[10 ปี รัฐประหาร 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน] ตอนที่ 1: นิติสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพประชาชน

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหมุนวนมาให้ได้ทบทวนความอัปยศอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นการเดินทางครบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

การก่อรัฐประหารและการดำรงอยู่ของรัฐบาล คสช. นับเป็นปฐมบทของการบดขยี้ความปกติทางการเมือง โดยผลพวงของการยึดอำนาจในครั้งนี้ทำให้ความยุติธรรมสั่นคลอน กระทั่งกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อำนาจตุลาการอันศักดิ์สิทธิ์ถูกท้าทายและตั้งคำถามมาเสมอว่าสยบยอมต่ออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ควรยอมรับแต่ต้น

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ร่วมพูดคุยในประเด็นนี้กับเราในฐานะที่ศูนย์ทนายฯ ตั้งขึ้นหลังพลเอกประยุทธ์ประกาศรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพียง 2 วัน เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ที่ คสช. จับกุมบุคคลจำนวนมาก ตลอดจนมีการใช้ศาลทหารกับพลเรือน

-1-

10 ปีที่ไร้หลักยุติธรรมจากการรัฐประหาร 

ในวันนี้เราเดินทางครบ 1 ทศวรรษ หลังจากการรัฐประหาร 2557 ในฐานะที่ศูนย์ทนายฯ ทำงานคู่ขนานกับสถานการณ์นี้ตั้งแต่ต้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

เหนื่อย เหนื่อยกับงานคดี คดีเยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนที่ก่อตั้งศูนย์ทนายความกันใหม่ๆ ตอนนั้นคิดว่าจะอยู่แค่ 6 เดือน ก็ไม่นึกว่าจาก 6 เดือนของเราจะกลายมาเป็น 1 ทศวรรษเต็มๆ

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึง 10 ปี

คือตอนก่อตั้งศูนย์ทนายฯ ตัวเองอาวุโสสูงสุด น้องๆ ที่ร่วมกันก่อตั้งตอนนั้นอายุไม่ถึง 30 ปีกันเลย เราเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาหลายครั้ง เลยประเมินว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี แล้วศูนย์ทนายฯ ก็จะทำหน้าที่แค่ 6 เดือนเท่านั้น

ทีนี้หลังจากนั้นมาไม่กี่วัน คสช. มีคำสั่งให้ตั้งศาลทหาร ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เราก็รู้สึกว่ามันไม่ปกติ แล้วเพื่อนที่เป็นนักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศก็ส่งอีเมลมาบอกว่าครั้งนี้เป็นการรัฐประหารที่ไม่ธรรมดา การให้พลเรือนขึ้นศาลทหารแสดงว่า คสช. จะอยู่ยาว เราเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์กับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแบบนี้้มาก่อน

ต่อมา คสช. ก็ออกประกาศคำสั่งหลายร้อยฉบับ ซึ่งเห็นเลยว่าเป็นการควบคุมประเทศ ควบคุมประชาชน เราก็เลยคิดว่าคงไม่ได้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วภายใน 1 ปีแน่ๆ

รัฐประหาร 2557 ที่นับว่าสร้างความเสียหายมหาศาลครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง และในฐานะที่ศูนย์ทนายฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบรับกับสถานการณ์นี้ มองเห็นผลกระทบที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

พวกเราเป็นทนายความ เป็นนักกฎหมาย เราเห็นเลยว่านี่เป็นการทำลายระบบกฎหมาย ศูนย์ทนายฯ เลยพูดตลอดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มันเป็นการทำลายทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ฉะนั้นศูนย์ทนายฯ เราจึงมีวิสัยทัศน์ ‘ก่อร่าง สร้างนิติรัฐ’ เพราะเขาทำลายระบบกฎหมายไปหมด แล้วสถาปนากฎหมายของตนขึ้นแทน

