เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน เผยว่า กำลังล่ารายชื่อจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน เพื่อยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประเด็นที่คลุมเครือเสมอมา โดยมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เขาได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 หลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจเดือนพฤษภาคมปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จากมติเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยคะแนนเสียง 191 เสียง งดออกเสียง 3 คน
และครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 เสร็จสิ้นลง รัฐสภามีมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกฯ ด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 คน ใน วันที่ 9 มิถุนายน 2562
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองและนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยจึงมองว่า หากนับจากการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 แต่หากยังฝืนอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไป จะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ซึ่งระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
นพ.ชลน่าน ยืนยันว่าจะพยายามยื่นเรื่องให้ทันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระประมาณ 1 สัปดาห์ (16-17 สิงหาคม) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้สิทธิ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อให้ส่งคำร้องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรใดๆ สิ้นสุดลงหรือยัง หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาก็จะต้องมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะระบุวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้อย่างชัดเจน แต่ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาลกลับยังคงนิ่งเฉย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ไม่ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ตรงๆ แต่แนะนำว่า ใครก็ตามที่สงสัยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ตามมาตรา 82 และมาตรา 170 ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองเมื่อถูกถามจากสื่อมวลชนว่ากังวลหรือไม่ ก็ตอบคำถามเป็นทองไม่รู้ร้อนว่า “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน่น”
ในขณะที่นักกฎหมายบางรายก็ออกมาตีความต่างจากฝ่ายค้านว่า ประเด็นนี้ไม่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งได้ อาทิ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับ 2560 ซึ่งมองว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่นับจากการดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังรัฐประหาร 2557 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับกัน
นายอุดมให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ใช่ว่าจะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็น (นายกฯ) ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่าลืมว่าตอนนั้นเขาไม่ได้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 (ของรัฐธรรมนูญ 2560) แต่เป็นนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล (ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557)”
อย่างไรก็ดี หากใครได้ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป คงได้เห็นคำโต้แย้งประเด็นนี้จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่า คนทั่วไปมักนับที่ปี 2560 ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือปี 2562 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งที่ 2 เพราะว่ามัวแต่โฟกัสที่มาตรา 158 แต่อันที่จริงมีมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
นั่นหมายความว่า แม้จะเป็นนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลหรือในนามของ คสช. ก็ยังถือว่าบริหารประเทศในนามคณะรัฐมนตรี (หรือเทียบเท่า)
“จะกลายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ผมถึงบอกแล้วว่าแม้กระทั่งเด็ก ม.6 ยังอ่านได้ ผมไม่เอาถึง ป.4 เพราะ ป.4 อาจจะยังงงๆ อยู่นะ (ดังนั้น) วันที่ 23 สิงหาคม คุณประยุทธ์ต้องลาออก แล้วให้มีการสรรหานายกฯ ใหม่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวย้ำ
นาทีนี้อาจยังไม่ชัดเจนนักว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความแล้ววินิจฉัยออกมาเช่นไร WAY จึงนำข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นถกเถียงให้ทุกท่านอ่านอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายและการเมืองเหล่านี้ อ่านจบแล้วจับอาการตัวเองสักหน่อยว่าได้คำตอบไหมว่าครบ 8 ปีแล้วพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่หรือไป หรือความเรียบง่ายในรัฐธรรมนูญมีกลไกที่ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องซับซ้อน
ข้อกฎหมายควรทราบใน รธน. 2560 มาตรา 82
ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 158
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 170
ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160
(5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187
(6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171
นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย
ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
มาตรา 264
ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่