เมื่อใดมีเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยปกป้องหลักการ เมื่อนั้นสังคมจึงเป็นประชาธิปไตย

หากมีใครสักคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์หรือวิวัฒนาการของวงวิชาการไทย การศึกษาค้นคว้านั้นย่อมไม่จบเพียงแค่การย้อนทบทวนวรรณกรรม ศึกษาทฤษฎี และข้อเสนอของงานแต่ละชิ้น เพราะความเป็น ‘วิชาการ’ มีความหมายมากกว่าแค่การขุดคุ้ยตำราหรือหลักฐาน หากยังประกอบไปด้วยเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่อาจเป็นตัวส่งเสริมหรือไม่ก็ลดทอนคุณภาพของการทำงานวิชาการได้

สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ นักวิชาการมีชีวิตที่ไม่มั่นคง เสรีภาพถูกทำให้มีอย่างจำกัดจำเขี่ย (ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน) เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานวิชาการเป็นไปอย่างยากลำบาก กระทั่งไม่ปลอดภัยต่อตัวนักวิชาการเอง ดังจะเห็นได้จากการที่ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากการเขียนหนังสือและทำวิทยานิพนธ์ที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ผู้ฟ้อง อ้างว่า ‘มีข้อความบางตอนที่บิดเบือนทำให้เกิดความเสียหายและทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต’ อย่างไรก็ดี อีกสิ่งหนึ่งที่คดีนี้สร้างความแปลกใจให้แก่คนจำนวนหนึ่ง คือการที่ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ก็โดนหางเลขไปด้วย ตลอดจนถูกมหาวิทยาลัยต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบอย่างขมีขมัน ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้วงานเขียนใดๆ ไม่ว่าจะทั้งวิทยานิพนธ์และหนังสือ ควรจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเพียงผู้เดียว

นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยควรกลับมาถกเถียงกันอีกครั้งถึงหลักการพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ และไม่ว่าการฟ้องนักวิชาการครั้งนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นโอกาสอันดีที่จะกลับมาทบทวนนิยามความหมายและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเสรีภาพทางวิชาการ ตลอดจนฟังเสียงสะท้อนจากนักวิชาการว่า โครงสร้างและเครือข่ายที่ครอบงำวงวิชาการไทยอยู่นี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาหรือข้อจำกัดใดบ้าง และจะออกไปจากสภาวะแห่งข้อจำกัดนี้ได้อย่างไร 

ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ถูกนำมาพูดคุยในห้อง Clubhouse หัวข้อ ‘เสรีภาพทางวิชาการและการเซนเซอร์’ จัดโดยชมรมหลากทัศนะประวัติศาสตร์ เตรียมอุดมศึกษา ผ่านบทสนทนาของนักวิชาการ 3 ท่าน คือ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

งานวิชาการคืออะไร

หลังผู้ดำเนินรายการกล่าวเปิดห้องพร้อมทบทวนเหตุผลของการจัดวงสนทนา รศ. ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้รับโอกาสให้กล่าวเปิดประเด็นเป็นคนแรก โดยเก่งกิจเริ่มต้นด้วยนิยามความหมายของงานวิชาการที่สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็น

ประเด็นแรก วิชาการเป็นงานประเภทหนึ่ง อาจต่างจากงานประเภทอื่นตรงที่นักวิชาการทำหน้าที่ผลิตความรู้ ผ่านการค้นคว้าวิจัย โดยความรู้นี้มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งอาจเห็นได้ในหลายรูปแบบ เช่น บทความ วารสาร หนังสือ และวิทยานิพนธ์ (ที่เกี่ยวเนื่องกับการจบการศึกษา)

ประเด็นที่สอง เมื่องานวิชาการเป็นการผลิตความรู้ ย่อมหมายความว่าจะต้องเกิดความต่อเนื่องหรือการต่อยอดความรู้จากผู้ที่เคยค้นคว้าในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ โดยการต่อยอดที่สำคัญคือ มีการถกเถียงกับความรู้เก่า ดังจะเห็นได้จากวิธีการทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ต้องมีการทบทวนวรรณกรรมหรืองานที่มีอยู่ก่อนหน้า หรือตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่มีอยู่ต่อหน้า ดังนั้น การวิพากษ์ถกเถียงจึงเป็นเรื่องปกติในการทำงานวิชาการ

ประเด็นที่สาม ในมุมมองของเก่งกิจ การผลิตความรู้ในงานวิชาการไม่ได้เป็นเรื่องผิดหรือถูก เพราะความรู้ทางวิชาการไม่ใช่การฟันธงว่าถูกได้อย่างสิ้นเชิง ไม่มีงานวิชาการใดมีข้อเสนอที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมีความถูกต้องข้ามพ้นเวลา 10-20 ปี หรือกระทั่ง 1,000 ปี 