ช่วงแรกของการรัฐประหาร 2557 คสช. ถึงขั้นสถาปนากระบวนการยุติธรรมลายพราง ให้ทหารเข้ามามีอำนาจในการสอบสวนร่วมกับตำรวจ ซึ่งเราไม่เคยเจอมาก่อน

ถ้านับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นไม่มีพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหารเลยนะ แต่ครั้งนี้มันเหมือนกับเป็นยุคสมัยใหม่ที่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร จากฐานความผิดที่เป็นผู้เห็นต่าง มีการบังคับใช้มาตรา 112 ต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ กลุ่มเหล่านี้ขึ้นสู่ศาลทหารทั้งหมด ฉะนั้นเลยเห็นชัดเลยว่ามันทำลายระบบกฎหมาย 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียความปกติทางการเมือง และกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายไปอย่างไรบ้าง

อยากให้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วง 5 ปีแรกของระบอบ คสช. กับช่วงที่มีการเลือกตั้งปี 2562 ที่นำพาไปสู่จุดที่พีคที่สุดในปี 2563 ที่มีการตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ของคนรุ่นใหม่และคนหนุ่มสาว 

ในช่วง 5 ปีแรกของระบอบ คสช. เขาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทำลายหลักกฎหมายลงทั้งหมด แล้วออกกฎหมายของตนเอง นอกจากจะนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหารก็ยังจับเข้าคุกทหารอีก เช่น คดีหมอหยอง (สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง และเสียชีวิตลงที่ รพ.ราชทัณฑ์) หรือคดีที่เรียกว่า คดีอุยกูร์แยกราชประสงค์ (คดีวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ โดยชาวอุยกูร์)

ตอนที่เราทำงาน 5 ปีแรก เรามีความหวังว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และในฐานะที่เราทำงานกับคนรุ่นใหม่เราก็มีความหวังมากจริงๆ 

พอเลือกตั้งปี 2562 เกิดขึ้น พบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นทายาทของ คสช. ก็ยังใช้กฎหมายที่บิดเบือน พอปี 2563 เกิดการชุมนุมใหญ่ และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันปรากฏว่ามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างอย่างมโหฬาร รวมๆ กันแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่า ‘นิติสงคราม’ อย่างแท้จริง

อะไรคือผลพวงใหญ่ที่สุดที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ คสช. ได้ทิ้งเอาไว้

มรดก คสช. นอกจากตัวบทกฎหมายแล้วคือเรื่องอำนาจนิยม ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐคุ้นชินกับอำนาจนั้น และยังมีการติดตามคุกคามนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง

ปัจจุบันแม้เราจะมีรัฐบาลพลเรือน แต่รัฐบาลพลเรือนก็ยังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจนั้นอยู่ ทุกวันนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปติดตามคุกคาม ตามถ่ายรูป ไปตามหาบ้านนักกิจกรรม ซึ่งการใช้อำนาจผิดปกติแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย 

ระบบกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือนจนผิดปกติไปโดยสิ้นเชิง ยังคงใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในการควบคุมและปราบปรามประชาชน มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐเพื่อดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด หรือแม้กระทั่งกับประชาชนทั่วไปที่เพียงแค่ออกมาแสดงความคิดเห็น

ความขัดแย้งนี้รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ คสช. จะบอกว่าเขารัฐประหารเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศและประชาชน แต่ปรากฏว่ามันยิ่งทำให้เกิดความแตกแยก ตอนนี้สังคมไทยมีความแตกแยกทางความคิด มีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน พอมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกันก็เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู มันมีลักษณะเหมือนกับว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่อยู่กันด้วยความเกลียดชัง

การสร้างสังคมประชาธิปไตยมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่คืนความยุติธรรม ถ้าไม่กลับมาใช้กฎหมายปกติ ฉะนั้นไม่มีทางเลยที่ประเทศไทยจะกลับมาปกติ

