บุญเลิศ วิเศษปรีชา: เลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่จบ ถ้าไม่เคารพเสียงประชาชน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การเลือกตั้งผ่านพ้นมาเกิน 1 เดือนแล้ว ความคาดหวังของประชาชนที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นช่องทางในการแสดงออกว่าอยากเห็นประเทศก้าวไปในทิศทางใดเหลือน้อยเต็มที เพราะหากผลการเลือกตั้งออกมาไม่เข้าทางสนับสนุนรัฐบาล และ คสช. ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน  ก็ยังมีกระบวนการและกลไกต่างๆ ที่ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกพรรคอันดับหนึ่งมาจัดตั้งรัฐบาลถูกละเมิด โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งควรเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการที่เป็นกลาง กลับแสดงท่าทีเอียงเข้าข้างพรรคที่สนับสนุนผู้นำ คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยไม่ไยดี ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

ความผิดปกติในการทำหน้าที่ของ กกต. จนทำให้องค์กรสูญเสียความน่าเชื่อถือ เห็นได้ชัด 3 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก กกต. ไม่ยอมเปิดเผยผลการนับคะแนนระดับหน่วยให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก  กกต. ทำตัวเหมือนวัวสันหลังหวะ เสมือนรู้ตัวว่ากำลังอำพรางข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงไม่ยอมเปิดเผยผลการเลือกตั้งให้ประชาชนตรวจสอบ  สามัญสำนึกคนทั่วไปย่อมมีความเคลือบแคลงว่า หาก กกต. ทำงานอย่างตรงไปตรงมา บวกคะแนนจากทุกหน่วย และรวมเป็นผลการเลือกตั้งระดับเขต ระดับประเทศ อย่างถูกต้องโปร่งใส  กกต. ย่อมเปิดเผยคะแนนทุกหน่วยไปนานแล้ว เมื่อ กกต. ไม่ยอมเปิดเผยก็ยิ่งมีข้อสงสัยว่า กกต. กำลังนั่งทับสิ่งสกปรกอยู่ ดังนั้น การเปิดเผยคะแนนทุกหน่วยจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ กกต. จะแสดงความโปร่งใสของตัวเองให้ประชาชนเห็น

ประเด็นที่สอง กกต. ทำตัวเป็นกรรมการที่ไม่รู้กติกา ไม่รู้ว่าการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ทำให้เกิดความสับสนว่า การคำนวณเป็นไปได้หลายสูตร ทั้งๆ ที่หากเป็นผู้อ่านภาษาไทยเข้าใจจะรับรู้ได้ไม่ยากว่า พรรคที่ได้คะแนนเสียงรวมไม่ถึง 71,066 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่สามารถได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะคะแนนเสียง 71,066 เป็นคะแนนต่ำสุดเพื่อให้แต่ละพรรคได้ ‘ส.ส. พึงมี’ อย่างน้อยหนึ่งคน และในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 128 (4) เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้จัดสรรจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อให้พรรคที่ได้จำนวนเต็มก่อน ดังนี้

. . .

“ (๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดำเนินการตาม (๖)”

. . .

แปลความได้ว่า เฉพาะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.พึงมีเต็มจำนวน 1 เท่านั้นจึงจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อในรอบแรก ส่วนพรรคที่มีคะแนนไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 ก็ยังไม่ได้ หากรวมจำนวน ส.ส. ของพรรคต่างๆ เฉพาะที่เป็นจำนวนเต็มแล้วไม่ครบ 150 เสียง จึงค่อยมาไล่เรียงพรรคที่มีเศษใกล้จำนวน 1 มากที่สุด ลงไปตามลำดับ แต่ผลการนับคะแนนจริงปรากฎว่า รวมจำนวน ส.ส. พึงมีเฉพาะพรรคที่ได้จำนวนเต็มไม่นับเศษ ก็ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อรวม 152 ที่นั่งแล้ว จึงต้องหาทางลดจาก 152 ให้เหลือ 150 ที่นั่ง  นั่นหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาจัดสรรจำนวน ส.ส. ให้พรรคที่มี ส.ส. พึงมีไม่ถึงจำนวนเต็ม 1

