อายุเป็นเพียงตัวเลข

Barbara 01

การให้ความหมายเชิงลบที่เกิดแก่วัยชรา เช่น ไม่ก่อให้เกิดผลิตผล ไร้ประโยชน์ เป็นภาระ ฯลฯ ถูกมองว่า เป็นอัตลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากภายนอกผ่านกลไกทางอำนาจของรัฐและสังคม ถูกทำให้เป็นสถาบันเพื่อประโยชน์ในการจัดการและควบคุม

ขณะที่การสร้างความหมายเชิงบวกต่อวัยชราก็ถูกสร้างขึ้นด้วยลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้มีประสบการณ์ ผู้มีความรู้ ฯลฯ ประเด็นคือ อัตลักษณ์ประดิษฐ์เหล่านี้ทำให้เกิดภาพเหมารวมเกี่ยวกับความสูงวัย ว่าผู้สูงวัยมีภาพลักษณ์เหมือนกันหมด ทั้งความหมายเชิงบวกและลบ

บาร์บาร่า เบสไคน์ ได้ทำงานเป็นดีไซเนอร์ประจำบริษัท IDEO ในพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนียร์เมื่ออายุ 91 ปี เธอทำงานในโปรเจคท์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นหลัก

“อายุไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การใช้ชีวิตก็เหมือนการผจญภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับและยินดีกับมันเสมอ ฉันคิดว่าความงดงามของคนวัย 91 คือ การที่เราสามารถมองกลับไปและเห็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ถูกนำไปต่อไว้จนกลายเป็นภาพใหญ่ของชีวิต และชีวิตจะทำให้จิ๊กซอว์นั้นสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง”

เบสไคน์ไล่ตามความฝันตั้งแต่จบชั้นมัธยมปลาย แต่ตำแหน่งงานที่สนใจล้วนเรียกร้องปริญญาสาขาวิศวกรรม คุณครูที่ปรึกษาแนะนำเธอว่า ไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันวิศวกรรมใดหรอกที่ต้อนรับผู้หญิง ดังนั้นเบสไคน์จึงตัดสินใจสมัครเข้ากองทัพ โดยทำงานเป็นนักอาชีวบำบัด (ผู้รักษาโรคที่เกิดจากสภาพของการทำงาน) แทน และทำงานนั้นอยู่ถึง 44 ปี

จนเมื่อสองปีที่แล้ว เบสไคน์ได้ดู เดวิด เคลลี ผู้ก่อตั้ง IDEO ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ เขาพูดเรื่องความสำคัญของทีมงานออกแบบที่หลากหลาย และหลังจากนั้นเธอจึงตัดสินใจไปสมัครงานที่ IDEO

“ฉันใช้เวลาเขียนเรซูเม่สองเดือน ตัดจากของเดิมเก้าหน้า จากนั้นเรียบเรียงเขียนเป็นจดหมาย แล้วส่งไปรษณีย์แบบธรรมดาไป”

Barbara 02
ที่มา : techreformer.com

หลังจากได้รับบรรจุ ผลงานเกือบทั้งหมดของเบสไคด์คือแก้ปัญหาต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ  ผลิตภัณฑ์ที่เธอออกแบบบางชิ้น ซึ่งรวมถึงถุงลมนิรภัยชนิดสวมใส่ได้ – เพื่อช่วยการตกจากที่สูงอยากแรง และแว่นตาที่ติดกล้องและลำโพงเอาไว้ เพื่อช่วยให้ผู้ใส่จำชื่อคนที่พบได้

ตอนนี้เบสไคน์กลายเป็นสมาชิกของ IDEO เธอทำหน้าที่ส่งความเห็นให้กับดีไซเนอร์ทั้งหลายที่ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และยังนำเสนอชิ้นงานต้นแบบแก่ทีมของเธอด้วย สมาชิกในทีมบอกว่า เบสไคด์ไม่เพียงให้มุมมองใหม่ๆ แก่บริษัท แต่ยังเต็มไปด้วยพลังงานล้นเหลือที่เผื่อแผ่ถึงคนอื่นๆ

แม้จะเผชิญปัญหาสุขภาพ คือการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตา แต่ทีมงานรุ่นลูกรุ่นหลานก็ดัดแปลงไม้ค้ำสำหรับเล่นสกีมาช่วยการเดินของเบสไคน์ให้ดีขึ้น ซึ่งเธอก็ไม่แสดงอาการอ่อนแอใดๆ ให้เห็นเลย

“ฉันต้องการอยู่ในสถาพแวดล้อมที่กระตุ้นตลอดเวลา กับผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และทุ่มเทให้กับงาน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตการทำงานของฉัน” ดีไซเนอร์วัย 91 ทิ้งท้าย

 

*********************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Main way นิตยสาร Way ฉบับ 86 ,มิถุนายน 2558)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า