ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนจาก 250 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ กลุ่มประชาชนได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงบริษัทมอนซานโต (March Against Monsanto) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยาปราบศัตรูพืชรวมถึงเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาผลผลิตทางการเกษตรถึงร้อยละ 40 ล้วนเป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรมภายใต้การควบคุมของยักษ์ใหญ่รายนี้
แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านยักษ์ใหญ่นี้จึงมาจากความกังวลต่อปัญหาสุขภาพประชาชน สภาพสิ่งแวดล้อม และปัญหาทุจริตของภาครัฐ
เรื่องนี้เริ่มต้นจากแม่บ้านธรรมดาเพียงหนึ่งชื่อ ทามิ คานาล (Tami Canal) จากรัฐยูทาห์ เธอรู้สึกเหนื่อยใจที่ต้องคอยเลือกเฟ้นอาหารที่ ‘ไม่เป็นพิษ’ ซึ่งหาได้ยากยิ่งมาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว เพราะอาหารรอบตัวต่างก็แวดล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์จากมอนซานโตแทบทั้งนั้น
คานาล เริ่มโพสต์ข้อความขอเสียงสนับสนุนลงในเฟซบุ๊ค ขยายผลจนกลายเป็นขบวนการที่มีผู้ร่วมเคลื่อนไหวมากกว่า 400 คน ใน 50 ประเทศ หรือ 250 เมืองทั่วโลก พวกเขาใช้ Google Document ในการประชาสัมพันธ์สถานที่รวมกลุ่มประท้วงประจำพื้นที่ต่างๆ ตามท้องถิ่น ส่วนหน้าเพจของการเดินขบวนต่อต้านมอนซานโตก็มีผู้เข้าชมกว่า 10 ล้านคน กดไลค์เกินกว่า 105,000 คน และมีการเข้าชมเฉลี่ยมากกว่า 40,000 ครั้งต่อวัน
เป้าหมายระยะสั้นของการเดินขบวนคือการกระตุ้นให้ผู้คนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามของกิจการที่บริษัทมอนซานโตดำเนินอยู่ และเชิญชวนให้คว่ำบาตรการซื้อสินค้าของบริษัทในเครือมอนซานโต เช่น พืชดัดแปลงพันธุกรรม (พืชจีเอ็มโอ) และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลูกโดยใช้ยาฆ่าแมลง รวมถึงให้ติดฉลากระบุด้วยว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผ่านกระบวนการจีเอ็มโอ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์วิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด
เป้าหมายสูงสุดของพวกเขา คือการสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์มอนซานโตทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งในประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 60 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรีย บัลแกเรีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เปรู แอฟริกาใต้ รัสเซีย ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ได้สั่งห้ามไปเรียบร้อยแล้ว
และต่อไปนี้ คือ เหตุผล 5 ประการว่าทำไมมอนซานโตจึงถูกต่อต้าน
1. กอบโกยจากสารเคมีเป็นพิษในนามของธุรกิจด้านการเกษตร
ในปฏิบัติการ Ranch Hand ระหว่างสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐใช้ยุทธวิธีโจมตีด้วยสารเคมี พวกเขาใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงและฝนเหลือง (Agent Orange) เป็นอาวุธเคมีซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คน 400,000 คนต้องพิการ (จากการประมาณตัวเลขของรัฐบาลเวียดนาม) และทำให้เด็กแรกเกิด 500,000 คนพิการแต่กำเนิด โดยเบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้คือบริษัทมอนซานโต
บริษัทมอนซานโตเริ่มต้นกิจการด้วยการเป็นผู้ผลิตสารเคมีตั้งแต่ปี 1901 และเป็นต้นตอของสารเคมีอันตรายร้ายแรงหลายชนิดในประวัติศาสตร์อเมริกา เช่น สารโพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิล (PCB’s) และสารไดออกซิน กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคชื่อว่า Food and Water Watch (FWW) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับบทบาทของมอนซานโตในการผลิตฝนเหลือง ซึ่งถือเป็นพิบัติภัยจากสารเคมี รวมไปถึงการสร้างเซลล์ตัดแต่งทางพันธุกรรมเป็นครั้งแรก
ในอดีต กิจการส่วนใหญ่ของบริษัทพัวพันอยู่กับเรื่องการผลิตสารเคมีอันตรายและเป็นผู้จัดเตรียมฝนเหลืองให้กับกองทัพในสงครามเวียดนามตั้งแต่ 1962 – 1971 บริษัทยังเป็นผู้ริเริ่มจำหน่ายขัณฑสกรให้กับบริษัทโคคาโคลา มีการตัดแต่งพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิดเพื่อให้ต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชที่บริษัทเป็นผู้ผลิตเอง จนในที่สุดมอนซานโตก็เข้ามาคลุกคลีกับอุตสาหกรรมจำหน่ายอาหารอย่างเต็มที่
โรงงานแห่งหนึ่งของมอนซานโตที่ผลิตสาร PCBs ก่อนที่จะโดนระงับในปี 1976 สารดังกล่าวมีฤทธิ์ก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อระบบอวัยวะ แต่กระนั้นพวกเขายังทิ้งน้ำเสียจากการผลิตลงในแหล่งน้ำอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสารเหล่านี้ก็ไปสะสมอยู่ในต้นไม้ พืชไร่ ปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในห่วงโซ่อาหารที่มนุษย์ร่วมอยู่ด้วย
