จากความเชื่อที่ว่ามลภาวะนอกบ้านเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นเราจึงควรวิ่งเข้าเคหสถาน เพื่อลมหายใจสะอาดสดชื่น-เห็นจะไม่จริง เมื่อ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (The Environmental Protection Agency: EPA) ระบุว่า แท้จริงแล้วการหายใจเอาอากาศในบ้านเข้าไป อาจมีมลพิษมากกว่าอากาศข้างนอกถึง 5 เท่า และส่วนใหญ่ก็เป็นเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เป็นผู้ทำให้เกิดมลภาวะที่ว่า
และนี่คือ 8 สิ่งของภายในบ้านที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่เป็นภัยต่อสุขภาพ
- เทียนไข
แม้จะเป็นช่วยเสริมบรรยากาศโรแมนติก แต่เทียนไขก็เป็นตัวผลิตแก๊สและฝุ่นผงอันตรายปะปนในอากาศ โดยเฉพาะเทียนเขม่าคาร์บอนจากเทียนพาราฟิน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจของผู้อยู่อาศัย
พาราฟินเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตปิโตรเลียม นำมาผ่านการฟอกขาว ทำให้เกิดสารเคมีเป็นพิษอย่างไดออกซิน (dioxin) รวมถึงอโครลีน (acrolein) ที่ถูกนำมาใช้ในการะบวนการทำให้เทียนแข็งตัว ซึ่งสารเหล่านี้คือตัวการสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่นเดียวกับที่พบในควันบุหรี่
ส่วนผสมสุดท้ายในการผลิตเทียนคือ ก๊าซเฉื่อย จากการศึกษาพบว่า มีส่วนทำให้เบนซิน (benzene) และ โทลูอิน (toluene) ถูกปล่อยออกมาจำนวนมากจากการเผาไหม้พาราฟิน สารทั้งสองนี้ถือเป็นสารก่อมะเร็ง และแม้จะเป็นเทียนคุณภาพสูง ราคาแพง ก็ใช่ว่าความปลอดภัยจะเพิ่มตามไปด้วย เพราะเทียนส่วนใหญ่ก็มีส่วนประกอบหลักเป็นพาราฟิน
นอกจากนี้ การย้อมสีและแต่งกลิ่น ก็มักจะใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากเทียนไขจึงทำได้โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เทียนที่ทำจากขี้ผึ้ง ไขมันพืช ที่ผ่านการย้อมสีและแต่งกลิ่นด้วยวัสดุธรรมชาติ
- กระดาษปรับผ้านุ่ม
dryer sheets เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่นิยมกันในต่างประเทศ กระดาษบางๆ นี้มีไว้สำหรับดูดซับความชื้นในการซักผ้า ทำให้ผ้าแห้ง ปรับผ้านุ่ม เพิ่มกลิ่นหอม
สัมผัสที่นุ่มลื่นมือของกระดาษจะละลายออกไปปรับความนุ่มของผ้าที่ซัก ประจุบวกจะช่วยลดไฟฟ้าสถิตในเนื้อผ้า สารเหล่านี้มักประกอบด้วยเกลือแอมโมเนียม (ammonium salt) ซิลิโคนออยล์ (slilicone oil) จากไขมันสัตว์ เมื่อสารเหล่านี้สัมผัสความร้อนจากเครื่องอบผ้า จะกลายเป็นของเหลวออกไปเคลือบเนื้อผ้าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ใช่การทำให้ผ้านุ่มจริง แต่เป็นการใช้สารเคมีเพื่อทำให้ผู้สัมผัส ‘รู้สึกนุ่ม’ เท่านั้นเอง
นอกจากนี้ การเคลือบผิวกระดาษด้วยสารเพิ่มความหอม มักส่วนประกอบของสารเคมีเป็นพิษ ซึ่งเมื่อถูกความร้อนก็จะปล่อยสู่อากาศ และผู้บริโภคก็ไม่มีสิทธิ์รู้ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆ เพราะโดยกฎหมาย (ของสหรัฐ) จะให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดระบุเพียงส่วนประกอบของสารที่ใช้กำจัดความสกปรกและเชื้อโรคที่เป็นอันตรายเท่านั้น สารให้กลิ่นเหล่านี้จึงเป็นความลับทางการค้าของผู้ผลิต