สถานการณ์นักโทษทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนเริ่มรัฐประหาร คสช. เขาออกคำสั่งควบคุมประชาชนไม่ให้แสดงออกทางการเมือง ฉะนั้นคดีจะไม่เยอะ เต็มที่ไม่เกิน 200 คน 

แต่ปรากฏว่าพอมาปี 2563 ที่เกิดการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ณ ตอนนี้ศูนย์ทนายฯ เรารับให้ความช่วยเหลืออยู่ 2,000 กว่าคน ประมาณ 1,500-1,600 คดี ตอนแรกผู้ต้องหาทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง แต่พอปี 2563 เป็นต้นมา มีอยู่ทั่วประเทศ ถ้าทำ mapping จะเห็นว่าเกิดเหตุแทบทุกจังหวัด คดีเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ 

ฉะนั้นสถานการณ์ทางการเมือง ณ ตอนนี้เรามีผู้ต้องหาทางด้านความคิดหรือนักโทษทางการเมือง 2,000 กว่าคน คดีเสร็จสิ้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริงๆ ปัจจุบันเรามีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัว 44 คน รวมถึง บุ้ง (เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’) ที่เพิ่งเสียชีวิตไป 

– 2 –

ชนชั้นนำมือขวาถือกฎหมาย มือซ้ายถือปืน

บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม มีส่วนหนุนเสริมอย่างไรต่ออำนาจการปกครองของ คสช.

ตอนเราเป็นนักศึกษากฎหมาย อาจารย์ชอบพูดว่า ‘ชนชั้นนำมือขวาถือกฎหมาย มือซ้ายถือปืน’ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจนะ แต่พอรัฐประหารปี 2557 เข้าใจอย่างลึกซึ้งเลย นี่มันคือภาพของ คสช. เลย ในช่วง 1 ทศวรรษ เมื่อ คสช. ไม่ใช้ปืนแล้วเขาก็ใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมและปราบปรามประชาชน

บางคดีมันไม่ควรเป็นคดีเสียด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็น อย่างเช่นคดีของบุ้งที่ทำโพลขบวนเสด็จฯ ถามว่าการทำโพลเข้าข่ายความผิดด้วยเหรอ แต่สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดี แล้วก็ถูกถอนประกันตัว 

มีคดีเยอะแยะมากมายที่อยากจะบอกว่า ชนชั้นนำเขาใช้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเข้ามาปราบปรามประชาชน เหมือนกับว่าประเทศไทยเรามันไม่ได้มีความเป็นธรรมเลย และกลับกลายเป็นว่ากฎหมายมันมีสองมาตรฐาน เลือกที่จะไม่ใช้กับคนกลุ่มหนึ่งและมาบังคับใช้กับคนอีกกลุ่มที่เห็นต่าง

กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ คสช. สถาปนาขึ้นมา สวนทางกับหลักนิติรัฐ-นิติธรรมอย่างไรบ้าง

ตามหลักนิติรัฐ กฎหมายต้องได้สัดส่วนและมีความเป็นธรรม ถ้าอยากให้ประชาชนรู้ว่ามีความเป็นธรรม กฎหมายมันก็ต้องเป็นธรรมด้วย เราจึงเรียกว่านิติรัฐและนิติธรรม แต่ที่เราอยู่กันทุกวันนี้มันไม่ใช่

การออกกฎหมายจะต้องมีความเป็นธรรม ไม่งั้นเมียนมาเขาก็บอกได้ว่าเขาปกครองด้วยกฎหมายเหมือนกัน แต่มันเป็นกฎหมายที่เขาออกมาเอง อย่างในช่วงแรกที่ คสช. เขาออกคำสั่ง มันก็เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ เป็นกฎหมายของฝ่ายทหาร อันนี้ยังไงก็ไม่ใช้หลักนิติรัฐแน่นอน

ช่วงหลังนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นเลยว่ากฎหมายบางฉบับแม้จะมีเนื้อหาที่ดูเหมาะสม แต่การบังคับใช้มันเหมือนเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน คือแจ้งข้อกล่าวหากับประชาชนก่อน แล้วปล่อยให้ประชาชนไปสู้คดีเอาเอง สุดท้ายศาลยกฟ้อง

