แบนสารเคมีทางการเกษตรในไทย ทำไมยาก

  • ศาลชั้นต้นสหรัฐตัดสินให้บริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่จ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับสารพิษสะสมจนเป็นมะเร็ง แต่สารเคมีทางการเกษตรแหล่านี้ถูกส่งออกไปยังประเทศเล็กๆ ไทยคือหนึ่งในนั้น
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะพาราควอต แม้แต่ผลิตภัณฑ์พืชผักที่ได้ตรารับรอง Q และ Organic Thailand ก็ยังตรวจพบสารพิษตกค้าง
  • ประเทศไทย โดยกรมวิชาการเกษตรเคยเสนอขอปรับระดับวัตถุอันตราย คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น จาก วอ.3 (จำกัดการใช้) เป็น วอ.4 นั่นคือห้ามใช้
  • ปี 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยให้เหตุผลว่า ยังมีเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิก จึงเพียงแค่ออกมาตรการจำกัดการใช้เท่านั้น

 

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคำพิพากษาของศาลชั้นต้นรัฐแคลิฟอร์เนียโด่งดังอย่างมากในประเทศไทย เพราะคดีนี้ คณะลูกขุนสั่งให้มอนซานโต บริษัทสารเคมีทางการเกษตรยักษ์ใหญ่อันดับต้นของโลกที่เพิ่งควบรวมกับไบเออร์ ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี จ่ายค่าเสียหายให้ ดเวนย์ จอห์นสัน ภารโรงโรงเรียนมัธยมถึง 289 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบหมื่นล้านบาทไทย ฐานที่ทำให้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากการที่เขารับหน้าที่ฉีดยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต (glyphosate) หรือในชื่อการค้า ราวด์อัพ (Roundup) ในโรงเรียนปีละ 20-30 ครั้ง โดยคณะลูกขุนระบุว่า มอนซานโตทำการค้าด้วยเจตนาร้าย ไม่เตือนผู้ใช้ให้ทราบถึงผลกระทบเกี่ยวกับมะเร็งจากการใช้สารนี้

แม้ว่าเป็นเพียงศาลชั้นต้น และแน่นอนว่า บรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโต-ไบเออร์ต้องเดินหน้าอุทธรณ์ แต่จากการรวบรวมข้อมูลของแต่ละฝ่ายเพื่อนำมาสู้คดีกันพบว่า อีเมลภายในที่ผู้บริหารมอนซานโตใช้ติดต่อกับ ‘นักวิชาการที่รับใช้’ ต่างทราบมานานแล้วว่า ไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ปกปิดข้อมูลไว้ มีการใช้อิทธิพลบิดเบือนงานวิจัยและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งการใช้อิทธิพลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (United States Environmental Protection Agency: EPA) เพื่อบิดเบือนข้อมูลด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้าเพียงสองวัน อีกข่าวที่ดังน้อยกว่าแต่สำคัญไม่แพ้กันคือ ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่ง EPA ห้ามขายคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งนิยมใช้ในผักผลไม้ ภายใน 60 วัน

จากการปนเปื้อนทั้งในผักผลไม้ สิ่งแวดล้อม และเลือดทารกแรกเกิด ทำให้ปี 2007 ศาลสหรัฐได้ห้ามใช้สารนี้ เช่นเดียวกับในปี 2015 รัฐบาลโอบามาได้เสนอให้แบนการใช้ในพืชอาหาร จากข้อมูลของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สรุปว่า “การรับสัมผัสคลอร์ไพริฟอสผ่านอาหารและน้ำดื่มมีความเสี่ยงในระดับที่น่ากังวล และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นไปได้ที่คลอร์ไพริฟอสส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางประสาทของเด็กและทารก แม้ในการรับที่ระดับต่ำก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาท”

