สังคมสูงวัย & วิกฤติสโลว์ไลฟ์

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

Part 1

เกิดน้อย ตายยาก


โครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนไปของทั้งสังคมโลกและสังคมไทย อาจทำให้คำว่า ‘บั้นปลายชีวิต’ เปลี่ยนไปจากความรับรู้เดิม

ปี 2547 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ ‘สังคมสูงวัย’ (aging society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2564 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เข้าเกณฑ์ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ (aged society) และภายในปี 2574 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเตรียมก้าวสู่การเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (super aged society)

มิใช่แค่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นเท่านั้น แต่คนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีจำนวนน้อยลง ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็มีอัตราลดลง ไม่สามารถผลิตแรงงานรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนแรงงานรุ่นเก่าที่ค่อยๆ ปลดระวาง นั่นหมายถึงว่า อนาคตประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงาน

ลองนึกภาพว่า เมื่อผู้คนเริ่มแก่ชรา หูตาฝ้าฟาง การเคลื่อนไหวช้า ประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำ อีกทั้งคนวัยทำงานเหลือน้อยลง สายพานการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ย่อมเกิดการสะดุด ไม่สามารถสร้างผลิตผลต่างๆ ได้ทันต่อวงล้อเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องหมุนไปข้างหน้า

จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงานท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ ไปจนถึงระดับปัจเจกคือปัญหาปากท้องของผู้คน

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายคงไม่อาจนิ่งนอนใจต่อไปได้ หากไม่ปรับตัวเสียตั้งแต่ตอนนี้อาจต้องเผชิญวิกฤติอย่างไม่ทันตั้งตัว เพราะอีกไม่นานคนหนุ่มสาวในวันนี้จะกลายเป็นประชากรสูงวัยในวันหน้า

ทว่า ในวิกฤติที่เกิดขึ้นก็ใช่ว่าจะมืดมนไร้ทางออก

“ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ เราจะเห็นโอกาส” ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยที่คลุกวงในกับปัญหาสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง มองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่เราจะยอมรับและพร้อมลงมือแก้ไขเมื่อไหร่

ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยในชุดโครงการ ‘มิติทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร’ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยิ่งทำให้วรเวศม์เชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางแก้ และสามารถแก้ได้บนฐานของความรู้


คำว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ กับ ‘สังคมสูงวัย’ สองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร และควรให้นิยามอย่างไรจึงจะเหมาะสม

โดยส่วนตัวผมมองว่า คำว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มีความหมายที่ค่อนข้างแคบ หรืออาจหมายถึงเพียงแค่สังคมของผู้สูงอายุ แต่ถ้าใช้คำว่า ‘สังคมสูงวัย’ จะสามารถบ่งบอกได้ถึงลักษณะของสังคมโดยรวมที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และคำว่า ‘สูงวัย’ ยังสื่อถึงความเป็นพลวัต ความเป็นไดนามิคของสังคม

ผมคิดว่าเรื่องคอนเซ็ปท์เป็นเรื่องสำคัญในแง่การสื่อสารให้คนเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหา เพราะถ้าสื่อความหมายไม่แม่นยำ จับหลักไม่มั่น เราจะแก้ปัญหาไม่ตรงเป้า ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์สังคมสูงวัยนั้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่จะยิ่งมีคนสูงวัยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่าว่า ‘aging society’ คือจะสูงวัยไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาปลายเปิด ไม่ได้สุดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง

เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคำว่า ‘climate change’ ทำไมเราจึงไม่ใช้แค่คำว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพราะมันมีคำว่า ‘change’ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

เหตุผลใดที่สังคมไทยต้องหันมาสนใจปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยกันอย่างจริงจัง

เหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญก็เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรซึ่งมีสัดส่วนและจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ตอนนี้เรามีประชากรผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 จะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่คนวัยทำงานหรือประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี เริ่มมีสัดส่วนและจำนวนที่ลดลง เช่นเดียวกับเด็กอายุ 0-14 ปี ก็มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นี่คือภาพใหญ่ของประชากร 3 กลุ่ม

อีกดัชนีหนึ่งที่ต้องติดตามดูก็คือ อัตราภาวะเจริญพันธุ์ ต้องดูว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์ตลอดชีวิตมีบุตรกี่คน สมมุติผู้ชายผู้หญิงจับคู่กันแล้วมีลูก ถ้าจะรักษาจำนวนประชากรให้คงเดิมก็ควรจะมีลูก 2 คน เพื่อแทนที่พ่อและแม่ที่จะกำลังแก่ตัวและเสียชีวิตไป แต่ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1.6 คน ฉะนั้น ในเชิงคณิตศาสตร์เราตีความตัวเลขได้ว่า ประชากรมีแนวโน้มลดลงแน่นอน ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจะทำให้เกิดปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ

อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุปรากฏชัดมานานพอสมควร เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เรื่องสวัสดิการ สุขภาพ และการเตรียมตัวของคนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นหลัก แต่จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ผมและคณะนักวิจัยได้ร่วมกันทำ เราพบว่าประเด็นปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น จริงอยู่ว่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยถือเป็นปัญหาเชิงบริบทของประเทศ ซึ่งทุกเรื่องที่อยู่ในบริบทนี้ล้วนได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการจ้างงาน ระบบสถาบันครอบครัว ชุมชน แม้กระทั่งระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบ เพราะโครงสร้างของประชากรเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มระบบต่างๆ ของประเทศ ฉะนั้น เราจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะยังเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ของประเทศด้วย

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างไรบ้าง

ในฐานะที่ผมเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าปัญหาสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายประเทศที่เผชิญปัญหานี้และยังแก้ไม่ตก ส่วนใหญ่เป็นเพราะหัวใจของปัญหาสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ

ที่จริงแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจเกิดจากหลายปัจจัยผสมกัน บางส่วนอาจเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำทำให้กระทบต่อการนำเข้า ส่งออก หรืออาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศถดถอยอันเป็นผลจากภัยแล้ง ซึ่งกระทบไปถึงปัจจัยการผลิต แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง แต่ผ่านตัวแปรอื่นๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน การไม่ปรับตัวของภาคธุรกิจ การพึ่งพาแรงงานราคาถูก และยังคงดำเนินกิจการไปตามโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิม

ถามว่าแล้วจะไปต่อได้ไหม ในอดีตอาจพอไปได้ แต่ในอนาคตตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังเปิดประเทศ อาจแซงหน้าเราเมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้น ถ้าเราหวังพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะลำบากขึ้น

ถ้าดูข้อมูลการคาดประมาณประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเห็นว่า แทบทุกประเทศกำลังจะแก่กันหมด เพียงแต่อัตราการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรของแต่ละประเทศอาจจะไม่เท่ากัน ลาว ฟิลิปปินส์ จะค่อนข้างช้าหน่อย แต่สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย มีอัตราการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่า ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา ก็ค่อยๆ ตามมา

มีข้อสังเกตอะไรที่บ่งชี้ว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเป็นสังคมสูงวัยเหมือนกันหมด

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีอัตราการเติบโตที่เร็วก็มักจะส่งผลกระทบต่อตัวแปรอื่นๆ ทางสังคม เช่น พอเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนก็ใช้เวลาเรียนหนังสือนานขึ้น นั่นหมายความว่าการดำเนินชีวิตของคนจะเกิดการดีเลย์ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงาน การมีลูก ทุกอย่างจะขยับออกไปหมด ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรียนจบ ป.4 ป.6 ทำงานไปสักพัก พออายุ 20 ต้นๆ ก็แต่งงานมีลูกแล้ว

ปัจจุบันพอคนอยู่ดีกินดีมากขึ้น ก็จะโยงไปถึงเรื่องการตัดสินใจในการวางแผนชีวิตของตนเอง บางคนทำงานเก็บเงินไว้กินไว้เที่ยว หาความเอ็นจอยให้กับชีวิต คือเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนด้วย ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามบริบทของโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม อย่างที่เรียกกันเป็นเจเนอเรชั่นต่างๆ

เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น ระบบการศึกษาและการสาธารณสุขก็ดีขึ้นตามลำดับ ทุกอย่างจึงดีเลย์ออกไปหมด ท้ายที่สุดอายุค่าเฉลี่ยหรืออายุขัยโดยประมาณก็จะยืดออกไป ฉะนั้น เมื่อประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น

ปัญหาโดยรวมน่าจะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตทั้งระบบเลยใช่ไหม โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน

ถ้ามองภาพใหญ่ก็คือ ภาคแรงงาน ซึ่งการที่เราใช้คำว่า ‘สังคมสูงวัย’ เป็นการพูดถึง 3 ประเด็นพร้อมกันคือ หนึ่ง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สอง ประชากรวัยทำงานลดลง สาม เด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเด็กเกิดน้อย ทำให้กำลังแรงงานลดลง สิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากประชากรวัยทำงานลดลง

แน่นอนว่าต้องกระทบต่อภาคการผลิตต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

ภาคเกษตร เมื่อเกษตรกรแก่ตัวลงมากๆ ทำงานไม่ไหว ผลผลิตก็ได้น้อยลง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เราจะอาศัยกำลังแรงงานเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คงไม่ได้อีกต่อไป ส่วนภาคบริการก็ต้องคิดหาทางออกว่าจะมีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือไอที เข้ามาทดแทนคนได้อย่างไร

ถ้าเราจะเอาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาคงยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนึ่ง เศรษฐกิจในบ้านเขาก็กำลังพัฒนาไปข้างหน้า วันหนึ่งรัฐบาลเขาอาจจะเชิญชวนแรงงานให้กลับไปช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองของเขาเองก็ได้ สอง สังคมในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็แก่ตัวลงเหมือนกัน ณ จุดใดจุดหนึ่งเขาก็ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ของเขา แล้วก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกับที่เรากำลังจะเจอ ฉะนั้น การคาดหวังที่จะมีกำลังแรงงานจำนวนมากมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือ ปัญหาด้านการออม เป็นไปได้ว่าอัตราการออมมีโอกาสที่จะลดลง เพราะคนกลุ่มที่ออมเงินไว้ตอนวัยทำงาน พอแก่ตัวลงก็จะเริ่มนำเงินนั้นออกมาใช้จ่าย ฉะนั้นก็จะมีผลในเชิงลบต่อเรื่องการออมด้วย

พูดง่ายๆ ว่าสังคมสูงวัย ไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับสังคมทั้งระบบด้วยใช่ไหม

พอคนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ในบรรดาคนสูงอายุนั้นจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ตอนแรกเราอาจจะมองว่าเป็นปัญหาในเชิงสังคม เชิงสุขภาพ แต่พอมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้น ประเด็นก็คือ แล้วใครจะเป็นคนดูแลเขา คำตอบก็คือคนในวัยทำงานที่จะต้องดูแล ถ้ามีเงินก็คงจ้างคนมาดูแลได้ แต่คนที่ไม่มีเงินมากจะทำอย่างไร ฉะนั้น ถึงจุดหนึ่งคนวัยทำงานอาจต้องตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่

จะเห็นว่านอกจากแรงงานในวัยสูงอายุที่จะลดลงแล้ว ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่หายไปอีก เนื่องจากต้องออกไปดูแลพ่อแม่ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเลี้ยงดูลูก ซึ่งขณะนี้ระบบสนับสนุนของรัฐก็ยังไม่พร้อม บางทีพ่อแม่อาจไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ปู่ย่าตายายก็ไม่ได้มาช่วยเลี้ยง แล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้น ทุกอย่างจึงโยงถึงกันหมด

ปัญหาของตลาดแรงงาน ไม่ใช่แค่การขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงนโยบายแรงงานหรือการปรับตัวของตลาดแรงงานว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะระบบการจ้างงานเป็นระบบที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ถ้าให้คนทำงานได้ถึงอายุแค่ 55 ปี หรือปล่อยให้คนออกจากงานเมื่อไหร่ก็ได้ ก็จะทำให้แรงงานหายไปจากระบบ

การขยายอายุเกษียณจะช่วยลดปัญหาแรงงานที่ขาดหายไปได้บ้างไหม

สิ่งที่ภาครัฐและตลาดแรงงานต้องคิดต่อก็คือ จะชดเชยประชากรวัยทำงานที่ลดลงได้อย่างไร แน่นอนว่าแรงงานส่วนหนึ่งอาจจะต้องทำงานยาวขึ้น ไม่ใช่อายุ 50 ก็เกษียณแล้วออกไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน จริงๆ คนอายุ 50 อาจจะต้องทำต่อจนถึง 55 ส่วนคนที่จะหยุดตอนอายุ 55 อาจต้องทำต่อไปจนถึง 60 เป็นต้น

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตอนนี้ ผมมั่นใจว่าคนรุ่นผมส่วนหนึ่งอาจจะต้องทำงานต่อไปจนถึงอายุ 65 อย่างเช่นตอนนี้ในมหาวิทยาลัยก็ยังมีอาจารย์ผู้ใหญ่อายุ 60 ขึ้นไปหลายท่านมาก และหลังจากนี้ไปจะเกิดการจ้างงานลักษณะนี้เยอะขึ้น รัฐบาลเองก็ต้องคิดเรื่องการขยายอายุเกษียณ เพียงแต่ว่าจะขยายพร้อมกันทั้งหน้ากระดานเลยหรือไม่

ตัวอย่างในหลายประเทศมีการขยายอายุงานตามลักษณะอาชีพ เพราะในภาคราชการเองก็มีอาชีพที่หลากหลาย อาชีพบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องขยาย เช่น เสมียน รปภ. แต่บางอาชีพที่ขาดแคลนคนก็อาจจำเป็นต้องขยายอายุออกไป ซึ่งอาจจะมีหลายทางเลือกในการเกษียณอายุก็ได้ แต่ถ้าทำเหมือนกันหมดแบบหน้ากระดานอาจจะเป็นปัญหาได้

ที่สำคัญตลาดแรงงานต้องปรับตัว เรื่องนี้แม้แต่นักวิชาการเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าภาคเอกชนควรจะปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงาน ตอนนี้เราทำได้แค่ไปสัมภาษณ์สถานประกอบการบางแห่ง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลว่าเขาเริ่มมีการขยายอายุเกษียณบ้างแล้ว บางแห่งมีการจ้างงานต่อ หรือทำสัญญาจ้างปีต่อปี ไม่ใช่เกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 บริษัทบางแห่งก็เลือกประเภทงานที่เหมาะกับคนสูงอายุ เพราะงานบางอย่างต้องอาศัยความซื่อสัตย์ เชื่อใจกันได้ หรือทำงานแล้วรู้มือกัน

แสดงว่าในวิกฤติยังมีโอกาส?

