‘ภาษา’ กาตาลัน ไม่มีจริง?

ภาพประกอบ: Shhhh

 

มีคนเกือบสิบล้านคนเข้าใจภาษา (language) กาตาลัน เดี๋ยว! ภาษาสเปนไม่ใช่เหรอ ภาษากาตาลันไม่มีหรอก สเปนสำเนียงกาตาลัน (accent) หรือเป็นภาษาถิ่น (dialect) หรือเปล่า?

credit: catalanmonitor.com

กาตาลันเป็นภาษาที่ใช้ในดินแดนอย่างอันดอร์รา (Andorra) กาตาลุญญา (Catalonia) หมู่เกาะแบลเลแอริก (Balearic Islands) วาเลนเซีย (Valencia) อารากอน (Aragon) กาตาลุญญาเหนือในฝั่งฝรั่งเศส และอัลเกโร (Alghero) ในประเทศอิตาลี กาตาลันจึงเป็นภาษาที่มีรายละเอียดแตกต่าง (variation) กันไปตามท้องถิ่นที่ใช้งาน

การเมืองเรื่องภาษา

A language is a dialect with an army and a navy.

ภาษาคือสำเนียงที่มีทั้งทัพบกและทัพเรือ

แมกซ์ ไวน์ริช (Max Weinreich) นักภาษาศาสตร์เชิงสังคม อธิบายความต่างของสองคำไว้เช่นนี้ การยอมรับสถานะของภาษาจึงเป็นนัยยะเชิงการเมืองอย่างหนึ่ง หากมองในแง่รัฐศาสตร์ แต่หากมองด้านกลไกทางภาษาศาสตร์แล้ว อันที่จริงภาษาคือการยำใหญ่ของสำเนียงที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งเข้าใจตรงกัน ถ้าผู้ใช้สำเนียงต่างๆ ของภาษาอังกฤษสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้ ก็พอจะยกสถานะภาษาให้อังกฤษได้ นอกจากนั้นสำเนียงที่คล้ายกันมากอาจผ่าเหล่าแตกกอออกมาเป็นภาษาตามสถานะทางการเมืองและรัฐได้ อาทิ ภาษาเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ ที่ทำไปทำมาคนสามประเทศนี้ก็พอจะเข้าอกเข้าใจภาษาพูดของกันและกันอยู่บ้าง แต่ก็ยังเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามชื่อประเทศ/รัฐอยู่ดี

ส่วนความเป็นมาตรฐานของภาษา น่าจะมาจากมุมมองของผู้กุมอำนาจในดินแดนนั้น และความพยายามจะยกระดับสถานะของคนกลุ่มหนึ่งให้อยู่เหนือคนอีกกลุ่มหนึ่ง

‘ภาษามาตรฐาน’ จึงอาจไม่มีอยู่จริง เพราะทุกๆ คนต่างอยากให้ภาษา/สำเนียงซึ่งเป็นดังอัตลักษณ์ของตนเองได้กลายเป็นภาษา/สำเนียงมาตรฐานด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนสมาทานความเป็นมาตรฐานขึ้นมา

การถูกบังคับและบอกว่าภาษาที่คุณใช้สื่อสารอยู่นั้น ‘ไม่ใช่มาตรฐาน’ ถือเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า เราไม่ได้ยอมรับว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของเรา และหากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรา คุณต้องปฏิบัติตาม ‘มาตรฐาน’ ที่เราได้วางไว้

ส่วนความเป็นราชการของภาษานั้นก็ถูกใช้เพื่อการงานแห่งรัฐต่างๆ และเป็นดังสัญลักษณ์แห่งการยอมรับว่าภาษาของกลุ่มชนนั้นๆ คือกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคม

ภาษาเป็นเครื่องมือแสดงอัตลักษณ์ร่วมทางสังคมของกลุ่มคนหนึ่งๆ ภาษากับกระบวนการสร้างชาติจึงเป็นเนื้อเรื่องเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ร่วมประจำชาติหรือกลุ่มชนเสียด้วยซ้ำ กาตาลันเองจึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญ

แม้กระทั่งตัวสะกดต่างๆ ยังสำคัญและสามารถส่งสัญญาณนัยยะเชิงการต่อสู้ทางการเมืองได้ด้วย

Cataluña สะกดแบบนี้ในภาษาสเปนกลาง หรือภาษาสเปนกาสเตยาโน (Castellano Spanish)

Catalunya สะกดแบบนี้ในภาษากาตาลัน ในแคว้นกาตาลุญญา

กาตาลุนยา ถอดเสียงออกมาในภาษาไทยได้แบบนี้ หรือ

‘กาตาลุญญา’

แล้วตัวสะกดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สำคัญเพียงใด ความสำคัญอยู่ที่ใครเป็นผู้ผลิตตัวสะกดเหล่านี้ออกมา และใครบ้างยอมรับตัวสะกดนั้นๆ

