48 ปีต่อมา บทบาทสตรีเดือนตุลาฯ ถูกขานรับ

48 ปีต่อมา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนังสืออย่างน้อย 2 เล่ม ถูกเปิดอ่าน

เธอสนใจการเมืองในตอนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล…

วันที่เธอได้ยินเรื่องราวของรุ่นพี่ที่ถูกจับเพียงเพราะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องความเป็นธรรม เป็นครั้งแรกที่ตั้งคำถามว่าทำไมการเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้องจึงกลายเป็นสิ่งผิด เธอเริ่มต้นงานเคลื่อนไหว เข้าร่วมกับชมรม ‘รัฐศึกษา’ ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวในขณะนั้น จึงได้ริเริ่มตั้งกลุ่ม ‘ผู้หญิงมหิดล’ ก่อนจะรวมกันเป็นผู้หญิง 10 สถาบันในเวลาต่อมา โดยมีตึกสันทนาการคณะวิทยาศาสตร์ เป็นจุดศูนย์รวมกิจกรรมใดๆ 

หน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.) คือหน้าที่ที่ได้รับในการชุมนุมครั้งใหญ่ เธอและเพื่อนๆ ประจำการอยู่ที่ตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไม่มีการเลือกข้างในการช่วยเหลือ ความคับแค้นถูกกดข่ม แม้ว่าคนที่กำลังปฐมพยาบาลอยู่นั้นจะเพิ่งเข่นฆ่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปอย่างไม่ใยดี 

คาดเดาเวลาได้ว่าตี 5 กว่าๆ เสียงอาวุธดังราวกับอยู่ในสงครามครั้งใหญ่ กระจกอาคารสั่นสะเทือนจนแตกกระจายทิ่มใส่คนที่กำลังนอนรักษาตัว หน่วย พมช. ไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ ทุกคนต่างต้องนอนราบกับพื้นหลบเลี่ยงวิถีกระสุนเอาชีวิตรอด เพื่อนคนหนึ่งถูกยิง ล้มลง และเสียชีวิตลงทันที

กว่าชั่วโมงที่มีการสาดกระสุนห่าใหญ่ทั่วสารทิศ เจ้าหน้าที่เข้ามาไล่ต้อนคนในตึกคณะบัญชีฯ ให้เดินออกไปยังสนามฟุตบอล ผู้หญิงชุดแรกที่เป็นด่านหน้าช่วยเหลือคนบาดเจ็บได้เดินออกไปก่อน เธอถูกบังคับให้ถอดเสื้อด้วยข้ออ้างว่า ‘เผื่อซ่อนอาวุธเอาไว้ในชุดชั้นใน’

“เราก็เถียงกับเขาว่าเราไม่ถอด ทำไมต้องถอด”

“ถ้าคุณไม่ถอดผมจะถอดเอง” สิ้นเสียงนั้นคือความหมดหนทาง จำต้องถอดเสื้อ ยกมือขึ้นเหนือหัว นอนคว่ำหน้าลงกับพื้น 

“เราเป็นผู้หญิง เรื่องเนื้อตัวร่างกายนี่มันที่สุดแล้ว อับอายและเจ็บปวดมากเลย”

– หนังสือเล่มที่ 1: เนตรนภา ขุมทอง – 

เธอถูกจับขังคุก 2 ครั้ง และครั้งที่ 2 เธออยู่กับลูกชายในนั้น…

หลังร่ำเรียนจบจากธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มหาชน 1 ปีเต็ม นักข่าวผู้หญิงที่ทำงานที่เดียวกันมีไม่น้อย เธอและเพื่อนช่วยกันเขียนข่าว เขียนบทความ ต่อต้านการเอาเปรียบผู้หญิง

ปี 2518 ช่วงกระแสขวาพิฆาตซ้ายรุนแรง เธอใช้วุฒิ ม.6 สมัครงานเข้าไปเป็นกรรมกรในโรงงานทอผ้า ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าจะสู้ได้ ต้องไปทำให้สหภาพแข็งแรง ทำอยู่ 3 เดือน ถูกจับได้ว่าจบจากธรรมศาสตร์ นายจ้างไล่ออก ก่อนย้ายไปอยู่ที่อ้อมน้อย เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน ก่อนถูกจับด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ในช่วงต้นปี 2519