จะว่าไปก็มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ถ้ามองให้ไกลไปจากผลกระทบเชิงลบแล้ว ยังมีโอกาสหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ เมื่อมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค อานิสงส์ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นกับภาคบริการ สุขภาพ การท่องเที่ยว สันทนาการ เครื่องใช้ไม้สอย สิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน ผลจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ในด้านซัพพลายหรือการพึ่งกำลังแรงงานอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงดีมานด์ด้วย

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคและวิธีการใช้จ่าย จากนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า คนที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอาจจะให้ความสำคัญในการออมมากขึ้นและต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ฉะนั้น ธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งที่จริงแล้วอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ในอนาคตอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เน้นศักยภาพในการผลิตอย่างเดียว แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการมากกว่า

ฉะนั้น ผลกระทบเชิงบวกก็คือจะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้น ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัด เพราะผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันจะไม่ค่อยนิยมออกจากบ้าน แต่ในอนาคตรูปแบบการใช้ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไป

ถ้าเรามองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาส และมองภาพใหญ่ของตลาดทั้งอาเซียน จะเห็นว่าเราเป็นสังคมสูงวัยอันดับที่ 2 ซึ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้ ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่มีโอกาสความเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเราเยอะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนระดับล่าง แต่เป็นคนระดับกลางและระดับบน เราก็สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่เน้นเฉพาะกลุ่มนี้ได้ ฉะนั้น โอกาสในทางธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ แน่นอนว่าการเป็นสังคมสูงวัยย่อมส่งผลกระทบกับเรา แต่ผมคิดว่าเราต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาส


Part 2

งานและเงิน


ในสมัยรัชกาลที่ 5 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 37 ปี แต่ต้องขอบคุณวิทยาการทางการแพทย์ที่ทำให้คำอวยพร ‘ขอให้มีอายุยืนยาว’ ไม่ไกลจากความจริงนัก

ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 74 ปี และมีแนวโน้มว่าระยะเวลาที่คนไทยจะ ‘เอ็นจอยไลฟ์’ หลังเกษียณอาจนานเป็นพิเศษ

แน่นอนว่า การมีชีวิตยืนยาวเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ติดเงื่อนไขอยู่ว่าชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปนั้นเป็นชีวิตที่มีคุณภาพหรือไม่ หรือเป็นชีวิตที่ยากลำบากยิ่งกว่าเดิม

ถ้าคนคนหนึ่งแก่ตัวลงโดยที่เรี่ยวแรงยังไม่โรยรา ไม่ถูกเบียดเบียดด้วยโรคเรื้อรัง มีลูกหลานค้ำจุน และพอจะมีเงินก้นถุงไว้ใช้จ่ายในบั้นปลายได้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน ก็นับเป็นโบนัสของชีวิต แต่หากทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่ว่ามา หากวันหนึ่งต้องกลายเป็นผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ไร้ลูกหลานคอยดูแลปรนนิบัติ เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตเริ่มร่อยหรอ จะมีหลักประกันอันใดให้พิงหลังได้บ้าง

ลองมองชีวิตของคนคนหนึ่งที่ต้องมีลมหายใจอยู่ต่อไปอีกนานหลังเกษียณ เมื่อล่วงเข้าสู่วัยชรา อะไรคือความมั่นคงทางการเงิน เงินออมของตัวเองหรือ เงินเกื้อหนุนจากบุตรหลานหรือ เงินบำนาญหรือ หรือสุดท้ายต้องรอความหวังจากเงินสงเคราะห์ของรัฐบาล

จะดีกว่าไหม หากทุกฝ่ายมาช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างกรอบกติกาบางอย่างเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตวัยชรา โดยไม่จำเป็นต้องรอให้วันนั้นมาถึงเสียก่อน


เมื่อเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ รูปแบบการใช้ชีวิตของคนจะพลิกโฉมไปจากเดิมอย่างไรบ้าง

ในอนาคตสิ่งที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแน่ๆ คือระบบการจ้างงานเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เช่น การจ้างงานต่อเนื่อง การจ้างงานคนที่ออกจากงานไปแล้วให้กลับมาทำงานใหม่ รวมถึงระบบการจ้างงานผู้สูงอายุแบบพาร์ตไทม์ เรื่องเหล่านี้ต้องมาคิดกันว่าปรับเปลี่ยนอย่างไร ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับเรื่องการกำหนดอายุเกษียณในภาคเอกชน แต่ถ้าไม่ปรับตัว แรงงานกลุ่มนี้ก็จะหายไป

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น จะเห็นว่าคนที่เกษียณตอนอายุ 55-60 ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวกันอยู่เลย แล้วเขายังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน ตรงนี้เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง บางทีอาจต้องมีการปรับสมดุลใหม่ระหว่างชีวิตวัยทำงานกับชีวิตหลังเกษียณ นี่ก็คือผลกระทบในการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกความหมายหนึ่งเช่นกัน เพราะต่อจากนี้ไปช่วงเวลาที่คุณอยากจะเอ็นจอยไลฟ์หลังเกษียณมันอาจจะนานเป็นพิเศษ

สมมุติว่าคุณเรียนจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 22 เดี๋ยวนี้ต้องต่อปริญญาโทเป็นอายุ 24 มีโอกาสได้ทำงานหาเงินจนถึงอายุ 55 ก็คือมีเวลาทำงานแค่ 30 ปีเศษๆ แล้วยังต้องอยู่ต่อจนถึงอายุ 80 ฉะนั้น หลังอายุ 55 คุณจะต้องมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายเป็นเวลา 25 ปี ถามว่าแบบนี้ไหวมั้ย

ประเด็นก็คือ เราจะมีหลักประกันอะไรในการมีชีวิตอยู่ต่อ จะขยายอายุการทำงานเพิ่มขึ้นได้ไหม หรือจะมีวิธีการสะสมความมั่งคั่งในวัยหนุ่มสาวเพื่อไว้ใช้ตอนแก่อย่างไร เพราะชีวิตวัยทำงานไม่ได้ยาวนานมากนัก ถ้าไม่ได้ทำงานที่มีรายได้สูงหรือไม่ได้มีเวลาการทำงานที่ยาว การสะสมความมั่งคั่งเพื่อไว้ใช้ตอนแก่ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือ ระหว่างทางที่เรากำลังสะสมความมั่งคั่ง จริงๆ แล้วเราโอเวอร์แล็ปกับคนอีก 2 รุ่น คือพ่อแม่กับลูกของเรา ฉะนั้น เราไม่ได้หาเงินเพื่อตัวเราคนเดียว แล้วยังต้องขึ้นกับว่าพ่อแม่ของเราเป็นคนรุ่นไหน ถ้าเป็นคนสูงอายุรุ่นปัจจุบันก็อาจไม่ได้มีหลักประกันเรื่องบำเหน็จบำนาญอะไรมากมาย ยกเว้นกลุ่มข้าราชการที่มีสวัสดิการดีกว่ากลุ่มอื่น ส่วนคนที่เหลือก็กระท่อนกระแท่น ขึ้นอยู่กับตอนหนุ่มสาวว่าทำงานเก็บเงินได้แค่ไหน ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ไม่มีเงิน ลูกก็ต้องคอยเกื้อหนุนทั้งพ่อแม่และลูกของตัวเอง เรียกว่าเป็น ‘แซนด์วิชเจเนอเรชั่น’

ถ้าในช่วงวัยทำงานไม่สามารถเก็บหอมรอมริบได้ ในอนาคตอยู่ยากแน่ใช่ไหม

ประเด็นตรงนี้เป็นเรื่องของการออมและระบบบำนาญ ถ้าออมไม่ได้ก็ต้องมีบำนาญของรัฐมาเสริม ต้องมีเบี้ยยังชีพ ต้องมีระบบบำนาญแห่งชาติ ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคม เพราะความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตที่เหลือหลังเกษียณ

สิ่งที่ต้องคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ แม้ว่าเราจะออมเอง แล้วรัฐช่วยอุดหนุนให้อีกส่วนหนึ่ง ถามว่าเรามีความมั่นคงในชีวิตไหม ตรงนี้ก็ยังเป็นคำถามใหญ่ ตราบใดถ้าเราเป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง มีสติสัมปชัญญะปกติ บวกกับมีความรู้ มีวินัยทางการเงินที่ดี เราก็อาจบริหารจัดการเงินก้อนนั้นไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตได้ แต่ถ้าสมมุติเราเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขี้หลงขี้ลืม อัลไซเมอร์ เป็นผู้ป่วยติดเตียง แม้ว่าคุณจะสะสมเงินมาทั้งชีวิต แต่จะจัดการกับชีวิตที่เหลืออย่างไร

ในต่างประเทศเขาเรียกระบบนี้ว่า ‘ระบบผู้พิทักษ์’ ต้องมีคนเข้ามาช่วยดูแลการบริหารจัดการเงินเพราะเป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางระบบรองรับตรงนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ในสังคมสูงวัย เราจะใช้วิธีคิดแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป เช่น หวังพึ่งพาลูก ซึ่งการพึ่งลูกก็ยังจำเป็นอยู่ แต่สำหรับคนที่ไม่มีลูกจะทำอย่างไร และคนกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