กลับกัน งานวิชาการคือการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งที่อยู่ในอดีต ปัจจุบัน ตลอดจนอนาคต ทั้งยังเป็นการรวบรวมหรือประยุกต์ข้อมูลหลักฐานเท่าที่พอจะมี (เพราะแหล่งข้อมูลอาจเสียชีวิตไปแล้ว หรือผู้ค้นคว้าวิจัยถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงเอกสาร) ดังนั้น งานวิชาการจึงอยู่บนฐานว่า คำอธิบายสมเหตุสมผล (make sense) หรือไม่ มิใช่บนฐานของความผิดถูก เพราะการมีข้อมูลผิดพลาดเป็นเรื่องปกติมากในการทำงานวิชาการ

ประเด็นที่สี่ ‘ชุมชนทางวิชาการ’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญมากที่สุดสำหรับเก่งกิจ โดยชุมชนวิชาการแต่ละยุค แต่ละช่วงเวลาและสถานที่จะมีระบบระเบียบในการแลกเปลี่ยน ตรวจสอบอภิปรายโต้แย้ง ไปจนถึงกระบวนการค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ ชุมชนวิชาการจึงทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและสนับสนุนนักวิชาการในการหาความรู้ 

เก่งกิจยังชี้ให้เห็นว่า กรณีการทำวิทยานิพนธ์ที่แม้จะมีผู้สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ มีผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนของกระบวนการเผยแพร่ หรืออาจมีกรรมการผู้ประเมินหรือที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่มีส่วนสำคัญ แต่วิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยนั้นย่อม ‘เป็นงานของผู้เขียน’ สิ่งที่กรรมการหรือผู้ประเมินจะตรวจสอบคือ วิธีการให้เหตุผล การอ้างอิง หรือลำดับการนำเสนอว่าสมเหตุสมผลหรือไม่เพียงเท่านั้น

ดังนั้น หน้าที่แรกของชุมชนวิชาการคือการประเมิน ส่วนการเผยแพร่งานวิชาการก็มีรูปแบบหลากหลาย ไม่ว่าจะวารสาร เวที เสวนา หรือช่องทาง (platform) อื่นๆ โดยช่องทางเหล่านั้นจะเปิดพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งได้ตลอดเวลา หมายความว่า หากไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดในงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็สามารถอภิปรายโต้เถียงได้ตามช่องทางต่างๆ นี่คือสิ่งที่ชุมชนวิชาการทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้

“ดังนั้นชุมชนวิชาการที่มีความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ก็ควรที่จะปฏิบัติกับงานวิชาการของคนอื่นในชุมชนเดียวกันประหนึ่งว่ามันเป็นข้อเสนอหนึ่ง มากกว่าที่จะมองว่าข้อเสนอของคนที่แตกต่างหรือเห็นต่างจากเราเป็นอาชญากรรม” 

เงื่อนไขที่จำกัดเสรีภาพและลดทอนคุณภาพงานวิชาการ

เก่งกิจเคลื่อนจากประเด็นแรก มาสู่การพูดถึงบริบทเงื่อนไขที่ทำให้การทำงานวิชาการถูกจำกัด ทั้งยังไปลดทอนเสรีภาพ คุณภาพ และการทำงานในชุมชนวิชาการ โดยเก่งกิจแบ่งออกเป็น 3 เงื่อนไข

เงื่อนไขแรก นักวิชาการและนักวิจัยก็เป็นแรงงานประเภทหนึ่งที่สัมพันธ์กับทุนวิจัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) ในการทำวิจัย ซึ่งเก่งกิจเห็นว่า เสรีภาพทางวิชาการจะแปรผันกับรูปแบบการจ้างงาน ดังที่ขณะนี้มีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่ใช้สัญญา 3-5 ปี แล้วค่อยต่อสัญญาใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จ้างถึงอายุ 60 ปี แบบในอดีต การมีสัญญาระยะสั้นเช่นนี้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดแนวทางของนักวิชาการได้ นอกจากนั้น ยังมีระบบประเมินการทำงานและสภาพการทำงานที่บีบให้มีการขอตำแหน่งและเร่งให้ผลิตงานออกมาให้มากที่สุด ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงสัมพันธ์อย่างมากกับสัญญาจ้าง 

“ถ้าเราอยู่ในสัญญาจ้างที่สั้น หรือเป็นการจ้างชั่วคราว อำนาจการต่อรองหรือการนำเสนอความคิดที่อาจวิพากษ์ผู้มีอำนาจ ก็มีความเสี่ยงที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองได้ หรือถูกประเมินให้ไม่ผ่านการจ้างงานได้”

เก่งกิจยังพูดถึงเรื่องทุนวิจัย ที่การให้ทุนวิจัยต้องทำภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยก็ต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้วยเช่นกัน การทำงานวิจัยจึงถูกรวมศูนย์ให้อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการและรับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดถึงการที่นักวิจัยถูกกำหนดให้ผลิตงานที่สามารถนำไปจดลิขสิทธิ์ได้ หรือตีพิมพ์งานให้มีผลต่ออันดับ (ranking) ของมหาวิทยาลัย

“การเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยแบบเสรีนิยมใหม่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เสรีภาพในการผลิตความรู้ ในการทำงานวิชาการ รวมถึงการเกาะเกี่ยวกันเป็นชุมชนทางวิชาการที่ให้การสนับสนุนกันและกัน ถูกทำลายลงไปอย่างมหาศาล”

เงื่อนไขที่สอง คือเงื่อนไขทางการเมือง เก่งกิจชี้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองสัมพันธ์กับเสรีภาพทางวิชาการ ดังที่รัฐบาลชุดนี้ยุบหน่วยงานวิจัยหลายแห่งเพื่อไปรวมศูนย์ที่สถาบันซึ่งมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับประเทศไทย และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้งานวิชาการที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอาจไม่ได้รับทุนสนับสนุน หรือถูกประเมินไม่ผ่าน กระทั่งกรณีการถูกฟ้องของณัฐพลและกุลลดาก็เป็นตัวอย่างสุดโต่งอย่างหนึ่งที่สะท้อนเงื่อนไขเช่นนี้

เงื่อนไขที่สาม คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ซึ่งจะมีผลสำคัญต่อการทำงานวิชาการ ว่าจะมีความก้าวหน้าหรือถูกจำกัดเพียงใด เพราะหากสังคมไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ และขาดการเคารพความเห็นต่างของคนอื่น ก็จะทำให้งานวิชาการถูกกระทบ 

นอกจากนั้น เงื่อนไขทางวัฒนธรรมยังรวมถึงการอุปถัมภ์พรรคพวกในวงการวิชาการที่มีผลต่อการเข้าถึงทุนหรือตำแหน่ง เงื่อนไขนี้จะมีลักษณะรวมศูนย์ โดยหากนักวิชาการอยู่ภายใต้ระบบที่มีความเผด็จการมากเท่าไร ก็ยิ่งอยู่ภายใต้ชุดความสัมพันธ์แนวดิ่งกับผู้มีอำนาจอยู่ในสถาบันต่างๆ มากเท่านั้น 

“บริบทการเมือง เศรษฐกิจ ความคิดความเชื่อทางวัฒนธรรม ในวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตความรู้ การถกเถียงต่อยอด การเสนอมุมมองที่แตกต่าง การพยายามทำงานที่จะสร้างข้อเสนอใหม่ๆ รวมถึงเป็นการทำลายชุมชนวิชาการ ผมคิดว่ามันเป็นบรรยากาศที่ไม่ควรเกิดขึ้น … ถ้าเราไม่สามารถที่จะต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตยมา การพูดถึงเสรีภาพวิชาการโดยลำพัง โดยปราศจากเสรีภาพอื่นๆ ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้”

ทางออกของสภาพวงการวิชาการไทย

เก่งกิจเล่าว่า ปัญหาเกี่ยวกับสภาพของวงการวิชาการไทยมีความรุนแรงอย่างมาก การจะออกจากสภาพดังกล่าวนักวิชาการควรต้องต่อสู้ใน 4 ประเด็น

ประเด็นแรก ต่อสู้ให้มีระบบการจ้างงานที่มั่นคง คัดค้านระบบการจ้างงานระยะสั้นแบบ 3 ปี 5 ปี เพราะกระทบต่อคนทำงานในปัจจุบัน อำนาจต่อรองลดลง เพื่อนนักวิชาการที่เข้ามาทำงานก็จะเข้ามาเพียงชั่วคราว 

ประเด็นที่สอง คัดค้านการแทรกแซงของรัฐและองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่ขยายเข้ามาในมหาวิทยาลัย รวมถึงคัดค้านความคิดทางศาสนา แบบที่ขณะนี้ความรู้ในมหาวิทยาลัยกำลังถูกทำให้เป็นเรื่องเชิงศีลธรรม (ความดี/ความชั่ว) 

ประเด็นที่สาม ต้องมีประชาธิปไตยโดยภาพรวม เพราะเสรีภาพทางวิชาการจะไม่สามารถมีได้ถ้าภาพรวมของสังคมมีความเลวร้ายรุนแรง แบบที่ทุกฝ่ายในสังคมปัจจุบันกำลังต่อสู้ร่วมกัน เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของประชาชน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเป็นประชาธิปไตย และต้องโค่นเผด็จการถึงจะมีเสรีภาพทางวิชาการได้

ประเด็นที่สี่ ต้องมีการรวมกลุ่มในเชิง collective ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน หรือรวมกลุ่มวิชาชีพ การรวมกลุ่มนี้สำคัญมาก ในแง่ที่คนทำงานวิชาการจะช่วยกันปกป้องซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะกรณี ณัฐพล ใจจริง, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ถ้าไม่มีการรวมกลุ่ม โอกาสที่จะได้งานมั่นคง ใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ และมีประชาธิปไตย เงื่อนไขที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

การเซ็นเซอร์ในประวัติศาสตร์โลก

เสรีภาพทางวิชาการก็คงไม่ต่างกับอะไรอื่นๆ ที่มีประวัติศาสตร์หรือความเป็นมา ไม่ใช่การเกิดขึ้นอย่างลอยๆ บนสุญญากาศ และแน่นอนว่าเสรีภาพย่อมเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะโดยตนเองหรือผู้อื่น นี่คือประเด็นที่ รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสนทนา

จิตติภัทรเริ่มต้นด้วยการพูดถึง ‘การเซ็นเซอร์’ (censorship) ว่า มีประวัติศาสตร์คู่ขนานกับการปกครองแบบอำนาจนิยม เช่น การแบนหรือการเผาหนังสือของศาสนจักร ทั้งนี้ บทเรียนในประวัติศาสตร์ได้บอกเราอย่างหนึ่งว่า การเซ็นเซอร์มักจะส่งผลในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของมัน กล่าวคือ ยิ่งมีการปิดกั้นกลับยิ่งเติบโต ยิ่งทำให้หนังสือต้องห้ามเข้าถึงมวลชน (mass) ยิ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือทางความคิด หรือถูกนำไปติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น จิตติภัทรเห็นว่าผลลัพธ์ในลักษณะนี้อาจจะเป็นคุณูปการเชิงบวกของการเซ็นเซอร์เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่หนังสือมีการแพร่กระจาย (viral) กว่าในอดีตมาก

หากถามว่าการเซ็นเซอร์คืออะไร จิตติภัทรบอกว่า มันคือการกด ปราม นักวิชาการและวงวิชาการให้สยบยอมอยู่ใต้อำนาจบางแบบ อย่างไรก็ดี เสรีภาพทางวิชาการและการทำลายการเซ็นเซอร์ มักมาพร้อมพัฒนาการทางการเมืองทั้งในเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) โลกาภิวัตน์ (globalization) หรือการทำให้เป็นฆราวาส (secularization) โดยเสรีภาพทางวิชาการจะถูกสั่นคลอนในสังคมที่ไม่เสรีมาโดยตลอด

ต้องปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่การถกเถียงในมหาวิทยาลัย

จิตติภัทรยังพูดถึงความผิดพลาดในวิชาการว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่ทฤษฎีของนิวตันก็ถูกพิสูจน์ให้ผิดได้ ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการก็พลั้งพลาดได้ แต่พลาดแล้วต้องเรียนรู้ ตระหนักรู้ และแก้ไข อย่างที่ณัฐพลเองก็มีความพยายามแก้ไข และชี้แจงกับสาธารณะ ความผิดพลาดทางข้อเท็จจริง (factual error) จึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นที่จิตติภัทรเห็นว่ามีความสำคัญกว่า และควรที่จะได้รับการปกป้อง (defend) คือพื้นที่การโต้แย้งถกเถียง (argument) ที่กระทำผ่านเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย 

“การถกเถียงโต้แย้งทางวิชาการเป็นเรื่องที่ดี และเป็นขนบของงานวิชาการ ซึ่งสามารถทำออกมาในรูปแบบการเขียนบทความทางวิชาการว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหลักอย่างไร และจะเสนออะไร นี่คือขนบหรือรูปแบบอย่างที่ชุมชนวิชาการพึงจะเป็น มันไม่ควรเป็น ‘ตำรวจความคิด’ หรือไปฟ้องร้องดำเนินคดีความ”

ส่วนบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดูกรอบแนวคิดทฤษฎีและภาพใหญ่ของวิทยานิพนธ์ร่วมกับกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ โดยผู้เขียนจะต้องเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้น เพราะตามหลักสากล แม้แต่การที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะเอาบางส่วนของวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์ หรือใช้ในส่วนหนึ่งส่วนใด ก็ต้องอ้างอิงงานของลูกศิษย์หรือผู้เขียนวิทยานิพนธ์อยู่ดี 

“ในมาตรฐานวิชาการสากล ยิ่งเป็นหนังสือ ผู้เขียนยิ่งเป็นผู้รับผิดชอบผู้เดียว ไม่อย่างนั้นก็คงมีคนย้อนไปฟ้อง โสเครตีส, เพลโต, อริสโตเติล เพราะลูกศิษย์เขียนงานไม่ดี ฉะนั้น ความไม่รู้หรือข้อเสนอของลูกศิษย์จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของอาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของเขาหรือเธอ แต่เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเอง”

อีกเรื่องหนึ่งที่จิตติภัทรเสนอคือ จำเป็นต้องมีการทำให้เสรีภาพทางวิชาการเรื่องการเมืองในความหมายกว้าง กล่าวคือ เปิดพื้นที่สาธารณะให้คุยกันได้อย่างเสรี ไม่มีการเซ็นเซอร์ ไม่ใช่ในความหมายคับแคบในรูปแบบของรัฐตำรวจ รัฐทหาร ที่มากำกับโลกวิชาการ กล่าวอย่างง่ายคือ จะต้องมีการช่วยกันปกป้องพื้นที่ทางวิชาการให้มีความเสรี เพราะ 

ประการที่ 1 มันเป็นหลักการที่ต้องรักษาไว้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวิชาการและการเมืองแบบประชาธิปไตย 