ในปี 2004 เกษตรกรรายหนึ่งในฝรั่งเศสมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทหลังจากสูดดมยากำจัดวัชพืช อาการเหล่านี้ ได้แก่ สูญเสียความทรงจำ ปวดหัว และติดอ่าง ศาลฝรั่งเศสจึงตัดสินให้บริษัทมอนซานโตมีความผิด อีกทั้งตำหนิที่ไม่มีการระบุคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์
2. ผูกขาดอุตสาหกรรมการเกษตรไว้แต่เพียงผู้เดียว
แก่นสารของความเป็นอเมริกันคือวิถีชีวิตของชาวนาชาวไร่ แต่มอนซานโตกลับเดินหน้าฟ้องร้องเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้พวกเขไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้
ครั้งหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในเมืองเวอร์นอน รัฐอินเดียนนา ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 85,000 ดอลลาร์โดยบริษัทมอนซานโต เพราะเขานำเอาเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมรุ่นที่สองไปปลูกซ้ำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวศาลถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทมอนซานโต เพราะสิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุมไปถึงเมล็ดที่เกิดขึ้นใหม่จากพืชที่ปลูกด้วย
ขณะที่บริษัทประกาศผลกำไรมหาศาลจากธุรกิจของตน อเมริกันชนผู้เป็นหนี้ก็ร้องเรียนต่อรัฐในกรณีการฟ้องร้องลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เนื่องจากในฟาร์มของพวกเขาเต็มไปด้วยพืชพันธุ์จากเมล็ดของมอนซานโต ปลายปี 2012 ผลกำไรรวมของบริษัทสูงถึง 2.94 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขเกือบ 2 เท่าของที่คาดการณ์กันไว้
สำนักข่าวอัลจาซีราเคยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้ายของบริษัทมอนซานโต เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการเกษตรของสหรัฐทั้งระบบ พวกเขาบีบให้เกษตรกรดั้งเดิมต้องล่าถอยเพราะไม่อาจแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ยังบังคับให้ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์งดจำหน่ายสินค้าที่เป็นคู่แข่งของบริษัทด้วย
มอนซานโตพยายามมีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ โดยเริ่มกว้านซื้อกิจการเจ้าอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 1982 เช่น บริษัทเมล็ดถั่วเหลือง Asgrow บริษัทเมล็ดฝ้าย Delta and Pine Land บริษัทเมล็ดข้าวโพด DeKalb เป็นต้น ซึ่งทางการสหรัฐก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจัง การกระทำดังกล่าวจึงดำเนินไปโดยง่าย
3. ควบคุมอุตสาหกรรมอาหาร กีดกันการเข้าถึงแหล่งน้ำ
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้ประมาณการไว้ว่า ก่อนปี 2030 ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะตกอยู่ในพื้นที่ภาวะตึงเครียดด้านแหล่งน้ำ เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างมอนซานโตจะพยายามเข้าครอบครองแหล่งน้ำสาธารณะแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเอกสิทธิ์ของตน
นอกจากนี้ภายในปี 2025 ประชากรโลกจะทะยานจนเกิน 8 พันล้านคน และความต้องการใช้น้ำจะล้นเกินกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ถึงร้อยละ 40 เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรดังกล่าวทำให้มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 6,900 พันล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะนี้บริษัทเอกชนครอบครองน้ำแหล่งน้ำบริสุทธ์ไปถึงร้อยละ 5 ของโลก พวกเขายังซื้อสิทธิ์ในน้ำใต้ดินและชั้นหินอุ้มน้ำไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังปล่อยสารเคมีเป็นพิษลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลก เพราะมองเห็นช่องทางทำกำไรจากการบำบัดน้ำเน่าเหล่านั้นแล้วขายคืนให้กับประชาชนทั่วไป
4. ครอบงำ FDA และตั้งกฎหมายเพื่อปกป้องตนเอง
บรรดาอดีตผู้บริหารมอนซานโตต่างตบเท้าเข้าไปเป็นผู้ดำเนินงานขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการดูแลความปลอดภัยด้านอาหารให้กับสาธารณชน
ความขัดกันด้านผลประโยชน์ดังกล่าวแสดงออกผ่านความเพิกเฉยของรัฐบาลที่ไม่มีการผลักดันการวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบระยะยาวจากผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม อีกทั้งรัฐสภาก็ยังอนุมัติกฎหมาย พระราชบัญญัติ ‘คุ้มครองมอนซานโต’ เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เมล็ดตัดแต่งพันธุกรรม
นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาเพื่อรองรับกิจการองมอนซานโต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายมาขัดขวางการจำหน่ายพืชจีเอ็มโอของพวกเขา