เมื่อระยะเวลาในการทำงานไม่สมดุลกับระยะเวลาที่เหลือหลังวัยเกษียณ จะมีวิธีใดเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

มีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้นที่เราจะสามารถแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อไว้ใช้จ่ายยามแก่ตัวได้ก็คือ เราต้องทำงานให้ยาวขึ้น หรือทำงานที่มีรายได้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทาง เพราะเมื่อคนเราอายุยืนขึ้น เราก็ควรทำงานได้ยาวขึ้น หาเงินได้มากขึ้น แต่ปัญหาก็คือคนรุ่นปัจจุบันมีลูกน้อยลง คนส่วนหนึ่งที่กำลังแก่ตัวลงในอนาคตจะเป็นคนที่ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย

วิธีการจัดการเงินของคนสูงอายุ โดยปกติถ้าออกจากงานแล้วก็ต้องอาศัยเงินออม ถ้าไม่ใช่เงินออมก็อาจจะได้เงินจากบำนาญ หรือไม่ก็ได้รับเงินจากลูก ซึ่งโดยปกติในบั้นปลายชีวิตจะเป็นแบบนี้ แต่ในอนาคตสิ่งที่เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในระดับครอบครัวจะค่อยๆ หายไป

เดิมความมั่นคงทางการเงินในวัยชรามี 4 เสาค้ำยันคือ หนึ่ง-เงินจากการทำงาน สอง-บำนาญ สาม-การออม สี่-เงินจากบุตรหลาน แต่ในอนาคตเสาหลักอันสุดท้ายกำลังจะหายไป จากการที่เรามีลูกกันน้อยลง แต่เรามีชีวิตยืนยาวขึ้น นี่คือผลกระทบอีกความหมายหนึ่งของสังคมสูงวัย เราจึงต้องมาคิดกันต่อว่าความมั่นคงระยะยาวคืออะไร

มีการรณรงค์เรื่องการออมกันมานาน แต่ทำไมจึงไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ

เรื่องการออม คนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันเยอะ เพราะหลักของการออมคือ เมื่อเรามีรายได้แล้วต้องแบ่งรายได้นั้นมาไว้สำหรับการออมก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินสำหรับใช้จ่าย เพราะเราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงชีวิตของเราไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตให้ได้ ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในอนาคตนับตั้งแต่วันที่เลิกทำงานจนถึงวันที่เราตายจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ยกเว้นเสียชีวิตเร็ว แต่ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้นก็หมายความว่าเราต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้ก่อน เพื่อออมไว้ใช้ยามชราภาพ ออมจนลืมไปเลย พออายุ 60 ค่อยมาเปิดดูบัญชีกันอีกที เพราะไม่เช่นนั้นแล้วถ้าคุณยังใช้จ่ายไปตามปกติ เหลือเท่าไหร่แล้วค่อยออม คุณจะออมได้ไม่มาก เพราะยังไงคุณก็ต้องใช้เงินอยู่วันยังค่ำ แล้วเงินนั้นก็จะหมดไป ดังนั้น สมการการออมต้องเปลี่ยน

ปัญหาคือไม่มีให้ออม?

ถ้าไม่มีให้ออมก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังมีเสาแห่งความมั่นคงทางการเงินในวัยชราค้ำยันอยู่อีก 3 เสา เสาหนึ่งคือบำนาญ ผมต้องขอยกคำพูดของคุณนวพร เรืองสกุล (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) เคยพูดไว้ว่า บำนาญของรัฐหรือแม้แต่เบี้ยยังชีพ จริงๆ แล้วมันทำหน้าที่เป็นเหมือนลูกที่ดี คำว่าลูกที่ดีในที่นี้ หมายถึง ให้เงินพ่อแม่ เกื้อหนุนพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะมีเงินออมมากมายหรือไม่มีเลย ระบบบำนาญหรือเบี้ยยังชีพก็ยังทำหน้าที่ลูกที่ดีให้กับผู้สูงอายุทุกคนไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เสาแห่งความมั่นคงทางการเงินในวัยชราที่ค้ำยันอยู่ 3 เสา คือ เงินจากการทำงาน บำนาญ และการออม สามเสานี้เกื้อกูลกันและกัน นี่คือสามเสาหลักที่จะช่วยผู้สูงวัยในการมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมาย เช่น เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ตั้งแต่ระดับหรูหราไปจนถึงการออมทรัพย์ปกติ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมาย แต่ประเด็นก็คือ เราจะจัดการเงินของเราได้ไหม ทัศนคติในการออมเป็นอย่างไร หลักการในการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร

ระบบบำนาญที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอไหมสำหรับชีวิตบั้นปลาย

แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์ระบบบำนาญไทยอยู่พอสมควร แต่ผมคิดว่าระบบบำนาญของประเทศไทยมีพัฒนาการที่อาจพูดได้ว่า มีจุดเด่นที่หลายประเทศทำไม่ได้ ระบบบำนาญของเราในวันนี้ ข้าราชการมีทั้งบำนาญ บางคนยังมีเงินออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่วนคนที่เหลือที่ไม่ได้เป็นข้าราชการก็มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท ตามอายุ

สิ่งนี้เป็นหลักประกันได้ว่า ประเทศไทยมีระบบบำนาญถ้วนหน้าโดยกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงบางคนอาจจะไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเวลา หรือบางคนไม่มีบัตรประชาชนก็จะมีปัญหา แต่โดยระบบเราออกแบบเป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า

ประเด็นก็คือ แม้เราจะมีเงินบำนาญที่ครอบคลุมคนทั้งหมด แต่เงินมันน้อย ถ้าจะเอาเงินหลวงใส่เข้าไปในระบบบำนาญก็คงต้องใช้เงินมหาศาล แต่เรายังมีระบบบำนาญอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มคนทำงานภาคเอกชนก็เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบที่รองรับไว้อีกชั้นหนึ่ง กลุ่มนี้ต้องควักจ่ายเองส่วนหนึ่ง นายจ้างจ่ายส่วนหนึ่ง แต่รัฐยังไม่ได้ร่วมจ่ายสมทบ ซึ่งกลุ่มนี้มีสิทธิได้เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมทุกเดือน เพียงแต่จำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฐานเงินเดือน ระยะเวลาที่เป็นสมาชิก จำนวนเงินที่ส่งเงินเข้ากองทุนต่อเดือนในช่วงที่ยังทำงานอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ก็ยังมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพด้วย

ดังนั้น กลุ่มคนที่ทำงานในภาคเอกชนจะมีบำนาญซ้อน 2 ชั้น หนึ่ง กองทุนประกันสังคม สอง เบี้ยยังชีพ นอกจากนี้ ในสถานประกอบการของเอกชนบางแห่งที่นายจ้างให้ความสำคัญกับเรื่องเงินออม หรือให้ความสำคัญต่อสวัสดิการของลูกจ้าง นายจ้างก็อาจจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นบำนาญซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง หมายความว่า คนทำงานภาคเอกชนบางคนที่นายจ้างทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะมีบำนาญซ้อนกันถึง 3 ชั้น

ทีนี้กลุ่มคนที่เหลือคือ คนทำงานอิสระ เช่น คนขับแท็กซี่ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค้าขาย ฟรีแลนซ์ เกษตรกร คนเหล่านี้จะได้เบี้ยยังชีพ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งกองทุนการออมแห่งชาติให้โอกาสคนเหล่านี้ออมเดือนละ 100 บาท โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ 50-100 เปอร์เซ็นต์ตามอายุสมาชิก

ถือได้ว่าภาพรวมของระบบบำนาญในประเทศไทยค่อนข้างครบถ้วนและครอบคลุม แต่ความเพียงพอในการใช้จ่ายอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่เราสามารถใช้เงินบำนาญไปเที่ยวต่างประเทศได้