แต่เมื่อถึงยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาได้ส่ง สก็อตต์ พรูอิตต์ (Scott Pruitt) จากพรรครีพับลิกันไปเป็นผู้บริหาร EPA สื่อมวลชนรายงานว่า พรูอิตต์ได้พบกับผู้บริหารของ ดาว เคมิคอล (Dow Chemical) ผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอส เพียง 20 วันก่อนหน้าที่จะยกเลิกการแบนโดยอ้างว่า ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงคลอร์ไพริฟอสเข้ากับผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทนั้นมีความไม่แน่นอน “เกษตรกรยังต้องพึ่งสารเคมีตัวนี้” ดังนั้นต้องทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง แล้วค่อยกลับมาตัดสินใจหลังพิจารณาความปลอดภัยของสารเคมีนี้ในปี 2022 นั่นหมายความว่า ยื้อการแบนออกไปถึงห้าปีทีเดียว

ศาลชี้ว่า “นายพรูอิตต์มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ให้ความสนใจต่อข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าสารคลอร์ไพริฟอส เป็นสารอันตราย” โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เจด เอส. เรคอฟฟ์ (Jed S. Rakoff) เขียนไว้ในความเห็นประกอบการพิจารณาคดีว่า คณะผู้พิพากษาเห็นว่าการตัดสินใจของ EPA ในปี 2017 ไม่มีเหตุผลที่จะคงคลอร์ไพริฟอสไว้ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า สารที่ตกค้างในอาหารนั้นเป็นต้นเหตุของการพัฒนาการทางระบบประสาทที่บกพร่องในเด็ก

ผู้พิพากษาเรคอฟฟ์กล่าวว่า “ในช่วงมากกว่าสองทศวรรษนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงาน EPA บันทึกผลของคลอร์ไพริฟอสที่จะกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพกายและใจของเด็กทารกและเด็ก แต่ EPA กลับดึงเรื่องไว้หลายปีที่จะไม่ห้ามการใช้”

คำพิพากษายังได้ตำหนิสำนักงาน EPA ว่าล้มเหลวที่จะคัดค้านนายพรูอิตต์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเป็นอีเมลภายใน EPA ที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองเข้าไปมีบทบาทต่อการตัดสินใจของสำนักงานที่สั่งยกเลิกการแบน

นี่ยังไม่นับกรณีของพาราควอต ที่ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมของวัตถุอันตราย องค์การสหประชาชาติ ออกโรงประณามสหภาพยุโรปที่ออกมาตรการสั่งห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงที่มีสารพิษรุนแรง โดยอ้างเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่งออกยาฆ่าแมลงอันตรายเหล่านั้นไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีมาตรการในเรื่องนี้ แบบนี้ถือเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน

บรรษัทสารเคมี ซินเจนทา (Syngenta) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ส่งออกพาราควอตอยู่ราว 95 เปอร์เซ็นต์ของยุโรป ในนาม กรัมม็อกโซน (Gramoxone) นับตั้งแต่ปี 2015 บริษัทได้ส่งออกพาราควอตจากโรงงานในอังกฤษราว 122,831 ตัน เฉลี่ย 41,000 ตันต่อปี โดย 2 ใน 3 ของพาราควอตที่ส่งออก หรือราว 62 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งไปยังประเทศยากจน กำลังพัฒนา เช่น บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย กัวเตมาลา เวเนซูเอลา และอินเดีย และอีก 35 เปอร์เซ็นต์ ไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการควบคุมการใช้งานอย่างเข้มงวด ทั้งผู้ใช้และผู้จำหน่ายต้องได้รับอนุญาต ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ต้องใช้เครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น

แม้แต่จีน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตพาราควอตขนาดใหญ่ที่สุด ก็ยังร่วมขบวนกับอีก 53 ประเทศ ยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2014 โดยประกาศกระทรวงเกษตรระบุว่า ห้ามใช้พาราควอตสูตรน้ำ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน และยุติการจำหน่ายและใช้โดยสิ้นเชิงในปี 2020

นั่นทำให้กระแสทั่วโลกคัดค้านการใช้สารเคมีทั้งสามตัวนี้กำลังพุ่งแรงถึงขีดสุดด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ขณะที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยไม่ยอมแบนสารพิษสามตัวนี้โดยให้เหตุผลว่า ยังมีเหตุผล (ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม) ไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้

