6 วันหรรษาของไทยรักษาชาติ จากยื่นแคนดิเดตนายกฯ ถึงยื่นคำร้องยุบพรรค

8 กุมภาพันธ์ – ฝุ่นตลบ

แม้จะมีข่าวลือมาอย่างน้อยก็ 1 วันเต็มๆ ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติอาจสร้างความฮือฮาชนิดคาดไม่ถึง แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยว่าสิ่งที่แว่วมาจะกลายเป็นความจริง ก่อนหน้านั้นแกนนำพรรคไทยรักษาชาติออกมาแถลงข่าวก็อ้ำอึ้งที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ปฏิเสธ บอกแต่เพียงว่าเป็นดุลยพินิจของกรรมการบริหารพรรค กระทั่งที่สุดความเคลื่อนไหวก็ปรากฏชัดในวันนี้ เมื่อพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้แก่ กกต. โดยรายชื่อนั้นคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

หลังการยื่นรายชื่ออย่างเป็นทางการ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ข้อความบน Instagram ส่วนพระองค์ว่า

“ขอขอบคุณสำหรับความรัก และทุกกำลังใจ และความสนับสนุนจากพวกเราคนไทยทุกคน ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งที่สุด และอยากบอกว่าอยากเห็นพวกเราได้มีโอกาส มีสิทธิที่จะมีโอกาสและมีความสุขในประเทศของเรา และขอชี้แจงว่าดิฉันได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์และอยู่ในฐานะสามัญชนแล้ว ดิฉันจึงขอใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างสามัญชนภายใต้รัฐธรรมนูญ และข้าพเจ้ายินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติใช้ชื่อเพื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงการแสดงถึงสิทธิเสรีภาพและความไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เหนือปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากแต่การกระทำครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยความจริงใจ และความตั้งใจเสียสละในการขอโอกาสนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง”

จากข่าวลือที่วับๆ แวมๆ จะโผล่มิโผล่แหล่ ต่อเมื่อหงายไพ่เท่านั้นทำเอาปั่นป่วนกันทั้งประเทศ เช็คอาการของคนทั่วไปคือสภาวะเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วย เห็นแย้ง กุมขมับ และยินดีปรีดา ขณะที่ข้อถกเถียงในเชิงหลักการก็หาข้อยุติไม่ได้ว่าทูลกระหม่อมฯ จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ แม้พรรคไทยรักษาชาติจะยืนยันว่าทูลกระหม่อมฯ มีคุณสมบัติถูกต้องและครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปไม่เห็นด้วย ไม่พูดเปล่า นายไพบูลย์เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติแทบจะทันที

หลังจากนั้นในคืนเดียวกันมีพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ความในตอนท้ายว่า

“…บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่เหนือการเมืองและทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้อง พระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดํารงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดํารงตําแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

9 กุมภาพันธ์ – น้อมรับ และเชิดหน้า

รุ่งเช้า พรรคไทยรักษาชาติออกแถลงการณ์น้อมรับพระราชโองการ พร้อมทั้งขอทำหน้าที่ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในขนบธรรมเนียมราชประเพณี

ในวันเดียวกันนี้มีข่าวลือว่าตำรวจสันติบาลเดินทางไปที่บ้านพักของ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ แต่ไม่พบตัว ขณะที่หมายลงพื้นที่หาเสียงในวันเดียวกันนี้ก็ถูกยกเลิกโดยไม่ทราบสาเหตุ

ด้าน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทวีตข้อความผ่านบัญชีส่วนตัว @ThaksinLive ว่า “Chin up and keep moving forward! We learn from past experiences but live for today and future. Cheer up! Life must go on!” ซึ่งหมายถึงให้เชิดหน้าไว้ แล้วเดินหน้าต่อ เรียนรู้จากประสบการณ์ เราอยู่เพื่อวันนี้และอนาคต เข้มแข็ง และชีวิตต้องเดินต่อ

10 กุมภาพันธ์ – ร้อง กกต. ยุบ ทษช.

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. กรณีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ นั้นเป็นการเสนอผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือ มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 13 วรรคสอง ประกอบมาตรา 14(2) ของ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 พร้อมทั้งระบุว่าเป็นการละเมิดต่อข้อ 17 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 โดยชัดแจ้ง โดยนำความพร้อมหลักฐานไปเป็นต้นเรื่องแจ้งต่อ กกต. เพื่อให้วินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติขัดต่อกฎหมาย และระเบียบการหาเสียงของ กกต. ข้อ 17 อันเข้าข่ายองค์ประกอบมาตรา 92(2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยนายศรีสุวรรณเห็นว่า กกต. ต้องนำกรณีดังกล่าวเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อไป

11 กุมภาพันธ์ – ขอโอกาสชี้แจง

หลังจากเงียบมา 1-2 วัน ก็มีความเคลื่อนไหวจากพรรคไทยรักษาชาติ โดยในช่วงเช้าของวันนี้มีการเตรียมจัดโต๊ะพานพุ่มภายในห้องแถลงข่าว ขณะที่ผู้บริหารพรรคทยอยเข้ามา และคนที่ตกเป็นเป้าให้นักข่าวยื่นไมค์จ่อก็คือ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช ซึ่งระบุว่าการเดินทางเข้าที่ทำการพรรคนั้นก็เพื่อเตรียมพร้อมหาเสียงเลือกตั้งตามปกติ ส่วนกรณีที่มีข่าวลือว่า กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ตนอยากให้ กกต. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจง เพราะสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้มีเจตนาคิดร้ายอันใด ส่วนกรณีจะทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ มาเป็นพยานบุคคลหรือไม่ ร้อยโทปรีชาพล บอกแต่เพียงว่าต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน

12 กุมภาพันธ์ – ยุบ ไม่ยุบ ยุบ ไม่ยุบ

หลังจากสื่อมวลชนหลายสำนักกระพือข่าวการยื่นคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติตั้งแต่หัววัน ตกเย็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกจดหมายข่าวแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาของ กกต. กรณียุบพรรคการเมือง โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อบางฉบับว่า “มติ กกต. สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ…” นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอเรียนว่า ประเด็นดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะแถลงข่าวให้ทราบต่อไป

13 กุมภาพันธ์ – มันเร็วมาก

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกจดหมายข่าวแจ้งว่า เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คระกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92

จดหมายข่าวฉบับเดียวกันนี้ยังกล่าวอีกว่า ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งเดินทางไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ขณะเดียวกันพรรคไทยรักษาชาติก็เปิดแถลงข่าวแทบจะทันที โดย นายพิชิต ชื่นบาน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่า มีความมั่นใจในศาลและกระบวนการยุติธรรม แต่ก็เสียใจที่ที่ยังไม่มีโอกาสทราบข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน

“เรามั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์กรสูงสุดที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม เมื่อเราเป็นคู่กรณี ตามหลักนิติธรรม คู่กรณีควรมีโอกาสในการแก้ข้อกล่าวหา เราเสียใจที่ชั้นสอบสวนไม่มีโอกาสแม้แต่จะทราบข้อกล่าวหา ทุกอย่างมันรวดเร็วมาก และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กกต. จะมีการประกาศรับรองผู้สมัครส.ส. จึงตั้งข้อสังเกตว่า กกต. คิดอะไร”

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า