ถ้าเทียบกับระบบบำนาญของสิงคโปร์ รัฐบาลของเขาจะไม่ช่วยคนเหมือนอย่างที่รัฐบาลเราทำ ทำให้ผู้สูงอายุในสิงคโปร์ค่อนข้างลำบาก ช่วงหลังสิงคโปร์ก็เริ่มปรับระบบ แต่ประเทศไทยเราแม้ดูไม่หรูหรา แต่ก็ครอบคลุม รัฐช่วยบางส่วน คุณช่วยตัวเองบางส่วน และมีหลายระบบอยู่ใต้ร่มเงาของระบบใหญ่ มีทั้งรัฐจัดให้ มีทั้งระบบลงขัน ระบบออม เพราะฉะนั้นสามารถพูดได้ว่าระบบบำนาญของเรามีภูมิคุ้มกันในตัวเองในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าให้รัฐจ่ายฝ่ายเดียวก็มหาศาล แต่ถ้ารัฐไม่จ่าย แล้วให้ประชาชนออมเอง อันนี้ก็คงลำบากอีก ระบบของเราจึงอยู่ตรงกลาง ซึ่งผมมองว่าเป็นระบบบำนาญที่ดี แม้ว่าข้าราชการจะได้รับสิทธิมากกว่าบุคคลทั่วไปก็ตาม

สถานะการคลังของระบบบำนาญโดยภาพรวมน่าเป็นห่วงไหม

กรณีบำนาญข้าราชการหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถ้าเราไม่ได้ขึ้นเงินหวือหวามันก็ยังไปได้ตามระบบงบประมาณในแต่ละปี เพียงแต่ต้องมีใครสักคนคอยมอนิเตอร์ ระบบบำนาญที่มีพื้นฐานบนการออมจะไม่น่าห่วง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ เหล่านี้เป็นการออม

สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่เรื่องความยั่งยืนของกองทุน แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ต้องลงทุนดีๆ อย่าไปเสี่ยงมากนัก โดยเฉพาะความผันผวนของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ถ้าลงทุนหวือหวามากอาจจะเจ็บตัวได้ เรื่องเงินในกองทุนไม่ได้เป็นปัญหาของสังคมสูงวัย แต่ต้องหาวิธีบริหารจัดการเงินให้งอกเงย

กองทุนที่น่าเป็นห่วงคือ กองทุนประกันสังคม เพราะกองทุนประกันสังคมมีลักษณะเหมือนกองทุนประเภทสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท ให้ทุกคนมาลงขันกัน คนหนุ่มคนสาวลงขันกัน ใครที่เจ็บป่วยก็มาดึงเงินไปใช้ พอแก่ชราก็ดึงเงินไปใช้ด้วย แล้วถึงวันหนึ่งที่ทุกคนต้องแก่ ทุกคนก็ต้องได้รับเงิน

ประเด็นก็คือความยั่งยืนของกองทุนจะเป็นอย่างไร เพราะกองทุนประกันสังคมจ่ายเยอะ แต่ใส่เงินเข้าไปน้อย เราจ่ายเดือนหนึ่งไม่เท่าไหร่ แต่เวลาเราได้เงินบำนาญเราได้เยอะนะ อีกทั้งคนที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในยุคสังคมสูงวัยด้วย คือตอนเข้ากองทุนก็เป็นหนุ่มสาว แต่อีกไม่นานก็จะแก่ตัวลงพร้อมๆ กัน แล้วกองทุนจะต้องจ่ายเยอะ

มีวิธีใดบ้างที่จะทำให้เงินกองทุนงอกเงยขึ้นได้

สำหรับบำนาญข้าราชการกับเบี้ยยังชีพ ถ้าจะให้รัฐใส่เงินเพิ่มเข้าไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ใช่ว่าจะน้อย เพียงแต่ว่าโดยพื้นฐานมันไม่ได้มีลักษณะเป็นกองทุน เพราะเงินส่วนนี้จะมาจากงบประมาณประจำปี จึงเป็นเรื่องของความสามารถในการจ่ายของรัฐในระยะยาว ซึ่งในอนาคตรัฐต้องมีการทบทวนเรื่องภาษี

ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ไม่ได้มีสวัสดิการอะไรมากมาย เพราะเราจ่ายภาษีกันน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่เรามี ฐานภาษีจึงมีปัญหา แล้วบางคนก็ยังเลี่ยงภาษีอยู่ ท้ายที่สุดเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติถือว่าเรายังจ่ายภาษีกันน้อย ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะได้สวัสดิการน้อย

ในอนาคตถ้าเราอยากจะเคลื่อนจาก low welfare ไปสู่ high welfare แบบสแกนดิเนเวียหรือในยุโรป จะเห็นว่าคนของเขาจ่ายภาษีกันเยอะ จึงไม่แปลกที่เขาจะได้รับสวัสดิการที่ดี แล้วประเทศของเขาลงทุนกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจนเสร็จหมดแล้ว ที่เหลือเขาจึงจัดสรรให้กับเรื่องสวัสดิการของประชาชนได้อย่างครอบคลุม

กลับมาที่เรื่องความน่าเป็นห่วงของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องคิดทบทวนมากกว่าแค่เรื่องความเป็นกองทุน นักวิจัยที่ทำงานด้านนี้ก็พูดคุยกันถึงเรื่องนี้เยอะ เราห่วงว่า ในระบบบำนาญที่เราเห็นเป็นภาพใหญ่ ความจริงแล้วมันแยกส่วนกันอยู่ มันไม่ได้เป็นระบบเดียวที่มีเอกภาพ ประเด็นก็คือ เมื่อผ่านเวลาไปสักพัก มันจะเกิดลักษณะต่างคนต่างทำ ข้าราชการก็อยากให้รัฐขึ้นบำนาญ ชาวบ้านก็อยากเรียกร้องให้ขึ้นเบี้ยยังชีพ ประกันสังคมก็อยากเอาใจสมาชิกด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ยอมขึ้นอัตราการจ่ายเงินสมทบเสียที เป็นต้น

เมื่อระบบบำนาญเป็นแบบต่างคนต่างทำ ท้ายที่สุดมันจะพัง มันอาจไม่ได้พังพร้อมกันทั้งหมด แต่จะมีสักจุดที่พัง โดยที่เรามาเปิดฝาหม้อดูอีกทีกับข้าวก็ไหม้หมดแล้ว

จะอุดรูรั่วตรงนี้ได้อย่างไรเพื่อไม่ให้ระบบบำนาญล้มละลาย

ข้อเสนอหนึ่งที่ผมเคยเสนอไว้ในเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญเพื่อรองรับสังคมสูงวัยคือ มันจำเป็นต้องมีใครสักคนที่คอยมอนิเตอร์หรือมีกลไกสักอย่างหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลระบบบำนาญในภาพรวม ตอนนี้กระทรวงการคลังก็เริ่มขยับที่จะประชุมนัดแรก เพื่อหาแนวทางว่าทำอย่างไรจึงจะบูรณาการระบบบำนาญที่มีอยู่ให้เป็นเอกภาพมากกว่านี้

แนวคิดที่เราเสนอคือ สร้างซูเปอร์บอร์ดของระบบบำนาญขึ้นมา ซึ่งอาจฟังดูเหมือนอำนาจนิยม แต่เรื่องนี้ถ้าไม่ใช้อำนาจเพื่อที่จะเข้าไปดูภาพรวมทั้งหมด มันก็จะไม่มีใครดู แล้วถ้าปล่อยเสรีมันจะพัง ถ้าทุกคนยังยืนยันในสิ่งที่ตัวเองทำต่อไปแบบแยกส่วน พอมาประกอบกันเป็นภาพรวม ท้ายที่สุดก็จะเป็นภาระกับสังคม

