การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนรอบมาเป็นปีที่ 6 แล้ว นับเป็นการครองอำนาจยาวนานต่อเนื่องของคณะรัฐประหารจนสืบทอดมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน คงไม่ต้องพูดซ้ำกันแล้วว่าระหว่างเส้นทางการครองอำนาจ เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเมืองไทยเป็นอย่างไรและเกิดความเสียหายไปเพียงใด
ในวาระนี้จึงชวนมองกลไกของผู้ถืออำนาจปัจจุบันจากอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นผลมาจากยึดอำนาจครั้งนั้น คือการฟื้นคืนชีพกลับมาของ ‘การเมืองกลุ่มก๊ก’ (Faction Politics)
ในบทความเรื่อง Faction Politics in an Interrupted Democracy: the Case of Thailand (2020) เขียนโดย พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ เสนอว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 คือการกลับมาของการเมืองแบบกลุ่มก๊ก ที่ทำลายสถาบันพรรคการเมืองให้อ่อนแอลงและเปิดทางให้การกำหนดนโยบายสำคัญไม่ได้มาจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย หากแต่ถูกกำหนดด้วยอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่เรียกกันว่า ‘อภิชนาธิปไตย’
แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว แต่เวลาของการเมืองส่วนใหญ่ก็ถูกกำหนดโดยพระราชอำนาจหรือไม่ก็อำนาจจากกองทัพ โดยการขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตยที่เป็นระลอกนั้น สะท้อนจากจำนวนการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง และรัฐบาล คสช. ที่ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็นับเป็นการครองอำนาจของคณะรัฐประหารที่ยาวนานมากเป็นอันดับสองรองจากเผด็จการทหารสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ในทศวรรษ 2510
อย่างไรก็ตามการเมืองกลุ่มก๊ก ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางประวัติศาสตร์ หากแต่ดำรงคู่ขนานมากับอำนาจของกองทัพ และมักจะปรากฏให้เห็นชัด เมื่อเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของคณะรัฐประหารมาสู่นักการเมือง เช่น ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงทศวรรษ 2521-2540 ที่อำนาจของรัฐบาลไร้ซึ่งเสถียรภาพในบางยุคบางสมัยต้องซื้อโหวตในสภาว่ากันไปเป็นเรื่อง หรือไม่ก็ทำให้อายุรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสั้นลงเฉลี่ยไม่ถึงปี จนไม่มีใครสามารถผลักดันนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่โผล่ติดมาด้วยคือปัญหาคอร์รัปชัน ที่มุ่งคว้าผลประโยชน์เฉพาะหน้ากันไว้ก่อน
มีเพียงช่วงสั้นๆ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้น ที่การขึ้นมาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ทำให้การเมืองแบบกลุ่มก๊กต้องจนมุม และต้องขึ้นกับกติกาของพรรค และผู้นำของพรรค ก่อนจะมาเกิดขึ้นอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดช่องให้กลุ่มต่างๆ เปลี่ยนขั้ว ย้ายพรรคเพื่อต่อรองผลประโยชน์เป็นไปได้ง่ายดาย ตัวอย่างเช่น กรณีกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ แยกตัวจากพลังประชาชนเพื่อจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลในปี 2551 หรือกรณีความขัดแย้งในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 การกร่อนอำนาจพรรคการเมืองไม่ให้มีฐานะในเชิงสถาบัน ก็ทำให้การต่อรองอำนาจผ่านกลุ่มก๊กการเมืองเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง เมื่อ คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
และหากเรานำข้อคิดของแชมเบอร์และนภิสา มามองเข้าไปในคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็จะเห็นได้ว่า นอกจากกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล จะไปอยู่ในจุดต่างๆ ของโครงสร้างทางการเมืองใหม่ อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ข้าราชการตำแหน่งสำคัญในกลไกรัฐ ฯลฯ
อีกสิ่งบ่งชี้ที่ทำให้เห็นการก่อรูปอำนาจใหม่ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนในโครงสร้างของรัฐบาลปัจจุบันเอง และช่วยให้เราเข้าใจการเมืองไทยปัจจุบันจากอีกบางแง่บางมุม
1. กลุ่มที่ทำหน้าที่ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ในโครงสร้างของคณะรัฐบาลปัจจุบัน เราจะพบว่าแกนหลักสำคัญของรัฐบาลจะคุมหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก และพวกเขายังเป็นกลุ่มที่ก่อการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เคยเป็นสมาชิกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบกอีกคนที่เลือกสิ้นสุดอายุราชการด้วยการทำรัฐประหาร จนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงปัจจุบัน
ขณะที่หลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาของ คสช. เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนพลเอกชัยชาญ ช้างมงคล หลังรัฐประหารได้รับตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2557 และเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมต่อจาก พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ในปี 2558 รวมถึง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งหลังการยึดอำนาจในปี 2557 เขารับตำแหน่งรองประธาน คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาจนถึงปัจจุบัน
2. แตกไลน์มาจากรัฐบาลยุค คสช.
