PM2.5 ต้องแก้ด้วยกฎหมาย ก่อนที่อากาศสะอาดจะจากเราไป

ฝุ่น PM2.5 ดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับคนทั่วไป เพราะมันจะกลับมาในช่วงหน้าหนาวแทบทุกปี แต่พิษภัยที่มาพร้อมกับฝุ่นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ควรจะชินสักเท่าไหร่ เพราะอันตรายจากฝุ่น PM2.5 เป็นวิกฤติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากังวลคือผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของเราโดยตรง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ก็ได้ออกมาแถลงถึงการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้เกิดฝุ่นสะสมเพิ่มขึ้น โดยทางกรมอนามัยเปิดเผยว่าฝุ่น PM2.5 จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 บางคนอาจมีอาการระคายคอ ไอ มีเสมหะและน้ำมูก 

อีกหนึ่งผลกระทบต่อสุขภาพคือฝุ่น PM2.5 มีผลต่อภาวะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีการวิจัยเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กับประชากรไต้หวันมานานกว่า 10 ปี และพบว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่เป็นกันในผู้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง ซึ่งจะพบผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าพื้นที่ที่มีฝุ่นน้อย แต่ในส่วนของโรคอ้วนนั้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องฝุ่นที่มองไม่เห็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มีที่มาแค่ฝุ่นมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยเอง ที่ผ่านมามีโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พ.ศ. 2563 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 ประเภทที่ทำให้เกิด PM2.5 คือ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาชีวมวล และฝุ่นทุตยภูมิอันเกิดจากปฏิกิริยารวมตัวกันของไอเสียรถยนต์และแอมโมเนียจากปุ๋ยที่ใช้ในเกษตรกรรม ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดคะเนว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศในปี 2556 ประมาณ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท 

ความหละหลวมในมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษและมุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษถ่านหินจนทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด และมะเร็ง หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งจำนวนมากเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ 

อีกกรณีคือพื้นที่อุตสาหกรรมหนักในจังหวัดระยอง โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ลงไปสำรวจและวิจัยถึงผลกระทบทางสุขภาพจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยในรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง พ.ศ. 2546 พบว่า อากาศมีการปนเปื้อนส่วนผสมของสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารก่อมะเร็งอีกหลายตัวในระดับที่สูงมาก ชาวบ้านในพื้นที่นี้ต้องประสบกับปัญหาการเจ็บป่วยไม่ต่างจากพื้นที่แม่เมาะ และในจังหวัดปริมณฑลอย่างสมุทรสาครที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมก็ตรวจพบสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งสูงมากในไข่ของไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตามธรรมชาติ 

ปัญหาด้านสุขภาพมักจะถูกมองข้ามเมื่อถูกนำไปเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ และการที่รัฐขาดมาตรการควบคุม ทำให้กลุ่มคนเปราะบางในหลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นโดยตรงและต้องต่อรองกับปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … เพื่อให้มีมาตรการกำกับดูแลการปล่อยมลพิษ และช่วยให้สุขภาพโดยรวมของชาวบ้านดีขึ้นหากกฎหมายมีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ภายใต้การรวมตัวของกลุ่มจิตอาสาทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ และภาคประชาชน เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ และค้นหาสาเหตุที่เป็นต้นตอของเรื่องนี้

ในงานเสวนา ‘ของขวัญให้ลูกหลาน คือ อากาศสะอาด (Clean Air: the Most Valuable Gift for the Next Generation)’ เมื่อวันที่ 8-9 มกราคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้หยิบยกสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่กำลังพยายามผลักดันกันอยู่ในขณะนี้ เพื่อหาแนวทางว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ หรือพูดให้กว้างคือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไรได้บ้าง