ข้อเสนอนี้ของผมไม่ได้หมายความว่า ให้เอาทุกอย่างมารวมกัน ขอแค่มี authority หรือผู้มีอำนาจกำกับติดตาม และอาจจะมีข้อเสนอหรือทักท้วงได้ว่า ขอชะลอการขึ้นเบี้ยยังชีพได้ไหม สมมุติว่าถ้านักการเมืองบอกจะให้ 3,000 บาท แล้วชาวบ้านเองก็บอกว่าอยากได้ 3,000 บาท ซึ่งพูดเหมือนกันทุกหมู่บ้าน อย่างน้อยต้องมีกลไกบางอย่างที่จะยับยั้งหรือท้วงติงได้ รวมถึงการพิจารณาให้ขึ้นเงินได้ด้วย เช่น หากเกิดภาวะเงินเฟ้อ เบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท อาจไม่เพียงพอก็ต้องปรับขึ้น เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องมี authority มากำกับ นี่คือโจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศ เพราะจำนวนเงินในระบบบำนาญมันมหาศาล

ผมเคยคำนวณตัวเลขไว้ในเบื้องต้น พบว่า เงินที่จ่ายให้ข้าราชการบำนาญ เบี้ยยังชีพ กบข. กอช. จากปัจจุบันรายจ่ายอยู่ที่ 300,000 ล้านต่อปี ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 2,000,000 ล้าน ถือว่าเงินที่ใส่เข้าไปในระบบบำนาญสูงถึงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราปล่อยไปแบบระบบ autopilot ไปเรื่อยๆ ประกอบกับจำนวนคนสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างประชากรวัยแรงงานที่เปลี่ยนแปลง เงินก้อนนี้อาจจะขึ้นไปถึง 500,000 ล้านต่อปี


Part 3

วิกฤติสโลว์ไลฟ์


ฝันอยากเดินทางรอบโลก…อยากใช้ชีวิตมากกว่าทำงาน…อยากเกษียณสักอายุ 40…อยากมีชีวิตอิสระเป็นของตนเอง ฯลฯ

ความใฝ่ฝันของคนร่วมสมัย ดูเหมือนจะสวนทางกับแนวโน้มการใช้ชีวิตในภาวะสังคมสูงวัยที่อาจไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด

โปรดอย่าลืมว่า คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันจะมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น ขณะที่มีลูกกันน้อยลง เงื่อนไขข้อนี้ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จำเป็นต้องต่ออายุการทำงานของตนเองให้ยาวนานขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันในการหล่อเลี้ยงชีวิตยามแก่เฒ่า วิถีสโลว์ไลฟ์ที่ใฝ่ฝันกันคงไม่ง่ายเสียแล้ว

คงไม่มีใครอยากเป็นภาระของลูกหลาน ฉะนั้น เมื่อจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่จึงต้องทำงานตราบที่ยังมีเรี่ยวแรง ไม่อาจผละตัวเองออกจากงานเพื่อหวังพึ่งพาผู้อื่น

มองไปยังอนาคตข้างหน้า สภาพสังคมไทยจะต้องเผชิญสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่เรียกว่า ต้องปรับทัศนคติในการใช้ชีวิตกันใหม่ ทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับนโยบาย

นโยบายรัฐที่เคยส่งเสริมเรื่องการวางแผนครอบครัวเพื่อควบคุมจำนวนประชากร อาจต้องหันมาทบทวนให้มีการเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ภาคธุรกิจเองอาจต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นแก่ลูกจ้าง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว

ขณะที่หน่วยย่อยของสังคมที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ความช่วยเหลือพึ่งพากันในครอบครัวอาจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทเกื้อหนุนให้ครอบครัวไทยอยู่ดีมีสุขมากขึ้น ขณะที่สังคมเมืองก็จำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยทั้งองคาพยพจะต้องคิดใหม่


ถ้าคนที่ต้องเผชิญสถานการณ์สังคมสูงวัย คือคนวัยทำงานในปัจจุบัน คนเหล่านี้ควรเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง

เนื่องจากว่าสังคมสูงวัยมีผลกระทบระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และผลกระทบส่วนหนึ่งก็ลงมาถึงระดับบุคคล เพราะหนึ่ง-เราจะมีอายุยืนยาวขึ้น หมายความว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือ สอง-เราอาจจะขาดการเกื้อหนุนจากลูก เพราะคนในยุคเรามีลูกน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองประเด็นนี้ก็คือสาเหตุของสังคมสูงวัย และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร

เวลาเราตั้งคำถามว่าสังคมสูงวัยส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง จึงกลายเป็นว่าปลายทางมันส่งผลกระทบต่อต้นทาง และต้นทางส่งผลกระทบถึงปลายทาง เมื่อจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นจึงส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องใช้เงินมากขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดกับเรามันมาจากต้นทางที่ตัวเราเองมีชีวิตยาวขึ้น แล้วลูกก็ไม่มี

ชะตากรรมของคนรุ่นปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง?

เป็นโศกนาฏกรรมแน่นอน ผมเคยเขียนบทความเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย เขียนถึงคนรุ่นผมนี่แหละ มองเป็นโมเดล มองจากชีวิตป้าของผมเอง ป้าไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน ทำงานตั้งแต่เด็ก ทำงานในร้านอาหารของอากง ก็ฝึกฝีมือทำอาหาร ใช้เวลานาน แต่ก็มีทักษะติดตัว หาเงินเองได้ แต่งงาน มีลูกเยอะ พอแก่ตัวลงป้าก็มีเงินออมที่เก็บมาตั้งแต่ยังสาว เขาซื้อบ้านเร็วก็ผ่อนหมดเร็ว แล้วก็ส่งลูกเรียนจนจบ เขาลงทุนกับลูก ลงทุนมนุษย์ ท้ายที่สุดมนุษย์ที่ป้าลงทุนไปก็รีเทิร์นกลับมาเกื้อหนุน เมื่อยามแก่ตัวป้าจึงมีทั้งเงินออม มีบ้านอยู่ ลูกๆ ก็ให้เงินไว้ใช้จ่าย ถึงแม้จะอยู่ในข่ายได้รับเบี้ยยังชีพและสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาท แต่ลูกทำงานราชการก็เลยได้ใช้สวัสดิการข้าราชการ พอลูกๆ ออกจากราชการก็ช่วยกันลงขันจ่ายเงินค่ารักษาเอง เพราะใช้บริการ 30 บาทไม่ไหว

ประเด็นก็คือว่า ถ้าเรามองผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันซึ่งมีตัวอย่างป้าของผมเป็นโมเดล แต่พอถึงรุ่นเราจะไม่ใช่แบบป้าอีกแล้ว เราเรียนสูง เรียนนาน ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดหรือเปล่าไม่รู้ แล้วคนรุ่นเราไม่ค่อยแต่งงาน หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก หลักประกันที่เราจะได้พึ่งพาลูกในอนาคตก็หายไป เราจึงเหลือแค่ 3 ทางเลือกเท่านั้น คือเงินจากการทำงาน เงินออม และบำนาญ

เรื่องเงินออมเราก็ออมกันไม่ค่อยเป็น แล้วเราก็อยากทำงานอิสระ ไม่ชอบมีเจ้านาย เงินบำนาญเราก็ไม่ได้มาก ฉะนั้น ผมจึงพูดอยู่เสมอว่าถ้าเราไม่เตรียมตัวตั้งแต่แรก ไม่ได้เลยนะ ชีวิตของป้าผมน่าจะเป็นคนสูงอายุรุ่นสุดท้ายที่จะมีชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพภายใต้ระบบแบบเดิม พอเปลี่ยนผ่านมาถึงรุ่นเราระบบชีวิตจะเป็นอีกแบบหนึ่ง

แนวคิด ‘สโลว์ไลฟ์’ เป็นทัศนคติที่กระทบต่อความมั่นคงในสังคมสูงวัยเลยใช่ไหม

คำคำนี้มันทำให้เกิดค่านิยมแปลกๆ เช่น ต้องไปนั่งร้านกาแฟ ถ่ายรูป ทำอาชีพฟรีแลนซ์ ขณะที่เงื่อนไขของการมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ในอนาคตคือ ต้องทำงานที่มีรายได้สูง ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเราต้องอยู่กันยาว