ประการที่ 2 กรณีอาจจะเป็นบรรทัดฐาน (precedence) ที่อาจทำให้รัฐที่ไม่มีความชอบธรรมเข้ามาแทรกแซงได้ในอนาคต

ประการที่ 3 จะทำให้อาจารย์ที่ถูกผูกติดกับสัญญาการจ้างงานแบบรัฐราชการหรือเสรีนิยมใหม่ ทำการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censor)

พัฒนาการของเสรีภาพทางวิชาการ

จิตติภัทรเล่าว่าหลักเสรีภาพทางวิชาการมีมาตั้งแต่กรีกโบราณ โดย มิเชล ฟูโกต์  (Michel Foucault) เคยพูดถึงในเรื่อง Parrhesia ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 

1. Parrhesia (คำนาม) แปลว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freespeech) 

2. Parrhesia (คำกริยา) หรือ ‘Parrhesiazomai’ คือ การใช้หรือ to use ‘perrhesia’ 

3. Parrhesia (คำนาม) หรือ ‘Parrhesiastes’ ซึ่งเป็นคำนามในฐานะตัวผู้พูดความจริง หรือผู้แสดงเสรีภาพในความคิดเห็นของตัวเองออกมา ฟูโกต์เรียกว่า เป็นคนซึ่งพูดความจริงต่ออำนาจ (speak the truth to power) 

อนึ่ง ถ้าย้อนกลับไปสมัยกรีก คำว่า Parrhesia ยังมีความหมายว่า เราพูดทุกอย่าง (say everything) อย่างไม่ถูกเซ็นเซอร์ อย่างไม่ถูกกำหนดกำกับอะไรต่างๆ ทำให้สามารถแปล Parrhesia ได้หลายแง่มุมด้วยกันคือ อาจแปลว่าความกล้าในการที่จะพูด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือพูดอย่างเปิดอกในที่สาธารณะก็ได้ 

ฟูโกต์ยังย้อนกลับไปถึง ยูริพิดีส (Euripides) และกล่าวว่า Perrhesia เป็นความจำเป็นหรือสิทธิของพลเมืองในการพูดความคิดจิตใจในที่สาธารณะ หรือ Polis ต่อมา เพลโตก็พูดถึงเสรีภาพในแบบกษัตริย์ปราชญ์ (Philosopher King) กล่าวคือ กษัตริย์ที่ชาญฉลาดจะให้สิทธิแก่บรรดาที่ปรึกษาในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี พอมาถึงยุคกรีกและโรมัน Perrhesia ก็เป็นคุณภาพหรือจริยธรรมของบุคคลที่มีบทบาทในการแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี 

“เสรีภาพทางวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่งของ Perrhesia ด้วย ซึ่งทำหน้าที่สำคัญมากๆ ก็คือ การพูดความจริงที่มาจากความรู้ และการพูดความจริงต่ออำนาจ ” จิตติภัทรสรุป

ความคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการในทำนองเดียวกัน ยังสามารถไปด้วยกันได้กับนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations: IR) อย่าง ฮันส์ มอร์เกนเธา (Hans Morgenthau) ที่ชัดเจนในการวิพากษ์นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และสงครามเวียดนาม 

หรือกรณีของนักทฤษฎีการเมืองอย่าง ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) ก็เสนอว่า “บางครั้งเราต้องพูดได้อย่างกล้าหาญว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เรากระทำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าเราคือใคร”

Karl Jaspers กับ The Idea of the University 

ประเด็นเรื่อง ‘มหาวิทยาลัย’ จิตติภัทรพูดถึงหนังสือ The Idea of University Jasper [1] ของ คาร์ล แจสเปอร์ส (Karl Jaspers)[2] ที่แจสเปอร์สเคยเขียนถึงงานชิ้นนี้ว่า เสรีภาพวิชาการกับมหาวิทยาลัย อาจจะมีพัฒนาการมาพร้อมๆ กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีประวัติศาสตร์ทางความทรงจำแบบเดียวกันร่วมกัน กล่าวคือ ในบางเวลามหาวิทยาลัยก็อาจเป็นตัวจำกัดเสรีภาพทางวิชาการได้ ทั้งนี้ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้ไปด้วยกัน 

“ในประวัติศาสตร์ช่วงยาว อาจจะเห็นประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ของเสรีภาพทางวิชาการก็ได้”

หนังสือเริ่มต้นด้วยนิยามความหมายของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นชุมชนของนักวิชาการและนักศึกษา เกี่ยวกับการผลิตสร้างความรู้และแสวงหาความจริง (seeking truth) เป็นสถานที่ในการแสวงหาความจริง (การแสวงหาความจริงนี้มีสถานะเป็นสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น) มหาวิทยาลัยยังมีพันธะหน้าที่ในการปกป้องจากคนทั้งภายในและภายนอกสถาบันที่มุ่งหมายที่จะทำลายความจริงหรือการสร้างความรู้ร่วมกัน แจสเปอร์สยังพูดถึงการที่นักศึกษาควรถูกคัดเลือกจากมวลชนจริงๆ ไม่ใช่คนที่มีฐานะร่ำรวยใหญ่โต โลกทัศน์และความคิดที่จะค้ำประกันภูมิปัญญาแบบนี้เอง คือสิ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตได้

