หมอชาวบ้านฉบับนี้ ขอต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) คนใหม่ พร้อมๆ กับเสนอเรื่องใหญ่ๆ บางประการเกี่ยวกับสุขภาพที่ควรทำ คือ
1. ระดมสรรพกำลังเพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล (Health for All – All for Health)
นี้เป็นทิศทางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
สรรพกำลังไม่ได้หมายถึงเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุข แต่หมายถึงจากทุกภาคส่วนของประเทศ และจากนอกประเทศด้วย
เพราะสุขภาพคือทั้งหมด (Health is the Whole)
2. สร้างระบบบริการใกล้บ้านใกล้ใจ คนไทยทุกคนมีพยาบาลดูแลใกล้ชิดประดุจญาติ
การที่จะทำได้ ต้องคิดถึงบุคลากรที่มีจำนวนมากที่สุด และมีพหุศักยภาพ
นั่นคือ พยาบาล ซึ่งมี 200,000 คน
ต่อไปจะมี 300,000 และมีสถาบันการผลิต 86 แห่ง ต่อประชากรทุก 1 พันคน ทั้งในชนบทและเมือง
สามารถมีหน่วยพยาบาลชุมชน ที่มีพยาบาล 1 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน
สามารถดูแลคนทั้งหมดอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน สามารถควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้หมดทั้งประเทศ และอื่นๆ
สามารถจัดระบบการเงินชุมชน ที่พยาบาลชุมชนได้รับค่าตอบแทนมากกว่ารับราชการ โรงพยาบาลจะไม่แออัดยัดเยียด
สามารถให้บริการด้วยความประณีตมากขึ้น ระบบทั้งหมดจะ cost-benefit มหาศาล
3. ปฏิรูประบบบริหารโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเรื่อง Medical Hub
เรื่อง Medical Hub มีความขัดแย้งกับเรื่องความเป็นธรรม
ด้านหนึ่งมีชาวต่างชาตินิยมมารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนของไทย ทำให้ประเทศไทยได้เงินได้หน้า จึงมีคนจำนวนหนึ่งอยากทำ
ขณะเดียวกันการบูมใหญ่เรื่องโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นสุดๆ และดึงแพทย์พยาบาลออกมาจากการให้บริการประชาชนคนยากคนจน เพิ่มความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม
ข้อขัดแย้งนี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาล 1,000 โรง
ถ้าปฏิรูปการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวแบบโรงพยาบาลเอกชน ดูโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเกิดประโยชน์หลายอย่าง รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำได้
เพราะเท่ากับมีโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น 1,000 แห่ง
แต่ไม่มีใครเอากำไรไปแบ่งกัน เพราะรัฐเป็นเจ้าของ ทำให้บริการคนจนได้ดีขึ้น
4. พัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรครบวงจร
เรื่องนี้ถ้าเข้าใจจริงๆ และทำครบวงจร จะสร้างการมีงานทำและรายได้ทางเศรษฐกิจมหาศาล จนหลุดพ้นจากความยากจน
รัฐมนตรีควรจับเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพให้ดีๆ เรื่องกัญชานั่นก็เป็นตัวอย่าง แต่ยังมีอย่างอื่นๆ อีกมาก
อย่างอาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพ เพราะมีสมุนไพรอยู่ในนั้นมากมาย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ฯลฯ
ถ้าเอาความรู้เข้าจับ แล้วส่งเสริมการขายอาหารไทยทั่วโลก
แล้วโยงมาสู่อาชีพชาวบ้าน เช่น พัฒนาแพ็คเกจอินสแตนท์ (package instance) ต้มยำ ที่เพียงแต่ใส่ปลา ใส่กุ้ง และน้ำร้อนก็กินได้ แล้วให้ชาวบ้านสามารถผลิตชุดอินสแตนท์ต้มยำที่ได้มาตรฐาน
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการทำแบบครบวงจร แล้วทั้งหมดจะไม่ทำให้คนไทยทั้งประเทศพ้นจากความยากจนได้อย่างไร
การขจัดความยากจนก็เป็นการสร้างสุขภาวะดังกล่าวข้างต้นที่ว่า “สุขภาพคือทั้งหมด”
5. นำความแข็งแรงของระบบสุขภาพไทยไปเป็นเครื่องมือพัฒนาองค์รวม
ประเทศไทยแม้มีจุดอ่อนในหลายๆ เรื่อง
แต่ระบบสุขภาพไทยโดยรวมมีความแข็งแรง สามารถนำไปเป็นเครื่องมือพัฒนาในเรื่องอื่นๆ
เพราะสุขภาพคือทั้งหมด
เรื่องที่น่าทำเรื่องหนึ่ง คือ สุขภาพอาเซียน
เพราะถ้าประเทศอาเซียน 10 ประเทศผนึกกำลังกันแข็งแรงทุกด้าน จะเป็นกำลังต่อรองทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสันติภาพ
คนไทยควรมีบทบาทนำในอาเซียน และเชื่อมโยงไปช่วยโลก
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยตรัสว่า “ประเทศไทยเหมาะแก่การที่นานาชาติจะมาประชุมกันเรื่องสันติภาพ”
แม้สันติภาพก็เป็นสุขภาวะ ถ้าขาดสันติภาพเช่นในตะวันออกกลาง ประชาชนจะมีสุขภาวะได้อย่างไร
ขอกล่าวเพียงแค่นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย สามารถใช้ความเป็นผู้นำ นำเรื่องสุขภาพไปบูรณาการกับการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า…
“Health is completely integrated in total human and social development”
ประเวศ วะสี
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ ‘คุยกับผู้อ่าน’ นิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับ 484 เดือนสิงหาคม 2562 |