ฉะนั้น ช่วงเวลาที่ยังทำงานได้จึงเป็นเวลาที่จำกัด เพียงแต่ในอนาคตถ้าเราอายุ 60 เราอาจจะยังมีสุขภาพดี ยังทำงานได้ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเหมือนสังคมญี่ปุ่น เพราะการทำงานยาวคือเงื่อนไขหนึ่งของความมั่นคง

ประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนวัยทำงานที่อยู่ในวัยกลางคนโดยเฉพาะผู้หญิง ตอนนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เดิมทีถ้าเรามีลูก พ่อแม่เราก็ช่วยเลี้ยง หรือฝากลุงป้าช่วยเลี้ยงได้ แต่สังคมตอนนี้เปลี่ยนไป พอมีลูกก็ไม่รู้จะให้ใครช่วยเลี้ยง ถ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก ก็จะถูกผลักภาระให้ต้องเลี้ยงดูแลพ่อแม่ นี่คือข้อมูลที่เราเริ่มเห็นบ้างแล้วโดยเฉพาะในเขตเมือง

การที่ผู้หญิงต้องออกจากตลาดแรงงานกลางคัน เป็นประเด็นน่าสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและการเลี้ยงดูลูก ทำไมผู้หญิงต้องเป็นผู้เสียสละในการออกจากตลาดแรงงาน ทำไมผู้หญิงจึงถูกยัดเยียดบทบาทในการดูแลลูก ดูแลพ่อแม่อยู่ฝ่ายเดียว กลายเป็นว่าผู้หญิงต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง แต่ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ว่าทำทุกอย่างไม่ไหวแล้ว ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในอนาคตจะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสถาบันครอบครัวอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าปัจจัยเรื่องความอยู่ดีมีสุข มีอยู่ 2 ประเด็น เรารู้อยู่แล้วว่าเรามีลูกกันน้อย เราจะต้องอยู่กับพ่อแม่ที่แก่ตัวไปแล้วอยู่กับเรายาวๆ ภายใต้บริบทแบบนี้ ซึ่งครอบครัวจะอยู่ดีมีสุขได้ มีเงื่อนไขที่จำเป็น เรื่องแรกคือ ตลาดแรงงานหรือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัว สอง บทบาทของชุมชนท้องถิ่น

เงื่อนไขแรก ตลาดแรงงานหรือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวต่อสถานการณ์ ซึ่งในหลายประเทศก็ประสบปัญหาเรื่องนี้ เช่น ญี่ปุ่น ในช่วงแรกก็ไม่ได้ปรับตัวตามสภาพที่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ ยังคงดำเนินธุรกิจไปตามรูปแบบเดิมเหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วที่ตั้งขึ้นมาในยุคที่ทุกคนมุ่งมั่น อดทนทำงานเพื่อประสิทธิภาพ แต่พอเข้าสู่สถานการณ์สังคมสูงวัยที่พ่อแม่ต้องอยู่กับเราไปอีกนาน ลูกก็ไม่มีใครเลี้ยง ถ้าบริษัทไม่ปรับตัว เราก็ต้องทิ้งพ่อแม่ ลูกก็ปล่อยปละ หรืออาจต้องให้ภรรยาอยู่บ้านคอยเลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลลูก

ประเด็นก็คือบริษัทจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้รูปแบบการทำงานเอื้อต่อพนักงานที่มีข้อจำกัดในชีวิต บางครั้งต้องพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลเดือนละครั้ง ใครจะพาไป แล้วใครจะอยู่ดูแลลูกที่บ้าน ท้ายที่สุดบางคนอาจจะต้องเผชิญทางเลือกที่ว่า ต้องออกจากงานเพื่อกลับไปดูแลครอบครัว หรือไม่ก็ทนทู่ซี้ต่อไป นายจ้างจะตอบสนองต่อรูปแบบชีวิตลูกจ้างที่เปลี่ยนไปอย่างไร ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นขยายอายุเกษียณ ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ

ถ้าบริษัทยอมยืดหยุ่นให้ลูกจ้าง จะสวนทางกับประสิทธิภาพการทำงานไหม

ใช่ เพียงแต่ขึ้นกับว่าเราให้ความหมายกับคำว่าประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร

ถ้าลูกจ้างสามารถลางานไปได้อย่างสบายใจ ถ้าเขารู้ว่าพรุ่งนี้สามารถลางานเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอได้ วันนี้เขาก็จะตั้งใจเคลียร์งาน ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ฉะนั้น อยู่ที่ว่าเรามองคำว่าประสิทธิภาพกว้างแค่ไหน เพราะ welfare หรือการอยู่ดีมีสุขของลูกจ้างก็สามารถสร้าง productivity ได้เช่นกัน

ตัวอย่างสถานประกอบการบางแห่งมีห้องให้นมลูก welfare แบบนี้ก็เท่ากับเป็นการซื้อใจพนักงานได้ แสดงว่าเจ้านายเข้าใจเรา เข้าใจครอบครัวเรา เรื่องนี้อาจต้องมีการพิสูจน์ทางวิชาการ แต่ในแง่หลักคิดมันเป็นไปได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า work-life balance ต้องเกิดขึ้น เพราะตอนนี้เราขาดแคลนแรงงานพอสมควร ดังนั้น ควรมีระบบที่เอื้อให้แรงงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของเขา

ชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการช่วยให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข

อันนี้เป็นเงื่อนไขข้อที่สองในการสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข ผมมองว่าประเทศไทยโดยรวมยังมีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท ทำให้ชุมชนมีบทบาทที่สำคัญ ซึ่งผมคิดว่าประเทศเรายังดีที่มีความเข้มแข็งตรงนี้อยู่ จะเห็นว่ามีตัวอย่างในพื้นที่ชนบทหลายแห่งที่มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งเกิดจากการที่สังคมในชนบทมีการยึดโยงที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อจะดูแลคนในชุมชนเอง ไม่ว่าจะเป็นชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลสุขภาพตำบล

ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความเข้าใจในความต้องการของชุมชนมากขึ้น และชุมชนเหล่านี้สามารถสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยชะลอให้เราไม่ต้องเอาผู้สูงอายุไปไว้ที่บ้านพักคนชราหรือสถานสงเคราะห์ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการอยู่ในสถานที่ที่ตัวเองคุ้นเคย แล้วมีบุคลากรไปตรวจเยี่ยมบ้าน ไปดูแล ไปกายภาพบำบัด ซึ่งถือเป็นระบบที่ดี

สำหรับในต่างประเทศ ประชาชนของเขาอาจจะต้องซื้อบริการเหล่านี้ในราคาแสนแพง แต่ประเทศไทยเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ และสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เฉพาะในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่ผ่านมารัฐบาลก็อุดหนุนองค์กรในชุมชนโดยเอาเงินใส่เข้าไปในรูปของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เมื่อมีระบบกองทุนนี้เกิดขึ้นแล้ว สปสช. ก็ใส่เงินเพิ่มเข้าไปส่วนหนึ่ง อปท. ก็ใส่เงินเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง

จะเห็นว่าสมัยนี้ท้องถิ่นเขาไม่ได้เอางบไปสร้างถนนกันอย่างเดียวแล้ว เขาเอาเงินไปสร้างสุขภาพประชาชน กิจกรรมหลายอย่างที่เป็นกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพก็ดึงเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ ทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพลงไปถึงระดับชุมชน ถ้ามีผู้สูงอายุติดเตียง อย่างน้อยก็มีชุมชนลงไปดูแลเป็นด่านแรก และถ้ามีอะไรมากกว่านั้นที่ชุมชนดูแลไม่ไหวก็จะมีการส่งต่อไปยังระบบที่มีอยู่