จิตติภัทรเล่าต่อว่า แจสเปอร์สเห็นประเด็นนี้ชัดขึ้นเมื่อนาซีขึ้นมามีอำนาจในปี 1933 แจสเปอร์สมีการพูดถึงการตกต่ำลงของมหาวิทยาลัย และการถูกปลดจากมหาวิทยาลัย ประเด็นนี้นำไปสู่การแตกหักระหว่างเขากับ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) โจทย์หนึ่งที่ทำให้แตกหักคือ มหาวิทยาลัยควรรับใช้อำนาจและการเซ็นเซอร์ หรือมหาวิทยาลัยควรปกป้องเสรีภาพ รวมทั้งเสรีภาพทางวิชาการ โดยจิตติภัทรออกความเห็นในเชิงสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยปกป้องเสรีภาพทางวิชาการว่า

“ผมคิดว่าวงวิชาการที่มีเสรีภาพทางวิชาการและการเคารพถึงความแตกต่าง เราไม่คิดจะเผาหนังสือไฮเดกเกอร์ แต่จะอ่านงานวิพากษ์ไฮเดกเกอร์ไปด้วย”

พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แจสเปอร์สมองว่ามหาวิทยาลัยควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม 2 แนวคิดหลัก คือ

1. พูดถึงงานวิชาการที่ผลิตสร้างความจริง (truthfulness)

2. ความเป็นมนุษยภาพ (humanity) ที่เคารพถึงความเป็นมนุษย์ต่างๆ

มหาวิทยาลัยสำหรับแจสเปอร์สมีหน้าที่สำคัญคือ การพิสูจน์เสรีภาพผ่านความจริง อนึ่ง เสรีภาพไม่ได้เป็นเพียงแค่เงื่อนไขทางวิชาการเท่านั้น แต่จะบรรลุเป้าหมายก็ต่อเมื่อชุมชนวิชาการร่วมกันแสวงหาความรู้และผลิตสร้างความจริงขึ้นมา 

อีกประเด็นสำคัญหนึ่งของแจสเปอร์สคือ มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจรัฐ การแสวงหาความจริงวางอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนโต้แย้งและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้รัฐอำนาจนิยมหรือเบ็ดเสร็จนิยม

“วิธีคิดแบบวิชาการช่วยทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น การศึกษาวิจัยทำให้เราเห็นประเด็นต่างๆ ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ถูกหรือผิด แต่เราได้เห็นคำอธิบายที่ดีขึ้นต่อปรากฏการณ์บางอย่าง สามารถที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา และไม่เข้าไปอยู่ภายใต้ความเย้ายวนของอำนาจต่างๆ

“ในภาพรวม การมีเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ยังทำให้สังคมมี well-being และการพัฒนาประชาธิปไตย”

ต่อเนื่องจากคำอธิบายนี้ จิตติภัทรเห็นว่าคำถามที่แจสเปอร์สอาจทิ้งไว้ให้คือ “เราจะให้เสรีภาพวิชาการเป็นแบบไหน และเพื่อใคร”

“ผมคิดว่า หน้าที่อีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือ การสร้างพื้นที่แห่งความแตกต่าง หรือ dissensus โจทย์นี้เป็นทั้งโจทย์ของมหาวิทยาลัยและการเมือง เพราะมันไม่มีฉันทามติหรือความสมานฉันท์ที่สมบูรณ์แบบ” 

ข้อเสนอของจิตติภัทรที่ต้องการรักษาให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทางการเมืองในความหมายกว้าง ยังเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการทำให้เป็นศีลธรรม (moralize) ให้เป็นเรื่องความดีชั่ว เพราะ “ในทางวิชาการ มันต้อง agree to disagree ได้ …ตรงนี้ต้องเตือนกระทั่งคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้า ที่สุ่มเสี่ยงจะตราหน้าคนอื่นว่าเป็นศัตรูไปด้วย”

เขาทิ้งอีกประเด็นไว้ว่า 

“เรากำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่เกี่ยวกับเสรีภาพวิชาการในมหาวิทยาลัยและสังคมไทย เราควรต้องปกป้องพื้นที่วิชาการที่สามารถถกเถียง เขียนโต้แย้งกันได้อย่างเสรี …เพื่อก่อให้เกิดคำถาม การผลิตสร้างความรู้ และบทสนทนาใหม่ๆ เท่าที่เป็นไปได้”

“ประเด็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือ factual error ที่เกิดขึ้น ก็คงต้องมีการหยิบยกขึ้นมา แต่คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในทางวิชาการมากนัก เพราะสุดท้ายสังคมที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย จะเริ่มต้นจากการเคารพเสรีภาพ รวมทั้งเสรีภาพทางวิชาการ”