ศักดินาในคุกแสนจะเข้มข้น แต่ไม่สามารถชักจูงคนดื้อรั้นได้ เธอค้านหัวชนฝา ไม่ยอมรับ ผลคือได้ความรุนแรงตอบแทน เธอถูกซ้อมเพราะขัดแข้งขัดขาผู้คุมหัวโจก ซึ่งหัวโจกไม่ออกแรงเอง ให้ผู้ต้องหาขาใหญ่เจ้าของคดียาเสพติดดักซ้อมเธอ

“มาเป็นสิบ เขากะเอาเราจนสลบ เราลุกขึ้นมาได้เลยบอกว่าขอพบทนาย” ขณะนั้นมีอาจารย์ที่รู้จักกันคอยมาเยี่ยม นักศึกษาพากันมาประท้วงให้ที่หน้าเรือนจำ พร้อมกับแม่ของเธอ และสุดท้ายได้ถูกประกันตัวออกมา

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพียงเล็กน้อย เธอได้ไปช่วยงานอยู่ที่ ‘อธิปัตย์’ หนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ที่ขณะนั้นแทบจะไม่มีโรงพิมพ์ใดรับพิมพ์ให้ เพราะกระแสขวาพิฆาตซ้ายที่ดุเดือดในยามที่ใกล้วันปราชัยครั้งใหญ่เต็มทน ทุกคืนหลังจากทำหนังสือพิมพ์เสร็จ เธอจะเข้าไปที่ธรรมศาสตร์ทุกคืนเพื่อประชุมกันต่อ

กระทั่งคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เวลาใกล้เที่ยงคืน นักศึกษาจากในธรรมศาสตร์โทรศัพท์มาบอกเธอและเพื่อนอธิปัตย์ “พี่ๆ อย่าเข้ามา เราถูกล้อมไว้แล้ว” ชาวอธิปัตย์ตัดสินใจรีบเก็บข้าวของที่มีชื่อคนเด่นชัดอยู่บนวัตถุต่างๆ การปราบปรามครั้งใหญ่คือวันนี้ พวกเขาจะถูกปราบแน่นอน

“คุณถือปืนไว้ ถ้ากระทิงแดงบุกสู้ตาย ถ้าตำรวจบุกให้จับ” คือเสียงที่บอกกับเธอและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โชคดีอยู่บ้างที่คืนนั้นไม่มีใครบุกเข้ามา เช้าวันถัดมาเธอตัดสินใจเข้าป่า

เรื่องราวในป่ามากมาย เธอเป็นสหายในเขต ‘จรยุทธ์’ เธอได้รู้จักกับกฎ ‘3 ช้า’ ที่เธอเองกล่าวว่าสหาย (อย่างน้อยในเขตของเธอ) จัดตั้งไม่ได้บังคับให้ปฏิเสธความรัก เพียงแต่เรียกร้องให้มีอย่างช้าๆ เพื่อความคล่องตัวในพื้นที่ที่ไม่รู้ว่าจะถูกปราบปรามเมื่อไร ประกอบกับวิถีชีวิตที่ยากลำบาก กฎที่ว่าไม่ได้ขึงขังซีเรียสเท่าที่ปัจจุบันพูดถึง

เธอถูกจับอีกครั้งหลังจากออกมาจากป่า เพราะไม่ไปรายงานตัวจึงโดนคดี แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เธออุ้มลูกอ่อนเข้าไปอยู่ในคุกพร้อมกัน ขณะที่สามีก็ถูกขังในคุกมืด จากที่เคยต่อต้านและยืนหยัดในสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย เธอยอมให้ตรวจภายในและอีกหลายประการ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการโดนซ้อมเหมือนคราวก่อน 

หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีหน้าสุดท้าย มีแต่หน้าต่อไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่พูดอยู่เสมอว่า ‘อย่าแยกลูกของเขา’ เรือนจำมีนโยบายที่ (เหมือนจะ) ดี คือห้ามเอาเด็กไว้ในคุกเดี๋ยวจะเจอสถานการณ์ที่ไม่ดี

“คุณก็ไปปรับคุกให้มันดี แล้วลูกเขาจะอยู่ได้” ในวันที่เธอสวมหมวกความเป็นแม่เดินอุ้มลูกเข้าไปในคุก ขาใหญ่ที่เคยรุมซ้อมเธอกลายเป็นบอดี้การ์ดคุ้มกัน คนในคุกช่วยกันเลี้ยงลูก และทุกวันนี้เธอยังทำงานขับเคลื่อนสิทธิและสวัสดิการเด็กเล็กอีกด้วย

– หนังสือเล่มที่ 2: สุนี ไชยรส –

6 ตุลาฯ คือประวัติศาสตร์ทมิฬมารที่ไม่เคยถูกชำระ ไม่มีใครคนใดได้จับต้องความเป็นธรรม ผู้หญิงที่เดินบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ไม่มีคำตอบว่าแผลนามธรรมแสนอุกฉกรรจ์ควรถูกชำระอย่างไร ควรคืนความเป็นธรรมให้กับผู้โดนหยามเหยียด ที่บางคนอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วเสียด้วยซ้ำอย่างไร

หนังสือเรียนบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สังหารหมู่อันเลวร้ายไว้เพียงครึ่งหน้ากระดาษเอสี่ ความอัปยศโหดเหี้ยมไม่ถูกอนุญาตให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ และในครึ่งหน้ากระดาษเอสี่นั้นนอกจากการบรรยายความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำอย่างเลวระยำ ก็ไม่มีแม้เพียงครึ่งบรรทัดที่กล่าวถึงบทบาทการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมของสตรีคนใด

การจดจารตัวหนังสือเพื่อบอกเล่าทั้งก่อน-ระหว่าง-วันนั้น-และหลังจากนั้น รวมถึงบรรยากาศบทสนทนาทั้งมวล ผ่านท่วงทำนองที่ละเอียดอ่อน พร้อมๆ กับฟังเรื่องเล่าจากปากผู้เป็นหญิงที่ต้องคอยตั้งรับความรุนแรงทั้งจากคนภายนอก และผู้ชายในขบวนการเคลื่อนไหว คงเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะทำได้ ระหว่างรอวันที่ประวัติศาสตร์ถูกชำระแม้ไม่รู้ว่าเมื่อไร

ความท้าทายของการเป็นหญิงที่เกือบกลายเป็นอื่นในขบวน

บทสนทนาท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นทางการเมือง ผู้หญิงหลายคนคุยกันว่าเราจำเป็นที่จะต้องตั้งกลุ่มผู้หญิง นัยยะของการจัดตั้งคือผู้หญิงต้องการกระบวนการที่พูดคุยกันอย่างละเอียดลออ เป็นติวเตอร์ให้กันและกัน ด้านปัญหาสังคม ปัญหาเรื่องผู้หญิง และสร้างความแข็งแกร่งสำหรับการเผชิญหน้ากับปัญหาและทัศนคติระหว่างเพศ นี่คือที่มาโดยสังเขปของ ‘กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์’ เมื่อปี 2514 ก่อนที่จะกลายมาเป็นกลุ่มผู้หญิง 10 สถาบัน ที่เคลื่อนไหวร่วมกัน และการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิต่างๆ ผู้หญิงก็อยู่ในขบวนการเหล่านั้น

photo: โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’

งานเดินได้ด้วยผู้คนมากมาย และผู้หญิงอยู่ในทุกกระบวนการเสมอมา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการเติบโตมากขึ้น กลุ่มผู้หญิงไปทำงานกับกลุ่มคนงานกรรมกร ชาวนา แบบที่เรียกกันว่า ‘3 ประสาน’ กรรมกร ชาวนา และนักเรียน นักศึกษา ก่อนจะถึง 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มผู้หญิงเคลื่อนงานกันมากมายในขาของสิทธิสตรี 