ข้อกฎหมายเขียนชัดเจนขนาดนี้ กฎหมายนี้ก็ร่างโดยคณะที่แต่งตั้งโดย คสช. ดังนั้น การบิดเบือน คือการโกงกันซึ่งๆ หน้า ภาคประชาสังคมไทย จึงจำเป็นต้องแสดงออกให้ กกต. รู้ว่า เรารู้กติกา และไม่ยอมให้ กกต. หมิ่นแคลนคิดว่าประชาชนโง่ตามไม่ทัน หาก กกต. ยังฝืนมติสาธารณชน พวกเขาจะไม่มีที่ยืนในสังคม ทั้งในวันนี้และอนาคต

ส่วนที่มีการอ้างเจตนารมณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้นับคะแนนทุกเสียงไม่มีคะแนนทิ้งน้ำ ผู้เขียนก็ขอเปรียบเทียบว่า คะแนนเสียงแต่ละเสียงเปรียบเหมือนหยดน้ำ ตามผลการเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละพรรคต้องได้น้ำ 71,066 หยด จึงจะได้น้ำ 1 แก้ว แต่พรรคเล็กหลายพรรคได้หยดน้ำรวมกันยังไม่ถึงน้ำ 1 แก้ว จึงไม่ได้ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ

ส่วนที่มีการคำนวณแบบพิสดารให้พรรคเล็ก 11 พรรค ที่มีหยดน้ำไม่เต็มแก้ว ได้คะแนนเท่ากับน้ำ 1 แก้ว ด้วยการไปเทน้ำจากไปพรรคอื่นๆ มาเติม กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ที่เคยมี ส.ส. เต็มแก้วอยู่ 87 แก้ว กลับหายไปลดเหลือ 80 แก้ว นี่คือการตีความที่ทั้งผิดกฎหมายและบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกเสียงให้พรรคหนึ่ง แต่คะแนนกลับถูกลดและไปเติมให้พรรคอื่นๆ จึงเห็นได้ชัดว่าผิดอย่างร้ายแรง

ประเด็นที่สาม กกต. ถูกตั้งคำถามว่า กำลังหาช่องทางสกัดพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ประกาศตัวเองชัดเจนที่สุดว่าจะต่อต้านรัฐประหาร ลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบกับผู้นำ คสช. และบรรดาขุนทหารโดยตรง กระทั่งวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการของ กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะถือหุ้นในบริษัทที่ทำนิตยสารฉบับหนึ่ง ทั้งๆ ที่นิตยสารแฟชั่นกอสสิปฉบับนั้นปิดตัวไปตั้งแต่ก่อนเดือนมกราคมปีนี้  หรือกล่าวได้ว่า นายธนาธร ไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อเพื่อจะใช้สื่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด และตัวเขาเองก็ดำเนินการถ่ายหุ้นให้คนในครอบครัว เพื่อดำเนินการปิดบริษัทตั้งแต่เดือนมกราคม 2562

กระทั่งประเด็นเล็กขนาดนี้ ยังถูกร้องเรียนจน คณะอนุกรรมการรับว่ามีมูล โดยมีกระแสข่าวว่า แม้แต่ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับใบสั่งที่ให้ตั้งธงเล่นงานนายธนาธร จนเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการ (khaosod.co.th)  มากกว่านั้น ก่อนหน้านี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายชี้แจงเกี่ยวกับการโอนหุ้นตามกฎหมาย พร้อมหลักฐานจนชัดเจนแล้ว ก็ยังมีการหยิบประเด็นยิบย่อย เรื่องระยะเวลาการเดินทางออกจากจังหวัดบุรีรัมย์มาโอนหุ้น โดยที่มีหลักฐานสำคัญกว่า เพราะเป็นหลักฐานที่ไม่ใช่คำพูดและไม่สามารถปั้นแต่งขึ้นได้ นั่นก็คือ บันทึกเวลาผ่านทางของบัตรทางด่วนของรถของนายธนาธร ปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว แต่ก็ประเด็นนี้ก็ยังถูกหยิบฉวยมาเล่นงานไม่เลิก

ท่าทีของ กกต. ที่เร่งรัดกับพรรคอนาคตใหม่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับท่าทีที่มีผู้ร้องเรียนพรรคพลังประชารัฐ ในกรณีระดมทุนทุนจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ปรากฏรายชื่อหน่วยงานราชการมาร่วมงาน จนเป็นที่น่าสงสัยว่าใช้เงินหลวงมาบริจาคเข้าพรรคหรือไม่  เช่นเดียวกับการร้องเรียนว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกตีตกไป

อย่างไรก็ดี ประเด็นเหล่านี้แม้จะไม่สง่างาม แต่ประชาชนก็ยอมให้ผ่านไปเพราะเห็นว่า หัวใจสำคัญกว่าคือ คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งว่าประชาชนจะเลือกทางใด ไม่นำเรื่องหยุมหยิมมาเป็นประเด็น

ตรงกันข้าม ฝ่าย กกต. กลับนำเรืองหยุมหยิม มาสกัดคะแนนเสียงนับล้านให้กลายเป็นคะแนนสูญเปล่า กกต. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจ จึงกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจพิเศษสามารถวีโต้หรือยับยั้งเสียงประชาชน หากเห็นว่าผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่น่าพอใจของฝ่ายตน  โดยอ้างเหตุต่างๆ อันไม่สมควร นี่คือการละเมิดการตัดสินใจของประชาชนอย่างรุนแรง

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า จะมี กกต. ไปทำไม เมื่อมีแล้วเกิดข้อครหาทั้งในเชิงหลักการ ความแม่นยำข้อกฎหมาย ระเบียบวิธี มาตรฐานประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงความไม่เป็นกลาง ตกต่ำยิ่งกว่าสมัยที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งเสียอีก เพราะเมื่อก่อนกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแจกใบเหลือง ใบแดง เหมือน กกต.ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่เคารพเสียงประชาชน คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. จำเป็นต้องช่วยกัน ผลักดันให้ฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาเป็นฝ่ายรุก สถานการณ์ทุกวันนี้เหมือนตกเป็นฝ่ายรับ รอคอยการถูกเล่นงาน หรือรอคอยการถูก ส.ส. งูเห่าพลิกขั้วสถานการณ์

ข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ ฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นสื่อสารทางสาธารณะด้วยข้อเสนอในทางเดียวกัน เพื่อกดดัน กกต. และ คสช. ให้ต้องเคารพเสียงจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องหาทางให้ระบบรัฐสภาเดินต่อไปได้ ด้วยการเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ เคารพผลการเลือกตั้ง ร่วมกันโดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาติไทย ซึ่งเป็นสองพรรคที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่กล้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. เข้าสภามากที่สุด และก็มีการรวมพรรคต่างๆ เบื้องต้นได้เกิน 250 เสียงแล้ว ก็เพราะกลัวการถูกให้ใบเหลืองใบแดงจาก กกต. จนทำให้จำนวน ส.ส. ลดลง หรือไม่ก็กังวลว่า จัดตั้งรัฐบาลไปแล้วจะไม่มั่นคง ถูกคำสั่งยุบพรรคเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคชาติไทย สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค ที่ร่วมรัฐบาลกับนายสมัคร สุนทรเวช

บทเรียนเหล่านี้สะท้อนว่า องค์กรอิสระ อย่าง กกต. ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญ แสดงบทบาททำให้พรรคการเมืองเหมือนลูกไก่ในกำมือ มีกลุ่มคนไม่กี่คนสามารถมีมติชี้เป็นชี้ตาย โดยที่ไม่เคารพเสียงประชาชนที่แสดงออกจากการเลือกตั้ง หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เสียงของประชาชนก็จะถูกละเมิดอยู่ร่ำไป

ถึงเวลาที่พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องก้าวจากความกลัว อย่ายอมเป็นลูกไก่ในกำมือ กกต. และ คสช. ถึงเวลาที่ต้องกล้าผละออกมาเพื่อให้สังคมไทยได้เดินหน้าตามวิถีทางที่ถูกต้อง การทำเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครเป็นการบุคคล หรือของพรรคใด แต่เพื่อรักษาและช่วยทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง

หากพรรคการเมืองจับมือโดดเดี่ยวสองพรรคในฝั่ง คสช. จะเพิ่มน้ำหนักมาในฝั่งประชาธิปไตยที่จะกดดันสมาชิกวุฒิสภาให้ต้องเคารพเสียงประชาชนต่อไป

แต่หากมีการละเมิดเสียงของประชาชน มีการใช้อำนาจนอกระบบกลั่นแกล้งพรรคการเมืองอย่างชัดเจรน องค์กรอิสระยังคงใช้อำนาจแบบสองมาตรฐาน ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนย่อมขยายลุกลามอย่างแน่นอน เพราะประชาชนยอมร่วมต่อสู้ในกติกาการเลือกตั้งซึ่งฝ่าย คสช. เป็นคนกำหนดเอง แต่ก็ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ถ้าเป็นเช่นนี้ เลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่จบ เพราะไม่เคารพเสียงประชาชน

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า