6 ข้อจำกัดกติกาหาเสียง กับ 6 กลยุทธ์แก้เกมของพรรคการเมือง

เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนก่อนจะถึงการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2561 สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กฎกติกาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น กฎหมายพรรคการเมือง หรือ กฎหมายการเลือกตั้ง สส. ที่มีกลุ่มบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งเป็นคนร่างและอนุมัติ

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า กติกาการเลือกตั้งที่มี คสช. เป็นคนกำกับและบังคับใช้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้น สร้างภาระให้กับทั้งพรรคการเมืองและประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกัน อุปสรรคที่ถูกสร้างขึ้นก็ผลักให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองต้องแก้เกมและสร้างสีสันใหม่ๆ ทางการเมืองขึ้นมา

‘6 ข้อจำกัด’ กติกาหาเสียงเลือกตั้ง

ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกติกาอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง สส. และระเบียบ กกต. และจากกติกาเหล่านี้พอจะสรุป ‘ข้อจำกัด’ ในการหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมืองได้อย่างน้อย 6 ข้อ ดังนี้

ข้อจำกัดที่ 1 ระบบหมายเลขผู้สมัคร สส. ใช้รูปแบบ ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’

เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2562 บัตรเลือกตั้งมีเพียงใบเดียว กาหนึ่งครั้งมีผล 3 อย่าง ได้แก่ ใช้คำนวณคะแนน สส. แบบแบ่งเขต, ใช้คำนวณคะแนน สส. แบบบัญชีรายชื่อ และใช้กำหนดว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคตนเองเสนอหรือไม่ ดังนั้น 1 คะแนนจากประชาชนที่คูหาเลือกตั้งจึงมีผลสำคัญมาก

แต่ทว่า ในกฎหมายการเลือกตั้ง สส. กลับสร้างความยุ่งยากและสับสนให้ประชาชนโดยการกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับลำดับการไปสมัคร สส. แบบแบ่งเขต กล่าวคือถ้าผู้สมัครคนใดมาสมัครเป็นคนแรกของเขตเลือกตั้งนั้นก็จะได้หมายเลขที่ 1 และจะไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนถึงผู้สมัครคนสุดท้ายของเขตเลือกตั้งนั้น หรือเป็นระบบที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’

ผลที่ตามมาคือ พรรคการเมืองต่างๆ มีอุปสรรคในการหาเสียงมากขึ้น เพราะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่ของตัวเองเข้าใจว่า หมายเลขผู้สมัครในเขตเลือกตั้งของตนคือหมายเลขอะไร และไปลงคะแนนได้ถูก

ข้อจำกัดที่ 2 ห้ามซื้อโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์

กฎหมายการเลือกตั้ง สส. มาตรา 69 ระบุว่า ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการออกอากาศในรายการที่ กกต. ดำเนินการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องสนับสนุนวันและเวลาในการหาเสียงผ่านวิทยุและโทรทัศน์ โดยผู้สมัครมีเวลาหาเสียงคนละไม่เกิน 5 นาที และพรรคการเมืองกำหนดหาเสียงให้พรรคละไม่เกิน 10 นาที

ข้อจำกัดที่ 3 ป้ายหาเสียงต้องเป็นไปตามที่ กกต. กำหนด

ข้อจำกัดถัดมาคือ ‘ป้ายหาเสียง’ ซึ่งถือเป็นสีสันในการหาเสียงเลือกตั้งมาตลอด แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ออกประกาศจำกัดจำนวนป้ายหาเสียงของผู้สมัคร สส. ให้มีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง และยังกำหนดให้พรรคการเมืองทำป้ายได้เท่ากับจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต หรือหมายความว่า ถ้าเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครน้อย ก็จะมีป้ายหาเสียงน้อยไปด้วยโดยปริยาย

อีกทั้ง ประกาศ กกต. ยังกำหนดขนาดของแต่ละป้ายให้มีความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร และต้องระบุชื่อของผู้ผลิตและวันเดือนปีให้เห็นชัดเจนบนแผ่นป้าย จะติดป้ายได้เฉพาะบริเวณที่กำหนดไว้โดย กกต. แต่ละจังหวัด

นอกจากนี้ ในระเบียบ กกต. ยังกำหนดให้ป้ายหาเสียงใช้รูปผู้สมัคร สส. เขตแต่ละเขต และสามารถนำภาพหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอ รวมถึงสมาชิกพรรคมาใช้ร่วมได้ แต่ห้ามนำภาพบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลนอกเหนือจากที่กล่าวมามาใช้