มองเสรีภาพทางวิชาการผ่านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย

มาถึงวิทยากรคนสุดท้าย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร เริ่มด้วยการกลับไปมองสถานะของเสรีภาพทางวิชาการไทยในภาพรวมที่มีลักษณะไม่ราบรื่น และสัมพันธ์กับระบอบการเมืองการปกครองที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนปรากฏการณ์ทุกอย่าง หรือบอกถึงความเป็นสังคมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยรัฐธรรมนูญก็เป็นข้อตกลงพื้นฐานที่สังคมยอมรับได้

ยุกติย้อนว่า ถ้าดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 จะพบว่ามีการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการอยู่ และมีการแยกบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพวิชาการออกต่างหากเป็นการเฉพาะ ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แม้จะมีการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ แต่ก็เป็นการพูดถึงแบบซ่อนเร้น

“รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ระบุชัดเจนว่าการอบรม การสั่งสอน การวิจัย เผยแพร่ผลงานวิชาการที่เป็นตามหลักเสรีภาพวิชาการจะได้รับความคุ้มครอง ส่วนฉบับ 2550 แม้จะเพิ่มคำที่มีความกำกวมเข้ามา เช่น ต้องไม่ขัดกับหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมดีงาม แต่อย่างน้อยทั้ง 2 ฉบับ ก็คุ้มครองเสรีภาพวิชาการได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2560”

หากใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นจุดออกตัว ยุกติเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเปิดเวทีคุ้มครองเสรีภาพในมิติต่างๆ มีคำหรือแนวคิดใหม่ๆ ปรากฏมากมาย ซึ่งจะค่อยๆ ถูกกร่อนและสูญหายไปเรื่อยๆ ตามเงื่อนไขและโครงสร้างทางการเมืองที่ปิดกั้นการแสดงออกมากขึ้นตามกันไป

ยุกติยังขยายความการมีสถานะไม่ราบรื่นของเสรีภาพทางวิชาการในไทยว่า ในด้านหนึ่งนับแต่อดีต นักวิชาการมีฉันทะว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนเข้ามาเพื่อทำงานวิชาการ แสวงหาความรู้ ความจริง แต่อีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยก็มีบทบาทสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, พฤษภาคม 2535 ไล่มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และช่วงแรกของการเมืองยุคทักษิณ มหาวิทยาลัยและกลุ่มนักวิชาการยังมีฉันทามติ (concensus) ร่วมกัน ในการจะแสดงออกหรือปกป้องเสรีภาพวิชาการ 

แต่ความแตกต่างทางการเมืองในงานและกลุ่มนักวิชาการ ทำให้เกิดการแยกค่ายทางการเมือง ซึ่งยุกติเห็นว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เสรีภาพทางวิชาการในปัจจุบันมีปัญหาและเพดานต่ำลงเรื่อยๆ 

มหาวิทยาลัยในฐานะโรงงานอุตสาหกรรม

อีกประการหนึ่งที่ยุกติเห็นว่าเป็นกรอบสำคัญทำให้เกิดภาวะตกต่ำลงเรื่อยๆ คือ ภาวะที่มหาวิทยาลัยถูกทำให้ต้องเป็นโรงงานผลิตความรู้ ผลิตนักศึกษา ผลิตปริญญา ถูกทำให้เป็นเอกชน (privatization) ต้องหารายได้ด้วยตนเอง ทำให้อาจารย์กลายเป็นคนขายความรู้ เพราะรายได้หลักของมหาวิทยาลัยมาจากการลงทะเบียนของผู้เรียน มหาวิทยาลัยหลายแห่งถึงกับต้องมีการตั้งโครงการพิเศษเพื่อหาเงิน 

ยุกติกล่าวถึงการทำให้เป็นเอกชนว่า เป็นการบีบทั้งอาจารย์และมหาวิทยาลัยไม่ให้มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการได้เต็มที่ 

“privatization หรือการทำให้เป็นเอกชน ทำให้มหาวิทยาลัยลดบทบาททางสังคมการเมือง ถูกบีบบังคับและควบคุมโดยผู้บริหาร มีสัญญาจ้างที่โหดร้ายมากกว่าหลายๆ ประเทศในโลก ไม่มีการอยู่จนเกษียณ แต่ขึ้นอยู่กับการต่อสัญญาไปเรื่อยๆ นี่เป็นความโหดร้ายของระบบการจ้างงานของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน”

เวทีอำนาจที่นักวิชาการเข้าไปเริงระบำ

ยุกติยังพูดถึงระบบผู้บริหารระดับสูงในประเทศว่า ยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอคณบดีประจำคณะที่สำคัญจำนวนมากไม่ได้มีปากมีเสียงใดๆ เพราะหวังไต่เต้าทางการเมือง หรือหวังมีตำแหน่งสูงๆ หลังเกษียณอายุราชการ

“ทั้งหมดนี้ได้สร้างระบบสังคมที่ถูกบริหารโดยผู้ชรามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ชราที่มีอำนาจเหล่านี้วนเวียนไปเป็นกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ และเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจเรื่อยๆ เขาก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะโอนเอียงไปทางอนุรักษนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ”

