ภูธร พันธรังศรี: การเลือกตั้งในฐานะ ‘คนไทย’ ครั้งแรก ของลูกหลานลาวอพยพ

สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาว และฝ่ายคอมมิวนิสต์พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2496 กว่าจะแตกหักก็กินเวลา 2 ทศวรรษ โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้ชนะและยึดอำนาจจากเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาว ผลของมันก็คือชนชั้นนำและประชาชนที่ภักดีกับการปกครองแบบเดิมต้องหนีกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง หนึ่งในนั้นคือแม่ของเขาซึ่งอพยพมายังฝั่งไทย เป็นหนึ่งในหลายแสนชีวิตที่หนีความตายข้ามแม่น้ำโขงมา

9 ปีต่อมา ภูธร พันธรังศรี เกิดบนแผ่นดินไทย โตบนแผ่นดินไทย ทำมาหากิน กระทั่งแต่งงานมีลูกบนแผ่นดินไทย แต่ในฐานะลาวอพยพ เฉกเช่นแม่ของตน ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว เขามีสิทธิ์เต็มที่ที่จะได้รับสัญชาติไทย เพราะตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) ปี พ.ศ. 2551 ระบุว่า ผู้ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2515 – 26 กุมภาพันธ์ 2535 สามารถยื่นขอสัญชาติเป็นคนไทยได้ตามหลักดินแดน แน่นอนว่า ภูธร พันธรังศรี มีความหวัง มันเป็นความหวังร่วมกับอีกหลายสิบหลายร้อยชีวิตในหมู่บ้านที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน แต่ความหวังกลับเดินทางช้า เพราะกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นราษฎรไทยเต็มขั้นก็ต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 10 ปีเต็ม

“ผมเริ่มดำเนินการขอสัญชาติมาตั้งแต่ปี 2551 เพิ่งมาได้ปีวันที่ 25 มกราคม 2561 จริงๆ มันก็ไม่ได้ติดขัดตรงไหนหรอก แต่เป็นเพราะมีการเปลี่ยนนายอำเภอบ่อย ปลัดอำเภอก็เปลี่ยนบ่อย เลยทำให้ขั้นตอนล่าช้า เช่นดำเนินการถึงขั้นหนึ่งแล้วก็มีการย้ายตำแหน่งเกิดขึ้น การดำเนินการต่างๆ เลยไม่ต่อเนื่อง เอกสารสูญหายก็หลายคน กระทั่งตอนนี้ก็ยังมีรายชื่อตกค้างยังไม่ได้รับสัญชาติไทยในหมู่บ้านนี้หลายคน แต่ก็นับว่าไม่มากนักหากเทียบกับเมื่อก่อน”

ความผิดหวังซ้ำๆ ทำให้วันหนึ่งที่เขาเดินทางไปทำบัตรประจำตัวประชาชน เขาก็ยังลังเลว่าจะได้สถานะคนไทยเต็มขั้นจริงหรือไม่ ลังเลถึงขั้นว่า วันนั้นเขาเตรียมใจด้วยซ้ำว่าทางการคงให้ไปดำเนินการในขั้นตอนอื่นมากกว่า กระทั่งวินาทีที่ได้จับบัตรประจำตัวประชาชนที่มีชื่อของตนเองในฐานะคนไทยนั่นแหละ เขาสารภาพว่าเก็บอาการดีใจไว้ไม่อยู่เช่นกัน

“ภูมิใจ ดีใจ เพราะเราสู้มานาน ได้มาก็ดีใจมาก เรามั่นใจในสิทธิ์ของเราตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพียงแต่จะได้ตอนไหนแค่นั้นเอง คิดว่าจะต้องได้ เพียงแต่จะเป็นตอนไหน เมื่อไหร่เท่านั้นเอง”

การได้รับสัญชาติไทยช้าหรือเร็วมีผลต่อชีวิต แม้จะพูดในทำนองว่ารอได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทุกวินาทีในการรอหมายถึงโอกาสที่เสียไป

“หากอายุมากขึ้น โอกาสที่จะได้ทำงานก็จะน้อยลง เพราะอายุก็จะเกินเกณฑ์ที่เขารับสมัคร กลายเป็นคนแก่ที่ไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน

“พอได้บัตรมา ชีวิตก็ง่ายขึ้น ไปติดต่อราชการอะไรก็ง่าย เดินทางเข้าเมืองก็ไม่ยุ่งยาก ไม่มีใครมาคอยซักถามประวัติเหมือนแต่ก่อน เวลามีการลงทะเบียนเกษตรกรก็ได้ทำกับเขาด้วย ทำเอกสารอะไรก็ง่าย เวลาแนบทะเบียนบ้านอะไรพวกนี้ก็ได้ มีโอกาสมากกว่าเดิมเยอะ เมื่อก่อนนี่ทำอาชีพได้แค่ไร่มันเท่านั้น เวลามันเน่า น้ำท่วม น้ำแล้ง ก็ไม่ได้รับค่าชดเชยเหมือนกับคนอื่นเขา แต่ทุกวันนี้ได้รับโอกาสทุกอย่าง แม้จะไม่ถือว่าเป็นเรื่องเลิศเลออะไร แต่ชีวิตก็ง่ายขึ้น”

ภูธร พันธรังศรี รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าในไร่มันสำปะหลัง

ภูธร พันธรังศรี ได้สัญชาติไทยและมีบัตรประจำตัวประชาชนเมื่ออายุย่าง 34 ปี หากเป็นคนไทยเต็มขั้นตั้งแต่แรก เขาจะได้สิทธิ์เลือกตั้งระดับประเทศอย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ข้อเท็จจริงก็อย่างที่ทราบมาตั้งแต่ต้น เมื่อไม่ได้รับสัญชาติไทย เขาก็ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ ต่อการกำหนดอนาคตประเทศ การเลือกตั้ง 2562 จึงเป็นครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสเดินเข้าคูหากากบาทเลือกคนที่เขาพึงใจให้

“เมื่อก่อนตอนมีการเลือกตั้ง เราก็อยากเลือกคนที่เข้ามาแก้ปัญหาอะไรต่างๆ นานาให้เรา แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เวลาเห็นคนออกไปเลือกตั้งเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ตัวเองทำได้แค่อยู่บ้าน ก็คิดเหมือนกันว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์เหมือนเขา คอยดูแต่ข่าวคราวเท่านั้นว่าใครได้เป็น สส. ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี

“นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เลือกตั้ง รู้สึกดีใจมาก เพราะได้เลือกคนที่ผมชอบ แม้จะเป็นเสียงเดียวก็เป็นเรื่องที่ดีมาก

“ตอนเดินเข้าไปคูหาคิดอย่างเดียวว่า อยากได้คนที่ตัวเองชอบ ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย คิดแค่ว่าใครมีนโยบายด้านปากท้อง เรื่องสัญชาติ ด้านการครองชีพ ราคาผลิตผลการเกษตร เพราะสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผมมากที่สุด ผมอยู่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าการเกษตรและสัญชาติ ก็ดูนโยบายด้านนี้เป็นหลัก

“ภูมิใจมากที่ครั้งหนึ่งได้เลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะคนไทยสักที”

บ้านของภูธร พันธรังศรี มีพี่น้องได้รับสัญชาติไทยพร้อมกัน 4 คน รวมตัวเขา การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกของคนเกือบทั้งหมดในครอบครัว แม้จะใกล้ชิดโดยสายเลือด แต่เขาบอกว่าสิทธิ์ในการเลือกตั้งนั้นทุกคนได้รับอิสระเท่าๆ กัน

“ต่างคนต่างคิดว่าจะเลือกพรรคไหน ก็เป็นประชาธิปไตยที่สุด แล้วแต่ใจของใครของมัน ใครชอบคนไหนก็เลือกเอา ไม่ว่ากัน”

“คาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ว่า ถ้าหากบริหารประเทศด้วยความโปร่งใสก็น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ คงไม่ได้อยู่แบบนี้ กระดิกตัวแทบไม่ได้เลย ในหมู่บ้านนี่แย่มาก ทำอะไรก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เราก็หวังว่าจะมีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาบ้างสักครั้ง”

ถามว่า แล้วตัวเขาเองตัดสินใจเลือกพรรคไหน เขาหัวเราะร่วนก่อนเอ่ยปาก

“บอกไม่ได้ว่าเลือกพรรคไหน ขอเก็บเป็นความลับ”

อ่าน: ไม่มีสิทธิ์ห้ามเศร้า ชีวิตมีอดีตแต่ไร้อนาคตของคนลาวอพยพ

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า