 

 

ประเทศไทยนำเข้าสารทั้งสามชนิดเพื่อใช้ในเกษตรกรรมรวมกันเฉลี่ยปีละกว่า 70,000 ตัน ยิ่งช่วงปี 2560 ที่กระแสเรียกร้องให้มีการ ‘แบน’ ดังขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะสารพาราควอต ผู้ค้าแห่นำเข้าสูงถึง 44,501 ตัน คลอร์ไพริฟอส ประมาณ 3,320 ตัน มากขึ้นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นำเข้าไกลโฟเสต 59,850 ตัน ตัวเลขไม่ต่างจากปีก่อน เพราะข้อเสนอแรกนั้นเพียงจำกัดการใช้

กล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะพาราควอต ใช้มากกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ 68 เท่าเมื่อเทียบต่อพื้นที่

สาเหตุที่ประเทศไทยใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้สูงมาก ตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2534 ที่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสารเคมีทางการเกษตรเมื่อปี 2535 โดยอ้างว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ธุรกิจสารเคมีทางการเกษตรได้ผลประโยชน์เต็มๆ จากนโยบายนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่การตรวจสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงตกค้างในผักและผลไม้โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีทางการเกษตร (Thai-PAN) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทุกปี (บางปีตรวจสองครั้ง) จึงยังคงพบสารเคมีอันตรายร้ายแรงตกค้างสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการสุ่มตรวจ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบการปนเปื้อนที่เกินค่ามาตรฐานในผักผลไม้ใส่ถุงที่ตีตรารับรองคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตร

จากการตรวจกลางปี 2559 พบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q สูงถึง 57.1 เปอร์เซ็นต์ โดยบางส่วนเป็นสารเคมีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว ขณะที่ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรพบสารเคมีเลย หรืออย่างมากหากพบไม่ควรเกินค่า MRL กลับพบการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตัวอย่าง ผลการตรวจผักผลไม้ครั้งนั้น ทำให้ทางกรมวิชาการเกษตรขู่จะฟ้องหมิ่นประมาท Thai-PAN ที่ทำให้กรมฯ เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ยอมรับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ถึงปัญหาดังกล่าว โดยสาเหตุที่ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างปนเปื้อนเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ตรา Q และ Organic Thailand นั้นพบว่าเกิดจากสามกรณี คือ

1. ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมาย Q-GMP หมดอายุ หรือเครื่องหมาย Q-GMP ไม่หมดอายุ แต่ใช้ผักผลไม้ที่ไม่ผ่าน GAP
2. ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ใช้เครื่องหมาย Q-GAP นำผักผลไม้แหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์ ใช้รหัส GMP ซึ่งใช้สำหรับโรงคัดบรรจุมาแทน GAP และผลผลิตจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แต่พบสารตกค้างจริง
3. กรณีการตรวจพบสารตกค้างในผักผลไม้อินทรีย์ Organic Thailand เกิดจากเกษตรกรและผู้ประกอบการแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ Organic Thailand ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านการรับรอง มีการนำรหัสสินค้าเกษตรอินทรีย์ของพืชชนิดอื่นที่ได้รับการรับรองมาใช้ รวมไปถึงการเอาสินค้าอื่นมาสวมสิทธิ์แทน

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบการชี้แจงต่อสาธารณะว่า กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกเลิกใบรับรอง แจ้งความดำเนินคดีผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องหมายปลอม และสอบสวนหาต้นตอของผู้จำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมาย ทั้งที่มีกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการถอนใบอนุญาตได้เลย หรือดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 อีกทางก็ได้ เนื่องจากทุกแปลงเกษตรที่ได้รับมาตรฐานมีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว จึงไม่ยากที่จะหาตัวผู้ทำผิด จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาระความเสี่ยงนี้ยังตกเป็นภาระของผู้บริโภค

 

 

 

หากย้อนหลังกลับไปก็ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแบนสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงได้เลย นอกเหนือจากสารเคมีบางตัวที่มีอันตรายร้ายแรงจนเลิกผลิตไปแล้วทั่วโลก