สุนี กล่าวว่า เธอพูดเรื่องเดียวกันกับปัจจุบัน ทั้งเรื่องโสเภณีต้องถูกกฎหมาย ทำแท้งปลอดภัย สิทธิผู้หญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ เธอบอกว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับทุกวันนี้ที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็คือเรื่องเดิมๆ 

ทั้งเนตรนภาและสุนี บอกเล่าประสบการณ์ตรงจากการผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญให้กับวงคุยเล็กๆ ได้รับฟังร่วมกัน จุดร่วมสำคัญของการเป็นหญิงที่ทำงานเคลื่อนไหวคือ การต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัย 

การมีประจำเดือนเป็นอุปสรรค แต่ยังไม่ใช่ข้อจำกัดในการลุกขึ้นสู้ ปัญหาด้านร่างกายแก้ง่ายกว่าการเผชิญหน้าต่อความคับแคบทางชีวทัศน์ สุนีเล่าว่าขณะเข้าป่า สหายหญิงซื้อผ้ามาใช้แทนผ้าอนามัยชั่วคราว อาศัยการหมั่นซักล้างให้สะอาดสะอ้าน

ขณะโดนจับกุมชั่วคราวหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เล็กน้อย เนตรนภาและเพื่อนผู้หญิงได้รับความช่วยจากเพื่อนผู้ชายหลายคน ฉีกเสื้อมาใช้แทนผ้าอนามัยให้ชั่วคราว หลังจากนั้นเพียงข้ามวัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อทราบข่าวว่านักศึกษาถูกจับ และมีนักศึกษาหญิงจำนวนมาก ของที่ซื้อมาให้ก็คือผ้าอนามัยในจำนวนที่คำนวณมาแล้วว่าเพียงพอสำหรับการใช้สอย

แต่ปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย ความกังวลใจ ไม่สามารถแก้ไขได้ในเชิงกายภาพ ผู้หญิงยังต้องระแวดระวังในการเคลื่อนไหวภายใต้ขบวนการเดียวกันกับผู้ชายที่มีความก้าวหน้าทางการเมือง แต่ไม่มีความก้าวหน้าในประเด็นเรื่องเพศ ทั้งยังต้องคอยระวังการคุกคามจากบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งผู้หญิงจะต้องคอยเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ

รูปธรรมของความก้าวหน้าเพียงโลกทัศน์ มาจากเหตุการณ์ที่นักศึกษาชายคนหนึ่งที่มีความเข้าใจโลกการเมืองว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค ซึ่งนักศึกษาชายหัวก้าวหน้าคนนี้เข้าไปทำงานช่วยเหลือกรรมกรหญิง แต่กลับฉวยโอกาสทำให้กรรมกรหญิงตั้งครรภ์

“กลุ่มผู้หญิงรวมตัวกันเลย คัดค้านเรื่องแบบนี้ คุณไปช่วยเหลือเขาเพราะเขาถูกเอาเปรียบ แล้วคุณก็ไปเอาเปรียบเขาต่อ ทำได้ยังไง” เนตรนภาเล่า

เรื่องนี้กลายเป็นส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่) ที่ทำให้กลุ่มการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในขณะนั้นไม่ไว้ใจผู้ชาย เนตรนภาเล่าต่อว่าผู้ชายแบบนี้มีไม่เยอะ แต่ก็ต้องทำให้เป็นกระแส เพื่อบอกออกไปว่าเราไม่ยอมรับการกระทำแบบนี้

“คนงานหญิงเขาก็หวังพึ่งนักศึกษาชายคนนั้นที่เข้ามาช่วยเหลือ แล้วดันไปคุกคามทางเพศเขา มันไม่ถูกต้อง” สุนีกล่าวถึงเรื่องราวที่ทำให้กลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องกรรมกรหญิง และสิทธิความเท่าเทียมของทุกเพศ