ยิ่งระบบอุปถัมภ์ยังดำรงอยู่ต่อไป ก็จะยิ่งเห็นเครือข่ายอนุรักษนิยมชัดขึ้น ดังจะเห็นว่ามีการดึงผู้บริหารที่ยุกติเรียกว่า ‘ผู้ชรา’ ไปบริหารตำแหน่งระดับสูงอยู่เสมอ 

ระบบอุปถัมภ์นี้จะส่งผลร้ายแรงตามมา 3 ด้าน

ด้านแรก การถูกครอบงำนี้ส่งผลให้นักวิชาการจำนวนมากจะไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ไม่แสดงออก หรือไม่ก็แสดงออกผ่านการพูดหลักการกว้างๆ

“บางคนลูกศิษย์ถูกจับก็ยังอยู่เฉย หรือไม่ก็พูดหลักการกว้างๆ ย้อนกลับไปพูดเรื่อง 2,000 ปีที่แล้ว แอบซุกตัวเองในถ้อยคำเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว แบบนี้ผมเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร อยู่เฉยๆ ไปดีกว่า”

ด้านต่อมา เกิดการแบ่งค่ายของนักวิชาการ เพื่อโจมตีนักวิชาการกลุ่มที่แตกต่างไปจากตน สำหรับยุกติ สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกับการล่าแม่มด หรือ McCarthyism ในอเมริกา ที่นักวิชาการจำนวนมากสมัยนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ตนมีแนวทางการทำงานแบบ Marxism หรือ Communism 

ด้านสุดท้าย เป็นผลกระทบที่เกิดกับแวดวงวิชาการนานาชาติที่ศึกษาประเทศไทย ยุกติเล่าว่า นักวิชาการต่างชาติที่ศึกษาประเทศไทยต้องประสบปัญหาการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง ทำให้นักวิชาการต่างประเทศหลายคนเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการศึกษาประเทศไทยมากขึ้น

“นักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาวิจัยในประเทศไทยจำนวนมาก ทำประโยชน์ให้ประเทศไทยมากกว่านายพลที่ลอยหน้าลอยตาอยู่ในประเทศนี้จำนวนมาก …แต่หลายคนไม่อยากมาประเทศไทย เพราะบรรยากาศทางการเมืองและลิสต์รายชื่อเหล่านี้”

ยุกติแสดงความเห็นต่อกรณีการถูกฟ้องของ ณัฐพล ใจจริง ว่า กรณีที่ควรถกเถียงไม่ใช่ประเด็นเรื่องความผิดพลาดที่ไม่มีนัยสำคัญ (minor error) แต่ต้องเถียงกันว่ามันเป็นเรื่องข้อเท็จจริงหรือความเห็นทางวิชาการ (ทั้งนี้ ยุกติมองว่า หากงานเขียนนี้ได้ผ่านสายตาของกรรมการจำนวนมากก็คงไม่ใช่การบิดเบือน)

“ปัญหาคือการเอามุมมองหรือความเห็นที่แตกต่างกันทางวิชาการ มาสู่การบอกว่าอันนี้คือความผิด อันนี้คือความถูก ทั้งๆ ที่เรื่องทางวิชาการมากมายไม่สามารถชี้ผิดถูกได้ ตราบใดที่เป็นความเห็นทางวิชาการย่อมเป็นเรื่องของมุมมอง

“ถ้าคุณเป็นเจ้าใหญ่นายโตมาจากไหน มียศมีตำแหน่งอะไรก็ตาม แล้วมาฟ้องนักวิชาการว่าหมิ่น มันก็เป็นเรื่องที่สามารถจะต่อสู้คดีได้ ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ที่น่าอดสูและละอายใจ คือนักวิชาการด้วยกันเองไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือความผิดพลาดทางวิชาการ อะไรคือความบกพร่องหรือการแสดงออกทางวิชาการ”

สุดท้าย ยุกติยังย้ำถึงจุดประสงค์ของบทสนทนาในวันนี้ผ่านการตอบคำถามจากผู้ชมว่า “เป็นการพูดเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่คนจำนวนมากอาจไม่รู้ว่ามันมีปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้อยู่ ซึ่งก็ต้องแก้ไปด้วยกัน เป็นเงื่อนไขที่ต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพราะเสรีภาพทางวิชาการสัมพันธ์กับโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางการเมือง”

เชิงอรรถ

[1] หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1923 ปรับปรุงพิมพ์ซ้ำในภาษาเยอรมันในปี 1946 และปรากฏในภาษาอังกฤษปี 1960-1961

[2] จิตติภัทรให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทที่ทำให้ Jaspers พูดถึงเสรีภาพวิชาการและบทบาทของมหาวิทยาลัยว่า ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาและนักคิดสำคัญของสำนัก Existentalism และครูของ Arendt เขาถูกถอดจากศาสตราจารย์ของ Heidelberg เพราะมีภรรยาเป็นชาวยิว

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า