ปัจจุบันหากใช้กูเกิลค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับกาตาลันเป็นภาษาไทย จะพบว่าตัวสะกดแบบกาตาลันมากกว่าแบบสเปนกาสเตยาโน ถือเป็นความสำเร็จในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวกาตาลันในประเทศไทยสามารถผลักดันตัวสะกดจากการถอดเสียงของตัวเองเข้ามาเป็นที่แพร่หลายในภาษาไทยได้

สเปนกาสเตยาโนไม่ใช้ตัวสะกดแบบกาตาลัน ขณะเดียวกันกาตาลันก็ไม่ใช้ตัวสะกดแบบสเปนกาสเตยาโน การต่อสู้เพื่ออิสรภาพอาจเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการเชิงภาษาเช่นนี้ และเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์เรา

ความแข็งแรงของอัตลักษณ์กาตาลันในเชิงภาษาและวรรณกรรมสะท้อนผ่านทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่ชาวกาตาลันเองยังใช้อยู่อย่างแพร่หลาย อาทิ

  • ตลาดวรรณกรรมกาตาลันถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง
  • วรรณกรรมภาษากาตาลันที่ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากมาย
  • มีหนังสือพิมพ์กว่าสิบหัวที่ใช้ภาษาตาตาลัน
  • ในกาตาลันการพากย์ภาษากาตาลันทับภาพยนตร์โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศนั้นแพร่หลายมาก
  • มีองค์กรอย่าง สถาบันรามอน ลุยล์ (Institut Ramon Llull) ทำหน้าที่ส่งออกวัฒนธรรมกาตาลัน ให้บริการครอบคลุมทั้งเป็นฐานข้อมูลวรรณกรรมและวัฒนธรรมกาตาลัน การหาแหล่งเรียนรู้ภาษากาตาลัน ข้อมูลด้านกาตาลันศึกษา การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมกาตาลัน การให้ทุนการศึกษา พูดง่ายๆ ศูนย์นี้คือสมาคมฝรั่งเศส หรือ Alliance Française เวอร์ชั่นภาษากาตาลันนั้นเอง

กว่ากาตาลุญญาจะเดินทางมาถึงการแบ่งแยกดินแดนในวันนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ร่วมทางภาษา

สเปนกับกาตาลันไปไงมาไง?

หากกล่าวง่ายๆ ภาษาสเปนพัฒนามาจากภาษาละตินที่ใช้โดยชนชั้นสูง ในขณะที่ภาษากาตาลันถูกพัฒนามาจากภาษาพูดของละตินซึ่งพูดโดยชาวโรมันที่เข้าไปปกครองเมืองทาร์ราโกนา (Tarragona) และหากเทียบกันจริงๆ ภาษากาตาลันมีความคล้ายคลึงกับภาษาอิตาลีมากกว่าภาษาสเปนเสียอีก

ภาษากาตาลันพ่ายแพ้ต่อการเข้ามาของภาษาสเปนเมื่อครั้งที่บาร์เซโลนาตกอยู่ใต้อำนาจของ เอิร์ลแห่งแบร์วิค (Earl of Berwick) เมื่อปี 1714 ครั้งนั้นภาษากาตาลันถูกจำกัดการใช้งาน ส่วนภาษาสเปนกลายเป็นภาษาราชการของดินแดนแถบนี้ไป

ภาษาถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเข้ามายึดครองดินแดนสักแห่ง หลายต่อหลายครั้งผู้คนในดินแดนนั้นไม่ได้สยบยอมต่อข้อบังคับโดยผู้ปกครองหน้าใหม่สักเท่าไหร่ ในกรณีกาตาลัน กว่าจะมีการต่อสู้อย่างเป็นกิจจะลักษณะก็ปาเข้าไปยุคศตวรรษที่ 19 แล้ว เมื่อกลุ่มรักชาติชื่อ Renaixença เข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหว จนภาษากาตาลันได้รับการฟื้นฟูให้กลายเป็นภาษาวรรณกรรม

ทว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นาน เพราะหลังจากที่ลัทธิฟาสซิสต์ชนะสงครามกลางเมืองในปี 1939 การใช้ภาษากาตาลันทั้งในฐานะภาษาราชการและส่วนบุคคลถูกห้ามโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นมีการคาดโทษอย่างรุนแรงหากใครพูดภาษานี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อผู้อพยพจากหลายแหล่งหลั่งไหลเข้ามาในกาตาลุญญามากขึ้นเรื่อยๆ ภาษาสเปนจึงกลายเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสาร (lingua franca) ของผู้คนจากต่างถิ่นต่างภาษาให้สามารถสื่อสารกันได้ แม้ผู้อพยพและลูกหลานของพวกเขาจะสามารถสื่อสารด้วยกาตาลันได้ แต่เนื่องจากคลื่นผู้อพยพส่วนใหญ่นั้นหลั่งไหลมาจากลาตินอเมริกา ประชากรกว่าครึ่งของกาตาลุญญาจึงสามารถใช้ภาษาสเปนเสมือนเป็นภาษาที่หนึ่ง พร้อมๆ กับความสามารถในการสื่อสารภาษากาตาลันได้