ข้อจำกัดที่ 4 หาเสียงออนไลน์ ต้องชี้แจงเงินและถูกคุมเนื้อหา

ระเบียบ กกต. กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียง รวมถึงต้องชี้แจงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ไม่ว่าจะเป็นทาง เฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม กูเกิล หรือแอพพลิเคชั่นอื่นใด

อีกทั้ง หากประชาชนชื่นชอบผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ และต้องการช่วยหาเสียงผ่านทางออนไลน์ และมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วเกินกว่า 10,000 บาท ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายละเอียดและค่าใช้จ่ายให้ กกต. ทราบด้วย ทั้งนี้ ถ้าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดไม่คัดค้านให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคหรือผู้สมัครผู้นั้น

นอกจากนี้ ในการหาเสียงยังมีข้อจำกัดอีกว่า ห้ามคนในแวดวงสื่อหรือวงการบันเทิงใช้ความสามารถของตนเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้พรรคการเมืองผู้สมัครคนใดๆ และห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ถ้า กกต. พบเห็นการดำเนินการดังกล่าว กกต. มีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือลบ ถ้าไม่ดำเนินการตามจะมีโทษ

ข้อจำกัดที่ 5 ทุกนโยบายต้องระบุที่มางบประมาณ

ในกฎหมายพรรคการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 57 ที่กำหนดว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

หากพรรคการเมืองโฆษณานโยบายโดยไม่อาจชี้แจงรายละเอียดข้างต้นได้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการชี้แจงที่มางบประมาณ และหาก กกต. สั่งแล้วไม่ดำเนินการจะถูกปรับเงินจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ข้อจำกัดที่ 6 ห้าม ‘คนนอก’ ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง

ในกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3) ประกอบมาตรา 28 กำหนดให้พรรคการเมืองห้าม ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค ควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ หาก กกต. พบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย

‘6 กลยุทธ์’ พรรคการเมืองแก้เกมกติกาหาเสียงเลือกตั้ง

แม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีข้อจำกัดตามกติกาการหาเสียงเลือกตั้งอยู่หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงทั้งรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ตาม แต่ทว่า ภายใต้กติกาดังกล่าว พรรคการเมืองก็ยังแก้เกมได้อย่างมีสีสันอย่างน้อย 6 อย่างด้วยกัน ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามให้จดจำง่าย

ด้วยข้อจำกัดของระบบหมายเลขผู้สมัครที่เป็นแบบ ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’ ทำให้พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคเพื่อชาติ พรรคเครือข่ายของทักษิณ ตัดสินใช้กลยุทธ์เปลี่ยนชื่อผู้สมัคร โดยผู้สมัคร สส. จังหวัดนครราชสีมา ทั้งชายและหญิงหลายคนของพรรคเพื่อชาติ ได้พากันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ทักษิณ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ โดยมีผู้สมัคร สส. ชายพรรคเพื่อชาติ 6 คน เปลี่ยนชื่อเป็น นายทักษิณ และผู้สมัคร สส. หญิงของพรรคเพื่อชาติอีก 1 คน เปลี่ยนชื่อเป็น นางยิ่งลักษณ์

กลยุทธ์ที่ 2 ชวนประชาชนจำชื่อและโลโก้พรรค

ในขณะเดียวกัน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบบหมายเลขผู้สมัครที่เป็นแบบ ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’ ทำให้พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมาเชิญชวนให้คนจดจำชื่อพรรคและโลโก้ของพรรค เพราะอย่างน้อยที่สุดในบัตรเลือกตั้งจะมีโลโก้ของพรรคและชื่อของพรรคอยู่ เนื่องจาก ระบบต่างเขตต่างเบอร์อาจทำให้ประชาชนสับสนและไม่ทราบว่า สส. ที่อยากเลือก หรือพรรคที่อยากเลือก ในเขตของตัวเองนั้นได้รับหมายเลขอะไร

กลยุทธ์ที่ 3 เน้นขายนโยบายมากกว่าผู้สมัคร สส.