อิทธิพลจากแนวความคิดแบบฝ่ายซ้ายกับการพูดเรื่องสิทธิสตรีของคนตุลาฯ

มีเวลาไม่มากหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเล็กจบลง ความสงสัยยุบยิบที่ไม่สามารถถามไถ่ในวงคุยได้ทันเวลา พาให้สองเท้าเดินเข้าไปถามสุนี ถึงอิทธิพลของแนวความคิดฝ่ายซ้ายที่เข้มข้นอย่างมากในเวลานั้น ว่ามีความเกี่ยวโยงกับบทสนทนาของผู้หญิงและการเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีในลักษณะใด

สุนีเล่าให้ฟังว่า ในเอกสารหนังสือเผยแพร่ที่ดังมากขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘โลกทัศน์-ชีวทัศน์’ ‘ใครสร้างใครเลี้ยง’ ที่จัดตั้งพยายามเคลื่อนไหวอย่างอึกทึก จะพูดเรื่องผู้หญิง ทัศนะของความรัก ปลูกฝังการให้เกียรติและเข้าใจถึงคุณค่าของผู้หญิง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่การพูดเรื่องผู้หญิงแบบสมัยนี้ เพราะการสู้แบบใต้ดินทำให้เน้นการจัดการภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่พูดเรื่องภายนอก จะสอนเรื่องทัศนคติ เรื่องชีวทัศน์เป็นหลักมากกว่า

กลุ่มผู้หญิงในสมัยนั้นจะถกกันโดยอิงจากหนังสือจัดตั้งภายใน ไม่ว่าจะ ‘ปีศาจ’ ‘ความรักของวัลยา’ หนังสือ ‘แม่ (Mother)’ ของ แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky) หรือกระทั่งหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เขียนเรื่องผู้หญิงไว้ไม่น้อย ทุกคนถูกหล่อหลอมจากมิติต่างๆ ไม่ได้เกิดจากตำราคลาสสิกเพียงหนึ่งเล่ม

การขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิงในยุคนั้นมีอยู่ 2 ปัจจัย หนึ่งคือปัจจัยจากสถานะทางชนชั้น และปัจจัยจากสถานการณ์อื่นๆ 

“เราตื่นตัวเพราะเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว และอยู่ที่โคราชซึ่งมีฐานทัพอเมริกันเยอะ เห็นผู้หญิงเป็นเมียเช่า คล้ายกับเราก็ถูกหล่อหลอมมาจากการเห็นปัญหาบางอย่าง บวกกับอ่านหนังสือก้าวหน้า ทำให้อยากเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ กระทั่งมาอ่านหนังสือมาร์กซ์แบบลึกลงไป”

มาร์กซิสม์จะบอกว่า ‘สิ่งที่ผู้หญิงจะปลดปล่อยตัวเองได้ ต้องถูกปลดปล่อยออกจากบ้าน ถูกปลดปล่อยออกจากมุมแคบ เพื่อนำไปสู่การที่ผู้หญิงจะได้มีอำนาจต่อรองในชีวิต’ สิ่งนี้ต่างหากที่ส่งผลต่อสุนีโดยตรง 

“มาร์กซ์พูดเอาไว้อย่างนั้น แต่คนไม่ค่อยโควทมาร์กซ์ตรงนี้ แต่ตัวเองมีความรู้สึกฝังใจเลยว่าต้องทำให้ผู้หญิงก้าวออกไปสู่การทำงาน ผู้หญิงต้องมีรายได้เพื่อที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากภาวะที่ถูกครอบงำ และมีปากมีเสียง” 

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมปัจจุบันสุนีจึงทำงานเรียกร้องให้ดูแลผู้หญิงตั้งแต่ตั้งครรภ์ มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่เหมาะสม ผู้หญิงจึงจะได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นผู้หญิงจะไม่สามารถไปทำงานได้ หรือไม่ก็เอาเด็กไปด้วยแบบถูลู่ถูกัง


หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานรำลึก 48 ปี 6 ตุลา: กิจกรรม Human Library

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า