การเมืองเรื่องภาษาในโรงเรียน

ภาษากาตาลันถูกห้ามใช้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ในยุคที่ นายพลฟรังโก (Francisco Franco Bahamonde) แห่งสเปนยังอยู่ในอำนาจ เมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1975 สเปนเดินทางเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย จนปี 1979 กาตาลันได้รับการยอมรับเป็นภาษาราชการ กาตาลุญญาจึงได้เริ่มได้หายใจหายคอ และสามารถออกแบบการศึกษาของแคว้นตนเองมากขึ้น และสิ่งแรกที่พวกเขาทำคือการจัด Immersion Programme หรือการใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในการเรียนการสอนซึ่งเริ่มในปี 1986 เพื่อให้ผู้เรียนได้ซึมซับภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้แม่แบบอย่างแคนาดา

ในโครงการ Immersion Programme ของกาตาลุญญา เด็กตั้งแต่การเรียนปฐมวัย (3 ขวบเป็นต้นไป) จะเริ่มได้รับการเรียนการสอนเป็นภาษากาตาลัน ส่วนภาษาสเปนจะเริ่มใช้ในระดับประถมศึกษาตั้งแต่อายุ 5-8 ปี ทั้งสเปนและกาตาลันมีชั่วโมงการเรียนการสอนแยกกันในฐานภาษา แต่การเรียนการสอนอื่นๆ ในระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายนั้นกระทำเป็นภาษากาตาลัน เพื่อเพิ่มสมรรถนะทางภาษาให้กับเด็กๆ สิ่งนี้นำมาซึ่งเด็กสองภาษาในที่สุด เป้าหมายคือการที่เด็กสามารถใช้ทั้งสเปนและกาตาลันได้อย่างคล่องแคล่วเท่าเทียมกัน

นโยบายทางภาษาในโรงเรียนนั้นแบ่งออกคร่าวๆ เป็นสามประเภทดังนี้

โมเดล A ใช้ภาษาสเปนในการเรียนวิชาต่างๆ และเรียนภาษากาตาลันเป็นวิชาภาษา

โมเดล B จัดการเรียนการสอนเป็นกาตาลันและสเปนอย่างละครึ่ง แต่เด็กจะต้องเรียนอ่านเขียนเป็นภาษาสเปน

โมเดล D เหมือนโครงการ Immersion คือจัดการเรียนการสอนเป็นกาตาลัน และเรียนสเปนเป็นภาษาต่างประเทศ

ดังนั้นกาตาลันจึงได้เป็นภาษาในโรงเรียนรัฐทั้งหมดที่ร่วมโครงการนับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากการใช้กาตาลันในโรงเรียนแล้ว หากต้องการเรียนด้วยภาษาอื่นๆ ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น จนมีนักการเมืองสายสเปนออกมาวิจารณ์ว่า รัฐบาลท้องถิ่นของกาตาลุญญาไม่ได้ให้อิสรภาพกับผู้คนอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลจากสถาบันประเมินและวัดผลการศึกษาแห่งชาติของสเปน (The Spanish National Institute for the Evaluation of Education: INECSE) รายงานว่า นักเรียนกาตาลันมีความเข้าใจภาษาสเปนเท่ากับค่าเฉลี่ยของเด็กๆ ในแคว้นอื่นๆ ของสเปน ดังนั้นการเรียนด้วยวิธี Immersion ของกาตาลันจึงไม่ได้เท่ากับการลบล้างความสามารถทางภาษาสเปนของนักเรียนแต่อย่างใด

ปี 2013 รัฐบาลสเปนออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติบังคับให้โรงเรียนกาตาลันต้องเพิ่มชั่วโมงสอนภาษาสเปน หากพ่อแม่ลงชื่อร่วมกันร้องขอ แต่ก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า

ฉันคิดเป็นภาษากาตาลัน ฝันเป็นภาษากาตาลัน จู่ๆ ก็มีรัฐบาลหนึ่งพยายามให้ภาษากาตาลันหายไป บางอย่างบอกฉันตอนนั้นเลยว่าฉันต้องสู้เพื่ออัตลักษณ์และภาษาของตัวเอง

– มาร์ตา โรซิก (อายุ 21 ปี)

หมายเหตุ:
– กองบรรณาธิการใช้การสะกด ‘กาตาลัน’ ตามการออกเสียง แทน ‘คาตาลัน’ ในบทความชิ้นก่อนๆ
– กาลาลัน สามารถถอดเสียงจากคำว่า català ในภาษากาตาลันได้ว่ากาตาลา ส่วน ‘กาตาลัน’ มาจากการถอดเสียงอ่านจากภาษาอังกฤษ

ขอขอบคุณ:
อาจารย์ ฐิติพงษ์ ด้วงคง ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ปัทมวรรณ จิมากร ซิลลี ภาคภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.วรรณภา ตระกูลเกษมทรัพย์ สายวิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อ้างอิงข้อมูลจาก:
medium.com
npr.org
barcelona.de

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า