สร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัย ต้องใส่หัวใจลงในการออกแบบเมือง

วงเสวนาออนไลน์ ‘เมืองผู้สูงวัย: ใส่หัวใจลงในการออกแบบเมือง’ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นถึงประเด็นการออกแบบและพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกคน ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การดูแลด้านสุขภาพ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจหรือการประกอบอาชีพ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มิวเซียมสยาม นายแพทย์ภูริทัต แสงทองพานิชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ ‘จ้างวานข้า’ มูลนิธิกระจกเงา

‘มิวเซียมสยาม’ สร้างงานให้ผู้สูงวัย สร้างคุณค่าในชีวิต

ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มิวเซียมสยาม พูดคุยถึงเรื่องการออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้สูงอายุได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งมิวเซียมสยามได้ทำงานเกี่ยวกับประเด็นผู้สูงวัยได้ประมาณ 6 ปี โดยเล็งเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (aged society) เริ่มจากการตั้งคำถามที่ว่า “ผู้สูงวัยอยู่ตรงไหนในงานบริการของมิวเซียม”

ในบริบทวัฒนธรรมไทย ผู้สูงวัยมักได้รับการยกย่องในหลายบทบาท แต่อีกด้านหนึ่งสังคมไทยก็ยังมองว่าผู้สูงวัยเป็นภาระ ทั้งในแง่สังคม งบประมาณ หรือกระทั่งถูกมองว่าเป็นภาระในทางภาษี ทางมิวเซียมสยามเล็งเห็นถึงมุมมองที่ไม่สมดุลนี้จึงพยายามขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์เพื่อพลิกมุมมองที่ดีต่อผู้สูงวัย

ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มิวเซียมสยาม

‘social prescription’ หรือยาใจจากการทำกิจกรรมทางสังคม เป็นโมเดลที่ถูกใช้ในต่างประเทศ กล่าวคือ แพทย์จะแนะนำให้คนไข้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมแทนการจ่ายยาเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ซึ่งงานพิพิธภัณฑ์มีบทบาทอย่างมากที่จะเป็นยาใจให้กับผู้สูงอายุที่มีความโดดเดี่ยว ซึมเศร้า ไปจนถึงการรองรับผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมอีกด้วย

มิวเซียมสยามเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เห็นว่า social prescription มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้สูงวัย ตัวอย่างรูปธรรมอย่างเช่นโครงการ ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋าเล่าเรื่องราชดำเนิน’ เป็นการรวบรวมผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับราชดำเนิน มาเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งสามารถสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้สูงวัยได้จากการมารวมตัวและทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังมีอีกหลายโครงการที่ขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์เพื่อพลิกมุมมองที่ดีต่อผู้สูงวัย

จากเมืองที่ไม่เป็นมิตร สู่การออกแบบระบบบริการสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ

“ในเรื่องของสุขภาพ เรียกได้ว่าเราออกแบบการทำงานกันจนซ้ำซ้อน” นายแพทย์ภูริทัต แสงทองพานิชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เอ่ยขึ้นเป็นประโยคแรกหลังจากถูกตั้งคำถามว่า จากปัญหาที่เรามองเห็นว่าเมืองไม่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ จะสามารถออกแบบนโยบายและการทำงานอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

นพ.ภูริทัต กล่าวต่อว่า ปัญหาทางด้านสาธารณสุขเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขเข้าถึงยาก ไม่ทั่วถึง และทำความเข้าใจการทำงานได้ยากด้วยเช่นกัน

นายแพทย์ภูริทัต แสงทองพานิชกุล
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์

ภายหลังจากการเห็นข้อบกพร่อง จึงมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกิดการสร้างความร่วมมือ และให้ความสำคัญกับการสานพลังแต่ละภาคส่วนในการบริการด้านสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น และริเริ่มออกแบบกระบวนการทางด้านสาธารณสุขให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ โดยมีภารกิจสำคัญคือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทุกระดับ เชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ บริหารจัดการปรับระบบบริการให้ทั่วถึง

ทั้งนี้ นพ.ภูริทัต ได้หยิบยกแผนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ภายในปี 2567 ที่พยายามเชื่อมโยงมายังการทำงานของ กทม. โดยเล็งเห็นว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุดคือ โครงการ ‘50 เขต 50 โรงพยาบาล ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล’ ที่จะดำเนินการเพิ่มโรงพยาบาลให้ทั่วถึงในหลายพื้นที่ และโครงการ ‘สถานชีวาภิบาล’ เป็นโครงการที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยความต้องการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (home ward)

สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาสแก่ผู้สูงวัยไร้บ้าน

กลุ่มคนไร้บ้านมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มที่ใกล้เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาคนไร้บ้านที่ถือเป็นความสำเร็จของมูลนิธิกระจกเงาคือ โครงการ ‘จ้างวานข้า’ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ และนำพาไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การจะเปลี่ยนผ่านคุณภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน สู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ซึ่งต้องเริ่มจากการมีงาน มีรายได้” สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ให้มุมมองด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ ‘จ้างวานข้า’ มูลนิธิกระจกเงา

เมื่อการสร้างงานคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นต้องออกแบบงานที่เหมาะสม ให้กลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุสามารถทำงานได้จริง และต้องเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องขยับเขยื้อนร่างกายมาก ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถของคนไร้บ้านและผู้สูงอายุ