อากาศสะอาด ต้องเริ่มจากกฎหมาย 

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า

“เนื่องจากพวกเราต่างก็อยากได้อากาศสะอาดเอาไว้หายใจ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยืนยาว เมื่อเราสุขภาพดี ชีวิตเราก็จะยืนยาว แต่การเรียกร้องธรรมดาอาจจะไม่เพียงพอ ช่องทางสำคัญคือต้องมีการเข้าชื่อเพื่อร่วมเสนอกฎหมายของประชาชน” 

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

ชื่อของร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … บ่งบอกถึงจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่า เพื่อที่จะสถาปนาอากาศสะอาดให้ประชาชนได้หายใจ และเมื่อเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ จึงต้องมีการกำหนดหน้าที่ของรัฐตามมา ซึ่งรัฐจะต้องเคารพ ปกป้อง เติมเต็มสิทธิให้แก่ประชาชน และรัฐต้องทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์และบูรณาการ 

ปัจจุบันการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต้องมีอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ซึ่งขณะนี้สามารถรวบรวมได้กว่า 24,000 รายชื่อ พร้อมที่จะนำไปยื่นต่อรัฐสภาในวันที่ 21 มกราคมนี้ และนั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น 

หัวใจของการเสวนาในครั้งนี้คือ ทำอย่างไรให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปสู่เส้นชัย อาจารย์ณัฐดนัย นาจันทร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า “การเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายในไทย นัยหนึ่งคือการทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและกลายเป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งในประเทศไทยยังมีจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถทำให้สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะได้ในทันที” 

อาจารย์ณัฐดนัย นาจันทร์

ณัฐดนัยยกตัวอย่างว่า กระบวนการเช่นนี้เคยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ออสเตรีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ออสเตรียกำหนดว่าการจะเสนอร่างกฎหมายใดๆ ประชาชนต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ 100,000 รายชื่อ ภายใน 8 วัน แม้บางกรณีจะมีผู้ที่เข้าร่วมเสนอร่างกฎหมายเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ แต่ก็สามารถทำได้สำเร็จ ออสเตรียจึงเป็นประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกำหนดนโยบายสาธารณะไปสู่รัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม รัฐสภาของออสเตรียยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพิจารณาตัดสินใจ และแม้ว่าสุดท้ายแล้วรัฐสภาจะปัดตกร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ แต่เอฟเฟ็คต์ที่น่าสนใจคือ ประชาชนจะนำผลการพิจารณานั้นมาเป็นปัจจัยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากรัฐบาลชุดใดไม่รับร่างกฎหมายที่ประชาชนกว่า 3-4 แสนรายร่วมลงชื่อเข้ามา นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลกำลังทำลายฐานเสียงของตนเอง และด้วยกระบวนการเช่นนี้ทำให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่พลเมืองร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทางด้าน รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวเพิ่มว่า “หากนโยบายเดิม กฎหมายเดิมใช้ได้ดี มีประสิทธิภาพ การเรียกร้องให้ร่างกฎหมายใหม่จะไม่เกิดขึ้น ซึ่ง 30-40 ปีที่ผ่านมามีปัญหามากมาย ทั้งในเชิงตัวบทกฎหมายเองและการบังคับใช้ นโยบายก็เช่นกัน ยังขาดการบูรณาการ ขาดอำนาจในการกำกับดูแลที่แท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นอากาศสะอาด” 

อีกเหตุผลที่เป็นมูลเหตุของปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย คือระบบราชการไทยที่แบ่งแยกภารกิจของแต่ละกระทรวง ส่งผลให้เกิดการแยกอำนาจหน้าที่โดยไม่มีการบูรณาการ 

“จะเห็นว่าปัญหาอากาศสะอาด ทุกคนโดนผลกระทบเท่ากันหมด ซึ่งไม่เหมือนปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผู้เสียหายในพื้นที่ชัดเจน มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบชัดเจน แต่อากาศเป็นสิ่งที่ทุกคนโดนหรือเจ็บเท่ากันหมด เพราะเราทุกคนต้องหายใจ” ธวัชชัย แสงธรรมชัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท วายน็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กล่าว 