กลุ่มนี้เคียงคู่มากับรัฐบาล ตั้งแต่หลังการตั้งรัฐบาลหลังยึดอำนาจ ทำหน้าที่ในเชิงเทคนิคการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในด้านกฎหมายและด้านเศรษฐกิจ เช่น วิษณุ เครืองาม หนึ่งในเนติบริกรที่มีส่วนสำคัญในการออกประกาศ คำสั่ง และให้คำอธิบายทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ
เช่นเดียวกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งสิงหาคม 2558 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาล คสช. และเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เคยดูแลประสานงานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในช่วงระหว่างวิกฤติการเมืองไทย 2553 ได้ลาออกจากราชการไปทำงานบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และกลับเข้ารับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล คสช. ก่อนจะรับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2558
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาล คสช. และเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2558 และถูก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจดึงเข้ามาช่วยงานในการปรับคณะรัฐมนตรี จึงได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2559
3. กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล
ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 คน คะแนนของฝ่ายที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์สืบทอดอำนาจมีมากถึง 24,165,525 เสียง หรือคิดเป็น 63.14 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายพรรคการเมืองที่เคยปฏิเสธการสืบทอดอำนาจกลืนน้ำลายเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะสองพรรคสำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 7 ล้านเสียง
เดิมทีตัวแทนพรรคการเมืองเหล่านี้จัดวางบทบาทตัวเองในฐานะขั้วสวิง ที่สามารถพลิกไปมาได้ แต่ก็กลายเป็นกลุ่มที่เลือกข้างชัดเจนขึ้นมาหลังการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 กลุ่มนี้ได้รับอำนาจให้ดูแลกระทรวงสำคัญต่างๆ ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจบางส่วน เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น
กลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กลุ่มของพรรคภูมิใจไทย เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น วราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึง เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
4. กลุ่ม กปปส.
ขณะที่พันธมิตรที่ร่วมกันโค่นอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากับคณะรัฐประหาร อย่างอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก็เข้ามาเป็นปีกหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ โดยสมาชิกส่วนหนึ่งแยกตัวมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนหนึ่งในความตกต่ำของกระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งส่งผลอย่างสำคัญต่อการย้ายขั้ว การแข่งขันและการคำนวณคะแนนที่เปิดทางให้พรรคเล็กๆ มีที่นั่งในสภา
กลุ่มนี้ได้รับตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
5. กลุ่มที่ย้ายมาจากเพื่อไทย
กลุ่มสุดท้ายในการเมืองกลุ่มก๊ก คือ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือเคยทำงานในตำแหน่งสำคัญกับรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน โดยเข้ามาเป็นก๊กสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 จะเกิดขึ้นไม่นาน กลุ่มนี้จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระจายไปในสัดส่วนต่างๆ โดยมีฐาน สส. จากกลุ่มจังหวัดสนับสนุน เช่น สันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลพลังประชาชน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2551 เขากลับมาเป็น ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนจะฟอร์ม ‘กลุ่มสามมิตร’ รวบรวมผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนกลุ่ม สส.พรรคพลังชล รวมถึง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เขาเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและอดีตรัฐมนตรี
จากโครงสร้างคณะรัฐมนตรีที่กล่าวมา จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนดุลอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน เพียง 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 2562 จึงได้เห็นการต่อรองอำนาจการย้ายขั้วเปลี่ยนข้างของกลุ่มการเมืองต่างๆ นับไม่ถ้วน จนอาจจะทำให้ลืมภาพการเมืองเดิมไปก่อนรัฐประหาร 2557 ได้ การเมืองแบบกลุ่มก๊กที่ทำลายสถาบันพรรคการเมืองให้อ่อนแอลง ส่วนการกำหนดนโยบายสำคัญเปิดทางให้อภิชนาธิปไตยมีอำนาจ นับเป็นความตั้งใจหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยึดอำนาจเมื่อ 6 ปีก่อน ทำสำเร็จ แต่จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน คงรอคำตอบอีกไม่นาน