ในกรณี คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) เมื่อปี 2554 กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ร้องเรียนให้ยกเลิกการใช้และไม่อนุญาตทะเบียน (เนื่องจากเป็นช่วงที่ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง 2551 กำลังจะมีผลบังคับใช้ให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทั้งหมดหมดอายุลง และเริ่มกระบวนการขึ้นทะเบียนใหม่)

ปี 2556 กรมวิชาการเกษตรได้รับฟังความเห็น และทำงานวิจัยเร่งด่วนเพื่อประเมินผลกระทบและสารทดแทน ประกอบกับภาคประชาสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำจดหมายร้องเรียนและเคลื่อนไหวกดดันให้มีการยกเลิก

ในที่สุดกรมวิชาการเกษตรได้เสนอขอปรับระดับวัตถุอันตราย ทั้งสี่ชนิด จาก วอ.3 (จำกัดการใช้) เป็น วอ.4 นั่นคือห้ามใช้

ต่อมาเดือนธันวาคม 2556 มีการประชุมกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาให้ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นเป็น วอ.4 ส่วน คาร์โบฟูรานและเมโทมิล คงเป็น วอ.3 คือแค่จำกัดการใช้ (ทั้งนี้ ผลจากการแบนไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น แทบไม่พบการตกค้างของสารเหล่านี้ในผักและผลไม้ แต่ยังคงพบการตกค้างของคาร์โบฟูรานและเมโทมิล)

แม้ว่าต่อมา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 กรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นได้ทำหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง เพื่อจัดเมโทมิลและคาร์โบฟูรานเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อยืนยันเปลี่ยนการควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยใช้ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรเองและข้อมูลจากทางมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) สนับสนุน แต่การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 25 กันยายน 2557 ยังคงมติเดิม

ในที่สุด ดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในขณะนั้น ตัดสินใจไม่รับขึ้นทะเบียนกับสารทั้งสองชนิด โดยให้เหตุผลว่า มีผู้ร้องเรียนจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรสาธารณประโยชน์ เครือข่ายเกษตรกร และมูลนิธิชีววิถี อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรเองได้เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาสารทั้งสองให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มาแล้วสองครั้ง สารทั้งสองจึงไม่อยู่ในสภาวะปกติที่จะให้ขึ้นทะเบียนได้ แต่ได้ให้บริษัทฯ เสนอแผนการทดลองและแนวทางการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการฯ

ทั้งนี้ งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรพบว่า คาร์โบฟูราน มีความเสี่ยงสูงต่อเกษตรกรผู้ใช้ในนาข้าว (คำนวณค่าความปลอดภัยได้เพียง 1.97 จากมาตรฐานกำหนดต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 100) ส่วนการใช้เมโทมิลในสวนองุ่นทำให้พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างแม้จะทิ้งระยะเก็บเกี่ยวนานถึง 21 วัน

สรุปเอกสารงานวิจัยและข้อมูล เพิ่มเติมของกรมฯ ที่ได้ทำการทดลองในปี 2549-2555 พบว่า เกษตรกรผู้ฉีดสารเมโทมิลในองุ่นได้รับสารเคมีในตำแหน่งบริเวณศีรษะ หัวไหล่และข้อศอกมากที่สุด และพบสารตกค้างน้ำล้างมือและน้ำล้างเท้าสูงถึง 48.44 และ 59.98 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสามารถทำให้ปลาทุกชนิดตายได้ และจากการทดลองศึกษาสารพิษตกค้างในองุ่นพบว่า มีปริมาณสารพิษตกค้างในระยะเก็บเกี่ยวสูงถึง 10 เท่าของปริมาณมาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ สารเมโทมิลยังมีผลไปยับยั้งเอนไซม์อะเซตทิลโคลีนเอสเทอเรส (AChE) ในระบบประสาทของผู้ใช้สารนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ใช้สารที่มีนิโคตินในเลือด 222-773 ppm แม้ได้รับสารเมโทมิลเพียง 3-8 ppm ก็สามารถทำให้ถึงตายได้ จนนำไปสู่การไม่ขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูรานและเมโทมิลในที่สุด

แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่แบนก็ตาม คงเหลือเพียงคลื่นใต้น้ำในกรมวิชาการเกษตรและ มกอช. บางส่วนที่ยังคงมีความหวังที่จะขึ้นทะเบียนสองสารดังกล่าวโดยพยายามให้คงการอนุญาตตกค้างในพืชผักได้ แม้สารนั้นจะขายไม่ได้ตามกฎหมาย แต่ถูกคณะกรรมการอาหาร กระทรวงสาธารณสุขปัดตกไปในที่สุด

 

 

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ข้างต้นนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสารเคมีสามตัว พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเสต

การตรวจพบสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงตกค้างในผักและผลไม้เกินกว่าครึ่ง นำมาซึ่งการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับอีกสามกระทรวงหลักคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม มีมติออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสองชนิดคือ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ภายในปี 2562 โดยระหว่างนี้ไม่อนุญาตให้มีการต่อทะเบียนและขึ้นทะเบียนเพิ่ม และภายในเดือนธันวาคม 2561 ต้องยุติการนำเข้าทั้งสองตัว ส่วนไกลโฟเสตนั้นให้จำกัดการใช้และกำหนดเพดานปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้

“เนื่องจากพาราควอตจัดเป็นสารพิษที่มีความรุนแรงไม่มียาถอนพิษได้ 51 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอส ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น กระทบต่อต่อมไร้ท่อและการเจริญเติบโต ส่วนไกลโฟเสต ยาฆ่าหญ้าซึ่งองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิด 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ดังนั้น ภายใน 30 วันเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโซนการใช้สารตัวนี้อย่างเข้มงวด โดยงดใช้ในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะ”

เรื่องน่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี อีกทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนเกษตรกรตามกฎหมายก็ออกมาสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกร แต่ท่าทีของกรมวิชาการเกษตรที่ออกรับฟังความคิดเห็นสี่ภาคโดยหลายครั้งจะมีการประชุมก่อนล่วงหน้า 1-2 วันของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการใช้สารเคมีเหล่านี้ต่อไปให้ข้อมูลเกษตรกรที่จะเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นของกรมวิชาการเกษตรก่อน และแล้วในที่สุดกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องนำเสนอข้อมูลการแบนสารเคมีให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาก็แถลงว่า กรมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยจึงเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้คำปรึกษาด้านข้อกังวลในสุขภาพมนุษย์ จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาพิจารณา

น่าสนใจว่ากรมวิชาการเกษตรอ้างว่าไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่เป็นผู้เสนอชื่อคณะอนุกรรมการส่วนใหญ่ที่เป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร อีกทั้งข้อมูลหลักที่ใช้ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจก็ถูกชงจากกรมวิชาการเกษตร

แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2560 กรมวิชาการเกษตรก็ได้ต่อทะเบียนพาราควอตให้กับบริษัทซินเจนทา (Syngenta), เอเลฟองเต (Elefante Agro Chemicals) และ ดาว อะโกรไซแอนส์ (Dow AgroSciences) ขายต่อไปได้อีกหกปี โดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนนี้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ

แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประชาคมวิชาการ นำโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ออกสมุดปกขาว ‘ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต (paraquat) ไกลโฟเสต (glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos)’ รวบรวมข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์ที่เป็นปัจจุบันที่สุด แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพิจารณาหักล้างข้อมูลเก่าในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ

นี่คือส่วนหนึ่งของความผิดปกติของรายงานอนุเฉพาะกิจฯ ที่มูลนิธิชีววิถีและไทยแพนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ 11 ประการ ได้แก่
1. จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ
2. ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ
3. โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ
4. บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน
5. แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง
6. ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ
7. อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กปิดบังปัญหาใหญ่
8. เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท
9. โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร
10. ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า
11. มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงจากกรมวิชาการเกษตร อนุกรรมการเฉพาะกิจ หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายเอง

“นี่คือเอกสารของกรมวิชาการเกษตรที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดูที่เขียนวง จะเห็นว่าเป็นการอ้างข้อมูลของ US-EPA (United States Environmental Protection Agency: องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา) เมื่อปี 1997 ซึ่งปัจจุบันผ่านมาแล้ว 22 ปี เหตุผลที่กรมวิชาการเกษตรเลือกข้อมูลเก่าขนาดนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็เพียงเพื่อจะบอกว่า พาราควอตไม่ได้มีพิษอะไรร้ายแรง มีพิษแค่ปานกลาง

เอกสารของกรมวิชาการเกษตร เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย

 

ทั้งๆ ที่มีเอกสารใหม่กว่านี้ แต่ไม่ใช้ และหนังสือที่กรมวิชาการเกษตรใช้ในการเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อจะบอกว่าแบนหรือไม่แบนพาราควอต เป็นหนังสือที่จัดทำโดยองค์กรหนึ่งคือ BCPC (British Crop Protection Council) เป็นองค์กรซึ่งฟังดูเป็นวิชาการมาก แต่เมื่อเราดูโครงสร้างองค์กร เราจะพบว่าคนที่เป็นประธานของ BCPC คือ คอลลิน รุสโค (Collin Ruscoe) อดีตผู้บริหารของซินเจนทา เจ้าของพาราควอต

นอกจากนี้ในโครงสร้างคณะกรรมการยังมีหัวหน้าคณะทำงานวัชพืชชื่อ แบร์รี ฮันท์ (Barrie Hunt) จากบริษัทมอนซานโต เจ้าของไกลโฟเสต และอีกท่านหนึ่งคือ เจสัน แทตเนลล์ (Jason Tatnell) คณะทำงานวัชพืชจากบริษัทซินเจนทาเช่นเดียวกัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็ใช้เล่มนี้ หนึ่ง-ใช้เอกสารเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สอง-ใช้เอกสารของบรรษัทเอกชน นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลว่า ทำไมเราถึงแบนพาราควอต ไกลโฟเสต หรือคลอร์ไพริฟอสไม่ได้” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ BIOTHAI วิเคราะห์รายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอย่างละเอียด

ในที่สุด คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนสารพิษสามตัวนี้โดยให้เหตุผลว่า ยังมีเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้ จึงเพียงแค่ออกมาตรการจำกัดการใช้เท่านั้น ทั้งที่เดิมสามสารนี้อยู่ในกลุ่มที่ต้องจำกัดการใช้อยู่แล้ว แต่ไม่มีการจำกัดการใช้จริงจัง โดยกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า จำกัดการใช้โดยฉลาก

ไม่เพียงเท่านั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังเพิ่มการใช้พาราควอตในไม้ผลด้วย ทั้งที่เดิมไม่เคยอนุญาตในฉลากใดมาก่อน มาตรการจำกัดการใช้ดังกล่าวจึงถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมากว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นมาตรการเพื่อที่จะยื้อการแบนออกไปเท่านั้น

 

 

 

หากพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐ มีความใกล้เคียงกันหลายประการ อาทิ

ความพยายามยื้อการยุติการใช้โดยอ้างความไม่แน่นอนของข้อมูล, นักวิชาการอาวุโสบางคนที่ออกมาให้ข้อมูลไม่อันตราย ซึ่งก็เคยทำหน้าที่เดียวกันนี้ในการให้คงการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยจนถึงบัดนี้ ด้วยอ้างว่ายังไม่มีคนป่วยคนตายที่เกิดขึ้นโดยตรง, การมีสื่อมวลชนบางราย เกษตรกรบางคน ออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูลให้คงการใช้แบบเข้มข้นผิดสังเกตเคลื่อนไปพร้อมๆ กับบรรษัทเจ้าของสารเคมี, การถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องกรรมการบางคนที่มาจากหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมการค้า แต่ไม่แจกแจงผลประโยชน์ทับซ้อนและยังลงมติไม่แบน แม้จะขัดกับมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายก็ตาม, การไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่างๆ โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลความลับทางการค้าของผู้ประกอบการ ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้การพิจารณาคดีของศาลสหรัฐ โดดเด่นกว่า เพราะสามารถให้คู่กรณีของเอกสารฝ่ายตรงข้ามได้ทั้งหมด รวมถึงอีเมลสื่อสารที่ทำให้เห็นการรับรู้และช่วยกันปิดบังข้อมูลอันตรายที่จะมีต่อสุขภาพของสารเคมีเหล่านี้ และการใช้อิทธิพลในวงราชการ การเมือง และสื่อมวลชน

จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่า การพึ่งระบบยุติธรรมด้วยการดำเนินคดีทางศาลปกครอง หรือแม้แต่ศาลแพ่งในกรณีผู้เสียหายจากโรคเนื้อเน่า จะเป็นความหวังของประชาชนได้หรือไม่ แต่ถึงกระนั้น ระยะการพิจารณาคดีที่ยาวนาน หากไม่ได้รับการคุ้มครองฉุกเฉิน ความล่าช้าคือความอยุติธรรม พอๆ กับที่ทุกวันมีการตายสะสม

แนวรบนี้ เดิมพันสูง ยิ่งประเทศต่างๆ ทยอยเลิก ประเทศที่ยังใช้อยู่เป็นแนวรบสุดท้ายที่บรรษัทสารเคมีแพ้ไม่ได้ ต้องไม่ยอมให้มีการแบนเด็ดขาดไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

สำหรับการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประเทศไทยควรต้องปรับกฎหมาย โดยเฉพาะการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแยกออกมาจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากลักษณะของการใช้ การโฆษณา การตกค้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรเหล่านี้แตกต่างจากวัตถุอันตรายที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง

โครงสร้างการควบคุม โดยเฉพาะการพิจารณาว่าจะยกเลิกการใช้สารใดๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การตัดสินใจจะแบนหรือไม่ขึ้นกับหน่วยงานทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญไม่ใช่หน่วยงานทางเกษตรหรืออุตสาหกรรม และต้องมีเกณฑ์ในการแบนหรือตัด (cut off criteria) สารที่เป็นอันตรายร้ายแรงออกอย่างชัดเจน ต้องมีการควบคุมการจำหน่ายและการใช้ตามที่บริษัทได้ขอขึ้นทะเบียนไว้หรือที่ระบุไว้ในฉลากอย่างเคร่งครัด มีระบบข้อมูลที่ทำให้รู้ว่า สารแต่ละชนิดเมื่อนำเข้ามาในประเทศแล้วถูกกระจายไปใช้ในพื้นที่ใดกับพืชชนิดไหน มีระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสารพิษตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และการติดตามโรคหรือผลกระทบจากการสัมผัสสารเหล่านี้ของเกษตรกรและผู้บริโภค

ทั้งหมดนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาต่อทะเบียนและกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างในพืชอาหาร จึงจะทำให้เห็นทั้งระบบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งควรมีการเก็บภาษีโดยการพิจารณาจากความเป็นอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และนำภาษีเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรม สารทดแทนหรือสนับสนุนการเกษตรเชิงนิเวศ รวมทั้งเยียวยาผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ปัจจุบัน กฎหมายลักษณะนี้ได้ผ่านการยกร่างโดยกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่แน่นอนเมื่อร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. … ออกมาแล้ว กรมวิชาการเกษตรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วย แม้จะอยู่ในคณะทำงานยกร่างก็ตาม และยังไม่มีวี่แววว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีอยู่หลายคณะจะคิดถึงการแก้ไขเชิงโครงสร้างเช่นนี้ สำหรับการเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาโดยกระทรวงการคลัง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
เพจ Pipob Udomittipong
New York Times
NPR.org
organicauthoryty.com
The Guardian
BIOTHAI
Thaipublica
สำนักข่าวอิศรา
The Momentum
Thaipan.org
กรมวิชาการเกษตร
doa.go.th
ประชาชาติธุรกิจ
the101.world
thaidrugwatch.org

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า