่วสหราชอาณาจักรมีระยะเวลาทำงานเพียง 32 ชั่วโมง/สัปดาห์เท่านั้น
ไรล์อธิบายเหตุผลของแคมเปญดังกล่าวว่า การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะทำให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาผลิตภาพของภาคธุรกิจเอาไว้ หรือบางกรณีอาจปรับปรุงผลิตภาพให้ดีขึ้นได้ด้วยซ้ำ
แคมเปญที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรนี้ได้รับการส่งเสริมจาก ‘4 Day Week Global’ กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งในประเทศนิวซีแลนด์ องค์กรดังกล่าวมุ่งปรับวิธีคิดในการทำธุรกิจของบริษัททั่วโลก เมื่อต้องปรับเปลี่ยนมาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แต่ยังรักษาระดับเงินเดือนของแรงงานไว้เท่าเดิม พร้อมทั้งชี้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์ของจำนวนวันทำงานที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนักการเมืองต่อไป
ที่มา
Business and workers hail success of UK’s four-day week trial, The Guardian