เช่น เมื่อปี 2561-2562 คนอยากเลือกตั้งกันมาก เพราะ คสช. ปกครองมานานกว่า 5 ปีแล้ว ถามว่าการที่เราอยากเลือกตั้งมันผิดกฎหมายตรงไหน ปรากฏว่ารัฐก็ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนว่ามีความผิดมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง คือเราอยากเลือกตั้ง แต่เขาก็มาแจ้งความดำเนินคดีกับคนอยากเลือกตั้ง แล้วก็ต้องไปสู้คดีกันในชั้นศาล สุดท้ายศาลยกฟ้อง ศาลบอกว่าประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ที่จริงรัฐน่าจะมีบทเรียนจากคดีที่ศาลได้ยกฟ้อง แต่สุดท้ายไม่ใช่เลย รัฐไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย รัฐยังคุ้นชินกับการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจัดการปราบปรามกับประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐอยู่

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลประยุทธ์ประกาศสถานการณ์โควิด แล้วก็ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้ามาควบคุม เจตนาไม่ได้ต้องการที่จะป้องกันสถานการณ์โควิด อยากจะยกตัวอย่างคดีหนึ่งให้ฟัง ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันไม่ควรเป็นคดีเลย ตอนนั้นรัฐประกาศเคอร์ฟิว มีเด็กชายคนหนึ่งอายุ 12 ปี เป็นลูกความที่อายุน้อยที่สุดของศูนย์ทนายฯ บ้านน้องอยู่แถวแยกดินแดง เลยปั่นจักรยานออกไปหาข้าวกินที่ม็อบ สรุปว่าเด็กชายคนนี้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ตำรวจสั่งฟ้อง อัยการสั่งฟ้อง ขึ้นสู่ศาลเยาวชน เด็กก็สู้คดีไป สุดท้ายศาลบอกว่าเด็กชายคนนี้มีความผิดและศาลพิพากษาตักเตือน 

ตลอดระยะเวลาสู้คดี 1-2 ปี มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมเลย นี่ยังไม่ได้พูดถึงคดีกลุ่มมาตรา 112 นะ

10 ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้กลไกใดบ้างเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

ช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าฝ่ายการเมืองมีนโยบายให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินคดีกับประชาชนที่เห็นต่าง 

ในช่วงปี 2560-2561 มีการงดใช้มาตรา 112 โดยที่พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เองว่าช่วงดังกล่าว ‘พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตา’ ฉะนั้นเราในฐานะคนทำคดี เราเห็นเลยว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เลย และในส่วนคดี 112 ที่ค้างอยู่ จำเลยรับสารภาพ ศาลก็พิพากษายกฟ้อง ซึ่งในคำพิพากษาก็ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยกระทำผิดใดๆ ทำให้เราสงสัยว่ามีความผิดปกติและมีกลไกแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พลเอกประยุทธ์ก็ให้สัมภาษณ์อีกว่า จะนำมาตรา 112 มาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม จะบังคับคดีกับประชาชนทุกมาตรา ยุคนั้นมาตรา 112 ก็ถูกเอากลับมาใช้อีกรอบ น่าจะราวๆ 200 คน ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ 

แน่นอนว่าเราเห็นนัยยะจากคำพูดของพลเอกประยุทธ์ อย่างที่หลายคนรู้กันอยู่แล้วว่ามาตรา 112 มันมีปัญหา มันสามารถงดใช้ได้ แล้วก็เอากลับมาใช้อีกได้ ถ้าเราไปลองตามไทม์ไลน์ช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ก็จะเห็นนัยยะทั้งหมดจากคำพูดของพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตรที่ออกมาให้สัมภาษณ์

