ข่าวที่ไม่เป็นข่าวประจำปี 2019 / เครือข่าย 5G กับความกังวลผลกระทบต่อสุขภาพ

ในโลกยุคใหม่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งจากหลายช่องทางผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง หลังจากที่เราใช้บริการ 4G โลกโทรคมนาคมได้ให้บริการการรับส่งข้อมูลในย่านความถี่สูงขึ้นและมีความเร็วมากขึ้น คือ 5G อย่างไรก็ตาม 5G ต้องใช้ระบบเสาส่งสัญญาณไร้สายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าคลื่นรังสีวิทยุ (Radio Frequency Radiation: RFR) จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ  

ซินดี รัสเซลล์ (Cindy Russell) เขียนบทความที่เผยแพร่ใน Environmental Research ว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันเป็นรุ่นแรกที่ต้องสัมผัสคลื่นรังสีวิทยุความถี่สูงตั้งแต่แรกเกิด และเราคงยังไม่เห็นผลกระทบที่ตามมาภายในไม่กี่ปีนี้ โดยบทความชิ้นนี้พูดถึงคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของคลื่นรังสีวิทยุในเทคโลยี 2G, 3G และ 4G และข้อควรระวังในการอยู่รับมือกับ 5G ที่กำลังจะมาถึง

อ้างอิงจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer: IARC) ขององค์การอนามัยโลก การสัมผัสกับคลื่นรังสีวิทยุถูกจัดไว้ในสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B (อาจก่อมะเร็ง มีหลักฐานจำกัดในคน และไม่มีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) และการวิจัยชี้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถืออาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกในสมอง ขณะที่มีรายงานอีกชิ้นระบุว่า การสัมผัสคลื่นรังสีวิทยุอาจสัมพันธ์กับความเสียหายของ DNA และอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ส่งผลต่อการทำงานของแนวกันเลือดและสมอง ฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง ฯลฯ

รัสเซลล์และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เห็นว่า มีงานวิจัยถึงผลกระทบของเทคโนโลยี 5G ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าคลื่นความถี่วิทยุก่อนยุค 5G เพราะการมี 5G เข้าไปปะปนร่วมกับบรรดาคลื่นความถี่ต่ำที่ปะปนซับซ้อนอยู่แล้ว ยิ่งอาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะเทคโนโลยี 5G ใช้คลื่นความถี่สูง Millimeter Waves (MMW) ซึ่งระดับการปล่อยรังสีเท่าๆ กับเครื่องสแกนที่สนามบิน 

ยาเอล สไตน์ (Yael Stein) จากมหาวิทยาลัยฮิบรู (Hebrew University) ในเยรูซาเล็ม บอกว่า ค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับคลื่น 5G โดยเฉพาะผลกระทบของ MMW ต่อผิวหนัง ในจดหมายที่เขียนถึงคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 สไตน์คัดค้านเทคโนโลยี MMW ที่ใช้ในระบบ 5G เพราะนั่นอาจทำให้เราต้องเจอกับผลกระทบที่มากกว่าปัจจุบัน เช่น ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity: EHS) ความเจ็บปวดทางกาย และการรบกวนทางประสาท

เช่นเดียวกับที่ โจดี แมคคัทเชียน (Jody McCutcheon) รายงานไว้กับ Elux Magazine ว่า กระทรวงกลาโหม “ใช้คลื่นเพื่อสลายฝูงชนที่เรียกว่า Active Denial System ซึ่งเป็นการยิงคลื่น MMW ไปใส่ฝูงชน ทำให้ผิวหนังของพวกเขาปวดแสบปวดร้อน” 

ปัจจุบัน สื่อนำเสนอเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของ 5G น้อยมาก รายงานข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 ของ CBS News กล่าวถึงการติดตั้งเสาสัญญาณใหม่ 300,000 จุด เพื่อรองรับสัญญาณ 5G ว่า “ประมาณคร่าวๆ คือพอๆ กับจุดรับส่งสัญญาณที่ถูกสร้างในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา” และ CBS ยังรายงานว่า สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับหลายพื้นที่ที่มีเสาสัญญาณผุดขึ้นรอบบ้าน 

ขณะที่ Americans for Responsible Technology ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ 52 องค์กรรากหญ้า ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารชะลอการวางโครงสร้าง 5G ด้วยเหตุผลที่ เจสัน พลอทซ์ (Jason Plautz) รายงานกับ Smart Cities Dive ว่า “มีงานวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ๆ อ้างอิงความเชื่อมโยงของการสัมผัสคลื่นรังสีวิทยุกับอันตรายที่จริงจังต่อระบบชีวภาพ”  

ในทางกลับกัน การรายงานข่าวโดยส่วนใหญ่ยังเน้นประโยชน์ด้านบวกของ 5G ว่าสามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว การแสดงภาพสามมิติ เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน แต่กลับไม่ได้สำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เช่น รายงานข่าวของ CNN ในปี 2018 กับหัวข้อ ‘Federal Health Agencies Disagree over Link between Cell Phone Radiation and Cancer’ ที่พูดถึงความสับสนเกี่ยวกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แยกเป็นสองทาง ระหว่างสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA)

กุมภาพันธ์ 2019 Washington Post รายงานข่าวโดยใช้รายงานเกือบทั้งหมดจากกลุ่ม Cisco ว่า สหรัฐนำหน้าจีนและประเทศอื่นๆ ในการใช้เทคโนโลยี 5G ผ่าน “การผ่อนคลายกฎระเบียบและนโยบายที่เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม” 

จากข้อมูลของ Cisco ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดความซับซ้อน คือความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่าย เช่น Huawei อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้พูดถึงผลกระทบด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยี 5G แต่อย่างใด

อ้างอิงข้อมูลจาก:
projectcensored.org

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า