งานศึกษาในปี 2011 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Air Qualit, Atmosphere and Health ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ซักผ้ามีส่วนผสมของเคมีอันตรายและสารก่อมะเร็งที่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลาก เช่น อะซิทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) และ เบนซีน ทำให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (The University of Washington) ยืนยันว่า อากาศที่ออกมาจากเครื่องซักผ้าที่มีการใช้ผงซักฟอกที่มีกลิ่นหอมผสมกับกระดาษปรับผ้านุ่มนั้นเป็นอากาศที่มีพิษ
- พรม
กลิ่นพรมใหม่จะมีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ซึ่งรวมถึง เบนซีน โทลูอีน (toluene) ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) เอธิลเบนซีน (ethyl benzene) สไตรีน (styrene) และ อะซิโตน acetone การสัมผัสกลิ่นเหล่านี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดอาการปวดหัว แสบคอ แสบตา มีผื่นคัน มึนงง เซื่องซึม
การสัมผัสเอาสารพิษจากกลิ่นพรมบ่อยๆ จะเกิดการสะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบความจำและการเรียนรู้ มีโอกาสเป็นหมัน และเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ ไทรอยด์ ไต รังไข่ และเลือด
นอกจากนี้ พรมใหม่มักเคลือบด้วยแนฟทาลีน (naphthalene) ซึ่งเป็นสารกันแมลง แต่เป็นพิษต่อทารก และยังมีพรมบางประเภทที่พบ p-Dichlorobenzene สารที่เคยมีการทดสอบในสัตว์แล้วพบว่าส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ไม่ใช่แค่พรมใหม่เท่านั้นที่มีอันตราย แม้พรมเก่าจะไม่มีการปล่อยกลิ่นที่เป็นพิษแล้ว แต่ไรฝุ่นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ก็ยังฝังตัวอยู่ในเส้นใย โดยมีงานวิจัยระบุว่า ไรฝุ่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหืด ที่สำคัญคือ พรมเป็นแหล่งสะสมของบรรดาโลหะหนักและสารเคมีอันตราย เช่น สารตะกั่ว สี ยาฆ่าแมลง เขม่า ซึ่งสะสมอยู่ในเส้นใยโดยไม่สามารถทำความสะอาดได้
- เตา
ครัวที่ระบายอากาศไม่ดีถือเป็นแหล่งรวมมลภาวะที่สำคัญภายในบ้าน โดยเตาแก๊สจะปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ (nitrogen dioxide) ออกมาเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้ในอุณหภูมิสูง เมื่อไนโตรเจนไดออกไซด์ลอยสู่อากาศจะกลายเป็นกรดไนตริก ส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อง่าย เช่น โรคหวัด และการสัมผัสเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงขึ้น
ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ทำให้ครัวมีระบบระบายอากาศที่ดี ควรปล่อยให้อากาศในครัวระบายออกไปหลังจากประกอบอาหารเสร็จ ซึ่งเครื่องดูดควันและพัดลมระบายอากาศก็เป็นตัวช่วยที่ดี
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
การทำความสะอาดเป็นการกำจัดฝุ่นและบรรดาเชื้อโรคเชื้อราต่างๆ จากอากาศ แต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิดกลับมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกว่าที่คิด แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปะฉลาก ‘green’ หรือ ‘organic’ ก็อาจมีส่วนประกอบของสารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนมากจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คลอรีน แอมโมเนีย และสารละลายที่มาจากการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งอันตรายของสารเหล่านี้ เช่น ทำให้ตาแดง เจ็บคอ ปวดหัว และผลิตภัณฑ์บางชนิดยังปล่อย VOCs ออกมาสะสมในร่างกาย จนทำให้เกิดโรคภูมิแพ้และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