กรณีตัวอย่างที่สิทธิพลนำมาแบ่งปันในวงเสวนา ในฐานะที่มีประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งโดยส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ คือการเรียนรู้และเข้าใจปัญหาของพวกเขา เพื่อนำไปสู่การออกแบบกลไกช่วยเหลือดูแลคนทำงาน ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้คือ ผู้สูงอายุคนจนเมืองที่ต้องดูแลลูกชายวัย 30 กว่าปี ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากปัญหาทางด้านสติปัญญา จึงเข้ามาสมัครงานกับมูลนิธิกระจกเงา ภายใต้โครงการจ้างวานข้า

ทั้งนี้ ปัจจัยในการมอบหมายงานให้กับผู้สูงอายุจะคำนึงถึงการมีรายได้ที่เหมาะสม และยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจากกรณีนี้สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุรายนั้นเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ โดยสังเกตจากการเริ่มมีเพื่อนสูงอายุในกลุ่มจ้างวานข้า และสามารถดูแลลูกของตนเองได้

นอกเหนือจากการช่วยเหลือในแง่ของเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพแล้ว มูลนิธิกระจกเงายังเข้าไปช่วยเหลือและดูแลลูกชายของผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสติปัญญา ทว่าต่อมาผู้สูงอายุคนดังกล่าวเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุภายในห้องพัก ประกอบกับการมีโรคประจำตัว จึงทำให้อาการทรุดและเสียชีวิตลงในที่สุด

จากกรณีนี้ทำให้มูลนิธิกระจกเงาหันมาใส่ใจกับปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในกลุ่มจ้างวานข้า เนื่องจากหลายคนมีปัญหาในการเข้าถึงบริการการสุขภาพ โครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา จึงต้องมีการออกแบบการช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุอย่างครบวงจร นอกเหนือไปจากการดูแลช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ

“ต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพและมีความต้องการที่จะทำงานอยู่ อย่างน้อยก็เพื่อโอบรับผู้สูงอายุเหล่านี้ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้” สิทธิพลกล่าวทิ้งท้าย

หลากหลายโครงการสร้างสรรค์เพื่อผู้สูงวัย 

มิวเซียมสยามให้น้ำหนักกับเรื่องความสามารถในการสร้างสรรค์ (Creativity) ของผู้สูงวัย เนื่องจากระยะหลังมานี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับ Creative Aging หรือที่เรียกว่า ‘วัยชราสร้างสรรค์’ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถแสดงตัวตน ค้นหาตัวตน และเชื่อมโยงกันกับผู้อื่นได้ 

ในช่วงปีหน้ามิวเซียมสยามวางแผนจะจัดเวิร์กช็อปการเขียนให้กับผู้สูงวัย โดยจะร่วมมือกับเพจ ‘มนุษย์ต่างวัย’ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ทำให้มองเห็นถึงความร่วมมือในการสร้างเมืองเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งในส่วนของภาคประชาสังคมและในระดับปัจเจกบุคคลที่พยายามสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงวัย

ฆัสราได้ยกตัวอย่างงาน ‘เทศกาลผู้สูงวัย’ ในสก็อตแลนด์ที่ใช้แนวคิด Creative Aging ในการจัดเทศกาลงานศิลปะโดยผู้สูงวัย และมีการสร้างเครือข่ายไปทั่วเมืองเพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับผู้สูงวัยในเมือง โดยฆัสรากล่าวต่อว่า ผู้จัดการเทศกาลผู้สูงวัยในสก็อตแลนด์จะมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการใช้ศิลปะสร้างเมืองเพื่อผู้สูงวัย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อีกด้วย

ในด้านการดูแลสุขภาพ นพ.ภูริทัต เผยว่า กทม. มีการจัดทำเว็บไซต์ ข้อมูลสุขภาพสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพและสิทธิการเข้าถึงขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรได้ นับเป็นแหล่งข้อมูลที่ กทม. พยายามเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ นพ.ภูริทัต ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชน เช่น ‘รถตรวจสุขภาพชุมชน’ และ ‘กองทุนสำหรับผู้สูงอายุ’ ซึ่งต้องอาศัยการรวบรวมปัญหากับผู้นำชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ที่ใกล้ชิดกับปัญหาผู้สูงอายุ

สุดท้าย สิทธิพล ในฐานะคนทำงานกับผู้สูงอายุไร้บ้าน เน้นย้ำว่าสังคมต้องโอบรับผู้สูงอายุที่ยังมีความต้องการที่จะทำงาน และยังมีทักษะที่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยมูลนิธิกระจกเงากำลังริเริ่มทำโครงการเกี่ยวกับ ‘งานช่าง’ เพื่อโอบรับผู้สูงอายุที่ยังมีทักษะทางอาชีพ และมีความต้องการอยู่ และกล่าวต่ออีกว่าภาคประชาสังคม หรือภาคเอกชน อาจไม่จำเป็นต้องรับงานโดยตรง แต่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการได้ 

การทำงานกับผู้สูงวัยต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับสังคม หากสังคมอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุไร้บ้าน อาจต้องปรับความคาดหวังจากการทำงานของผู้สูงอายุ และเข้าใจในศักยภาพเท่าที่มีของผู้สูงอายุ โดยสามารถติดตามข้อมูลโครงการได้ทางเพจจ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า