ระบบในลักษณะนี้ช่วยสนับสนุนครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข บทบาทของชุมชนจึงมีส่วนสำคัญ แต่ในอนาคตชุมชนอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะจำนวนคนที่เป็นผู้ให้บริการมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม เช่น จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ หรือบางครั้งถ้าต้องการบริการขั้นสูงมากขึ้นก็ต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลที่อยู่ในชุมชนนั้น เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ผมมองว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญในสังคมสูงวัย เพราะเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมาก ที่ผ่านมาบทบาทของท้องถิ่นทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปมากแล้ว ฉะนั้น บทบาทหน้าที่ต่อไปคือ ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้คือบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบ

ในสังคมเมืองซึ่งไม่มีต้นทุนทางสังคมแบบสังคมชนบท จะมีระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างไรได้บ้าง

สำหรับสังคมเมือง โมเดลการดูแลผู้สูงอายุอาจจะแตกต่างออกไป เทศบาลหรือกรุงเทพมหานครก็มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบอยู่ แต่ปัญหาคือความใกล้ชิดของกลุ่มองค์กรต่างๆ ในชุมชนจะมีน้อยกว่าชนบท ฉะนั้น ในสังคมเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีระบบที่ค่อนข้างเป็นทางการ เพราะคนเมืองไม่ได้เชื่อใจกันง่ายๆ เหมือนในชนบท จึงมีลักษณะที่เป็นทางการกว่า ซึ่งในอนาคตอาจต้องเกิดหน่วยรองรับอย่างเช่น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม เพื่อให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ และเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่า Social Enterprise จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรได้บ้าง

นอกจากนี้ อาจต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Intermediate Care หรือการดูแลผู้สูงอายุในระยะเปลี่ยนผ่าน คือแทนที่ผู้สูงอายุจะต้องมีชีวิตอยู่แค่ที่บ้านกับโรงพยาบาล สมมุติเขารักษาโรคจบแล้ว เหลือการฟื้นฟู ช่วงการฟื้นฟูถ้าให้ผู้สูงอายุกลับมาอยู่บ้านเลยก็อาจจะไม่ไหว ฉะนั้น ฟังก์ชั่นที่อยู่ตรงกลางแบบนี้ เช่น สถานพักฟื้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ปรับตัวก่อนกลับบ้าน และให้คนในครอบครัวได้เข้ามาเรียนรู้ว่าจะดูแลผู้สูงอายุที่บ้านต่อไปอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นจิ๊กซอว์ที่ยังขาดหายไปในสังคมเมือง

บ้านพักคนชราตอบโจทย์สังคมสูงวัยได้หรือไม่

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรของไทยมีลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะมีผู้สูงอายุวัยกลางและวัยปลายเพิ่มขึ้น วัยกลางคือ 70-79 ปี วัยปลายคือ 80 ปีขึ้นไป พอผู้สูงอายุอยู่นานขึ้น แล้วไม่มีลูกหลาน การใช้ชีวิตประวันก็เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น เดินเหินแต่งตัวลำบาก กินข้าวกินน้ำเองไม่ได้ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้

ที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างบ้านพักคนชราขึ้นมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เราใช้คำว่าการดูแลผู้สูงอายุในสถาบัน แต่ต้นทุนสูงมาก ซึ่งถ้าจะสร้างบ้านพักคนชราทุกจังหวัดเป็นอะไรที่ต้นทุนสูงมาก เราเคยคำนวณตัวเลขร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์และพยาบาล พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน คือ 12,000 บาทต่อเดือน ถ้าดูแลผู้สูงอายุแบบนี้ต้นทุนสูงมาก คนที่มีสตางค์เขาก็พาพ่อแม่ไปอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชนที่มีผู้ช่วยพยาบาล มีโครงสร้างพื้นฐานสวยงาม หรือจ้างคนมาดูแลที่บ้าน แต่ต้นทุนก็สูงมากเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าเก็บออมไม่ดีหรือลูกหลานไม่มีรายได้มากพอก็จ่ายไม่ไหว

เราโชคดีที่มีทุนทางสังคมเดิมอยู่บ้าง เรามีธรรมเนียมประเพณีที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญกับการตอบแทนบุญคุณ และมีสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวโดยเฉพาะในสังคมชนบทจะเห็นได้ชัด แต่คนในเมืองอาจจะยากกว่า เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตและที่อยู่อาศัยไม่เหมือนกัน ซึ่งยังเป็นคำถามอยู่ว่าเราจะทำอย่างไร

กลุ่มผู้สูงอายุในเมืองที่อยู่ตามหมู่บ้านจัดสรรหรือที่พักอาศัยแนวตั้ง อันนี้ต้องยอมรับว่าการศึกษาของเรายังเข้าไม่ถึงว่ารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งผมมองว่าท้ายที่สุดคงมีความจำเป็นที่เราจะต้องหารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต่างกันระหว่างเมืองกับชนบท เช่น อาจมีกลุ่มอาสาสมัครรวมตัวกันจัดบริการและมีค่าตอบแทนบ้าง หรืออาจมีภาคเอกชนที่ให้บริการรูปแบบนี้เป็นการเฉพาะ เป็นเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ณ วันนี้ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือสังคมสูงวัย

โชคดีที่ประเทศไทยเราทำได้ดีพอสมควร ผมทำงานเรื่องนี้มาทั้งในด้านวิชาการและลงพื้นที่จริง ผมเห็นว่าเรื่องการดูแลผู้สูงอายุของบ้านเราไปไกลในระดับหนึ่ง

ผมเคยไปพูดที่ญี่ปุ่น ไปเล่าให้เขาฟังว่าเรามีระบบแบบนี้ แต่เขาทำแบบเราไม่ได้ เพราะเขาไปสร้างระบบประกันขึ้นมา คือในวัยที่ยังทำงานได้ก็จ่ายเงินทำประกันตัวเองไป พอแก่ตัวไม่มีใครดูแลก็ใช้ระบบทางสังคมเข้าไปดูแล ไม่เกี่ยวกับชุมชน แต่เป็นใครสักคนที่จะเข้ามาช่วยดูแล ปรากฏว่าใครสักคนนั้นก็หาไม่ค่อยได้ เพราะแรงงานไม่พอ ท้ายที่สุดเขาก็กลับมาตั้งหลักที่ฐานชุมชน ขณะที่เราให้ความสำคัญกับฐานชุมชนมาแต่แรก จึงค่อนข้างพัฒนาไปได้ไกลกว่าเขามาก

หลายพื้นที่ของเรามีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ผู้สูงอายุไม่ต้องควักเงินจ้างใครมาดูแล ผู้สูงอายุไม่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานดูแลของรัฐ แต่สามารถอยู่ที่บ้านตัวเองแล้วมีอาสาสมัครจากชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งคนแวะเวียนไปดูแล ในชุมชนจึงเกิดระบบแบบนี้ขึ้น เขาเรียกกันว่า 3 ประสาน คือ ชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลชุมชน และท้องถิ่น เดี๋ยวนี้มีคำใหม่คือจตุพลัง นอกจาก 3 ประสานก็เพิ่มทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น โรงเรียน วัด เข้ามาเชื่อมร้อยกันเป็นระบบ นี่คือความก้าวหน้าในประเทศของเรา

ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่หลายๆ หน่วยช่วยกันสร้างขึ้นมามันเกิดดอกออกผล บางอย่างที่ยังไม่มีความรู้ก็สร้างกันไป กระทรวง ทบวง กรม ก็ทำเรื่องนี้แข็งขัน แล้วก็มีคนดูแลติดตามประเมินผลทุกๆ 5 ปี ที่เรียกว่าแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี


*หมายเหตุ – บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ ‘ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา’ (ตีพิมพ์พฤษภาคม 2559) เป็น 1 ใน 5 เล่มของหนังสือชุด ‘ผลึกความรู้: ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย’ ผลผลิตจากโครงการพัฒนาระบบหนังสือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่พยายามคัดสรรงานวิจัยชิ้นโดดเด่น ทรงคุณค่า นำมาเรียงร้อยให้ย่อยง่าย แปรรูปงานวิจัยบนหอคอยงาช้างให้เป็น ‘ความรู้ฉบับประชาชน’ ผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาความรู้ต่างๆ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า