ย้อนกลับไปในระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของศูนย์ทนายฯ 

ช่วงนั้น คสช. ไม่ให้ทนายเข้าเยี่ยมคนที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก ทนายความเรามีสิทธิในการเข้าพบผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่เขาปฏิเสธสิทธิของทนายความ คสช. อ้างว่าเขากักตัวประชาชไว้ตามกฎอัยการศึก 7 วัน ยังไม่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย 

ตอนนั้นเราก็พยายามที่จะติดตาม แต่ช่วงนั้น คสช. ก็ยังมีความหน้าบาง เกรงใจ UN ที่รัฐบาลไทยเคยไปเซ็นสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ เอาไว้

ช่วงเวลานั้น ทั้งนักกฎหมาย นักกิจกรรม หรือนักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคามอย่างไรบ้าง

คสช. ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารโทรศัพท์มาคุกคาม ข่มขู่ ว่าถ้าเราไปทำอะไร หรือเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างจะถูกดำเนินคดี อย่างตัวเองยังโดนเลย ในขณะนั้นเราเป็นหัวหน้าศูนย์ทนายฯ เราจะจัดงานครบรอบ 100 วัน หลังรัฐประหาร ทหารก็โทรมาไม่ยอมให้เราจัดงาน เขาบอกว่าถ้าคุณจะจัดงาน ผมจะต้องเชิญคุณมาที่ค่ายทหารนะ

เราคุยกับน้องๆ ทนายในทีมทุกคนก็พร้อมที่จะถูกกักตัวในค่ายทหาร 7 วัน เราก็ยืนยันที่จะจัดงาน คือถ้ากลุ่มทนายสิทธิมนุษยชนยังจัดงานไม่ได้ ประเทศเราก็ไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว

พอผ่านพ้น 5 ปี ในระบอบ คสช. มีการเลือกตั้ง 2562 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็ยังถูกคุกคามมาโดยตลอด นักกิจกรรมยิ่งไม่ต้องพูดถึง แม้กระทั่งกับประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เคยแสดงความเห็นยังโดนเลย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเขามอนิเตอร์ว่าใครเป็นใคร

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทางภาคเหนือมีการประกาศจัดงานรำลึกถึงบุ้ง เจ้าหน้าที่ก็ตามไปเลย ห้ามไม่ให้เขาจัดงาน เขามีกันอยู่ 3 คน เจ้าหน้าที่มา 300 ก็ไม่รู้ว่าเขากลัวอะไร

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกในตอนนั้น มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง

มันสั่นคลอนแน่นอนอยู่แล้ว เอาง่ายๆ ประเทศอิรักที่เขาทำสงคราม เขายังไม่นำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหารเลย ตอนนั้นที่ศึกษาเรื่องศาลทหารก็เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ให้ขึ้นศาลพลเรือน ต้องเป็นคดีวินัยทหารเท่านั้นถึงจะให้ขึ้นศาลทหาร แต่ของเรากลับนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร มันจึงถือเป็นเรื่องที่ทำลายระบบกฎหมาย

ที่น่าผิดหวังคือนักกฎหมายไทยเพิกเฉยมากนะ จำได้ว่าอานนท์ นำภา กับทีมพลเมืองโต้กลับ ไปฟ้องศาลยุติธรรมว่าการรัฐประหารมันมิชอบ ศาลยุติธรรมก็บอกว่าการรัฐประหารคืออำนาจของรัฏฐาธิปัตย์

การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นถ้าระบบกฎหมายไทยกับศาลยุติธรรมไม่รับรองการรัฐประหารให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่พอศาลฎีกาพิพากษาให้การรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว มันก็เลยส่งผลให้ประเทศไทยมีช่องให้เกิดการรัฐประหารวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ

บรรยากาศในแวดวงนักกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง ณ ช่วงเวลาที่เกิดการรัฐประหาร

