หลังการทำประชามติแยกตัวออกเป็นเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2017 ของแคว้นคาตาลุญญาประสบความล้มเหลว ชาวคาตาลันที่ยืนยันว่าตนเอง ‘ไม่ใช่ชาวสเปน’ ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางมาดริด
ครบรอบ 2 ปีของความพยายามประกาศเอกราชของคาตาลุญญา สถานการณ์ในสเปนกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ศาลฎีกาตัดสินปรับเงินจำคุกนักการเมืองและนักกิจกรรมชาวคาตาลันทั้งหมด 3 ราย ส่วนอีก 9 รายถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลาต่างกันตั้งแต่ 9-13 ปี ในโทษฐานพยายามแบ่งแยกดินแดนและตั้งตนเป็นอิสระจากการทำประชามติตั้ง ‘สาธารณรัฐคาตาลุญญา’ ตั้งแต่ปี 2017
รายชื่อผู้ถูกตัดสินจำคุกคือ โอรอล ฮุนเกราส (Oriol Junqueras) หัวหน้าพรรค Catalan Republican Left (ERC) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีประจำแคว้นคาตาลุญญาในขณะที่มีการรณรงค์ให้แยกดินแดน ถูกตัดสินจำคุกด้วยโทษสูงสุด คือ 13 ปี ฐานยุยงปลุกปั่นมวลชนและใช้งบประมาณสาธารณะในทางที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรี 3 ราย ได้แก่ ราอูล โรเมวา (Raül Romeva) จอร์ดี ตูรูลล์ (Jordi Turull) และ โดลอร์ส บาสซา (Dolors Bassa) ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกตัดสิทธิการเป็นพนักงานราชการอีกคนละ 12 ปี ด้วยข้อหาเดียวกัน
โจเซป รูลล์ (Josep Rull) และ โฮคิม ฟอร์น (Joaquim Forn) อดีตรัฐมนตรี 2 รายถูกตัดสินว่ามีโทษจำคุก 10 ปีครึ่งในฐานยุยงปลุกปั่น แต่ความผิดข้อหางบประมาณสาธารณะเป็นอันตกไป ส่วน คาร์เม ฟอร์คาเดลล์ (Carme Forcadell) อดีตโฆษกรัฐบาลคาตาลันถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปี 6 เดือนในข้อหายุยงปลุกปั่นเช่นกัน ปิดท้ายรายชื่อด้วย จอร์ดี ซานเชซ (Jordi Sànchez) และ จอร์ดี กีซาร์ท (Jordi Cuixart) แกนนำภาคประชาสังคมกลุ่ม ANC และกลุ่ม Ómnium ที่ถูกตัดสินจำคุก 9 ปี และถูกตัดสิทธิการเป็นข้าราชการ 9 ปี
ส่วนแกนนำทางการเมืองที่หนีออกนอกประเทศหลังความล้มเหลวของการประกาศเอกราชปี 2017 คือ ผู้นำคาตาลุญญา คาร์เลส ปุยเดอมองต์ (Carles Puigdemont) อดีตรัฐมนตรี โทนี โคมิน (Toni Comín) เมริตเซลล์ แซร์เร็ต (Meritxell Serret) และ หลุยส์ ปุจ (Lluís Puig) ทั้งหมดลี้ภัยอยู่ในประเทศเบลเยียม
นอกจากนี้ยังมีอดีตรัฐมนตรี คลารา ปอนซาติ (Clara Ponsatí) อยู่ในสกอตแลนด์ ขณะที่เลขาธิการพรรค Catalan Republican Left (ERC) มาร์ตา โรวิรา (Marta Rovira) และอดีตผู้นำพรรคฝ่ายซ้าย Popular Unity Candidacy (CUP) แอนนา เกเบรียล (Anna Gabriel) อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
ประชามติครั้งนั้นถูกศาลสเปนตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้การตัดสินคดีครั้งล่าสุดต่อแกนนำของศาลก็ยิ่งกลายเป็นชนวนซ้ำให้ประชาชนมองว่าการเรียกร้องเอกราชอย่างสงบผ่านหีบบัตรลงคะแนนไม่เป็นผล นักเรียนนักศึกษาคาตาลันนับพันจึงออกมาชุมนุมบนท้องถนนในบาร์เซโลนา ผ่านมาเกือบสัปดาห์แล้วที่เมืองบาร์เซโลนาเต็มไปด้วยธง ‘เอสเตลาดา’ (Estelada) หรือธงที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกดินแดนแคว้นคาตาลันเป็นเอกราช แต้มเมืองให้เป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงินไสวด้วยพลังเจตจำนงตามแนวทางประชาธิปไตย
ทำไมคาตาลุญญาไม่ใช่สเปน
คาตาลุญญา (Catalonia) เป็นแคว้นกึ่งปกครองตนเอง ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปน มีประชากรประมาณ 7 ล้าน 5 แสนคน มีประวัติศาสตร์ของตัวเองย้อนไปได้ยาวนานถึงเกือบพันปี มีภาษา ธงและเพลงชาติ รวมถึงมีกำลังตำรวจและรัฐสภาเป็นของตัวเอง แยกออกจากรัฐบาลกลางที่เมืองมาดริด
ต้นเดือนตุลาคมเมื่อ 2 ปีก่อน ประชาชนแคว้นคาตาลันลงคะแนนประชามติว่าจะอยู่กับสเปนต่อหรือแยกตัวเป็นอิสระ แม้จะมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่ผลโหวตราว 90 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้แยกเป็นอิสระ แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญสเปนตัดสินว่าการลงประชามติครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในเวลาต่อมาแกนนำแบ่งแยกแคว้นคาตาลุญญาจึงประกาศอิสรภาพด้วยตัวเองกลางรัฐสภาที่เมืองบาร์เซโลนาในวันที่ 27 ตุลาคม 2017 ก่อนจะถูกรัฐบาลสเปน ณ กรุงมาดริดตอบโต้ด้วยการประกาศใช้มาตรา 155 ปลดผู้นำคาตาลันทั้งชุดทันที
สาเหตุหนึ่งที่ต้องการแยกตัวจากสเปนเป็นเพราะชาวคาตาลันมองว่าตนเองจ่ายภาษีมากเกินกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาลมาดริด แคว้นคาตาลุญญามีรายได้จากการท่องเที่ยวและค้าขายจนร่ำรวยกว่าประชากรส่วนอื่นๆ ในประเทศสเปน แต่ภาษีจำนวนไม่น้อยที่จ่ายไปกลับไหลเข้าคลังของรัฐบาลกลางแล้วค่อยกระจายกลับคืนสู่แคว้นในจำนวนจำกัด