โดยทั่วไป VOCs จะถูกพบในผลิตภัณฑ์ฟอกขาว สเปรย์ น้ำยาทำความสะอาดพรม น้ำยาเช็ดพื้นและเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะน้ำยาฟอกขาวที่มีส่วนประกอบของคลอรีน ถ้าทำปฏิกริยากับสารทำความสะอาดที่เป็นกรด เช่น แอมโมเนียหรือน้ำส้ม จะสามารถทำให้เกิดก๊าซคลอรีน (chlorine gas) เหมือนที่ใช้ในการทำอาวุธเคมี ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เมื่อสูดหายใจเข้าไปเต็มๆ
- สีทาบ้าน
แม้จะผ่านการทามานาน แต่สีบนผนังก็ยังถือว่ามีอันตรายต่อปอดและสมอง ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเก่าๆ อาจต้องเจอกับสีทาผนังที่ยังมีการผสมสารตะกั่ว ซึ่งถูกห้ามใช้ในสหรัฐราวทศวรรษที่ 1970 โดยตะกั่วจะสะสมอยู่ในผนังแม้ผ่านการทาไปแล้วนับ 10 ปี โดยเฉพาะเมื่อสีเริ่มลอกล่อนและหลุดจากผนัง ชิ้นส่วนเหล่านี้จะมาพร้อมกับฝุ่นผงที่กระจายเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจได้
แต่ใช่ว่าสีในยุคใหม่ที่ไม่มีสารตะกั่วจะปลอดภัยไปเสียทั้งหมด เพราะยังมีสีทาบ้านจำนวนมากที่ยังมีส่วนผสมของ VOCs ซึ่งสามารถปล่อยแก๊สออกมาได้หลายสัปดาห์หรือแม้แต่หลายเดือนหลังการทา ซึ่งการสูดดมกลิ่นสีเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดหัว มึนงง อาเจียน เป็นผื่นแพ้ เหนื่อยง่าย และอาจมีผลต่อระบบความจำ
- น้ำหอมปรับอากาศ
สิ่งที่ช่วยกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วยกลิ่นหอมๆ ก็เป็นตัวปล่อยสารพิษและสร้างมลภาวะในบ้าน จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยงานศึกษาบางชิ้นระบุว่ามีพิษพอๆ กับควันบุหรี่เลยทีเดียว
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ UC Berkeley and Lawrence Berkeley National Laboratory พบว่า น้ำหอมปรับอากาศบางชนิดมีส่วนผสมของไกลคอลอีเธอร์ (ethylene-based glycol ethers) ที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางประสาท และส่งผลกระทบต่อระบบเลือดในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย อาเจียน โลหิตจาง ซึ่งอีเธอร์ในกลุ่มนี้ EPA จัดให้เป็นสารที่ทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ
นอกจากนี้ น้ำหอมปรับอากาศในบ้านมักมีส่วนผสมของทาเลท (phthalate) ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ เป็นอันตรายต่อเด็กทารกซึ่งระบบต่อมไร้ท่อยังไม่พัฒนา นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชาย ทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติ ซึ่งส่งผลในการผลิตอสุจิไม่มีประสิทธิภาพ
- เครื่องฟอกอากาศ
เครื่องฟอกอากาศไม่ได้ทำให้อากาศในบ้านสะอาดเสมอไป เพราะเครื่องฟอกอากาศจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยมลภาวะออกมามากกว่าอากาศปกติในบ้าน โดยเฉพาะการทำให้อากาศสดชื่นด้วยการปล่อยโอโซนออกมาจำนวนมาก โดยเครื่องฟอกอากาศที่ปล่อยโอโซนออกมาเคยถูก EPA ตักเตือนว่ามีอันตราย และในบางรัฐในสหรัฐมีการห้ามใช้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังสามารถพบเครื่องฟอกอากาศชนิดปล่อยโอโซนวางขายอยู่
โอโซนจำนวนมากอาจส่งผลทำให้ระคายเคืองปอด ซึ่งเมื่อรับสัมผัสเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคปอดสะสม เช่น ถุงลมโป่งพอง และโรคหืด นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพัฒนาการของปอดในทารกอีกด้วย
5
5
5