ภาพประกอบ: Shhhh
TAKEAWAYS
– Brexit มาจากคำว่า Britain และ Exit มารวมกัน หมายถึง อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป โดยกลุ่มสนับสนุน Brexit ให้เหตุผลว่า สหภาพยุโรปคอยแต่ฉุดรั้งเศรษฐกิจและทำให้อังกฤษเสื่อมถอยอำนาจลง
– นักวิชาการจำนวนมากคาดการณ์ว่า การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้สหภาพยุโรปอ่อนแอลง และเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน เนื่องจากเศรษฐกิจของอังกฤษใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป
เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จากพรรคอนุรักษนิยม ตัดสินใจให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน ปี 2017 เร็วกว่ากำหนดการเดิมถึงสามปี ทั้งที่เมย์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารประเทศต่อจาก เดวิด คาเมรอน ที่ประกาศลาออกหลังการโหวต Brexit เมื่อกรกฎาคมปี 2016
การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของการเล่นเกมการเมืองในรัฐสภาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจทางการเมืองของเธอที่มีเพิ่มขึ้น หลังผ่านความยากลำบากในการเจรจากับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ Brexit ซึ่งส่งผลให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
และนี่คือห้าข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสาเหตุเบื้องหลังการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ WAY ชวนให้คุณอ่าน
นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ มีอำนาจอยู่ในมือ ทำไมต้องจัดเลือกตั้งอีก
เทเรซา เมย์ เพิ่งขึ้นมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมา โดยอดีตนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้คือ เดวิด คาเมรอน ที่ถอนตัวจากตำแหน่งตามคำสัญญาที่ประกาศไว้ว่า หากผลประชามติโหวตออกจากสหภาพยุโรปชนะ เขาจะลงจากตำแหน่ง ส่งผลให้เธอได้ก้าวเข้ามานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษไปโดยปริยาย
แต่เมื่อเมย์เริ่มต้นแผนการณ์ Brexit กลับมีเพียงกลุ่มคนจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นในรัฐสภาที่ประกาศช่วยทำงานสนับสนุน เมื่อรัฐสภาไม่ยอมช่วยอย่างโดยดีตามคำขอ เธอจึงประกาศให้จัดการเลือกตั้งภายในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้
ทำไมต้องจัดเลือกตั้งภายในปีนี้
ถ้าเมย์ไม่จัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ เธอจะต้องรอไปจนถึงปลายปี 2019 นั่นหมายถึง เมย์จะสูญเสียเวลา และทรัพยากรต่างๆ สำหรับ Brexit ที่ได้เตรียมการก่อนหน้านี้
การเลือกตั้งเดือนมิถุนายนจะทำให้มีรัฐสภาใหม่ได้ทันการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษในตอนนั้นต้องพร้อมเข้าประชุมสรุปเงื่อนไขและขั้นตอนกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เมย์รีบตัดสินใจจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนจะเข้าประชุมกับสหภาพยุโรป
ถ้าพรรรคอนุรักษนิยมชนะ จะมีผลอะไรต่อ Brexit
ตามแผนเดิมแล้วอังกฤษจะกล่าวอำลาจากสหภาพยุโรปเดือนมีนาคม ปี 2019
อย่างไรก็ตามประชามติ Brexit กลับผ่านด้วยเสียงข้างมากบางส่วน อีกทั้งเมย์ไม่ได้ก้าวเข้ามานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง จึงทำให้เธอจัดการอะไรค่อนข้างยากลำบาก
โดยผลโพลคาดว่า พรรคอนุรักษนิยมที่มี เทเรซา เมย์ เป็นหัวหน้า จะชนะการเลือกตั้งนี้ไปอย่างง่ายดาย ถ้าหากทุกอย่างดำเนินไปตามที่คาดไว้ เมย์จะได้กลับมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมากคอยหนุนหลัง ผลสรุปคือ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในครั้งนี้จะมอบอำนาจอันชอบธรรมให้เธอสามารถดึงอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้ง่ายขึ้น
แล้วถ้าพรรคอนุรักษนิยมแพ้ล่ะ?
ถึงพรรคอนุรักษนิยมจะแพ้ ก็ไม่ได้ทำให้พรรคถึงกับย่ำแย่หรือเสียหายมากมายนัก
จากการวิเคราะห์ล่าสุดของ BBC พรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนนำอยู่ 17 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใช่ว่าผลโพลของอังกฤษจะถูกต้องและแม่นยำเสมอไป
สมมุติว่า ความนิยมของพรรคอนุรักษนิยมลดลง อาจนำมาสู่กลยุทธ์ Brexit ใหม่ หรืออาจตัดสินใจใหม่เพื่อนำอังกฤษกลับเข้ามาอยู่ในสหภาพยุโรป ก็ล้วนแต่มีความเป็นไปได้เช่นกัน
สายตาของพรรคต่างๆ ในอังกฤษต่อการเลือกตั้ง
พรรคแรงงาน: เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) เรียกการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า “เป็นการให้โอกาสประชาชนในการเลือกรัฐบาลที่คำนึงถึงผลประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นอันดับแรก” แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านของเขาอาจต้องสูญเสียที่นั่งที่มีอยู่ถึง 229 ที่นั่ง
พรรคเสรีประชาธิปไตย: ต่อต้าน Brexit มาโดยตลอด และตั้งแต่มีการลงประชามติ Brexit พรรคเสรีประชาธิปไตยก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจพลิกผล Brexit กลับมาได้
พรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์: นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) ผู้นำพรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ มองการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเมย์ในครั้งนี้ว่า “เป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่” เนื่องจากประชาชนชาวสก็อตแลนด์ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน Brexit ยิ่งไปกว่านั้น สเตอร์เจียนยังออกมาเรียกร้องให้จัดลงประชามติแยกสก็อตแลนด์ออกจากอังกฤษอีกครั้ง แม้ประเด็นนี้จะเคยถูกตีตกไปในปี 2014 ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก: politico.eu
theguardian.com
nytimes.com