อย่างที่กล่าวไป เมื่อบัตรเลือกตั้งมีเพียงใบเดียว แต่กาหนึ่งครั้งมีผลสามอย่าง ได้แก่ ใช้คำนวณคะแนน สส. แบบแบ่งเขต, ใช้คำนวณคะแนน สส. แบบบัญชีรายชื่อ มาผนวกกับการกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับลำดับการไปสมัคร สส. แบบแบ่งเขต หรือ ระบบ ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’ ทำให้พรรคการเมืองที่หวังได้กอบโกยคะแนนจาก สส. แบบแบ่งเขตต้องสร้างกลยุทธ์ในการแก้เกมกติกาการเลือกตั้ง

หนึ่งในกลยุทธ์ที่พรรคการเมืองอย่าง พรรคภูมิใจไทยนำมาใช้คือ เน้นขายนโยบายมากกว่าตัวผู้สมัคร สส. เนื่องจาก พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่มีฐานเสียงแบบท้องถิ่นนิยม แต่เมื่อกติกาการเลือกตั้งบังคับให้ต้องส่ง สส. แบบแบ่งเขตมากถึงจะมีโอกาสคว้าคะแนนเสียงได้สูง การสร้างจุดขายที่นโยบายในพื้นที่ที่ไม่มีฐานเสียงจากตัวผู้สมัครที่แข็งแรงจึงถูกนำมาใช้ เช่น นโยบายเสรีกัญชา นโยบายให้ขับรถ Grab ถูกกฎหมาย เป็นต้น

กลยุทธ์ที่ 4 ใช้ความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีช่วยหาเสียง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กติการเรื่องห้าม ‘คนนอก’ หรือ ห้ามบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรค เข้ามายุ่งเกี่ยว ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง โดยเนื้อแท้มีลักษณะของการตอบโต้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับบทบาทของพรรคเพื่อไทย พรรคที่สืบทอดอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทยของทักษิณ

ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองยังต้องถูกควบคุมการใช้เทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์ในการรณรงค์หาเสียงภายใต้ประกาศและระเบียบ กกต.

ด้วยเหตุนี้ อดีตนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร จึงออกมาตอบโต้ด้วยการใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดนในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนที่ยังนิยมชมชอบในตัวเขา เพื่อรักษาคะแนนนิยมให้กับพรรคหลักของทักษิณอย่างพรรคเพื่อไทย ผ่านการจัดรายการชื่อ Good Monday

กลยุทธ์ที่ 5 ประกาศสโลแกนแทนชูนโยบายพรรค

เนื่องจากการหาเสียงผ่านนโยบาย ถูกจำกัดเพดานไว้ว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ กกต. มีอำนาจในการดำเนิน พร้อมทั้งมีบทลงโทษ อาจทำให้สีสันที่ฉูดฉาดทางการเมืองที่พรรคการเมืองต่างมาเสนอความฝันให้ประชาชนถูกทำให้กลายเป็นการบรรยายทางวิชาการ

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ในการ ‘สร้างภาพจำ’ ของพรรค ยกตัวอย่างเช่น การลงพื้นที่หาเสียงจังหวัดอุบลราชธานีของพรรคเพื่อไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ชูสโลแกน “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ” เพื่อหมายถึงการเลือกพรรคเพื่อไทยจะทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น จนเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์และหน้าสื่อต่างๆ

กลยุทธ์ที่ 6 จัดทำนโยบายอย่างละเอียด

อย่างที่ได้กล่าวไป กฎหมายพรรคการเมือง กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ซึ่งมีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่พยายามจัดทำข้อมูลนโยบายอย่างลึกซึ้งเพื่อแก้เกมกติกาการหาเสียงเลือกตั้งแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอ ‘สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร’ เช่น ให้เงินดูแลบุตรที่มีอายุ 0-6 ปี เดือนละ 1,200 บาท/คน นโยบายเรียนฟรี นโยบายให้เงินอุดหนุนเยาวชน อายุ 18-22 ปี เดือนละ 2,000 บาท/คน เพิ่มงบบัตรทองเป็น 4,000 บาท/คน และเพิ่มเบี้ยคนชราเป็น 1,800 บาท/คน เป็นต้น

ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่มีการประเมินวงเงินว่า จะใช้งบประมาณราว 650,000 ล้านบาท ซึ่งจะดึงมาจากโยกงบส่วนอื่นหรือหาแหล่งเงินใหม่ เช่น การลดงบกระทรวงกลาโหม (50,000 ล้านบาท) งบกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ (40,000 ล้านบาท) ลดสิทธิประโยชน์ BOI (30,000 ล้านบาท) และลดงบประจำและงบกลาง (110,000 ล้านบาท) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคแก้เกมการชี้แจงที่มาของงบประมาณตามกติกาการหาเสียงได้ชัดเจนที่สุดพรรคหนึ่ง

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า