ส่วนตัวคิดว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยเยอะนะ แต่ด้วยความที่กลุ่มศูนย์ทนายฯ ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งว่ากันตามจริงกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็มีหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่ปฏิเสธเรื่องการรัฐประหารจะเห็นชัดว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แล้วศูนย์ทนายฯ รุ่นก่อตั้งทั้งหมดยกเว้นตัวเราเองก็เป็นคนรุ่นใหม่

อยากจะเล่าให้ฟังเพิ่มนิดหนึ่งว่า มีศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเขามาสัมภาษณ์ เขาก็สัมภาษณ์นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาทุกรุ่น เขาพบว่าคนรุ่นใหม่จะพูดเรื่องนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ขณะเดียวกันนักกฎหมายยุคก่อนหน้าอาจจะพูดเรื่องนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้พูดเรื่องประชาธิปไตย

ศาสตราจารย์ท่านนั้นเขาก็ตั้งคำถามจากการที่เขาสำรวจมา ที่พบว่าคนรุ่นใหม่จะพูดถึงประชาธิปไตยควบคู่ไปกับสองหลัก ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคิดว่าการจะมีนิติรัฐได้มันต้องมีประชาธิปไตย มันไม่สามารถที่จะยกเว้นได้

จากการทำงานช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยภายหลังการรัฐประหาร 2557 มีข้อค้นพบอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของการทำงาน

แน่นอนว่ากระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก เบื้องหลังของระบบกฎหมายเป็นเรื่องวัฒนธรรมขององค์กร และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเลย เพราะเราทำงานอยู่กับการต่อสู้ในเรื่องความคิดความเชื่อ

หลายคดีเราประเมินว่าศาลต้องยกฟ้อง แต่พอเห็นคำพิพากษาเรารู้เลยว่า นี่มันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ อำนาจ กระทั่งจนถึงวัฒนธรรม

ตอนนี้ศูนย์ทนายฯ คิดงานไกลเยอะแยะมากมาย แต่งานคดีเราก็เยอะมากเสียจนเราจมอยู่แต่กับงานคดี แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านแล้วศูนย์ทนายฯ เรามีแหล่งข้อมูลวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก เราก็อยากจะพัฒนางานคดีของเราไปสู่งาน think tank เราจะเป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างองค์ความรู้ ตั้งคำถาม ศึกษาสังคมใน 1 ทศวรรษนี้ สิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นแบบนี้ เราควรจะต้องเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร นี่คือปลายทางที่พวกเราคิด

คดีเรามีนับพัน หลักนิติรัฐที่เราพร่ำพูด หรือในวาระครบรอบ 10 ปีของศูนย์ทนายฯ ที่เราใช้คำว่า ‘วิสามัญยุติธรรม’ อะไรแบบนี้ เราจะแปรเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้ที่จะนำหลักนิติรัฐกลับคืนมาได้อย่างไร

ที่ผ่านมาประเทศไทยวนเวียนอยู่กับการใช้กฎหมายเป็นอาวุธภายใต้สภาวะนิติสงครามมายาวนาน แต่แท้จริงแล้วกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร

คือจริงๆ กฎหมายมันจะต้องประกันสิทธิและคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชน แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันกลับกลายเป็นอาวุธเข้ามาปราบปรามประชาชน ในระหว่างทาง 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนบาดเจ็บจากการที่รัฐใช้กฎหมายเป็นอาวุธจนท้อ เหนื่อย ทุกคนกลายเป็นนักโทษทางความคิด เราอยู่ในภาวะที่มีการใช้กฎหมายมาลงโทษคนที่มีความคิดแตกต่าง เหมือนเราอยู่ในยุคล่าแม่มด

ตอนนี้หลายคนมีความหวังว่า การมีรัฐบาลพลเรือนจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จะทลายความไม่ปกติของระบบกฎหมายไปได้ไหม

มันควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะรัฐบาลทหารต่อให้เขาดีจริงๆ มันก็ไม่ใช่อยู่ดี มันไม่ควรยอมรับ การมีอยู่ของศาลทหารที่ดำเนินคดีกับพลเรือนยังไงมันก็ไม่ดี ถ้าเราไปยอมรับว่าศาลทหารดีเมื่อไร แสดงว่าเรามีปัญหาในหลักการแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลเรือนก็ต้องดีกว่ารัฐบาลทหาร เพราะระบอบทหารมันตรวจสอบไม่ได้ แต่รัฐบาลพลเรือนตรวจสอบได้ ดังนั้นเราในฐานะประชาชนก็ต้องตรวจสอบเขา ถ้าเขาทำไม่ดี เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากเราวิพากษ์วิจารณ์แล้วถูกดำเนินคดี อันนี้ก็ต้องมาสู้กัน 

ในช่วง 10 ปีมานี้ ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น คิดว่าแรงตื่นตัวนี้ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองไทย

ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ประชาชนเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ตอนที่พวกเราทำคดีหลังรัฐประหารช่วงแรกมีการชุมนุมเต็มที่ 50 คน เราก็ว่าเยอะมากแล้ว เราก็ทำงานกันต่อไป ทำข้อมูลต่อไป 

ตอนเกิดการชุมนุมเมื่อปี 2563 เยาวชนหรือประชาชนคนทั่วไปเขาได้อ่านข้อมูลเรา อินเทอร์เน็ตนี่แหละที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไป คือถ้ารัฐบาลมีความต้องการอยากจะแช่แข็งประเทศก็ต้องตัดอินเทอร์เน็ตแบบเกาหลีเหนืออย่างนั้นแล้วค่ะ

เราคุยกับนักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ เขาก็พูดว่าประเทศไทยมีหวังมากเลยนะ และเขาบอกว่าประเทศไทยจะชนะก็ต่อเมื่อคนเสื้อแดงและเด็กรุ่นใหม่มารวมกัน ใจเราก็คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงไหมนะ แล้วพอเกิดการชุมนุมปี 2563 ขึ้นมา มันทำให้ย้อนคิดถึงคำพูดเขาทันทีเลย 

ทำอย่างไรให้ คสช. รวมไปถึงคณะรัฐประหารอื่นๆ ในอดีต ได้รับการพิจารณาโทษตามกฎหมาย

ประเทศไทยเรามีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดมาตลอด คนทำรัฐประหารไม่เคยได้รับโทษหรือถูกดำเนินคดี พอเขาไม่เคยได้รับผิดจากการรัฐประหาร มันก็เลยทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศไทยพิกลพิการ กลับกลายเป็นว่าประชาชนถูกดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว

การไม่ได้รับผิดของพลเอกประยุทธ์และ คสช. มันอาจชี้ช่องให้เกิดการรัฐประหารเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่การรัฐประหารครั้งใหม่ก็ไม่ง่าย เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเลยว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน 

บ้านเรามันไม่ได้ถูกตัดเน็ตนะ เข้าใจใช่ไหม ตอนหลังรัฐประหารใหม่ๆ ตัวเราเองโกรธมาก เกรี้ยวกราดมากนะที่เขาออกค่านิยม 12 ประการอะไรของเขา ตอนที่ลูกสาวเพื่อนได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อธิการบดีก็เอาทหารมาปฐมนิเทศ แต่อยู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุม 2563 ขึ้นมา สังคมไทยมันไม่เหมือนเดิมแล้วจริงๆ

ตอนแรกเราทำงานอย่างเกรี้ยวกราด แต่ต่อมาเรารู้สึกมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ มีน้องทนายผู้ชายคนหนึ่งในศูนย์ทนายฯ บอกว่า ในช่วง 5 ปีแรก เขารู้สึกราวกับว่านั่งดูทีวีดิจิทัลอยู่ดีๆ แล้วมันเปลี่ยนเป็นอนาล็อก ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ตอนนี้เราเห็นเลยว่าค่านิยม 12 ประการ มันใช้ไม่ได้ผลกับเด็กหรอก

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า