ธวัชชัย แสงธรรมชัย

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ หากประชาชนตื่นตัวและรู้ว่าแท้จริงแล้วการแก้ปัญหาอากาศไม่ใช่แค่การปิดประตูบ้าน แล้วจ่ายเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศให้ตัวเองแล้วจบ แต่คือการที่ประชาชนต้องออกมาบริหารกล้ามเนื้อความเป็นพลเมือง ทั้งการขับเคลื่อนล่ารายชื่อ ผลักดันและเสริมสร้างพลังให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายให้เข้าสู่กระบวนการ 

“เพราะปัญหาอากาศ ไม่ได้มีรูปรสกลิ่นเสียงให้เราเห็นแบบเต็มๆ อย่าง PM2.5 มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และยังมีความเข้าใจผิดของประชาชนในประเทศ ยกตัวอย่างคนในพื้นที่หนึ่งเข้าใจว่า สถานที่ที่ตัวเองอยู่นั้นไม่มีมลพิษ ทั้งที่ค่ามลพิษสูงมาก ซึ่งพวกเขาเข้าใจว่า สถานที่นั้นลมเย็น เลยคิดว่าอากาศดี อากาศถ่ายเท นั่นแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านรู้ แต่ไม่เข้าใจ เพราะคิดว่ามันคงไม่เกี่ยวกับพวกเขา” รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวเสริม

ปัญหามลพิษทางอากาศสะท้อนถึงการตระหนักรู้ ซึ่งการตระหนักรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความรู้ ความเข้าใจ จนเกิดความตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง สิทธิความเป็นพลเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา

กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของไทยทุกวันนี้ เป้าหมายสุดท้ายจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่คือการทำให้ประชาชนรู้จักส่งเสียงออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 

ธวัชชัยกล่าวเช่นกันว่า

“แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะชักชวนผู้คนออกมาขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคนอื่น พวกเราต้องออกมาช่วยกันสร้างกล้ามเนื้อพลเมืองให้แข็งแรงขึ้น เพราะปัญหาที่เราจะเจอในอนาคตไม่ได้มีแค่เรื่องอากาศไม่สะอาด ยังมีอีกหลายหมื่นพันเรื่องที่เราต้องใช้กล้ามเนื้อพลเมืองในการช่วยกันจัดการ”

กล่าวได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด นับเป็นครั้งแรกที่มีการผลักดันเรื่องสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำถึงมาตรา 12 ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะรู้และเข้าถึงข้อมูลอากาศที่ทุกคนต้องใช้หายใจ และรู้ถึงที่มาของมลพิษว่ามาจากไหน มีอะไรปะปนอยู่บ้าง เกิดจากขยะประเภทไหน อีกทั้งยังเป็น พ.ร.บ. ที่จะช่วยให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากเดิมที่ถือเพียงกฎหมายแต่ไม่มีอำนาจ เพื่อให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ เพราะเกี่ยวพันถึงอนาคตทั้งคนรุ่นปัจจุบันและเยาวชนรุ่นหลัง ประชาชนไม่ควรต้องเสียสละสุขภาพตัวเองเพื่อแลกกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มองเพียงมิติเดียว และหากปล่อยให้ปัญหา PM2.5 เรื้อรังต่อไป ในอนาคตเราอาจไม่มีโอกาสได้สูดอากาศบริสุทธิ์กันอีกเลย

อ้างอิง

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์
รับบทสาวเหนือหนีมาฝึกงานที่บ้าน WAY หลงใหลในศิลปะ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และของกินแสนอร่อย

ฐิติพร อ่อนบ้านแดง
เด็กนิเทศที่มีอีกร่างเป็นแมวสีเทา ติดเป๊ปซี่กับนิยายวาย เวลาว่างส่วนใหญ่ที่มีถูกใช้กับการหาซื้อหนังสือใหม่ๆ มาอ่านแต่ก็ไม่ได้อ่านสักที

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

Photographer

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า