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญในเชิงวัฒนธรรมคือ การถูกกดขี่อัตลักษณ์ความเป็นคาตาลันตั้งแต่สมัยเผด็จการ นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ที่ห้ามมิให้ประชาชนพูดภาษาหรือใช้ชื่อแบบคาตาลัน รวมถึงการเพิกถอนสิทธิปกครองตนเองในยุคของฟรังโกก็สร้างความรู้สึกบาดหมางให้กลุ่มชาตินิยมคาตาลัน จนต้องการแบ่งแยกออกมาเป็นประเทศของตัวเอง
อิทธิพลจากการชุมนุมในฮ่องกง
นักเรียนไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งกล่าวว่าการชุมนุมครั้งล่าสุด “ไม่ใช่ประเด็นว่าใครเป็นหรือไม่เป็นกบฏ แต่เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน”
การประท้วงครั้งนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวทางประท้วงของผู้ชุมนุมฮ่องกงค่อนข้างมาก กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2019 ภายใต้ชื่อว่า คลื่นประชาธิปไตย (Tsunami Democràtic) ใช้เทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นและโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Twitter, Telegram และ Instagram เพื่อควบคุมทิศทางของขบวนชุมนุม
กลุ่ม Tsunami Democràtic เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการเรียกร้อง โดยกล่าวในอีเมลระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า สันติวิธีคือหนทางสู่ชัยชนะ และทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเนื่องจากจะกลายเป็นการเบนเข็มออกจากเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการชุมนุมประท้วง กลุ่มยังได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ สิทธิของชาวคาตาลันในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ และปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่รณรงค์แบ่งแยกดินแดน
“การไปสู่เป้าหมายทั้งสามของเราแสนง่ายและตรงจุด นั่นคือสเปนต้องมาจับเข่าเจรจากับเรา” กลุ่ม Tsunami Democràtic ระบุ
ผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ก็ยื่นข้อเรียกร้องคล้ายกัน เช่น ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและหยุดการใช้กำลังตำรวจปราบปรามประชาชนคาตาลัน มีรายงานว่าการชุมนุมอย่างสงบในบางพื้นที่ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจล เช่น ผู้ชุมนุมบางส่วนเผาเก้าอี้ในใจกลางย่านท่องเที่ยวบนถนนแรมบลา เด คาตาลุญญา ผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาบางคนขว้างไข่ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถือโล่ป้องกันการจลาจล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้นพื้นที่สนามบินจนต้องยกเลิกเที่ยวบิน ส่วนวันพุธที่ผ่านมามีการเผาถังขยะและรถยนต์จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วม 100 ราย และมีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอย่างน้อย 97 คน ขณะที่ เปโดร ซานเชซ (Pedro Sanchez) นายกรัฐมนตรีสเปน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และยอมรับคำตัดสินที่ออกมา
กิม โตร์รา (Quim Torra) ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลันและหนึ่งในผู้ชุมนุมออกมายื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า สเปนควรจัดให้มีการโหวตประชามติเรื่องการแบ่งแยกแคว้นคาตาลันออกจากประเทศสเปนอีกครั้งภายใน 2 ปีนับจากนี้ โตร์ราเป็นอีกรายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม โดยกล่าวว่าความรุนแรงที่ปรากฏ “ไม่ได้สะท้อนภาพลักษณ์ของชาวคาตาลัน” เขายืนยันว่า “ชาวคาตาลันจะหวนสู่หีบเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตของพวกเรา” อย่างไรก็ตามโตร์ราบอกว่าการตัดสินโทษจำคุกแกนนำแบ่งแยกดินแดนคาตาลันครั้งล่าสุดในเดือนนี้ไม่อาจเปลี่ยนผลโหวต ‘เลือกเป็นเอกราช’ ของชาวคาตาลันได้
7 วันผ่านไปหลังคำตัดสินถูกประกาศ เหตุการณ์ชุมนุมและความรุนแรงบนท้องถนนเริ่มสงบ แผนการต่อไปของชาวคาตาลันคือ การเรียกร้องการทำประชามติครั้งใหม่เพื่อให้คาตาลุญญาเป็นเอกราชจากสเปน ทำให้สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 ในรอบ 4 ปีของสเปนในเดือนพฤศจิกายนยังคงคลุมเครือ ว่าปัจจัยเรื่องการเรียกร้องเอกราชครั้งใหม่ของคาตาลุญญาจะส่งผลต่อกระบวนการทางการเมืองระดับชาติครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com theguardian.com waymagazine.org catalannews.com reuters.com aljazeera.com theguardian.com |