5. ก่อหายนะให้สิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดยั้ง
ทั้งมอนซานโตและกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดฮวบของประชากรผึ้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้นมอนซานโตยังก่อมลพิษให้กับเขตข้างเคียงโรงงาน
มอนซานโตมักโฆษณาตนเองว่าเป็นทางเลือกทางการเกษตรที่ยั่งยืนแต่แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชยิ่งทำให้บรรดาศัตรูพืชอย่างวัชพืชและแมลงมีความต้านทานมากขึ้น และนั่นทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม
ยังมีผลกระทบอื่นๆ จากมอนซานโต เช่น เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้คน เกิดการแพร่ระบาดของพันธุกรรมตัดแต่งไปสู่พืชดั้งเดิม และนโยบายของมอนซานโตที่ให้ความสำคัญกับพืชไม่กี่ชนิดยังเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
จีเอ็มโอเมืองไทย มีฉลากแต่ไม่เฉลียว
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ให้เห็นว่า การประท้วงมอนซานโตที่เกิดขึ้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังและทำหูทวนลมต่อจีเอ็มโอมาตลอด
“ที่ตื่นตัวก่อนคือยุโรป แต่ชนวนที่ทำให้เกิดการต่อต้านในอเมริกา คิดว่ามาจากเหตุการณ์เดือนมีนาคม รัฐสภาได้ออกกฎหมายที่มีชื่อเล่นว่า Monsanto Act เป็นกฎหมายออกมาเพื่อสนับสนับการวิจัย การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอื่นๆ แต่มีการสอดไส้กฎหมายนี้โดยวุฒิสมาชิกจากรัฐมิสซูรี ชื่อ รอย บลันท์ วุฒิสภาคนนี้ร่วมกับบริษัทมอนซานโต เข้าไปสอดไส้ ใส่ข้อความไว้ในกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งลงนาม 29 มีนาคมที่ผ่านมาโดยนายบารัค โอบามา
“ใจความสำคัญมีอยู่ว่า แม้ว่าศาลจะตัดสิน หรือพบว่าจีเอ็มโอมีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้ปลูกพืชดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการต่อต้านและล่ารายชื่อชาวอเมริกันกว่า 250,000 คนเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ แต่วุฒิสมาชิกที่มาจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านเกษตรของวุฒิสภาจนถึงโอบามาเองกลับลงนามอนุมัติกฎหมายดังกล่าว ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนมาก”
บวกกับกระแสเรียกร้องให้ติดฉลากจีเอ็มโอในช่วงก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้นคราวหาเสียงเลือกตั้งปี 2007 นายบารัก โอบามาเอง ประกาศนโยบายชัดเจนว่าชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิ์รู้ว่าอาหารที่ตัวเองมาจากกระบวนการจีเอ็มโอหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำตามคำสัญญา
“เหตุการณ์ที่เรียกว่า Monsanto Action Day นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและน่าสนใจว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจกว้างขวางกว่า Occupy Wall Street ด้วยซ้ำ” ผอ.มูลนิธิชีววิถี วิเคราะห์
ด้านสถานการณ์พืชจีเอ็มโอในเมืองไทย วิฑูรย์เผยว่า ปีที่แล้ว มีการสุ่มตรวจ 74 ตัวอย่างมะละกอในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า 34 เปอร์เซ็นต์เป็นมะละกอจีเอ็มโอ และได้ส่งรายงานฉบับนี้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นอกจากผลต่อสุขภาพแล้ว จีเอ็มโอยังผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม คือ การตีกลับสินค้าทันทีที่ตรวจพบว่าพืชหรือผลผลิตมีการตัดแต่งพันธุกรรม
“ปีที่แล้ว ไทยถูกนอร์เวย์ตีกลับมะละกอมา 1 ตู้คอนเทนเนอร์” เช่นเดียวกันถ้าเกษตรกรไทยรายใด แม้ไม่ได้ปลูก แต่ถูกตรวจพบว่าผลิตผลของตนเองมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอแบบไม่ได้ตั้งใจอย่างเช่นเกษตรกรต่างชาติรายอื่นๆ ก็จะถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตร และถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการติดฉลากจีเอ็มโอ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 (ฉบับปรับปรุง ปี 2556) ระบุไว้ว่า “ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือ พันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก”
พชร แก้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน เผยว่าแม้จะมีกฏหมายบังคับใช้แล้ว แต่ที่ผ่านมา ‘ฉลาก’ ที่ระบุในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว ไม่ค่อยชัดเจน และ ไปปรากฎอยู่ในข้อมูลส่วนประกอบอาหาร ซึ่งถ้าผู้บริโภคไม่สังเกตจริงๆ ก็คงไม่พบ
“ล่าสุดเราขนมข้าวโพดอบกรอบโดริโทส ก็ระบุตัวเล็กๆ ไว้ในส่วนผสม ซึ่งถ้าจะสุ่มตรวจให้พบจริงๆ ต้องส่งไปตรวจดีเอ็นเอในห้องแล็บเท่านั้น”
******************************
(ที่มา : alternet.org, รายการคลื่นความคิด FM96.5 )